2621.ปฐมเหตุสร้างหลวงปู่ทวด 2497 พระอาจารย์นองกับพระอาจารย์ทิม

ประวัติพระอาจารย์นองกับพระอาจารย์ทิม ผู้สร้างตำนานหลวงปู่ทวด อันศักดิ์สิทธิ์
ส่วนประวัติท่านอาจารย์นองวัดทรายขาว กับ ท่านอาจารย์ทิมวัดช้างไห้ซึ่งทั้งสององค์ มีความเกี่ยวพันธ์อย่างลึกซึ้ง ในสายสัมพันธ์ ถึงขนาดจับขันทำน้ำมนต์ขึ้นมาจับและตั้งสัตยาทิตฐาน……เพื่อที่จะเป็นคู่ร่วมบารมีกันไปจนถึง ชาติสุดท้าย!!

ประวัติอาจารย์นอง วัดทรายขาว หรือ พระครูธรรมกิจโกศล (พระอาจารย์นอง ธมฺมภูโต) ปัตตานี

อาจารย์นอง วัดทรายขาว เจ้าตำรับตะกรุดนารายณ์แปลงรูป “กระฉ่อนเมือง”
ประวัติ พระครูธรรมกิจโกศล หรือ พระอาจารย์นอง ธมฺมภูโต เดิมชื่อ “นอง หน่อทอง”เกิดเมื่อวันเสาร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 11 ปีมะแม ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม 2462 ที่ ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี


หลวงพ่อนอง-วัดทรายขาว

โยมบิดาชื่อ นายเรือง หน่อทอง โยมมารดาชื่อ นางทองเพ็ง มีพี่น้อง 3 คน คนแรก คือตัวพระอาจารย์นอง คนที่สองนางทองจันทร์ และคนที่สามนายน่วม พระอาจารย์นองเรียนจบ ป.3 ที่โรงเรียนนาประดู่ ขณะมีอายุ 15 ปี ออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาทำสวน และบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อายุ 19 ปี ที่วัดนาประดู่ มีพระพุทธไสยารักษ์ (นุ่ม) วัดหน้าถ้ำ เป็นพระอุปัชฌาย์

แต่บวชได้ 1 เดือน ก็ลาสิกขาออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาทำสวนต่อไประยะหนึ่ง จนกระทั่งอายุได้ 21 ปี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2482 ก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดนาประดู่ โดยมีพระครูวิบูลย์สมณกิจ (ชุ่ม) วัดตุยง เจ้าคณะเมืองหนองจิก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการดำ วัดนางโอ และพระครูภัทรกรโกวิท (แดง)วัดนาประดู่ เป็นพระคู่สวดได้ฉายา “ธมฺมภูโต” อยู่วัดนาประดู่ได้ 12 พรรษา จากนั้นย้ายมาจำพรรษาที่วัดทรายขาว จนได้เป็นเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าคณะตำบลโคกโพธิ์ตราบจนมรณภาพ


ตะกรุดนารายน์แปลงรูป-อ.นอง

ตะกรุดนารายณ์แปลงรูป อาจารย์นอง วัดทรายขาว
สำหรับ อาจารย์นอง วัดทรายขาว เป็นสหธรรมิกกับพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ เคยร่วมสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดเนื้อว่านเมื่อปี 2497 จนโด่งดังทั่วสารทิศ และต่อมาพระอาจารย์นอง วัดทรายขาวได้สร้างเครื่องรางของขลังที่ดังไปทั่วเมืองไทย คือตะกรุดนารายณ์แปลงรูปและพระเครื่องหลวงพ่อทวดเนื้อว่านฝังตะกรุด นอกจากนั้นแล้วอาจารย์นอง วัดทรายขาวยังเป็นพระนักพัฒนารูปหนึ่งที่ได้รับการยกย่องชมเชยตลอดมา และเป็นพระอยู่ในนิกายมหานิกาย สิริรวมอายุถึงวันมรณภาพได้ 80 ปี 11 เดือน 60 พรรษา

ความสัมพันธ์กับอาจารย์ทิม วัดช้างให้ อาจารย์นอง วัดทรายขาวท่านเป็นสหธรรมิกกับท่านพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ เป็นทั้งกัลยาณมิตรเป็นศิษย์กับอาจารย์ต่อกัน เกื้อกูล เกื้อหนุนกันมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนวาระสุดท้ายของท่านอาจารย์ทิม เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2512
ทั้งพระอาจารย์ทิม และ พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว เป็นศิษย์ร่วมสำนักวัดประดู่มาด้วยกัน

พระอาจารย์ทิม

เมื่อพระอาจารย์ทิมมาอยู่วัดช้างให้และ อาจารย์นอง ไปอยู่วัดทรายขาว ก็ยังมีความสัมพันธ์ดีงามมาโดยตลอด กิจการใดของวัดช้างให้ อาจารย์นอง วัดทรายขาวท่านจะเป็นผู้คอยช่วยเหลืออยู่ข้างกายพระอาจารย์ทิมทุกอย่าง ที่สำคัญ การสร้างพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ปี พ.ศ.2497 ถ้าจะกล่าวกันแล้ว ปฐมเหตุจริงๆ ก็มาจากท่านที่เป็นผู้ชักชวนพระอาจารย์ทิมให้สร้างพระหลวงพ่อทวด

ตามที่ท่านได้เล่าให้ฟังเท่าที่จำได้คร่าวๆ คือ ช่วงนั้น อาจารย์นอง วัดทรายขาวกับพระอาจารย์ทิม ขึ้นมากรุงเทพฯ และไปที่วัดระฆัง เพื่อที่จะไปเช่าบูชาพระสมเด็จของหลวงปู่นาค มาเพื่อให้คนทำบุญจะได้นำเงินไปสร้างโบสถ์วัดช้างให้ พกเงินขึ้นมาประมาณ 3,000 บาท ขณะที่กำลังจะขึ้นไปเช่าพระ ท่านบอกว่า “กูนึกยังไงก็ไม่รู้ สะกิดอาจารย์ทิม บอกว่า ท่านๆ ทำไมเราไม่กลับไปทำพระของเราเองล่ะ” “พระอะไร…?” พระอาจารย์ทิมถาม “ก็พระหลวงพ่อทวดไง” พระอาจารย์ทิมบอก “เออ…!! นั่นน่ะสิ” ทั้งสองท่านจึงได้เช่าบูชาพระสมเด็จหลวงปู่นาคมาเพียงเล็กน้อยและพากันกลับปัตตานี

ปฐมเหตุตรงจุดนี้ คือกำเนิดของสุดยอดพระเครื่องเมืองใต้ หลวงพ่อทวดเนื้อว่าน ปีพ.ศ.2497 อันเป็นอมตะตลอดกาล ส่วนคุณอนันต์ คณานุรักษ์ นั้น เป็นส่วนประกอบที่ช่วยเหลือให้การจัดสร้างสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ซึ่งคงเป็นเพราะบารมีของหลวงพ่อทวดที่บันดาลชักนำ คุณอนันต์ คณานุรักษ์ คหบดีชาวปัตตานีให้มาเป็นกำลังสำคัญ
การจัดสร้างพระหลวงพ่อทวดเนื้อว่าน ปี พ.ศ.2497 พระอาจารย์นอง วัดทรายขาวท่านจึงมีส่วนอย่างมากในทุกๆ ขั้นตอนการจัดสร้าง ฉะนั้น…ท่านจะรู้พิธีกรรม และเรื่องว่านดีที่สุด เมื่อท่านมาสร้างพระหลวงพ่อทวด ขึ้นเองจึงมีความขลังแ ละศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนมาโดยตลอด

หลวงปู่ทวดปี 2497

เหตุการณ์ที่บ่งให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองพระอาจารย์ที่ผู้เขียนได้ฟังแล้วรู้สึกประทับใจและกินใจมาก ตามที่ท่านเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่อาจารย์ทิมจะไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ ท่านมาหาเราที่วัด สั่งเสียไว้หลายเรื่องฝากให้เราช่วยดูแลวัดช้างให้ ท่านหยิบขันน้ำมนต์ขึ้นมา ท่านจับประคองอยู่ด้านหนึ่งให้เราจับอีกด้านหนึ่ง

แล้วท่านพูดว่า “ตั้งแต่คบกันมา คุณไม่เคยทำให้ผมเสียใจเลย คนอื่นยังมีตรงบ้าง คดบ้าง “เรา” ขออธิษฐาน บุญใดที่เคยทำร่วมกันมา และยังไม่เคยทำร่วมกันมาก็ดี ทั้งชาตินี้และอดีตชาติ ขออธิษฐาน เกลี่ยบุญให้เท่ากัน เพื่อจะได้เกิดทันกันทุกๆ ชาติไปจนถึงชาติสุดท้าย”จากนั้นพระอาจารย์ทิมก็เข้าไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ และก็มรณภาพที่โรงพยาบาลกลางเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2512

คำอธิษฐานนี้ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นคำพูดที่ยิ่งใหญ่ เป็นอมตวาจาอย่างแท้จริง ได้ความรู้สึกถึงความผูกพันที่ท่านทั้งสองมีต่อกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตลอด ได้ร่วมสร้างตำนานอันมหัศจรรย์ ของหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ แผ่ออกไปทั่วทุกสารทิศ พระอาจาร์ทิม ถ้านับจาก พ.ศ.2497-2512 ก็เพียง 15 ปี แต่พระอาจารย์นองท่านใช้เวลาถึง 45 ปี (2497-2542)
ปัจจุบัน หลวงพ่อทวดวัดช้างให้ ไม่มีใครไม่รู้จักชื่อเสียงของหลวงพ่อทวดดังไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ ก็มีผู้คนนับถือไม่น้อยเช่นกัน

เรื่องความสัมพันธ์กับพระอาจารย์ทิมนั้น ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับ “ดีนอก” คือมีปัจจัยอื่นช่วยส่งเสริม แต่เรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ก็คือ “ดีใน” นั่นเอง หมายถึง คุณลักษณะส่วนตัวของพระอาจารย์นอง วัดทรายขาว สองสิ่งต้องคู่กันจึงจะสมบูรณ์ เมื่อดีก็ต้องดีทั้งนอก ดีทั้งใน อาจารย์นอง วัดทรายขาว ท่านยึดถือมาตลอดในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยไม่เลือกว่าจะเป็นศาสนาใดๆ ยากดีมีจน ท่านจะเป็นผู้ให้มาโดยตลอด

ทั้งเรื่องสร้างโรงพยาบาลซื้ออุปกรณ์การแพทย์ สร้างโรงเรียน ทุนการศึกษา สร้างถนนหนทาง บริจาคทรัพย์ให้กับสาธารณกุศลอยู่เป็นประจำ ช่วยสร้างอุโบสถวัดต่างๆ แม้กระทั่งบริจาคเงินให้กับชาวอิสลามที่อยู่แถบ วัดทรายขาว ตลอดจนช่วยเหลือสงเคราะห์เรื่องต่างๆ จนได้รับการยอมรับนับถือจากชาวอิสลามเป็นจำนวนมาก

ในเรื่องของการบริจาคทรัพย์ซื้ออุปกรณ์การแพทย์นั้น อาจารย์นอง วัดทรายขาวท่านบอกว่า สามารถช่วยเหลือชีวิตคนได้มากประโยชน์เกิดขึ้นทันที ด้วยการที่ท่านเข้าออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้งท่านจึงเห็นคุณประโยชน์ของอุปกรณ์การแพทย์ บางครั้งเวลาท่านอารมณ์ดีท่านจะเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง

ท่านเคยพูดว่า
“ตอนกูไปอยู่โรงพยาบาล กูก็เตรียมเงินสดไปด้วยตลอด แล้วถามหมอว่า ขาดอะไรบ้าง หมอบอกว่า ขาดไอ้นั่น ไอ้นี่ กูควักเงินสดให้ไปซื้อเลย ครั้งหลังๆ นี่ พอกูไปนอนโรงพยาบาล ตื่นขึ้นมามองซ้าย มองขวา มีชื่อ พระครูธรรมกิจโกศล ติดเต็มไปหมด” ท่านพูดเสร็จก็หัวเราะร่วนชอบใจใหญ่

อาจารย์นอง วัดทรายขาวท่านเคยพูดให้ฟังเสมอว่า “คนที่เขาเดือดร้อนมาพึ่งเรา หากไม่เกิดวิสัยแล้ว เราช่วยได้ก็จะช่วย บางคนมาไม่มีเงิน ค่ารถ ค่ากิน เราก็ให้ไปเรื่องบุญ เรื่องทาน ใครทำใครก็ได้ไป บุญยิ่งทำก็ยิ่งได้บุญ ทานยิ่งให้ทานมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้กลับมามากยิ่งๆ ขึ้นเป็นการสั่งสมบารมีลดกิเลสลงไป”

จริงดั่งท่านว่า “ยิ่งทำก็ยิ่งได้ ยิ่งให้ก็ยิ่งมา” ธรรมะข้อนี้เป็นเรื่องที่เหมาะสำหรับสังคมยุคปัจจุบันอย่างยิ่ง เพราะสังคมเราทุกวันนี้ มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้นทุกที ถ้าคนเรารู้จักคำว่าให้ รู้จักคำว่าพอ รู้จักเสียสละ เชื่อว่าสังคมจะดีขึ้นกว่านี้แน่นอน เรื่องทานบารมีเป็นธรรมะที่พระอาจารย์นอง ยึดปฏิบัติบำเพ็ญเพียรมาโดยตลอดชีวิตของท่าน ถือว่าเป็นคุณความดีในตัวท่านเอง แต่สามารถสร้างคุณานุประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างมหาศาลท่านจึงเป็นที่รักเคารพของมหาชน


ภาพพระอาจารย์ทิมกับคุณอนันต์ เซ็นต์สัญญาดำเนินการจัดสร้างหลวงพ่อทวด

อาจารย์นอง วัดทรายขาวท่านดำรงชีวิตอยู่ในสมณเพศด้วยความเรียบง่าย กิน (ฉัน) ง่ายอยู่ง่ายไม่พิถีพิถัน วางเฉยในเรื่องยศฐาบรรดาศักดิ์ ไม่มีความทะยานอยาก ท่านพัฒนาวัดทรายขาว จนมีความเจริญรุดหน้าอย่างเห็นได้ชัดเจน ชั่วระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ท่านสร้างวัดทรายขาว ให้งามสง่ากว่าวัดใดๆ ใน จ.ปัตตานี หรือแม้กระทั่งจังหวัดใกล้เคียง

เงินที่นำไปสร้างทั้งหมดกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท ล้วนแล้วแต่เป็นเงินที่มาจากการสร้างพระหลวงพ่อทวดทั้งสิ้น ท่านมิได้แตะต้องเงินทำบุญที่มีผู้บริจาคให้วัดแต่อย่างใด ปรากฏว่าหลังจากท่านมรณภาพ คณะกรรมการได้เคลียร์บัญชีทรัพย์สินในบัญชีต่างๆ เหลือเงินสดถึงกว่าสามสิบล้านบาท ทุกบัญชีท่านแยกแยะไว้ชัดเจนว่าเป็นเงินอะไรบ้าง มีที่มาที่ไปอย่างไร หนี้สินใครบ้าง ท่านมีบัญชีทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความเป็นนักบริหารงานที่มีการจัดการที่ดีเยี่ยม

ประวัติ พระครูวิสัยโสภณ หรือ พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้
พระครูวิสัยโสภณ หรือ พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้(อาจารย์ทิม ธัมมธโร) อาจารย์ทิม เป็นผู้สร้างตำนานพระเครื่องหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันทุกวันนี้
พระครูวิสัยโสภณ หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันดีในนามของ”อาจารย์ทิม” นั้น

เดิมท่านชื่อนายทิม พรหมประดู่ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ณ บ้านนาประดู่ ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เป็นบุตรของนายอินทองกับนางนุ่ม พรหมประดู่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๖ คนเมื่อท่านอายุได้ ๙ ขวบ บิดามารดาได้ฝากให้อยู่กับพระครูภัทรกรณ์โกวิท ซึ่งขณะนั้นยังเป็น พระแดง ธมฺมโชโต เจ้าอาวาสวัดนาประดู่ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เพื่อจะได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดนาประดู่ ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี อาจารย์ทิม ท่านได้บวชเป็นสามเณร

จากนั้นพระอาจารย์ทิมก็สึกออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาจนอายุได้ ๒๐ ปี อาจารย์ทิม จึงบวชเป็นพระภิกษุที่วัดนาประดู่ โดยจำพรรษาที่วัดนาประดู่ ๒ พรรษา แล้วอาจารย์ทิม จึงย้ายไปอยู่ที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม และต่อมาก็ได้ย้ายกลับมาเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมที่วัดนาประดู่ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ พระอาจารย์ทิม ได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้) ซึ่งในตอนแรกยังคงไปๆ มาๆ ระหว่างวัดช้างให้กับวัดนาประดู่เพราะ”อาจารย์ทิม”ท่านยังคงเป็นครูสอนนักธรรมอยู่ที่วัดนาประดู่ด้วย

ช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดปัตตานี รถไฟสายใต้จากหาดใหญ่ไปสุไหงโก-ลก ต้องขนทหารและสัมภาระผ่านหน้าวัดช้างให้วันละหลายๆ เที่ยวและหลายๆขบวน ทำให้ประชาชนขวัญเสียหวาดกลัวภัยสงคราม ท่านพระครูวิสัยโสภณ หรือ พระอาจารย์ทิม ต้องรับภาระหนัก คือต้องจัดหาอาหารและที่พักแก่ผู้ที่เดินทางผ่านวัดไม่เว้นแต่ละวัน นับเป็นผู้ทรงคุณธรรมที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาตั้งแต่ต้น

เมื่อครั้งที่ พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ ท่านไปอยู่ที่ วัดช้างให้ใหม่ๆนั้น วัดช้างให้อยู่ในสภาพที่ถูกทิ้งร้างทรุดโทรม อาจารย์ทิม ท่านได้ริเริ่มตกแต่งสถูปที่บรรจุอัฐิหลวงปู่ทวดให้เป็นที่น่าเคารพบูชา พระครูวิสัยโสภณ ท่านได้ดำริที่จะสร้างพระอุโบสถ โดยท่านได้ร่วมกับนายอนันต์ คณานุรักษ์ จัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวด

โดยทำพิธปลุกเสกมีพระครูวิสัยโสภณ หรือ อาจารย์ทิม วัดช้างให้ เป็นประธานในพิธีและนั่งปรก ได้เงินจากผู้มีจิตศรัทธาที่มาเช่าพระเครื่องหลวงปู่ทวดได้นำเงินมาสร้างพระอุโบสถ และปรับปรุงบริเวณวัดช้างให้ พระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม) ได้เริ่มอาพาธด้วยโรคมะเร็งที่หลอดอาหารตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และ พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๒

แม้ว่า พระครูวิสัยโสภณแห่งวัดช้างให้ได้มรณภาพไปนานแล้ว แต่สิ่งที่ พระอาจารย์ทิมท่านสร้างไว้อาทิเช่นพระอุโบสถ วิหารสำหรับประดิษฐานหลวงปู่ทวด เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมาเคารพสักการะ สถูปที่บรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่ทวดที่ติดกับทางรถไฟสายใต้ กุฏิสำหรับเป็นที่อาศัยของพระเณร กุฏิเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ศาลาการเปรียญตลอดถึงวัตถุต่างๆ ที่มีอยู่ในวัดช้างให้ โรงเรียนวัดช้างให้หลังคาทรงเรือนไทยเป็นตึก ๒ ชั้น ติดกับทางรถไฟหน้าวัด พระเจดีย์องค์ใหญ่ที่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่กลางวัดช้างให้ ฯลฯ ล้วนสำเร็จด้วยความมุมานะของท่านอาจารย์ทิม(พระครูวิสัยโสภณ ทิม)

ข้อความอ้างอิงขออนุญาติคัดลอก (มาจากเว็ปตั้มศรีวิชัย) คัดลอกมาBy: หนังสือรวมเรื่องน่ารู้ ภาคใต้ โดย รศ.มัลลิกา คณานุรักษ์ (๒๕๓๐), บุคคลสำคัญของปัตตานี โดย รศ.มัลลิกา คณานุรักษ์ (๒๕๔๕)

คัดลอกมาจากประวัติพระอาจารย์นอง วัดทรายขาว หรือ พระครูธรรมกิจโกศล (พระอาจารย์นอง ธมฺมภูโต) ปัตตานี

แอพเกจิ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: