503.หลวงตาพวง สุขินทริโย (พระเทพสังวรญาณ) เหตุอัศจรรย์ที่ถ้ำเป็ด เสียงดัง กับ กับ กับ เหมือนม้าวิ่งมาอย่างรวดเร็ว

หลวงตาพวง สุขินทริโย (พระเทพสังวรญาณ)
เหตุอัศจรรย์ที่ถ้ำเป็ด

ในหน้าแล้งราวพรรษาที่ 7 ของพระพวงนั้น หลวงปู่ฝั้นได้พาคณะอันประกอบด้วยมีหลวงปู่ฝั้น พระพวง สุขินทริโย และเณรอีก 1 รูป ไปธุดงค์ตามป่าเขาต่าง ๆ เพื่อแสวงหาสถานที่อันเป็นสัปปายะเหมาะในการทำความเพียร การฝึกฝนอบรมตนเองในการธุดงค์ในป่า จะต้องเผชิญกับภยันตรายต่างๆ มากมายย่อมทำให้มีจิตใจที่เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว อดทน

หลังจากที่ออกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขา ได้เดินทางไปถึงถ้ำแห่งหนึ่งเรียกว่า ถ้ำเป็ด ห่างจากถ้ำอภัยดำรงธรรม อ.ส่องดาว จ.สกลนคร ของพระอาจารย์วัน อุตตโม ประมาณ 3 กิโลเมตร หลวงปู่ฝั้นได้พาไปอยู่ที่นั่น 8 เดือน ไปอยู่ครั้งแรกมีความยากลำบากมาก เพราะไกลจากหมู่บ้าน ต้องใช้ระยะเวลานานในการลงมาบิณฑบาตเพราะระยะทางห่างจากหมู่บ้านถึง 5 กิโลเมตร

หลวงตาพวงเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่ได้รับในครั้งนั้นว่า “มีอยู่วันหนึ่งเณรที่อยู่ร่วมด้วยเนื่องจากอายุยังน้อย ชอบเล่นตามประสาเด็ก ๆ ในช่วงกลางวันก็ปีนขึ้นไปบนเขาแล้วลองปาก้อนหินดูว่าจะขว้างแล้วไปตกไกลไหม ก็ลองปาดู 4-5 ก้อน หลวงปู่ฝั้นอยู่ข้างล่างได้ยินเสียงก้อนหินจึงเรียกเณรลงมาถามว่าปาก้อนหินใช่ไหม หลวงปู่ฝั้นก็เตือนว่าทีหลังอย่าทำ การมาอยู่ป่าเขาจะต้องสงบสำรวม ต้องมีกิริยามารยาทที่เรียบร้อย จะเล่นคะนองเช่นนั้นไม่ได้ ท่านได้อบรมสั่งสอนในเรื่องอื่น ๆ อีก แล้วก็ให้เณรไปปัดกวาดทำความสะอาดกุฏิ อาบน้ำ เตรียมตัวปฏิบัติธรรม

พอตกกลางคืนในคืนนั้น ประมาณเที่ยงคืน ขณะที่ทุกรูปจำวัดหมดแล้ว ได้ยินเสียงดัง กับ กับ กับ เหมือนม้าวิ่งมาอย่างรวดเร็ว จนถึงบนชานของกุฏิเณรซึ่งอยู่ข้างล่าง เณรได้ยินเสียงดังกล่าว ตกใจกลัวจนตัวสั่นจะร้องก็ร้องร้องตะโกนไม่ออก ในขณะที่หลวงปู่ฝั้นก็ได้ยินเสียงม้าวิ่งเช่นเดียวกัน จึงตะโกนเรียก “เณร เณร” แต่ก็ไม่ได้ยินเสียงตอบ ท่านจึงออกจากกุฏิที่อยู่ข้างบนลงมาดูเณร เพราะกลัวว่าเสือจะคาบเณรไปกิน

เมื่อมาถึงกุฏิจึงเห็นเณรนั่งตัวสั่นอยู่ ในขณะที่ข้างนอกก็ไม่พบสัตว์หรืออะไรเลย หลวงปู่ฝั้นจึงบอกว่า “เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจถึงการปฏิบัติตัว ให้มีความสำรวมกาย วาจา ใจ ในการออกธุดงค์ในที่ต่าง ๆ เพราะทุก ๆ ที่ ล้วนแล้วแต่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดูแลอยู่.”

ผจญฝูงควาย ที่จันทบุรี

ในช่วงที่ท่านพ่อลี วัดอโศการามมรณภาพลงนั้น พระพวง สุขินทริโยกับคณะก็ได้เดินทางไปคารวะศพท่านพ่อลีที่จังหวัดสมุทรปราการ หลังจากคารวะศพแล้วคณะก็ชวนพระพวงไปธุดงค์แถวจังหวัดจันทบุรี เพราะได้ข่าวว่าแถบจังหวัดจันทบุรี มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเดินธุดงค์เพื่อหาสถานที่ในการทำความเพียร

ประกอบกับทางแถบจังหวัดจันทบุรี มีพระภิกษุที่เคยจำพรรษาอยู่ด้วยกันสมัยอยู่กับหลวงปู่ฝั้นหลายองค์ พระพวงคิดอยากจะไปเยี่ยมเพื่อน จึงได้ออกเดินทางไปจังหวัดจันทบุรีพร้อมกับคณะ

หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า “เมื่อไปถึงจันทบุรีก็ไปพักที่วัดป่าคลองกุ้ง อยู่หลายวัน หลังจากนั้นก็ออกเดินทางต่อไปเพื่อไปเยี่ยมพระอาจารย์ถวิล ซึ่งเคยจำพรรษาร่วมกันสมัยอยู่วัดป่าภูธรพิทักษ์ ท่านอยู่ที่วัดยางระหงษ์ ก็เลยพาคณะที่เดินทางมาด้วยกันไปเยี่ยมพระอาจารย์ถวิล พักอยู่ที่นั่น 15 วัน พระอาจารย์ถวิลได้พาไปดูวัดเขาสุกิม ขณะนั้นพระอาจารย์สมชายเพิ่งจะไปบุกเบิกได้ใหม่ ๆ ยังเป็นกระท่อมเล็ก ๆ ยังไม่ได้สร้างเป็นถาวรวัตถุเช่นทุกวันนี้

ต่อจากนั้นได้ทางไปเยี่ยมพระอีกรูปที่วัดเขาน้อย มีพระติดตามไปด้วย 3 รูป ลูกศิษย์ถือปัจจัยอีก 1 คน เดินทางโดยรถโดยสารแล้วก็ลงเดินทางด้วยเท้าต่อ ระหว่างทางก็พบกับชาวบ้านที่กำลังจะไปเก็บผลไม้ที่สวนใกล้ ๆ วัดเขาน้อย ชาวบ้านได้อาสานำอัฐบริขารล่วงหน้าไปวัดให้ก่อน เพราะตนเองมีรถมอเตอร์ไซร์ พระพวงและคณะมิได้ขัดศรัทธา ให้ชาวบ้านนำอัฐบริขารล่วงหน้าไปก่อนเหลือแต่ย่ามสะพาย

พอเดินทางไปถึงทางแยกทางไปวัดเขาน้อย บริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณทุ่งนาโล่งๆราว ๆ 4-5 เส้น ข้างหน้าก็เป็นป่าสวนยางโล่ง ๆ ไม่ทราบว่ามีควายมานอนอยู่บริเวณดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด พอควายเห็นพระเดินมาหลายรูป มีจีวรสีสะดุดตาจึงวิ่งรี่เข้าใส่ บรรดาพระและลูกศิษย์ที่มาด้วยเห็นดังนั้นจึงออกวิ่งนำหน้าพระพวงในทันที

หลวงตาเล่าให้ฟังว่า “หลวงตาวิ่งไปได้ 2-3 ก้าว ก็คิดได้ทันทีว่า ถ้าวิ่งก็ตายเดี๋ยวนี้ เลยหันหลังกลับ มือล้วงไปในย่าม มีผ้าปูนั่งในย่าม เอามาแกว่งเป็นวงกลม ควายเห็นก็หยุดไม่มาทำอะไร หลวงตาก็ตกประหม่าขาสั่นยิก ๆ ควายเองก็มีอารมณ์โกรธ มีลมพ่นออกจากจมูก ฟึด ฟัด ฟึด ฟัด ตลอดเวลา เป็นอยู่อย่างนี้ประมาณ 10 นาที ควายจึงเดินหันหลังกลับไปทุ่งนา”

สาเหตุที่หลวงตารอดพ้นจากภัยครั้งนั้นมาได้ หลวงตาเล่าให้ฟังต่อว่า “เพราะอะไรที่รอดมาได้ ก็เพราะเราไม่มีกรรมไม่มีเวร เรามีเมตตาสัตว์ ไม่เคยทำร้ายสัตว์ ไม่เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่เคยเป็นกรรมเป็นเวรซึ่งกันและกัน เราแผ่เมตตา มีเมตตาธรรม เป็นเกราะไม่ให้ควายมาชน เรียกอีกอย่างว่า พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม มีพระธรรมเป็นเกราะป้องกัน จิตใจของเขาก็อ่อน ไม่สามารถมาทำร้ายเราได้”

“หากดูจากประวัติของครูบาอาจารย์องค์อื่น ๆ เช่น หลวงปู่ขาว หลวงปู่ชอบ เดินธุดงค์ไปพบช้าง พบเสือในป่า ท่านเหล่านั้นก็ไม่มีอาวุธอะไรที่จะใช้ต่อสู้ ท่านมีแต่เมตตา ใช้อำนาจของเมตตาทำให้สัตว์ไม่ทำร้าย ครั้งนี้ก็เหมือนกัน เพราะอำนาจของเมตตา ทำให้สัตว์ไม่ทำร้ายเราได้”

หลวงตาเล่าให้ฟังว่า “เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่ตื่นเต้นที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ไม่เคยลืม พระที่ติดตามไปด้วยก็พูดให้ฟังว่า ถ้าหากหลวงตาพวงไม่มาด้วย พวกกระผมคงตายไปแล้ว เพราะถ้าวิ่งหนี วิ่งไปไม่เท่าไหร่ควายก็วิ่งทัน ครั้งนี้เพราะหลวงตาเอาใจสู้ จึงรอดมาได้”

หลวงตายังพูดถึงหลวงปู่แหวน ตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ ก็มีบรรดาลูกศิษย์ที่เป็นทหารเข้าไปกราบนมัสการ แล้วก็ขอเหรียญ “เราสู้” ของหลวงปู่แหวน ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังมาก หลวงปู่แหวนท่านให้ธรรมว่า เราสู้ นั้นหมายถึง เราสู้กิเลสตัณหา ความทุกข์ ความอยาก

กรณีควายไล่ในครั้งนี้ หลวงตาไม่มีศัตราวุธเลย มีแต่ศีลธรรมและเมตตาธรรมที่คอยสู้และสามารถเอาชนะควายเกเรได้

23 กลับบ้านศรีฐาน

ในช่วงที่จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ฝั้น ในพรรษาที่ 7. ขณะที่อยู่ที่ถ้ำขามได้ทราบข่าวจากบ้านศรีฐานว่าโยมบิดาป่วยหนักและเสียชีวิตลง แต่กว่าโทรเลขจะเดินทางไปถึงเวลาก็ล่วงเลยไปกว่า 1 สัปดาห์ พระพวงจึงได้กราบลาหลวงปู่ฝั้นกลับบ้านศรีฐานเพื่อบำเพ็ญกุศลให้โยมบิดา เมื่อกลับถึงบ้านศรีฐานพระพวงได้อยู่ดูแลจัดงานศพของโยมบิดาจนเรียบร้อย

ระหว่างนั้นเองพระอาจารย์บุญช่วย เจ้าอาวาสวัดบ้านศรีฐานในกำลังบูรณะอุโบสถที่วัดอยู่ ด้วยความกตัญญูรู้คุณที่ท่านได้เคยสั่งสอนอบรมมา พระพวงจึงอยู่ช่วยงานพระอาจารย์บุญช่วย เพื่อจะได้บูรณะอุโบสถให้แล้วเสร็จ

หลังจากที่อยู่ช่วยบูรณะอุโบสถได้ประมาณหนึ่งเดือน พระอาจารย์บุญช่วยอาพาธด้วยโรคชรา พระพวงก็ได้อยู่ดูแลท่าน แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น มีแต่ทรุดกับทรุด จนกระทั่งมรณภาพในอีกหนึ่งเดือนต่อมา วัดบ้านศรีฐานในขาดพระผู้ใหญ่ที่เป็นที่พึ่งของญาติโยม อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย ชาวบ้านทั้งหลายจึงได้พร้อมใจกันนิมนต์ให้พระพวงอยู่จำพรรษาต่อไป

หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า “ได้พิจารณาแล้วว่าญาติโยมทั้งหลายไม่มีที่พึ่งเพราะไม่มีพระผู้ใหญ่อยู่จำพรรษาเลย ก็เลยตัดสินใจจำพรรษาที่วัดบ้านศรีฐานในเวลาต่อมา”

“ในช่วงใกล้ ๆ เข้าพรรษาในปีนั้น ก็ได้กลับไปลาหลวงปู่ฝั้นที่สกลนคร จริง ๆ แล้วหลวงปู่ฝั้นท่านก็ไม่อยากให้มา เพราะหลวงตาเป็นกำลังสำคัญในการรับภาระหน้าที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะการก่อสร้างวัดถ้ำขาม ซึ่งขณะนั้นกำลังเกณฑ์สามเณรและชาวบ้านช่วยกันสร้าง จึงจำเป็นต้องมีคนคอยดูแล”

“แต่ด้วยจำเป็นหลวงปู่ฝั้นก็ได้อนุญาตให้กลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านศรีฐานใน ตามความประสงค์” นับจากนั้นหลวงตาพวงได้จำพรรษาอยู่ที่จังหวัดยโสธรตลอดมา

ช่วงเวลากว่า 10 พรรษา ที่พระพวงได้พัฒนาวัดบ้านศรีฐานในให้มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรม ที่ราชทินนาม (พระครูใบฎีกา พวง สุขินทริโย)
ขอบคุณที่มา
https://www.web-pra.com/…/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8…

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: