2571.เงินแถบปริศนา อำนาจบุญบันดาลให้มีเงินในกระเป๋าทุกวัน

เงินแถบปริศนา

เรื่องของการบุญทานกุศลนั้น ท่านเล่าว่าที่บ้านของท่านบิดามารดาใส่บาตรเป็นประจำทุกวัน เมื่อท่านยังเล็ก มารดาก็จะอุ้มมาใส่บาตรด้วย

พอโตขึ้นหน่อยก็จะให้ยืนอยู่ข้าง​ ๆ คอยใส่ข้าว หรือหย่อนขนมลงในบาตรพระ ทุกวันพระบิดามารดาก็จะพาไปวัดด้วย สอนลูกให้รู้จักทำบุญแต่เล็กแต่น้อย

ท่านเล่าว่า ใส่บาตรเป็นประจำทุกวัน และไปวัดในวันธรรมสวนะทุกครั้ง…ไม่เคยขาด เว้นแต่เจ็บป่วยเท่านั้น

ท่านสังเกตว่าของที่ใส่บาตรมารดาของท่านจะต้องจัดอย่างประณีต เลือกเฟ้นแต่ของที่ดีที่สุดในบ้านมาใส่บาตรก่อน ที่เหลือจึงจะให้สามีและลูกๆ ต่อไป ไม่ว่าเป็นอาหารคาวหวาน หรือส้มสูกลูกไม้ใดๆ ที่ปรุงหรือหาซื้อมาได้

แม้ของที่ญาติหรือเพื่อนให้มาก็จะต้อง “เก็บไว้ใส่บาตร เก็บไว้ถวายพระ” หากมีจำนวนมากพอดอก จึงจะเหลือให้ทางบ้านได้ลิ้มรส

ท่านเป็นเด็ก ยังไม่รู้จักการทำบุญสุนทานอย่างถ่องแท้ พ่อแม่เพียงพาทำ ก็ไม่เคยเห็นประโยชน์ประจักษ์ใจ มองดูการกระทำของมารดาอย่างรำคาญนิด​ ๆ อิจฉาหน่อย​ ๆ

#รำคาญ ที่ทำไมในบ้านจึงได้กุลีกุจอแต่การบุญ จะไปเที่ยววิ่งเล่น แม่ก็เรียกให้ถือของไปวัดเสียแล้ว! ข้าวของอาหารอย่างดีเลือกสรรไปถวายพระหมด น่าที่บิดาจะห้ามปราม หรือมีทีท่าไม่พอใจ แต่ท่านก็กลับเออออเห็นด้วย บางครั้งช่วยเลือกให้เสียด้วยซ้ำ

#อิจฉา นั้นก็น่าคิดอยู่บ้าง เพราะของดีๆ อย่างนั้น น่าที่ให้ลูกได้กินได้ชิมบ้าง กลับไปทำบุญหมด ถวายพระนั้นลูกก็ไม่ว่า แต่ถวายหมด ถวายแต่ของดีๆ ความจริง…พ่อแม่นั่นแหละควรจะแบ่งไว้กินเองบ้าง


หลวงปู่ไพบูลย์ สุมงฺคโล

คิดอยู่ในใจไม่นาน ปากก็อดเปรยออกมาไม่ได้สองสามครั้ง มารดาก็จะห้ามทุกครั้ง อย่าคิดอย่างนั้นนะลูก บาป อิจฉาพระ…! หลายครั้งเข้า มารดาก็จะอธิบายต่อ บุญมีซีลูก ถ้าไม่มี พ่อแม่จะทำไปทำไม

ที่จริงท่านก็มิได้จะตั้งใจค้าน เพราะจิตใจท่านเองก็พอใจการทำบุญอยู่มาก แต่ที่พูดไปนั้น ปรารถนาจะให้บิดามารดาได้กินอาหารดีๆ บ้างเท่านั้น

วันนี้ก็คิดจะยอมแพ้แล้ว แต่วิสัยเด็กก็อยากจะใช้คารมอวดเก่งกับผู้ใหญ่บ้างจึงแกล้งบ่น

“บุญ…มีเป็นอย่างไร ไม่เห็นนี่ครับ ตัวบุญเป็นอย่างไร จับได้ ถูกต้องได้ไหมครับ”

คิดว่าคงจะถูกมารดาเงื้อมือซัดสักผาง ซึ่งท่านตั้งใจจะกระโดดหนี แล้วพ่อแม่ลูกก็จะหัวเราะกันที่ลูกยั่วแม่สำเร็จ

คราวนี้ผิดคาด ท่านทั้งสองสบตากัน อาจจะเป็นเพราะเห็นว่า ลูกชายมีวันเติบโตพอจะรู้ความควรไม่ควรแล้ว ท่านจึงเล่าความให้ลูกน้อยฟัง…บิดาท่านเองเป็นผู้เล่า

ท่านเริ่มต้นว่า

ดีแล้วที่ลูกพูดขึ้นมาเช่นนี้ ถามว่า บุญ ที่ว่ามี…มี นั้นเป็นอย่างไร ตัวบุญเป็นอย่างไร จับต้องได้ไหม ถูกต้องได้ไหม ตัวบุญ…นั้นแน่นอน จับไม่ได้ ถูกต้องไม่ได้ แต่ลูกลองฟังเรื่องนี้ดู…

ระหว่างนั้นบ้านเรายังไม่มีฐานะพอมีพอกินเช่นอย่างเดี๋ยวนี้ ถึงจะมีความรู้ทางหมออยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ได้เปิดร้านยา อาชีพหลักคือทำไร่ ทำสวน แต่ก็พยายามหาของใส่บาตรทุกวัน ส้มหน่วยกล้วยใบก็ใส่บาตรไปตามมี…มิได้ขาด

วันหนึ่งมันเข้าตาจนจริงๆ เงินไม่เหลือติดบ้านเลยสักสตางค์ ที่บางครั้งเคยมีคนมาขอซื้อยาบ้าง วันนั้นเงียบหาย รุ่งขึ้นเป็นวันพระตั้งใจจะไปทำบุญที่วัด ไม่มีเงินเลยจะทำอย่างไร ทุกครั้งว่าลำบากๆ ยังพอหยิบฉวยกล้วยอ้อยในสวนไปวัดได้บ้าง วันนี้อับจนไปหมด เคยทำบุญ เคยไปวัด ก็ไม่ได้ไป มันคับแค้นแน่นใจจริงๆ

#บ่น ปรึกษากันจนตีหนึ่ง ตีสอง สองคนสามีภรรยา รำพันว่า เกิดมาชาติหนึ่งทำไมจนเหลือเกิน อดีตเราคงไม่เคยทำบุญทำทาน หรือทำก็เล็กน้อยไม่สม่ำเสมอ ไม่เคยสงเคราะห์คนอื่น ชีวิตชาตินี้จึงได้ลำบากยากเข็ญนัก น้ำตาคลอร้องไห้กันด้วยความคับแค้นใจ…เทวดาฟ้าดินไม่เห็นใจเราบ้างเลย เราอยากจะไปวัด ก็จะไม่ได้ไป!


หลวงปู่ไพบูลย์ สุมงฺคโล

รุ่งสว่าง บิดาก็คิดว่าไปไร่อ้อยดีกว่า คิดเอาเสื้อมาใส่ จะถีบจักรยานไปไร่ไปสวน พอหยิบเอาเสื้อจากที่แขวนข้างฝา กระเป๋าเสื้อก็ดังกรุ๋งกริ๋งๆ ท่านก็คิดประหลาดใจว่า เสียงอะไร เหมือนเสียงโลหะกระทบกันขยับเสื้อ เสียงดัง กรุ๋งกริ๋งก็ยังคงอยู่

บิดาเอามือล้วงเข้าไปในกระเป๋าเสื้อได้เงินมา ๒ แถบ!

…สมัยนั้นทางภาคเหนือยังใช้เงินแถบอยู่ ที่ลำปางก็เช่นเดียวกัน ท่านพลิกเงินแถบไปมาอยู่ในมือ เอ…มันเหมือนเงินแถบ ใช่หรือเปล่านี่ รูปร่างก็เงินแถบจริงๆ เคาะ…ดีก็ดังเหมือนเสียงโลหะเงิน เอ…เป็นเงินจริงหรือเงินปลอมกันนี่…เสียงดังก็คล้ายเงินจริงๆ

ว่าแต่ว่า…ใครเอาเงินมาให้นะ แม่คำก็ไม่ใช่ บ่นอยู่ด้วยกันจนดึกดื่น คนอื่นจะเอามาก็ไม่มีทาง เสื้อตัวนี้แขวนอยู่ตั้งแต่เย็น ตอนจะหาเงินมาทำบุญก็แทบจะพลิกกระเป๋าตลบกลับออกดู ไม่มีวี่แวว…ไม่มีเลย เราปิดประตูบ้านแต่หัวค่ำ เสื้อก็แขวนอยู่ตรงนั้น ใครจะเอาเงินมาใส่ในกระเป๋าเสื้อได้…!

สุดท้ายท่านก็นำเงินไปซื้อของ ใจไม่ค่อยดีเวลาเขาห่อของให้แล้ว ท่านส่งเงินให้เขาเป็นการชำระค่าของ เกรงเขาจะคืนมา…แต่เอ…เขาก็รับเงินดิบดี ขายของให้เป็นปกติ

บิดาจึงได้เงิน ๒ แถบที่มาปรากฏในกระเป๋าเสื้ออย่างแปลกประหลาดนี้ เอาไปซื้ออาหารไปวัดได้

ได้เงินวันละ ๒ แถบ ทุกเช้าหยิบเสื้อมา จะมีเงินมาปรากฏขึ้นวันละ ๒ แถบ ให้ได้นำไปจับจ่ายซื้อข้าวของไปใส่บาตรไปวัด ท่านปิดปากเงียบ รู้อยู่คนเดียว ยังไม่กล้าเล่าให้ภรรยาฟังเกรงจะว่า เพ้อ หรือ ฝันไป

ได้เป็นเดือนเลย ทุกวัน ในที่สุดเย็นวันหนึ่งก็อดใจเก็บความลับอยู่ต่อไปไม่ไหว ก็เล่าให้คู่ชีวิตฟัง ในชนบทนั้นตกเวลาเย็นกลับจากไร่จากสวนก็จะกลับบ้านมาคุยกัน มีอะไรก็เล่าสู่กันฟัง เย็นวันนั้นท่านก็เล่าเรื่องเงินแถบแปลกประหลาดที่มีอยู่ในกระเป๋าเสื้อทุกเช้านี้ให้ฟัง เธอไม่ได้นำมาใส่ให้ไม่ใช่หรือ สุดท้ายถามซ้ำ

ภรรยายืนยันว่า ไม่เคยนำมาใส่เลย ไม่ทราบด้วยซ้ำ ยังคิดเหมือนกันว่า หมู่นี้มีเงินทำบุญอย่างไม่ขาดแคลน คิดว่าคงจะขายอ้อยได้เงิน หรือก็มีคนไข้ให้เงินเป็นพิเศษ

ไม่ใช่หรอก เงินแปลก มาอยู่ในกระเป๋าเสื้อทุกวันไม่ทราบมาได้อย่างไร

มารดาท่านเป็นหญิงชนบท คงเคยได้ฟังนิทานเล่าต่อๆ กันมาเรื่องพระสังข์ทองที่ออกจากหอยสังข์ไปเอาอาหารผลไม่มาให้ตายายที่อาศัยอยู่ทุกวัน แม่ก็เลยว่า เอ…พระสังข์ทองหอยสังข์คงจะไปขโมยมาให้กระมัง

พอว่า ขโมย รุ่งขึ้นก็หายไปเลย ล้วงในกระเป๋าเสื้อก็ไม่มี จากวันที่มารดาพูดล้อเล่นว่า คงจะไปขโมยมา จากวันนั้นก็ไม่มีอีกเลย

บิดาเล่าแล้ว มารดาซึ่งนั่งอยู่ด้วยฟังบิดาเล่าความเก่าให้ลูกฟัง ก็เสริมว่า…แม่เองปากไม่ดี พูดไม่เป็นมงคล เงินก็เลยไม่มีมาอีก

แล้วทั้งบิดามารดาก็สรุปให้บุตรชายซึ่งนั่งฟังนัยน์ตาแป๋วว่า นี่แหละลูก บุญมีไหม! จะจับไม่ได้จะถูกต้องไม่ได้ก็ตาม แต่หลังจากนั้น พ่อแม่ก็ยิ่งมีใจเชื่อมั่น มีศรัทธา พยายามทำบุญไม่ให้ขาด มีน้อยทำน้อย มีมากทำมาก ฐานะบ้านเราก็ค่อยกระเตื้องขึ้น สบายขึ้น พอมีเงินทองใช้ไม่ขาดมือ มีฐานะอย่างที่ลูกเห็นอยู่นี้

ท่านอาจารย์ (หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล) เล่าว่า ท่านก้มกราบเท้าบิดามารดาด้วยความรักและเคารพอย่างสูง


หลวงปู่ไพบูลย์ สุมงฺคโล

ต่อมาในภายหลังเมื่อได้บวชเรียนท่องบ่นสวดมงคลกถา ตอนที่ว่า

“สุภาสิตา จ ยาวาจา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.”

” วาจาใดอันชนกล่าวแล้วด้วยดี ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด”

คราใด ท่านจะระลึกถึงพระคุณของโยมบิดาโยมมารดาอย่างซาบซึ้งครานั้นทุกครั้งไป

ในวาระนั้น เมื่อเล่าเรื่องเงินแถบซึ่งเกิดจากผลบุญกุศลแล้ว ท่านทั้งสองก็ถือโอกาสอบรมบุตรน้อยต่อไป

ให้รู้จักพูดจาแต่คำอันเป็นมงคล…เป็นมงคลแก่ผู้พูด…เป็นมงคลแก่ผู้ฟัง

…ให้พูดแต่คำไพเราะอ่อนหวาน ซึ่งจะเป็นที่เจริญหู เจริญใจ ทั้งแก่ผู้พูดและผู้ฟัง

.ให้พูดแต่ความดีของผู้อื่น อย่าพยายามพูดถึงความเลวของเขา คนเราย่อมมีทั้งดี ทั้งเลว เราต้องรู้สึกเลือกหยิบแต่ของดี เราก็จะได้แต่ของดี มีแต่ความดีในตัว มีความดีแวดล้อมห้อมล้อมตัวเราตลอดไป
.
.
โอวาทธรรม​ หลวงปู่ไพบูลย์​ สุมังคโล
.
ที่มาของบทความ: คัดมาจากหนังสือ สุมงฺคลปูชา หลวงปู่ไพบูลย์ สุมงฺคโล วัดอนาลโย​ทิพยาราม จ.พะเยา( หน้า ๑๖-๒๔)​
.
ทานานํ​ ยทิทํ ธมฺมทานํ​ เอตทคฺคํ
ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งหลาย
~Nirasho​ Bhikkhu~
.
……………………….
พระเทพวิสุทธิญาณ (หลวงปู่ไพบูลย์ สุมงฺคโล) วัดอนาลโยทิพยาราม บ้านสันป่าบง ต.สันป่าม่วง อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา

แอพเกจิ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: