9013.เขาอ้อ ตักศิลาทาง ไสยเวทย์ของภาคใต้ ตอนที่ 3

ตอนที่ 3 : กำเนิดพราหมณ์นครศรีธรรมราช

เพื่อให้เรื่องแคบเข้ามาสู่วัตถุประสงค์ที่จะวกเข้าหาวัดท้าวโคตร จึงจะพูดถึงการขยายตัวของพราหมณ์ในขอบเขตแหลมมลายู โดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศไทยเท่านั้น

สายที่ ๑ คือ สายบาตูปาฮัต เมื่อตั้งชุมนุนชนเป็นปึกแผ่นหลายร้อยปีแล้ว ก็ค่อยเคลื่อนย้ายขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ย่างเข้าแคว้นแดนดินซึ่งต่อมากลายเป็นประเทศ “ลังกาสุกะ” สายนี้ตะลุยขึ้นไปตามเส้นทางที่กล่าวแล้ว จนเข้าเขตท้องที่เดี๋ยวนี้เรียกว่าเมืองสงขลา ข้ามทะเลเข้าสู่อำเภอสะทิงพระและระโนด บางพวกก็ตัดข้ามทะเลสาบตรงไปทางตะวันตก ไปตั้งชุมนุมขึ้นที่บางแก้ว เขตจังหวัดพัทลุง และหม่หยุดยั้งเพียงเท่านั้น ข้ามแม่น้ำท่าเสม็ดทางเหนือเข้าเขตเมืองนครศรีธรรมราชทางด้านใต้แล้วเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ผ่านอำเภอชะอวด ร่อนพิบูลย์ จนเข้าถึงย่านตัวเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งขณะนั้นพวกเนกรีตอสเจ้าถิ่นเดิม อพยพขึ้นไปอยู่แถวริมภูเขาบันทัด อันเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของแหลมมลายูตอนใต้หมดแล้ว เฉพาะในเขตท้องที่ที่เรียกว่า “เขาวัง” นั้น พวกวาณิชยพราหมณ์เห็นว่าเป็นทะเลเหมาะ เพราะมีเขาเป็นกำแพงล้อมรอบ และเรือสำเภาเข้าถึง (ตำบลขุนทะเลเดี๋ยวนี้) จึงได้ตั้งเป็นเมืองขึ้นเสียเลย พราหมณ์สายบาตูปาฮัตนี้อาจเรียกได้ว่าสะดุดหยุดลงที่ในเขตแหลมมาลยูตอนเหนือ คือตั้งแต่รัฐเคดาห์ขึ้นมาจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช ได้ตั้งเป็นเมืองหรือชุมนุมใหญ่ ๆ ขึ้น ทุกแห่งที่พราหมณ์ผ่านไป แต่ละแห่งก็ตั้งอยู่เป็นร้อย ๆ ปี ทิ้งรอยให้ปรากฏอยู่ทุกแห่ง โดยเฉพาะในเขตเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งจะได้กราบเรียนต่อไป

สายที่ ๒ สายตะโกลา นับว่าเป็นสายหรือคณะพราหมณ์ที่ใหญ่ที่สุดที่หลั่งไหลเข้ามาสู่แหลมอินโดจีน และยังแพร่เข้ามาถึงเมืองนครศรีธรรมราชด้วย ซึ่งทำให้มีพราหมณ์เกิดเป็น ๒ พวก ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่าพราหมณ์สายตะโกลานี้มีความทะเยอทะยานแรงกล้า โดยมุ่งจะเข้าครอบคลุมแหลมอินโดจีนให้หมดทีเดียว จึงใช้วิธีการจาริกเป็น ๒ อย่าง คือ ทั้งทางน้ำและทางบก

โดยชั้นแรกล่องขึ้นตามลำแม่น้ำตะกั่วป่า ข้ามเขาแสกเดินเลียบริมแม่น้ำคีรีรัฐ ซึ่งไหลลงสู่อ่าวไทยทางตะวันออกจนถึงบ้านพาน อันเป็นชุมทางร่วมกับสาขาใหญ่ของแม่น้ำตาปีอีกสายหนึ่ง เรียกว่าแม่น้ำหลวง พราหมณ์ได้ตั้งชุมนุมชนขึ้นจนกลายเป็นเมือง เรีกยว่า “จัรพาน-พาน” (ซึ่งต่อมาเพี้ยนเป็นพุนพิน คือสถานีสุราษฎร์ธานีเดี๋ยวนี้) เมื่อถึงบ้านพานแล้ว ก็แบ่งออกเป็น ๓ พวก

พวกหนึ่งเดินบกไปสู่ทิศเหนือ ไปจนถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเดี๋ยวนี้ ซึ่งเป็นดินแดนของอาณาจักรกัมโพช

พวกหนึ่งแสวงหาเรือออกทะเลที่อ่าวบ้านดอน แล่นเรือข้ามอ่าวไทยตรงไปทางทิศตะวันออก ไปขึ้นฝั่งที่ดินแดนอันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชาเดี๋ยวนี้

ส่วนอีกพวกหนึ่งเดินเท้าเลียบริมแม่น้ำหลวง (สาขาแม่น้ำตาปี) ไปทางทิศใต้ ไปตั้งหลักฐานอยู่ที่บ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานีเดี๋ยวนี้

อีกพวกหนึ่งเป็นพวกที่ ๔ เดินเท้ามุ่งไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่ฝั่งทะเลของอ่าวไทย ผ่านเข้าบ้านกะแดะ (กาญจนดิษฐ์) เข้าชานเมืองนครศรีธรรมราช คือ อำเภอดอนสัก สิชล ท่าศาลา แล้วมาสะดุดหยุดลงในบริเวณที่เป็นวัดเสมาเมือง ใจกลางเมืองนครศรีธรรมราชเดี๋ยวนี้ ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องราวเมื่อประมาณเกือบ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว หากผิดถูกประการใดขอท่านผู้รู้โปรดทะกท้วงขึ้น เพื่อช่วยกันทำความผิดให้เป็นความถูก

เป็นอันว่าคณะพรามหณ์ที่ออกจากชมพูทวีปเมืองรามนครแล้ว ข้าพเจ้าแบ่งเป็น ๒ พวก เมื่อขึ้นฝั่งแหลมมลายูได้แล้ว ก็แพร่สะพัดไปในดินแดนแหลมอินโดจีนตั้งแต่ไทยยังไม่อพยพลงมาจากประเทศจีน อาจเรียกได้ว่า นอกจากพม่าและลาวแล้ว ดินแดนส่วนนี้ของแหลมอินโดจีนตกอยู่ใต้อำนาจของพราหมณ์เกือบทั้งหมด

มีข้อสังเกตว่า ทุกแห่งที่พราหมณ์ไปตั้งชุมนุมชนอยู่ที่ไหน พราหมณ์ได้สร้างเทวสถานให้ปรากฏขึ้นที่นั่น ทิ้งร่องรอยให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ นับเป็นส่วนดีอันหนึ่งของลัทธิพราหมณ์ที่ข้าพเจ้าขอยกย่องไว้ ณ ที่นี้ด้วย พราหมณ์ ๒ สายนี้ตั้งอาณาจักรพราหมณ์ขึ้นในท้องถิ่นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือสายบาตูปาฮัต เริ่มตั้งแต่อาณาจักรลังกาสุกะขึ้นมาทางเหนือของแหลมมลายู ตั้งเมืองที่เป็นปึกแผ่นก็ที่พัทลุงเดิม เมืองสทิงปุระรอบๆ ทะเลสาบสงขลา ไต่ขึ้นมาจนถึง “หาดทรายแก้ว” ของอาณาจักรตามพรลิงค์

ส่วนพวกที่ ๔ ของสายตะโลา พอถึงริมฝั่งทะเลอ่าวไทยแล้วก็วกลงทางใต้เข้าสู่หาดทรายแก้วเหมือนกัน แต่มาตั้งรกหลักฐานเป็นปึกแผ่น สร้างเทวสถานที่ปรากฏอยู่จนกระทั่งบัดนี้ คือ หอพระอิศวรและหอพระนารายณ์ แผ่เนื้อที่ครอบคลุมชุมชนพราหมณ์บริเวณ โดยรอบถึงวัดเสมาเมืองและเสมาชัย เฉพาะในท้องที่หาดทรายแก้วนั้น พราหมณ์สายบาตูปาฮัตขยายลุกล้ำเข้ามาจนถึงบ้านหินหลักเดี๋ยวนี้…

มีหลักฐานที่เป็นเอกสารที่ระบุถึงชื่อดินแดนแห่งหนึ่งในโลก เรียกว่า “ตามพรลิงค์” ซึ่งต่อมานักประวัติศาสตร์ทั่วไปรับรองว่าหมายถึงเมืองนครศรีธรรมราช นั้นก็คือแผนที่ของปโตเลมีแสดงว่า ตั้งอยู่ในแหลมมลายู มีอาณาเขตจดฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย ระหว่างท้องที่ซึ่งเรียกกันโดยนักประวัติศาสตร์ว่า “หาดทรายแก้ว” แล้วแผ่ไปจนถึงเมืองครึหิ (ไชยา) ทางตอนใต้ของตามพรลิงค์ ลงไปก็เป็นอาณาจักร “ลังกาสุกะ” นอกจากนี้ที่เชื่อถือได้แน่ชัดก็คือจากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่จารึกให้เกียรติสูงสุดแก่ชาวนครศรีธรรมราช ตอนที่ว่า “สังฆราช ปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร หลวกกว่าปู่ครูในเมืองทุกคน ลุกแต่เมืองนครศรีธรรมราชมา…” ก็เป็นอันว่าคำว่า “ศรีธรรมราช” ได้เข้าไปปรากฏในวงการประวัติศาสตร์โลกเป็นครั้งแรก เพราะศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักนี้ ชาติอังกฤษถือเป็น “แม็กนาคาตา” ของประเทศไทยทีเดียว

เมื่อพิจารณาถึงการตั้งเมืองนครศรีธรรมราช ในสถานที่แห่งใหม่นี้ จะเห็นว่าท้องที่ทที่เรียกว่า “หาดทรายแก้ว” เป็นท้องที่ที่เหมาะสมที่สุดในสมัยนั้น ทางตะวันออกจดทะเล เป็นท่าเรือพาณิชย์สากล ทางตะวันตกเป็นที่นาและที่สวน ทางทิศเหนือและทิศใต้ก็จดประเทศพันธมิตร ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นศัตรูกันได้ คืออาณาจักรลังกาสุกะ ดังนี้ผู้ (ตั้งตัว) เป็นใหญ่หรือพระเจ้าแผ่นดินของอาณาจักร ซึ่งเรียกชื่อที่หลังว่า “ศรีธรรมราช” นั้น จึงได้ประกอบพิธีตั้งเมือง พิธีตั้งเมืองของท้าวโคตร

ความจริง ชื่อ ท้าวโคตร เป็นชื่อที่ประชาชนเรียกกันเอง ในฐานะกษัตริย์พระองค์แรก แต่ชื่อที่ปรากฏต่อมาที่นักประวัติศาสตร์เรียกตามทางการนั้นคือ “พญาศรีธรรมาโศกราช ที่ ๑ ” โดยเฉลิมพระนามให้ปรากฏคล้าย ๆ กษัตริย์พราหมณ์ในอินเดีย

เรื่องการตั้งเมืองนครศรีธรรมราช บนหาดทรายแก้วนี้มีปรากฏอยู่ในหนังสือ “ตำราเมืองนครศรีธรรมราช” พิมพ์ขึ้นโดยทางวัดพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชในโอกาสฉลอง ๒ พุทธศตวรรษ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อมหาศักราชได้…ปีนั้น พระยาศรีธรรมาโศกราชสร้างสถานและหากทราย(แก้ว) นั้นเป็นกรุงเมือง ชื่อเมืองนครศรีธรรมราช ได้สถาปนาอัครมเหสีชือ่นางสังคเทวี….ฯลฯ” ในหนังสือตำนานดังกล่าวได้เว้นตัวเลขปีมหาศักราชไว้ ทั้งนี้เพราะเกิดความไม่แน่ใจในหลักฐานก็อาจเป็นได้แต่ปีที่สร้างเมืองนครศรีธรรมราชนั้น มีในหนังสือประวัติศาสตร์อื่น ๆ ก็มีอยู่หลายเล่มว่า พญาศรีธรรมโศกราช (ที่ ๑) สร้างเมืองขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๐๙๘ ซึ่งตั้งเมืองนครศรีธรรมราชให้ปรากฏไว้ด้วย เรื่องนี้เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับคำศรีธรรมราชในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ที่ว่าพบที่วัดเวียง ไชยา กล่าวถึงพระเจ้าจันทรภานุแห่งนครศรีธรรมราฃ ซึ่งได้จารึกไว้เมื่อ พ.ศ.๑๗๗๓ ชั่วระยะเวลาห่างกันประมาณ ๗๐๐ ปี ก็พอจะกลมกลืนกับเหตุการณ์มนประวัติศาสตร์ตอนนั้นได้ เพราะกว่าพระเจ้าศรีอินทราทิตย์จะตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้นมาได้ก็ใช้เวลารบพุ่งกับศัตรูทางการเมืองของพระองค์มาอย่างยากลำบาก และกว่าจะถึงรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงก็ต้องใช้เวลาเป็นร้อย ๆ ปี อนึ่ง ตัวเลขศักราชในหนังสือตำนาน หรือ พงศาวดาร ฯลฯ เพิ่งเขียนขึ้นมาทีหลัง ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนไปได้ เพราะฉนั้นพอที่จะยอมรับกันได้ว่า เมืองนครศรีธรรมราชถูกตั้งขึ้นในปี พ.ศ.๑๐๙๘ ซึ่งเจริญก้าวหน้าและรุ่งเรืองก่อนตั้งกรุงสุโขทัย

เนื่องจากท้าวโคตรหรือพญาศรีธรรมาโศกราชที่ ๑ เป็นพราหมณ์ซึ่งอยู่ในสยาบาตูปาฮัต เพราะฉะนั้นการประกอบพิธีทางบ้านเมืองหรือทางศาสนาก็ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ลัทธิพราหมณ์ทั้งสิ้น เช่น ก่อนอื่นให้ขุดกำแพงดินและคูน้ำล้อมรอบอาณาเขตเมืองทั้ง ๔ ด้าน มุมกำแพงทุกมุมให้ตั้งตุ่มน้ำใบใหญ่ใส่น้ำเต็มตุ่มอยู่ตลอดเวลา กันข้าวยากหมากแพงฝังหลักเมือง มีสิ่งที่ควรจดจำในเรื่องนี้ก็คือ บริเวณที่ตั้งเมืองในขระนั้น คือเรียกว่า “วัดพระเวียง” เดี๋ยวนี้ ซึ่งบัดนี้ท่งราชการได้ใช้ที่ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งสถานที่เลี้ยงเด็กอนาถามาหลายปีแล้ว จนบัดนี้ภาพถ่ายเจดีย์และสิ่งสกคัญที่ท่านผ้อ่านควรจะทราบไว้ด้วยก็คือ เนื่องจากพญาศรีธรรมาโศกราชที่ ๑ นับถือศาสนาพราหมณ์ เพราะฉะนั้นจึงได้สร้างเทวสถานและเทวาลัยขึ้นไว้ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง คือตรงที่เรียกว่า “วัดท้าวโคตร) เดี๋ยวนี้ ประมาณ พ.ศ. ๑๑๑๑ สำหรับประกอบพิธีศาสนกิจตามลัทธิพราหมณ์

เทวาลัยที่พญาศรีธรรมาโศกราชที่ ๑ สร้างขึ้นมานั้นมีรูปพรรณสัณฐานดูคล้ายปล่องกลม ก่อด้วยอิฐ โดยรอบทั้งหหมด เส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ ๕ วา สูงปผระมาณ ๘ วา ตอนบนสุดไม่มียอด แต่มีฐานยกเป็นแท่นขึ้นทางด้านตะวันออก แท่นสูงประมาณ ๒ วา กว้างประมาณ ๑ วา ตอนหน้าแท่นมีหินขาวก้อนสี่เหลี่ยมกว้างเกือบ ๒ ศอก ยาวประมาณ ๓ ศอก ตรงกลางขุดเป็นแอ่งสำหรับรองรับน้ำฝน มีบันไดอิฐขึ้นจากฐานถึงลานข้างบน ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๒๐ ตารางวา ส่วนที่เหลือจากที่ทำเป็นแท่นก็กลายเป็นที่ว่าง ซึ่งต่อมาใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระศพของพญาศรีธรรมาโศกราชาที่ ๑ เทวาลัยนี้ บัดนี้ก็ยังปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานอยู่ในวัดท้าวโคตร กลายเป็นปูชนียสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของชาติไทย การสร้างเทวาลัยก็โดยความประสงค์ที่จะให้ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์มีโอกาสเข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์บนสวรรค์ทุกพระองค์ให้มากที่สุด เมื่อถึงวันสำคัญหรือเกือบทุกวันพราหมณ์จะขึ้นไปประกอบพิธีนมัสการพระผ้เป็นเจ้า ดังนั้นจึงต้องมีแอ่งน้ำอยู่ข้างบนด้วย อันเป็นส่วนสำคัญในการประกอบพิธี อาจใช้เพื่อชำระร่างกายหรือดับไฟที่ต้องเผาของหอม ฯลฯ

เทวาลัยนี้ ถ้าผู้สร้างเป็นผู้มีอำนาจวาสนามากก็สร้างขึ้นใหญ่มาก เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของตน อย่างที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ และต่อ ๆ มา ได้สร้างไว้ที่ยอดเขาพระวิหารทางภาคอีสานติดต่อกับประเทศเขมรเดี๋ยวนี้

ส่วนเทวสถานที่พญาศรีธรรมาโศกราชที่ ๑ ได้สร้างไว้อาจเป็นการชั่วคราวเพราะมีภาระในการตั้งเมืองนครศรีธรรมราช ดังนั้นอาจเสียหายชำรุดไปตามกาลเวลาก็ได้ จึงไม่ปรากฏอยู่ หรือพระองค์อาจถือว่าอยู่ในที่จุดเดียวกับเทวลัยหรือใช้ร่วมกันกับเทวลัยไปด้วยก็ได้

เมื่อถวายพระเพลิงพญาศรีธรรมาโศกราชเสร็จสิ้นแล้วบริเวณหาดทรายแก้วตรงนั้น ก็ค่อย ๆ กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า มีสภาพเป็นป่า ประชาชนส่วนใหญ่ก็ตั้งบ้านเรือนอยู่ตัวเมือง (ในบริเวณวัดพระเวียงโดยรอบ) และไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสถานที่สำคัญที่ใช้ที่ถวายพระเพลิง และยังมีเทวาลัยประดิษฐานเป็นที่น่าเกรงขามอยู่ด้วย ที่ตรงนั้นจึงรกร้างอยู่จำนวนเป็นร้อย ๆ ปี เว้นไว้แต่ช่องหนทางเดินเข้าออกที่จะไปปนะกอบพิธีนมัสการตามลัทธิพราหมณ์บนเทวาลัยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมืองนครศรีธรรมราชที่ได้ตั้งขึ้นแล้วต่อมาก็มีการสืบทอดสัตติวงศ์ คือพญาศรีธรรมชที่ ๒ ปกครองเมืองต่อมา แต่ยังคงนับถือศาสนาพราหมณ์ตามพระราชบิดา จนมาถึงกษัตริย์สำคัญพระองค์หนึ่งสืยทอดการปกครองเมืองต่อมา ทรงพระนามว่า “พระยาชีวะสุชิตราช” ต้องการแสดงอำนาจให้เห็นเหมือนกับพวกพราหมณ์สายตะโกลาที่ขยายเข้าครอบคลุมอาณาจักรกัมโพชหรืออาณาจักรขอม (โบราณ) จึงได้ยกกองทัพเรือไปโจมตีกรุงละดว้ (ลพบุรี) ซึ่งเป็นเมืองเองของขอมสมัยนั้น ได้กรุงละโว้ไว้ในอำนาจเป็นครั่นคร้ามของกษัตริย์ขอม ต่อมาเกิดมีความสัมพันธ์ทางการสมรส โดยหลานของพระเจ้าสุชิตราชไปได้กับธิดาของกษัตริย์ครองอาณาจักรขอม มีพระนามว่า “พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑” ซึ่งคิดสร้างเทวาสถานใหญ่และสวยงามที่สุดในโลกขึ้นที่ “เขาพระวิหาร” อยู่ตรงยอดเขาระหว่างจังหวัดศรีสะเกษของไทยกับเขมรเดี๋ยวนี้เทวสถานเขาพระวิหารได้สร้างสืบทอดติดต่อกันมาหลายองค์กษัตริย์ นับว่าเป็นเทวสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของชาวโลกทั่วไป สืบทอดต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ กษัตริย์พระองค์นี้มีเดชานุภาพมาก สืบเชื้อสายจากพระเจ้าสุชิตาราช (พระยาชีวกะ) ซึ่งไปจากแหลมมลายูหรือนครศรีธรรมราช กษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรนครศรีธรรมราชนักประวัติศาสตร์ถือว่ามีพระยศเป็นพญาศรีธรรมาโศกราชสำหรับพระเจ้าสุชิตราชก็นับเป็นพญาศรีธรรมาโศกราชที่ ๓ ตั้งแต่ไปมีอำนาจอยู่ในกรุงละโว้แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ากลับมายังนครศรีธรรมราชอีกเลย เพราะไปช่วยหลานชายสร้างเขาพระวิหารอยู่ก็อาจเป็นได้..”

ข้อมูลที่ยกมาอ้างนี้เห็นได้ว่าพูดถึงเรื่องพราหมณ์บนแผ่นดินสยามทั่วไป และพบว่าพราหมณ์พวกที่ไปสร้างประเทศเขมรนั้น ได้นำความรู้ในอรรพเวทไปเผยแพร่ด้วย แต่ชนชาติขอมจำนวนหนึ่งได้นำวิชาความรู้ด้านนี้ไปใช้ในทางเสื่อมเสีย จึงทำให้เกิดภาพพจน์ที่ไม่ดี ทำให้มองว่าไสยเวทสายของขอมเป็นสายที่ชั่วร้าย ต่อมาถึงกับแบ่งกันอย่างชัดเจนว่าเป็น ไสยดำ ไสยขาว สายที่ชั่วร้ายเป็นไสยดำ สายที่ยังคงบริสุทธิ์ ประกอบพิธีกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อความสงบสุขของหมู่ชน และช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่าให้ร้ายได้ชื่อว่าเป็นไสยขาว ไสยเวทสายเขมรจึงถูกจัดเป็นไสยดำจำนวนหนึ่ง ไสยขาวจำนวนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ถูกจัดเป็นไสยดำแต่สำหรับไสยเวทสายเขาสำนักเขาอ้อส่วนใหญ่จะถูกจัดเป็นไสยขาว เพราะต่อมาได้มีการถ่ายทอดวิชาให้กับพระ ซึ่งพระถูกพระธรรมวินัยกำนหดให้ทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่าให้ร้ายด้วยเหตุนี้ ไสยเวทสายเขาอ้อจึงมีภาพพจน์ที่ดีกว่าสายเขมร


ขอขอบคุณ สำนักตักศิลาไสยเทวะ
ที่มา : เวทย์ วรวิทย์
หนังสือ : เขาอ้อ ตักศิลาทางไสยเวทย์

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: