2582.หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม กับ หลวงพ่อสุด วัดกาหลง

หลวงพ่อเต๋ ท่านมีลุงแท้ๆ บวชเป็นพระอยู่ที่วัดกาหลง จังหวัดสมุทรสาคร ชื่อว่า หลวงลุงแดง เมื่อปี พ.ศ.2441 หลวงพ่อเต๋ อายุได้ 7 ขวบ หลวงลุงแดง ได้เดินทางมาเยี่ยมญาติโยมของท่าน ที่ตำบลสามง่าม ก่อนกลับวัดกาหลง ท่านได้สังเกตเห็นแววของหลวงพ่อเต๋ ว่าเป็นผู้สนใจในการศึกษาเล่าเรียน จึงได้พาหลวงพ่อเต๋ เดินทางไปอยู่ด้วยกันที่วัดกาหลง เพื่อให้หลวงพ่อเต๋ ได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือ และศึกษาพระธรรมวินัย กับท่าน ฯ

วัดกาหลง ในสมัยก่อน ยังเป็นสำนักสงฆ์อยู่ คือไม่มีโบสถ์ ไม่สามารถขอวิสุงคามสีมาเป็นวัดได้ สมภารในสมัยนั้น ชื่อว่า หลวงพ่อเชื่อม ท่านได้ปรึกษากับชาวบ้าน ว่าจะสร้างโบสถ์ขึ้นมาสักหลัง ทุกคนก็ยินดี ร่วมมือ ร่วมแรง หาไม้มาสร้างโบสถ์ จนสำเร็จ แต่ปรากฏว่า ยังไม่มีพระประธานไว้กราบไหว้ หลวงลุงแดง จึงรับอาสาเป็นธุระจัดหามาให้

ท่านก็ล่องเรือไปทางสมุทรสงคราม ไปเรื่อยๆ พบเห็นวัดร้างที่ไหน ท่านก็ขึ้นไปถามชาวบ้าน ว่า ขอพระประธานได้มั้ย ปรากฏว่า ทุกที่ๆท่านไปถาม ชาวบ้าน เขายังไม่ยอมให้ จะเก็บไว้บูรณะ จนไปเจอวัดร้างแห่งหนึ่ง มีเถาวัลย์ปกคลุมอยู่เต็มไปหมด ท่านก็ถามขอพระประธานกะชาวบ้านแถวนั้น

ชาวบ้านต่างยินดียกให้ เพราะไม่มีกำลังจะบูรณะใหม่ พร้อมกับช่วยท่าน ต่อแพเพื่อขนพระประธานกลับวัด เมื่อล่องตามน้ำมาถึงวัดกาหลง ก็ยกขึ้นมาประดิษฐานอยู่ที่โบสถ์ไม้ (บัจจุบัน ถูกรื้อสร้างใหม่) แล้วชาวบ้าน ก็ขนานนามพระประธานองค์นั้น โดยให้เกียรติหลวงลุงแดง ว่า หลวงปู่แดง จนมาถึงทุกวันนี้ ฯ


มาในปี พ.ศ.2444 หลวงลุงแดง มีความเห็นว่า บ้านเกิดเมืองนอนของท่าน คือ ตำบลสามง่าม ยังไม่มีวัดให้ประชาชนได้ทำบุญและประกอบศาสนกิจ ท่านจึงพาหลวงพ่อเต๋ ในขณะนั้น มีอายุได้ 10 ขวบ กลับมาช่วยกันสร้างวัด (ประวัติการสร้างวัดสามง่าม ผู้เขียนขอข้ามไป เนื่องจากจะยาวเกินไป) พอหลวงพ่อเต๋ อายุได้ 15ขวบ หลวงลุงแดงก็ให้บวชเณร หลวงพ่อเต๋ ในฐานะหลานก็ได้ติดตามหลวงลุงแดงไปทุกหนทุกแห่ง

มาปี พ.ศ.2454 หลวงพ่อเต๋ อายุครบบวช 21 ปี ท่านก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยไม่ได้สึกจากสามเณร นับได้ว่าในชีวิตของหลวงพ่อเต๋ อยู่ในเพศฆราวาสเพียง 14 ปีเท่านั้น เมื่อวัดสามง่าม เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง โบสถ์ก็สร้างเสร็จแล้ว(โบสถ์หลังเก่า) ตอนนั้นเอง ทางวัดกาหลง ไม่มีสมภารดูแลวัด

อีกทั้งไม่มีพระภิกษุอยู่พำนักประจำ หลวงลุงแดง จึงตัดสินใจกลับไปช่วยดูแลวัดกาหลง (หนังสือบางเล่ม บอกท่านป่วยกลับไปรักษาตัวที่วัดกาหลง)* ก่อนจากไปหลวงลุงได้ฝากวัดสามง่ามไว้กับหลวงพ่อเต๋ พระหลานชายของท่าน ว่า “อย่าทิ้งวัดสามง่ามนะ ขอให้อยู่ดูแลต่อไปด้วย” หลังจากกลับไปไม่นาน หลวงลุงแดงก็มรณภาพที่วัดกาหลงนั่นเอง ฯ

หลวงพ่อเต๋

เมื่อหลวงลุงแดง มรณภาพแล้ว หลวงพ่อเต๋ ก็ไปอยู่กับ หลวงพ่อทา ที่วัดพะเนียงแตก แล้วก็หลวงพ่อแช่ม ที่วัดตาก้อง จากนั้น ท่านก็ออกธุดงด์ ไปเพื่อแสวงหาความรู้ และ ขัดเกลาจิตใจ เป็นเวลาถึง 17 ปี แล้วจึงกลับมาดูแลวัดสามง่าม ตามปณิธานของหลวงลุงแดงที่ฝากฝังไว้ จะขอกล่าวถึงวัดกาหลง สักเล็กน้อย ขณะนั้นวัดกาหลง ไม่มีพระภิกษุอยู่ประจำ ทางกำนันม้อย จึงเดินทางไปขอพระภิกษุ จากวัดตึกมหาชยาราม

โดยวัดตึกได้ส่ง หลวงพ่อสุด มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดกาหลง กลับมาทางหลวงพ่อเต๋ต่อ หลังจากท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสามง่ามแล้ว ท่านก็เดินทางไปสมุทรสาคร เพื่อกราบอัฐิหลวงลุงแดงที่วัดกาหลง โดยขึ้นรถไฟ แล้วลงเรือต่อ การเดินทางสมัยนั้นกินเวลาเป็นวัน จะกลับในวันเดียวเป็นไปไม่ได้เลย ท่านจึงเข้าไปแจ้งความประสงค์กับเจ้าอาวาส เพื่อขออยู่ค้างคืน

เมื่อหลวงพ่อเต๋ ได้พบกับหลวงพ่อสุดๆ ก็สอบถามถึงการมา ทำให้รู้ว่า หลวงพ่อเต๋ เคยอยู่วัดนี้ มาก่อนในวัยเด็ก และการมาครั้งนี้ เพื่อมากราบเคารพอัฐิหลวงลุง หลังการพูดคุยกันอยู่พักใหญ่ ว่ากันว่า หลวงพ่อเต๋ และหลวงพ่อสุด ชอบพออัธยาศัยซึ่งกันและกัน รู้สึกสนิทสนมเสมอด้วยกัลยาณมิตร

หลวงพ่อสุด จึงชวนหลวงพ่อเต๋ ให้พักอยู่หลายๆวัน (หลวงพ่อเต๋ พรรษามากกว่าหลวงพ่อสุด) จากที่หลวงพ่อเต๋ ตั้งใจจะค้างแค่วันเดียวแล้วกลับวัด ก็พักอยู่ที่วัดกาหลงเป็นเวลาหลายวันจึงเดินทางกลับวัดสามง่าม นับแต่บัดนั้น หลวงพ่อทั้งสองก็เป็นเพื่อนสหธรรมิก ที่ดีต่อกันเสมอมา ฯ

หลวงพ่อสุด

เมื่อใดที่วัดสามง่าม มีงานบุญ หรืองานไหว้ครู ทุกๆครั้ง หลวงพ่อสุด จะเหมารถสองแถว ขนอาหารทะเลตากแห้ง กะปิ น้ำปลา มาให้ไม่เคยขาด คนวัดสามง่ามรุ่นเก่าๆ มักเรียกหลวงพ่อสุด ว่า หลวงพ่อวัดกาหลง และจะชอบท่านมาก เพราะได้กินอาหารทะเลอร่อยๆ ที่ท่านส่งมา ซึ่งสมัยนั้นหากินยาก

ส่วนหลวงพ่อเต๋ เมื่อท่านรู้ข่าวว่า วัดกาหลง มีงาน ท่านจะรีบทำตะกรุดสามห่วง หรือที่เราๆเรียกกันว่า ตะกรุดสามห่วงผ้ายันต์แดง กับ ตะกรุดโทนไปให้ โดยจะส่งลูกศิษย์ขึ้นรถไฟ เอาตะกรุดไปให้ถึงมือหลวงพ่อสุด

หลวงพ่อสุดท่านก็ยังเอากะปิ น้ำปลา ให้ลูกศิษย์ หิ้วพะรุงพะรัง กลับมาฝากหลวงพ่อเต๋ ส่วนการพบปะของหลวงพ่อเต๋ กับหลวงพ่อสุด นับว่าท่านเจอกันบ่อยมาก คือ ในสมัยนั้น ท่านทั้งสองเป็นเกจิที่มีชื่อเสียงยุคเดียวกัน เจอกันตามงานพิธีปลุกเสกเดือนหนึ่ง 2-3 ครั้ง โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปเยี่ยมเยียนกันเลย ฯ

ที่มา วัดกาหลง สมุทรสาคร, ชมรมหลวงพ่อเต๋ คงทอง
แอพเกจิ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: