2620.อภินิหาร หลวงพ่อกัสสปมุนี ตอน ผจญโยคีแดนภารตะ

อภินิหาร หลวงพ่อกัสสปมุนี
วัดปิปผลิวนาราม ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
ตอน ผจญ โยคี แดนภารตะ

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อออกพรรษา ปวารณาปี พ.ศ. ๒๕๐๗ แล้ว หลวงพ่อฯ ก็ได้เดินทางไปยังประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ ๒๘ พ.ย. ๒๕๐๗ โดยสายการบิน ซี.พี.เอ. ร่วมกับคณะทัศนาจรแสวงบุญ ซึ่งมีทั้งพระ และฆราวาส อาทิเช่น ท่านเจ้าคุณราชปัญญาเมธี เจ้าคณะจังหวัดยะลา ท่านเจ้าคุณสิริสารโสภณ เจ้าคณะอำเภอยะลา หลวงพ่อทิม วัดช้างไห้ ผู้สร้างพระเครื่อง หลวงพ่อทวด อันลือลั่นไปทั่วประเทศ และท่านเจ้าคุณ ญาณวิริยาจารย์ วัดธรรมมงคล ซอยปุณณวิถี พระโขนง ซึ่งเป็นศิษย์เอก พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

ฝ่ายฆราวาสก็มี นายเอื้อ บัวสรวง ธ.บ. และ เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต นายน่วม นันทวิชัย นายกพุทธสมาคม สิงห์บุรี จุดมุ่งหมายของคณะจาริกแสวงบุญ คือจะพากันไปนมัสการ สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง ด้วยความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธคุณ และ เพื่อปลงธรรมสังเวช หลวงพ่อกัสสปนั้น ต้องการจะเดินทางต่อไป เพื่อไปจำศีลภาวนาที่เมือง “ฤาษีเกษ” อันเป็นเมืองของนักพรต ฤาษีชีไพร นักบำเพ็ญตบะ พวกนุ่งลมห่มฟ้า (ฑิฆัมพร) และ นักบวชนิกายต่างๆ

การเดินทางไปนมัสการต้นศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา ไปชมเมืองราชคฤห์ หรือรัฐพิหารในปัจจุบัน ไปเมืองพาราณสี แล้วขึ้นรถไฟไปยังตำบลสารนาถ คือ ป่าอิสิปตน มฤคทายวัน อันเป็นสถานที่ พระบรมศาสดาทรงแสดงปฐมเทศนา เสร็จสิ้นไปตามลำดับ ต่อจากนั้นก็ไปยังตำบลกุสินาราน์ สถานที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

ซึ่งหลวงพ่อกัสสปมุนี เล่าถึงตอนนี้ว่า วันเสาร์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๗ คณะของหลวงพ่อกัสสป ฉันอาหารเช้าแล้ว ได้เวลา ๙.๐๐ น. จึงพาพวกอุบาสกและอุบาสิกาออกเดินทาง ไปยังสถานีเนาก้า เพื่อไปยังสวนป่าลุมพินีวันในแคว้นเนปาลอันเป็นสถานที่พระบรมศาสดาทรงประสูติ ถึงสถานีเนาก้าเวลา ๑๑.๐๐ น. แต่เจ้ากรรมแท้ๆ … ที่พนักงานรถไฟแขกอินเดียมันมักง่าย ตัดรถตู้คณะของหลวงพ่อกัสสปมุนีออกปล่อยทิ้งไว้ อยู่ห่างจากตัวสถานีเกือบสามร้อยเมตร ตรงที่รถตู้ถูกตัดออกนี้เป็นที่ลาดต่ำกว่าที่ตั้งสถานี และห่างจากที่รถบัสจอดเกือบครึ่งกิโลเมตร

ในคณะแสวงบุญของหลวงพ่อ มีอุบาสิกาอยู่ในวัยชราหลายคนจะต้องเดินไกล ทั้งตัวรถตู้ก็สูง บันไดก็ยิ่งลอยสูงขึ้นไปด้วย เพราะรถถูกตัดทิ้งไว้ในที่ลาดต่ำ แม้แต่ผู้ชายที่แข็งแรงอย่างนายเอื้อ บัวสรวง ก็ยังต้องเกร็งข้อโหนตัวลอยขึ้นไป ยิ่งเป็นพระ เป็นผู้หญิงยิ่งทุลักทุเลใหญ่ ทำให้นายสุวรรณ เจามหาสุข ผู้อำนวยการเดินทางในครั้งนี้ และนายเอื้อ บัวสรวงโมโหมาก ปัญหาจึงมีอยู่ว่า จะทำอย่างไรจึงจะให้ตู้รถแล่นขึ้นไปจอดบนชานชาลาเหนือสถานีได้
ในที่สุดปรึกษาตกลงกันได้ว่า ให้คณะแสวงบุญที่ขึ้นไปก่อนลงมาจากรถเพื่อให้รถเบาขึ้น แล้วจ้างพวกแขกสองสามคน และเด็กแถวนั้นให้ช่วยกันดันรถ แต่เมื่อทำดูแล้วรถไม่ได้ขยับเขยื้อนเลย

เพราะตู้รถไฟใหญ่กว่าตู้รถไฟในบ้านเมืองเรามาก มีน้ำหนักเป็นตันๆ และจะต้องดันให้เคลื่อนขึ้นที่สูงเสียด้วย มันต้องใช้ช้างสารฉุดถึงจะเขยื้อนขึ้นไปได้
ตอนนี้นายเอื้อ บัวสรวงเห็นหมดหนทางที่จะพึ่งแรงคน จึงคิดจะพึ่งแรงบารมีของพระเสียแล้ว จึงได้หันมาอาราธนาขอร้อง อาจารย์วิริยังค์ (ท่านเจ้าคุณญาณวิริยาจารย์) ช่วยให้รถเคลื่อนด้วยอานุภาพที่ท่านมีอยู่ เพราะมองไม่เห็นใครที่จะช่วยได้ ก็ต้องพึ่งพระกันบ้าง
ท่านพระอาจารย์วิริยังค์ ได้เข้าไปยืนข้างตู้รถไฟภาวนาอยู่สักครู่ก็ทำท่าดัน แล้วบอกให้ทุกๆ คนช่วยกันดันรถ แต่ดันเท่าไหร่ๆ รถก็ไม่มีทีท่าจะเขยื้อน

หลวงพ่อกัสสปมุนี

นายเอื้อจึงได้หันมาอาราธนาท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดยะลา ท่านเจ้าคุณเจ้าคณะอำเภอยะลาและหลวงพ่อทิมวัดช่างไห้ ขอให้ช่วยแสดงอานุภาพทำให้ตู้รถไฟเคลื่อนที่ แต่ท่านทั้งสามองค์ก็ตอบตรงๆ ว่าไม่ได้ฝึกมาทางนี้ คือไม่ได้ฝึกทางอภิญญา สุดท้ายนายเอื้อ บัวสรวงหมดหนทางอับจนปัญญา จึงได้ขอร้องให้ หลวงพ่อกัสสปมุนี ช่วยด้วย

“ยังเหลือแต่หลวงพ่อกัสสป องค์เดียวเท่านั้น ผมเชื่อว่าคงจะไม่สิ้นหวังเสียทั้งหมด”
นายเอื้อ บัวสรวง พูดค่อนข้างเสียงดังเปิดเผย พลางพนมมือนอบน้อม หลวงพ่อกัสสป จึงเอ่ยว่า
“ทำไมมาเจาะจงอาตมา ก็ท่านเหล่านั้นยังรับไม่ไหว แล้วอาตมาภาพจะรับได้ยังไง”
นายเอื้อ บังสรวง ได้ยืนกรานว่า
“ถึงอย่างนั้น ก็ขอให้หลวงพ่อเห็นแก่ญาติโยมผู้หญิง และคนแก่ เถอะครับ ที่จะต้องโหนตัวขึ้นรถ”
ว่าแล้วก็ไหว้อีก หลวงพ่อกัสสปเห็นนายเอื้อมีความมั่นใจเช่นนั้น จึงจำเป็นต้องช่วยสงเคราะห์ จึงบอกเบาๆ ว่า

“โยมบอกพวกนั้นให้ดันรถพร้อมๆ กัน พอเห็นอาตมาเดินขึ้นหน้ารถก็ดันเลย”
นายเอื้อก็รับคำเตรียมอยู่ข้างตู้รถไฟ จากนั้นหลวงพ่อกัสสป ก็เดินขึ้นไปทางริมรั้วสถานี ครั้นพอถึงหน้ารถตู้ นายเอื้อก็ร้องบอกให้พวกนั้นดันรถ เสียงรถเคลื่อนดังครืด แล่นตามหลังหลวงพ่อกัสสปมาได้หน่อยหนึ่ง หลวงพ่อกัสสปจึงยื่นไม้เท้าให้นายเอื้อจับปลายไว้ นายเอื้อเอื้อมมือขวามาคว้าปลายไม้เท้าไว้ ส่วนมือซ้ายจับอยู่ที่ราวบันไดรถ หลวงพ่อจับหัวไม้เท้าไว้ข้างแล้วจูงนำหน้า เท่านั้นเอง ตู้รถไฟอันใหญ่โตหนักอึ้ง ก็แล่นปราดๆ ขึ้นไปตามรางสู่สถานีอย่างง่ายดาย น่ามหัศจรรย์ สร้างความตะลึงงันให้แก่ญาติโยม อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ที่ได้เห็นประจักษ์ทั่วหน้า

นับว่าหลวงพ่อกัสสป ได้ฝังรากความมั่นใจให้แก่นายเอื้อ และญาติโยมในที่นั้นว่า อานุภาพของพุทธศาสนานั้น เป็นของมีจริง ที่พระสาวกของพระพุทธองค์ สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ เมื่อถึงคราวจำเป็น หรือวาระอันสมควรจะพึงแสดง! คณะแสวงบุญทัศนาจร ได้ท่องเที่ยวไปชมสถานที่ สำคัญๆ นอกเหนือจากสังเวชนียสถานทั้งสี่แห่ง แล้วอีกหลายแห่ง จนฉ่ำชื่นใจสมปรารถนาทั่วหน้ากัน จากนั้นก็ได้ถึงวันเวลาที่จะต้องแยกทางจากกัน โดยหลวงพ่อกัสสปได้แยกทาง ลงที่เมืองปัตนะ (เมืองปาตลีบุตร ครั้งพุทธกาล) เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๐๗ เพื่อจะได้จาริกท่องเที่ยวไปตามลำพัง สององค์กับพระวิเวกนันทะ

พระภิกษุวิเวกนันทะ มาจากวัดอุโมงค์ เชียงใหม่ ได้ศึกษาอยู่ในอินเดียถึงสิบปี ได้ปริญญา เอ็ม.เอ.ทางพุทธศาสตร์ ท่านวิเวกเป็นผู้กว้างขวางในประเทศอินเดีย และแว่นแคว้นใกล้เคียง เช่น เนปาล… สามารถพูดภาษาพื้นเมืองได้คล่อง เข้ากับขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นต่างๆ ในอินเดียได้อย่างดี ท่านเป็นพระที่เปี่ยมเมตตา เป็นที่รักใคร่นับถือจากชาวอินเดียทุกหนทุกแห่งที่ท่านย่างก้าวไปถึง

เพื่อเผยแพร่ธรรมะ ท่านวิเวกนันทะ ไม่เคยรู้จักกับ หลวงพ่อกัสสปมาก่อนเลย เพิ่งมารู้จักกันคราวมาแสวงบุญที่อินเดียนี้เอง โดยท่านวิเวกได้รับการติดต่อจาก คุณสุวรรณ เจามหาสุข ผู้อำนวยการนำเที่ยวแสวงบุญ ให้ท่านวิเวกช่วยอำนวยความสะดวก พระสงฆ์ และอุบาสกอุบาสิกา ในการแสวงบุญในครั้งนี้

“ท่านวิเวกนันทะ กับอาตมา ดูเหมือนว่าชาติปางก่อนได้เคยเป็น ญาติมิตรอันสนิทยิ่งกันมา ยังงั้นแหละ มาชาตินี้จึงได้ถูกอัธยาศัยกันมาก คล้ายกับว่าเป็นเพื่อนร่วมตายกันมานาน ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย” หลวงพ่อกัสสปกล่าว

ท่านวิเวกนันทะ ได้พาหลวงพ่อกัสสป ท่องเที่ยวไปเยี่ยมเยือนทำความรู้จักกับพวกสวามีและมหาฤาษี สำคัญๆ ตามสำนักต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนวิชาความรู้กันในเรื่องธรรมะ และการฝึกจิตอย่างถึงแก่น

ความเป็นอัจฉริยภาพ และพระสุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของหลวงพ่อกัสสป ได้สร้างความประทับใจให้แก่มหาฤาษี และสวามีคุรุทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ภาษาอังกฤษอันคล่องแคล่วแตกฉานของหลวงพ่อในธรรมะทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ อย่างพระสงฆ์ที่รู้แจ้งเห็นจริงของหลวงพ่อนั่นเอง ทำให้บุคคลเหล่านั้นบังเกิดความเคารพศรัทธาในหลวงพ่อกัสสป ทุกหนทุกแห่งที่ย่างเหยียบไปในแผ่นดินชมพูทวีป พูดได้ว่า หลวงพ่อเป็นพระไทยองค์เดียว ที่ไปสร้างความประทับใจอย่างพิเศษพิสดาร ทั้งทางธรรม และอภิญญาให้แขกอินเดียชื่นชม และอัศจรรย์อย่างถึงใจยิ่งนัก

คนสำคัญของอินเดียท่านหนึ่งที่จะต้องกล่าวถึงคือ ดร.เมตตา เป็นนักปราชญ์ใหญ่ มีความรอบรู้แตกฉานในเรื่องศาสนาต่างๆ อย่างยอดเยี่ยมทางภาคทฤษฎี พักอยู่หอพักตึกห้าชั้นชื่อ เมย์แฟร์ในมหานครบอมเบย์ อันศิวิไลชั้นหนึ่งของอินเดีย ดร.เมตตา ประพฤติตนอย่างนักพรต นุ่งขาวห่มเฉียงบ่า รูปร่างบุคลิกลักษณะเป็นสง่า ไว้หนวดและเคราเป็นพุ่มงามสะอาด ภายในห้องรับรองบ้านพัก จัดเป็นห้องพระไปในตัว

โต๊ะพระจัดดังนี้ คือ ตอนบนสุดมีเศียรพระพุทธรูปติดไว้กับผนัง เป็นเศียรผ่าครึ่งคล้ายหัวตุ๊กตาทำขาย ถัดลงมาเป็นรูปพระเยซู ยืนเต็มตัว ถัดลงมาอันดับที่สาม เป็นรูปปั้นพระศิวะ ท่านั่งสมาธิ มีกระถางธูป และที่เสียบดอกไม้ ทางด้านขวามือมีโต๊ะหมู่ตั้งพระพุทธปฏิมามหายาน แบบญี่ปุ่นอยู่ชิดกับผนัง ขณะที่หลวงพ่อกัสสปก้าวเข้าไปในห้องนี้นั้นมีแขกผู้มีเกียรติชั้นคหบดี อันเป็นเสมือนศิษย์ของ ดร.เมตตานั่งอยู่ ๒ คน และ หลานสาวสวยของ ดร.เมตตา ๑ คน และพระภิกษุไทยสามองค์ คือ ท่านวิเวกนันทะ พระมหาสุเทพ และพระมหาอุดม รวม ๘ คน

หลวงพ่อกัสสปนุ่งห่มดองรัดประคตอกอย่างรัดกุม ผิดกับพระไทยทั้งสามองค์ที่นั่งอยู่ในนั้น (ห่มดองคือครองผ้าเหมือนพระบวชใหม่ในโบสถ์) แถมหลวงพ่อกัสสปยังถือไม้เท้ายาว สะพายย่าม จึงเป็นเป้าสายตาของ ดร.เมตตา และพรรคพวกเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เคยเห็นพระภิกษุไทยในอินเดียนุ่งห่มครองจีวรแบบนี้มาก่อน ดร.เมตตา เพ่งมองดูหลวงพ่อกัสสป ด้วยนัยน์ตาแหลมคมอย่างพินิจพิเคราะห์ พลางกล่าวเชิญให้นั่งแต่มิได้บอกว่าจะให้นั่งตรงไหน อาสนะที่จัดไว้ในห้องนั้นก็มีเรียงรายหลายที่ด้วยกัน หลวงพ่อกัสสปกล่าวขอบใจเบาๆ เดินช้าๆ ผ่านเข้าไปนั่งที่อาสนะตรงกลาง โดยนั่งขัดสมาธิ ตั้งตัวตรง

ดร.เมตตาได้ยกมือขึ้นไหว้ แล้วถามเรียบๆ ว่า
“ท่านมาจากเมืองไทยตั้งแต่เมื่อไร มาประเทศอินเดียด้วยความมุ่งหมายอะไร ท่านมีหน้าที่อะไรในฝ่ายพุทธศาสนา ในเมืองไทย ?”
หลวงพ่อกัสสปมาทราบภายหลัง จากท่านวิเวกนันทะ และพระมหาสุเทพว่า ดร.เมตตาผู้นี้ยังไม่เคยยกมือไหว้พระสงฆ์องค์ไหนเลย

หลวงพ่อกัสสป ได้ตอบไปว่า
“อาตมาภาพมาถึงอินเดียเมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ปีก่อน ตั้งใจมาก็เพราะเพื่อต้องการให้ได้เห็นสิ่งต่างๆ ด้วยตาตนเอง ตามที่ได้อ่าน และได้ศึกษามาทางพระพุทธศาสนาว่า สถานที่ต่างๆ ที่ได้กล่าวไว้ในพระสูตรนั้น ยังจะคงมีอยู่จริงหรืออย่างไร และคนอินเดียในชมพูทวีปเป็นอย่างไร สำหรับหน้าที่กิจการงานทางฝ่ายศาสนานั้น อาตมาภาพไม่มีเพราะมุ่งไปทางปฏิบัติอย่างเดียว”

วาสวาณี อายุ ๓๖ ปียังสาวโสด ใบหน้างาม เป็นหลานสาวของ ดร.เมตตา ดร.วาสวาณีเป็นผู้อำนวยการสำนักงานสถิติอุตสาหกรรม เธอไม่ยอมมีเรือน บอกว่ายุ่งยากใจ และไม่มีอิสระ เพราะประเพณีของชาวอินเดียกดและกีดกันผู้หญิงมาก เธอบอกว่าอยู่อย่างนี้ดีกว่า ทั้งที่พ่อแม่ของเธอก็อ้อนวอนให้แต่งงาน แต่เธอก็ไม่ยอมแต่ง ดร.วาสวาณี ได้ถามหลวงพ่อกัสสป เป็นเชิงขอความเห็นในเรื่องนี้ว่า “หรือท่าน กัสสปเห็นอย่างไร ที่ดิฉันพูดนี้ ?”
หลวงพ่อกัสสปตอบอย่างกลางๆ ว่า “อันการเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น ถ้าทำตัวให้เป็นไทแก่ตัวเองได้เท่าไร ก็ห่างจากทุกข์ได้เท่านั้น”

ดร.วาสวาณีเม้มริมฝีปาก แล้วย้อนถามว่า “พระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้นหรือ ?”
“อาตมาภาพกล่าวตามพุทธวจนะ”
ดร.วาสวาณีนิ่งคิด แล้วกล่าวว่า “จริงอย่างท่านกัสสปว่า ดิฉันเห็นด้วย”
ตั้งแต่วันนั้นมา ดร.วาสวาณี ได้ให้ความสนิทสนมเลื่อมใสมากขึ้น ทำให้หลวงพ่อกัสสป ต้องระวังตัวยิ่งขึ้นเช่นกัน หวนรำลึกถึงพระโอวาทของพระพุทธองค์บรมศาสดาเจ้า ที่ประทานไว้ว่า

“จะพูดกับมาตุคามต้องถึงพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ”
หมายความว่า สมณะนักบวชในพระพุทธศาสนา หากจะพูดคุยกับสตรีเพศ พึงมีสติสัมปชัญญะ ควบคุมใจตัวเองไว้ให้มั่นคง เราส่วนเรา เขาส่วนเขา อย่าเอาเรา และเขามาปนกัน แล้วความปลอดภัยจักมีด้วยประการฉะนี้

ดร.เมตตาได้ถามวิธีปฏิบัติทางจิต กับหลวงพ่อกัสสป และถามต่อไปว่า หลวงพ่อกัสสปได้กำลังจิตขั้นไหนแล้ว ? มีความสามารถอย่างไร ? ศิษย์ทางเมืองไทยมีมากเท่าใด?
คำถามนี้ทำให้ทุกคนในห้อง พากันนิ่งฟังนิ่งเงียบ หลวงพ่อกัสสปนิ่งพิจารณา แล้วจึงตอบว่า
“คำถามที่ท่าน ดร.ถามนี้ ถ้าเป็นคำถามที่ต้องการรู้ด้วยความจริงใจแล้ว อาตมาภาพก็จะตอบให้ฟัง แต่ถ้าถามเป็นเชิงลองเปรียบเทียบแล้ว ก็ขอให้พักไว้ก่อน เพราะทิฐิความเชื่อของบุคคลนั้น ไม่เหมือนกัน”

ดร.เมตตา มองหน้าหลวงพ่อกัสสปอยู่ครู่หนึ่ง แล้วจึงพูดว่า
“ท่านกัสสปทราบได้อย่างไรว่า ข้าพเจ้าจะถามเพื่อเป็นเชิงลองเปรียบเทียบ ?”
“แล้วจริงหรือไม่เล่า ที่ท่านคิดเช่นนั้น ?” หลวงพ่อย้อนถาม
ดร.เมตตาถอนใจยาว เส้นหนวดปลิว พยักหน้าช้าๆ หลวงพ่อจึงกล่าวต่อไปว่า “ นั่นเป็นคำตอบของอาตมาที่ได้ตอบคำถามข้อที่สองของท่านแล้ว ”
“ ข้อที่สองอะไรที่ข้าพเจ้าถาม ? ”
“ ก็ที่ท่านถามว่า อาตมาได้กำลังจิตถึงขั้นไหนแล้ว นั่นยังไง ” หลวงพ่อตอบ

ดร.เมตตายกมือพนม แขกผู้มีเกียรติอีก ๒-๓ คนในห้องชาวอินเดียก็ยกมือพนมเช่นเดียวกัน ส่วนดร.วาสวาณี คงนั่งขัดสมาธิ ประสานมือฟังด้วยความตั้งใจ
ดร.เมตตากล่าวอย่างปลื้มปิติว่า “ข้าพเจ้าพอใจอย่างยิ่ง ที่ได้พบกับท่านกัสสป ซึ่งข้าพเจ้ายังไม่พบภิกษุใดในพุทธศาสนา ตอบข้าพเจ้าอย่างนี้เลย จดหมายของวิเวกนันทะ ได้พูดถึงท่านหลายอย่าง”

และอาตมาก็ยังไม่เคยพบบุคคลใด ที่มีคำถามอันทรงปัญญาอย่างท่าน” หลวงพ่อกัสสป กล่าวอย่างสำรวมฉันท์เมตตาจิต ทำให้ดร.นักบุญชาวภารตะ ต้องเอื้อมมือมาบีบมือหลวงพ่อกัสสป ด้วยความนับถืออันสนิท แล้วพูดต่อไปอย่างเบิกบานใจว่า
“ก่อนที่ท่านกัสสปจะจากไป ยังจะมีอะไร ให้เป็นความรู้ในทางจิตแก่ข้าพเจ้า แม้เพียงเล็กน้อยก็จะเป็นบุญอย่างยิ่ง”

หลวงพ่อกัสสป บีบมือแกตอบ ใบหน้าแกแจ่มใส
หลวงพ่อตอบว่า “ ท่านดร. อายุของท่านมากแล้ว จงพยายามอย่าทำจิตให้ฟุ้งซ่านเกินไป จงอยู่คนเดียวในที่สงัดให้มากที่สุด พูดแต่น้อย กินพอประมาณ อย่าเห็นแก่นอน ตัดอารมณ์เครื่องครุ่นคิดทั้งหมด แล้วทำใจให้แจ่มกระจ่างผ่องใส นี้แหละคือทางที่จะพาเราไปสู่ความล่วงทุกข์ ได้โดยหมดจด ไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า นี่เป็นธรรมที่อาตมาได้ศึกษา ฝึกฝนมา แม้จนบัดนี้ ”

ดร.เมตตา ได้ฟังแล้ว จึงพูดว่า “ท่านกัสสป ข้าพเจ้ายังมีธุระที่จะต้องทำอีกมาก ยังต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอีกมาก… ถึงอย่างนั้นก็จะพยายาม”
“นั่นแหละท่าน ดร. แม้ข้อนี้ เราก็พึงสังวรระวัง ตราบใดเรายังมีธุระมาก ยังเกี่ยวข้องกับบุคคลอีกมาก ตราบนั้นเรายังไม่ใช่คนพิเศษเหนือคน ยังมีความเป็นอยู่เหมือนๆ เขาอยู่ แล้วเราก็ยังสอนเขาไม่ได้เต็มที่ ขอจงจำข้อนี้ไว้ให้ดี” หลวงพ่อกัสสปกล่าว
แขกผู้มีเกียรติของ ดร.เมตตา จำนวน ๒-๓ คนที่นั่งฟังอยู่ที่นั้น มีความพอใจมาก ที่ได้ฟังหลวงพ่อพูดโต้ตอบกับ ดร.เมตตามาทั้งหมด ต่างก็พนมมือ

คนหนึ่งสูงอายุพูดขึ้นว่า “ข้าพเจ้ายังไม่เคยได้ยิน นักบวชคนใดพูดอย่างนี้เลย”
ดร.เมตตาได้ขอนิมนต์หลวงพ่อกัสสปว่า พรุ่งนี้เขาขอจัดอาหารเพลถวายด้วยฝีมือตนเอง เป็นการเลี้ยงส่ง ใคร่ขอนิมนต์หลวงพ่อให้มาฉันในห้องรับรองภายในบ้านของเขาด้วย ซึ่งหลวงพ่อรับทราบด้วยอาการดุษณี
ท่านวิเวกนันทะ และ พระมหาสุเทพ บอกในภายหลังว่า “ยังไม่เคยเห็น ดร.เมตตาให้เกียรติใครอย่างนี้”

วันรุ่งขึ้น หลวงพ่อออกจากห้องพักไปฉันเพลยังห้องรับรองส่วนตัวของดร.เมตตา ซึ่งอยู่ภายในตึกเดียวกัน อาหารทุกอย่าง ดร.เมตตา ลงมือปรุงเองอย่างประณีต มีแกงดาลใส่มันฝรั่ง และมะเขือเทศ อย่างโอชา ข้าวผัดถั่ว ผัดมะเขือเทศ ปนมันฝรั่ง ผัดถั่วลันเตา ส่วนของหวานมีพวกขนมหวาน และชาร้อนใส่นมสด

เมื่อเสร็จอาหารเพลแล้ว หลวงพ่อกัสสปออกมาเก็บกลด และบาตร พอเวลา ๒๑.๐๐ น. หลวงพ่อได้กลับเข้าไปลา ดร.เมตตาอีกเป็นครั้งสุดท้าย ตอนนี้มีแขกผู้มีเกียรตินั่งอยู่ด้วยสามคน หลวงพ่อได้กล่าวให้พร และอนุโมทนาในกุศลจิต และการกระทำในส่วนดีของ ดร.เมตตา ตลอดระยะเวลาหลายวันที่หลวงพ่อ ได้พำนักอยู่ ณ สำนักนี้ ขอส่วนกุศลคุณความดีนั้น จงบันดาลให้ ดร.เมตตา จงประสบแต่ความสุขสิริสวัสดิ์ ทุกประการ

ดร.เมตตาพนมมือรับพร พอหลวงพ่อกัสสป ลุกขึ้นจากอาสนะ ดร.เมตตาก็ตรงเข้ามาสวมกอดไว้ ค่าที่แกเป็นแขกอินเดียร่างใหญ่ อ้วนสมบูรณ์กว่าหลวงพ่อกัสสปมาก ทำให้หลวงพ่อต้องยืนตั้งหลักใช้ไม้เท้ายันไว้กับพื้นข้างหน้า มิฉะนั้นเป็นต้องล้มคะมำแน่ ดร.วาสวาณีจ้องมองตาเขม็ง ต่อเป็นครู่ใหญ่ แกจึงได้ปล่อยมือจากหลวงพ่อ แล้วหลวงพ่อก็ก้าวออกจากห้องด้วยลีลาอันทิ้งไว้เพื่อให้เป็นที่ประทับใจ ซึ่งทุกผู้ในที่นั้นจะต้องจดจำไปอีกนาน

ท่านวิเวกนันทะ บอกอย่างปลาบปลื้มว่า “ ผมยังไม่เคยเห็น ดร.เมตตา แสดงความรักเคารพเลื่อมใสใครอย่างนี้เลย แกนับถือหลวงพ่อมากทีเดียว ”
ขณะที่หลวงพ่อ และท่านวิเวกนันทะเดินออกมายังรถแท็กซี่ ที่จอดอยู่ คหบดีผู้เป็นแขกผู้มีเกียรติ ของดร.เมตตาคนหนึ่งได้รีบตามออกมา คหบดีคนนั้นได้ทรุดตัวลงไหว้หลวงพ่อกัสสป แล้วเอาธนบัตรใบละ ๑๐ รูปีวางลงบนหลังเท้าของหลวงพ่อ พร้อมกับเอามือแตะหลังเท้าอีกครั้งหนึ่ง แล้วเงยหน้าขึ้นพนมมือเพียงอก กล่าวว่า “ขอถวายเงินนี้ สำหรับไว้ใช้ตามทาง”
หลวงพ่อได้อนุโมทนาให้พร สร้างความปลาบปลื้มปีติให้แก่ คหบดีชาวภารตะผู้นั้น จนน้ำตาคลอ

จากนั้นหลวงพ่อก็ขึ้นแท็กซี่พร้อมกับท่านวิเวกนันทะ ตรงไปยังสถานีเซ็นทรัล เรลเวย์ รถออกเวลาสี่ทุ่มเศษ เดินทางสู่เมืองมัดดร๊าส แคว้นทางใต้ของอินเดีย ซึ่งเรียกว่า “ อันตระประเทศ ” เพื่อท่องเที่ยวเยี่ยมเยือนสำนักปฏิบัติทางศาสนา ของคณาจารย์ลัทธิต่างๆ
ท่านวิเวกนันทะได้มาส่ง หลวงพ่อกัสสป เข้าสู่เมืองฤาษีเกษ โดยนั่งรถไฟมาลงที่เมืองหาดวาร์

รถไฟเข้าถึงหาดวาร์ เวลาตี ๕ เศษ เอาข้าวของฝากเก็บไว้ในห้องฝากเก็บของสถานีรถไฟ แล้วออกมานั่งรอเวลาที่ม้ายาว ชานชาลาจนสว่าง ลูบหน้าลูบตาที่ก๊อกน้ำของสถานี แล้วว่าจ้างสามล้อถีบไปฉันน้ำชาในตลาด ฉันเสร็จแล้วไปชมสะพานหาดวาร์ และท่าอาบน้ำหาดวาร์ สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ตรงโค้ง ของแม่น้ำคงคามหานที ใต้เมืองฤาษีเกษ น้ำไหลเชี่ยวทั้งน่ากลัว และน่าดู ตรงกลางแม่น้ำหมุนคว้างบิดเป็นเกลียว พวกฮินดูชาวพื้นเมือง และต่างเมือง มีนักบวช นักพรต ฤาษี โยคี ฯ ลฯ มากมายลงอาบน้ำเต็มไปหมด

ท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ หลวงพ่อกัสสปเล่าว่า เขาทำเป็นชานชลาเทคอนกรีตลงไปที่กลางน้ำ เปิดท่าให้ลงอาบได้ทั้งสองด้าน ของชานชลา ตรงกลางเป็นที่ตั้งร้านแผงลอย ขายดอกไม้และเครื่องเจิมทุกชนิด ริมชานชลาทำเป็นขั้นบันไดซีเมนต์สำหรับลงอาบ และมีรั้วตาข่ายเหล็กกั้นอยู่ข้างหน้าตามความยาวของชานชลา ห่างจากบันไดที่ลงอาบราวสองเมตร เพื่อป้องกันสัตว์น้ำ ที่หาดวาร์นี้มีสะพานข้ามแม่น้ำหลายแห่ง เพราะเป็นที่แคบ ง่ายต่อการก่อสร้าง

เวลาบ่ายโมงนั่งรถไฟไปเมืองฤาษีเกษ ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงก็ถึง แล้วเช่ารถม้านั่งต่อไปที่ท่าเรือข้ามฟาก “ท่าเรือศิวะนันทะ” ข้ามแม่น้ำคงคาไปทางฝั่งซ้าย อันเป็นที่ตั้งสำนัก “สวรรค์ อาศรม” ฝั่งซ้ายแม่น้ำคงคานี้ ภูมิประเทศสวยงาม และเงียบสงบกว่าฝั่งขวา ฝั่งขวาแม่น้ำคงคา เป็นที่ตั้งของสำนักอาศรม “ศิวะนันทะ” อันมีชื่อเสียง

แต่ไม่เงียบสงบเท่าที่ควร เพราะใกล้ทางรถยนต์ รถม้า และทางเดินผ่านของผู้คน ประกอบกับตั้งอยู่ต่ำจากถนนเพราะเป็นไหล่เขา รถวิ่งอยู่บนหลังคาอาศรมหนวกหูมาก พวกฤาษี นักบวช และนักพรตอยู่ในอาศรมศิวะนันทะ อย่างแออัดเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หลวงพ่อกัสสปจึงเปลี่ยนใจไม่พักบำเพ็ญเพียรที่สำนักแห่งนี้ เพราะไม่สงบเท่าที่ควร จึงได้ข้ามฝากไปฝั่งซ้ายที่สำนักอาศรมสวรรค์ดังกล่าว

หลวงพ่อกัสสปเล่าถึงการเข้าสู่สำนัก สวรรค์อาศรม อย่างน่าสนใจว่า กว่าจะลงเรือที่ท่า ศิวะนันทะ ข้ามฟากแม่น้ำคงคามาฝั่งซ้ายได้ ต้องออกพละกำลังกันนิดหน่อย เพราะพวกที่รอจะลงเรือบนฝั่ง ไม่มีวัฒนธรรม พอเรือเข้าเทียบจอดก็เฮโลดาหน้ากันมา พวกที่อยู่ในเรือก็จะขึ้นบก เลยเกิดดันกันชุลมุน

หลวงพ่อตัวเล็กเพราะเป็นคนไทย สู้แขกอินเดียตัวใหญ่ๆ ไม่ไหว เลยต้องใช้หัวกลดเป็นเครื่องเบิกทางโดยเอากลดหนีบรักแร้แล้วพุ่งตัวไปข้างหน้า แหย่พรวดเข้าไปกลางหมู่แขกที่ไม่มีมารยาท ทำเอาพวกมันส่งเสียงร้องกันเอ็ดตะโร หงายหลังผลึ่งไป ๓-๔ คน เพราะถูกขอทองเหลืองที่หัวกลดกระแทกเอา

“ขอทองเหลืองที่หัวกลดนี้มีประโยชน์มาก เวลาขึ้นรถไฟชุลมุนในเมืองแขกก็ใช้ขอทองเหลืองเป็นใบเบิกทางแหย่เข้าไปก่อน พวกแขกที่เห็นแก่ตัวชอบแย่งกันขึ้นลงชุลมุน เป็นต้องร้องขรมหลีกทางให้เป็นแถว” หลวงพ่อกล่าวขำๆ
“… ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ไม่มีทางได้ขึ้นหรือลง เพราะบางกลุ่มคนเมืองแขก พูดไม่รู้เรื่อง และไม่นึกถึงวัฒนธรรม”

พวกร้านขายของริมท่าน้ำคงคากับพวกฤาษีมากหน้าหลายตา ต่างพากันยืนดูหลวงพ่อ และท่านวิเวกนันทะด้วยความแปลกใจ เพราะยังไม่เคยเห็นพระภิกษุสงฆ์ ในพุทธศาสนา เข้ามาในเมืองฤาษีชีไพรแห่งนี้มาก่อนเลย

หลวงพ่อ และท่านวิเวกนันทะพากันเดินเรื่อยไป ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปหาใคร จึงพากันเดินเรื่อยไป จนถึงเนินเขาหลังที่ทำการของสำนักอาศรมสวรรค์ ได้พบอาชีวกหนุ่มผู้หนึ่ง นุ่งผ้าเตี่ยวเปลือยตัว หน้าตาคมขำ ผมเป็นกระเซิงไม่มีหนวดเครา ลักษณะท่าทางทะมัดทะแมงเป็นสง่า ได้สอบถามว่า มาจากไหน ต้องการอะไร

ท่านวิเวกนันทะจึงตอบแทนว่า หลวงพ่อชื่อ กัสสปมุนี ต้องการมาบำเพ็ญเพียรที่ฤาษีเกษชั่วระยะหนึ่ง หวังว่าคงจะได้รับการอนุเคราะห์ด้วยดี สำหรับท่านวิเวกนันทะเป็นแต่เพียงมัคคุเทศก์ นำทางมาเท่านั้น
ที่มา ธรรมะเกตเวย์

แอพเกจิ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: