2469.เรื่องเล่าพระอริยะ แม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล

เรื่องเล่าพระอริย : แม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม
หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล
เขียนเล่าเรื่อง พระไพศาล วิสาโล


พระไพศาล วิสาโล

ประมาณปี ๒๔๓๕ มีพระธุดงค์หนุ่มวัย ๓๐ ชื่อพระอาจารย์เสาร์มาพักที่กุดเม็ก ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านคำบง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ไม่นานก็ได้รู้จักกับชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อมั่น ซึ่งเป็นหมอลำฝีปากดีแห่งบ้านคำบง หนุ่มมั่นมีความศรัทธาในพระอาจารย์เสาร์ มาดูแลอุปัฏฐากท่านเป็นประจำ บางวันก็ไม่กลับบ้าน ภายหลังก็ฝึกสมาธิภาวนากับท่านด้วย พระอาจารย์เสาร์เห็นชายหนุ่มมีใจใฝ่ธรรม จึงชวนชายหนุ่มบวช ท่านได้พาไปอุปสมบท ณ วัดศรีทอง อำเภอเมือง ชายหนุ่มได้รับสมณฉายาจากพระอุปัชฌาย์ว่า “ภูริทตฺโต”

พระหนุ่มรูปนี้ภายหลังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในนามหลวงปู่มั่น ส่วนพระอาจารย์ที่พามาบวชก็คือ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งได้ชื่อว่า ปรมาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกรรมฐาน ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมากล่าวได้ว่าพระป่าในภาคอีสานซึ่งกระจายไปทั่วประเทศ ล้วนเป็นศิษย์และอนุศิษย์สืบเนื่องมาแต่พระมหาเถระทั้งสองแทบทั้งนั้น ท่านจึงเป็นเสมือนต้นกำเนิดของแม่น้ำสายใหญ่ที่ยังความชุ่มเย็นแก่ผู้คนทุกวันนี้

หลวงปู่เสาร์

ความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้น ระหว่างอาจารย์กับศิษย์ได้เกื้อกูลให้ทั้งสองท่านเจริญก้าวหน้าในทางธรรมเป็นลำดับ คราวหนึ่งหลังจากบวชมาได้ ๔ พรรษา พระมั่นคิดจะลาสิกขา ถึงกับจัดหาเสื้อผ้าอย่างฆราวาสไว้พร้อม และเตรียมดอกไม้ธูปเทียนเพื่อขอลิกขาจากพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์เสาร์ไม่ได้ทัดทาน แต่ขอร้องพระมั่นว่าก่อนจะสึกควรบำเพ็ญเพียรเต็มที่สัก ๗ วัน โดยถือธุดงควัตรอย่างเคร่งครัด เช่น ฉันเอกาและถือเนสัชชิก คือฉันมื้อเดียวและไม่นอนทอดกายตลอดวันตลอดคืน พระมั่นดีใจที่อาจารย์ไม่ทักท้วงห้ามปราม จึงรับคำครูบาอาจารย์ว่าจะทำความเพียรอย่างเต็มที่ ทุกวันหลังจากฉันภัตตาหารเสร็จ ท่านจะปลีกตัวไปบำเพ็ญเพียรที่โบสถ์วัดร้ายจนถึงเวลาเย็นจึงกลับมาหาหมู่คณะ

หลังจากทำความเพียรครบกำหนด ความสงบเย็นที่ได้รับกลับทำให้ท่านเปลี่ยนใจไม่สึก และตัดสินใจขออยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในเพศบรรพชิตจนตลอดชีวิต

นับแต่นั้นท่านก็ตั้งใจปฏิบัติ มั่นคงในธุดงควัตร บำเพ็ญกรรมฐานไม่หยุดหย่อน จิตใจมุ่งตรงต่อพระนิพพาน จึงมีความเจริญงอกงามในทางธรรมเป็นลำดับ จนพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงในที่สุด

หลวงปู่มั่น

มีเรื่องเล่าว่าในพรรษาที่ ๒๓ ขณะที่ท่านบำเพ็ญภาวนาที่ถ้ำสาริกา จังหวัดนครนายก ท่านได้ทราบด้วยญาณว่าอาจารย์ของท่าน ซึ่งบัดนี้ชาวบ้านเรียกว่าหลวงปู่เสาร์ ปรารถนาปัจเจกโพธิ คืออธิษฐานเป็นพระปัจเจกพุทธะ เป็นเหตุให้ไม่สามารถทำความเพียรจนพ้นทุกข์ได้ในชาตินี้ จึงเดินทางไปเตือนสติท่าน ขอให้ละความปรารถนาดังกล่าวเพื่อจะได้บรรลุอรหัตผลในชาตินี้

ประมาณปี ๒๔๕๙ พระอาจารย์มั่นได้เดินทางไปที่ภูผากูด อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม เพื่อจำพรรษากับหลวงปู่เสาร์ มีการสนทนาธรรมแทบทุกวัน วันหนึ่งเมื่อได้โอกาสเหมาะพระอาจารย์มั่นก็สอบถามหลวงปู่เสาร์ถึงการปฏิบัติ หลวงปู่เสาร์ยอมรบว่าการปฏิบัติของท่านแม้ได้ผลแต่ไม่ชัดเจน พยายามพิจารณาธรรมเท่าไรก็ไม่แจ่มแจ้ง พระอาจารย์มั่นจึงถามต่อว่า “ถ้าเช่นนั้นท่านอาจารย์คงมีอะไรเป็นเครื่องห่วงหรือกระมัง” หลวงปู่เสาร์ตอบว่า “เราก็พยายามพิจารณาเหมือนกัน แต่ก็หาสิ่งขัดข้องไม่ได้”

พระอาจารย์มั่นสบโอกาส จึงถามว่า “ท่านอาจารย์ห่วงเรื่องการปรารถนาพระปัจเจกโพธิกระมัง” หลวงปู่เสาร์ฟังแล้วก็เห็นด้วย พระอาจารย์มั่นจึงกล่าวต่อว่า
“ขอให้ท่านอาจารย์อย่าเป็นห่วงเลย ขอให้พิจารณาอริยสัจจ์เพื่อความพ้นทุกข์เสียแต่ชาตินี้เถิด เพราะกระผมเองก็ปรารถนาพระโพธิญาณ และกระผมก็ได้ละความปรารถนานั้นแล้ว เนื่องด้วยว่าการท่องเที่ยวในสังสารวัฏฏ์นี้มันนานเหลือเกิด”

นับแต่นั้นการปฏิบัติของหลวงปู่เสาร์ก็รุดหน้าจนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่ท่านนั่งอยู่ในที่สงัดได้พิจารณาอริยสัจจ์สี่จนเห็นแจ่มแจ้ง ไม่มีความสงสัยในธรรมอีกต่อไป เมื่อถึงวันออกพรรษาท่านก็บอกพระอาจารย์มั่นว่า “เราได้เลิกการปรารถนาพระปัจเจกโพธิแล้ว และเราก็ได้เห็นธรรมจริงแล้ว”

ความแจ่มแจ้งในธรรมเป็นกำลังให้แก่อาจารย์และศิษย์ทั้งสองในการเผยแผ่ธรรมจนมีศิษยานุศิษย์มากมาย ส่วนใหญ่แล้วจะแยกย้ายจาริกสอนธรรม แม้จะได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชาวบ้าน แต่หลายแห่งก็ถูกต่อต้านจากพระในท้องถิ่น ซึ่งสูญเสียผลประโยชน์จากการสอนของท่าน ใช่แต่เท่านั้นบางครั้งยังถูกขัดขวางจากพระที่เป็นผู้ปกครอง ซึ่งในเวลานั้นมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อพระป่า เพราะเห็นว่าเป็นพระเร่ร่อนจรจัด

มีคราวหนึ่งเจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี คือ พระโพธิวงศาจารย์ ถึงกับประกาศต่อประชาชนว่า “ญาคูเสาร์ กับ ญาคูมั่น ห้ามไม่ให้ใส่บาตรให้กิน เพราะพวกนั้นคือพวกเทวทัต”

หลวงปู่เสาร์ได้ยินก็เพียงแต่ยิ้ม ไม่ตอบโต้ ท่านยังคงจาริกเผยแผ่ธรรมต่อไปด้วยความสงบเยือกเย็น เมื่อถูกต่อต้านมากเข้า ท่านก็พูดเพียงว่า “ท่านว่าเราเป็นพวกเทวทัต เราไม่ได้เป็น ไม่เห็นเดือดร้อน ท่านสั่งคนไม่ให้ใส่บาตรให้เรากิน แต่ก็ยังมีคนใส่ให้อยู่ พอได้ฉัน ไม่เห็นเดือดร้อนอะไร ท่านไม่เหนื่อยก็เป็นเรื่องของท่าน” ขณะเดียวกันชาวบ้านก็หาได้สนใจคำประกาศของเจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานีไม่ ยังคงใส่บาตรให้แก่หลวงปู่เสาร์และคณะต่อไป ด้วยชื่นชมในปฏิปทาและคำสอนของท่าน


สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
(อ้วน ติสโส)

ท่านเจ้าคุณองค์นี้ภายหลังได้เจริญในสมณศักดิ์ เป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) คราวหนึ่งได้ไปตรวจงานคณะสงฆ์ที่ภาคเหนือ ได้พบหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ จึงตั้งคำถามเชิงตำหนิว่า
“ญาคูมั่น เธอเที่ยวตามป่าเขาอยู่เพียงลำพังผู้เดียวอย่างนี้ เธอได้สหธรรมิก ได้ธรรมวินัยเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติที่ไหน เธอได้รับฟังธรรมจากสหธรรมิกอย่างไร ทำไมเธอจึงได้ปฏิบัติมางมไปอย่างนั้น เธอทำอย่างนั้นจะถูกหรือ”

หลวงปู่มั่นตอบว่า “พระเดชพระคุณไม่ต้องเป็นห่วงกังวล กระผมอยู่ตามป่าตามเขานั้น ได้ฟังธรรมจากเพื่อนสหธรรมิกตลอดเวลา คือมีเพื่อนและฟังธรรมจากธรรมชาติ เสียงนกเสียงกา เสียงจิ้งหรีด จักจั่นเรไร เสียงเสือ เสียงช้าง มันเป็นธรรมชาติไปหมด

มันทุกข์หรือสุขกระผมก็รู้ เขาคอยตักเตือนกระผมอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้ลืมสติว่า เจ้าเป็นใครมาจากไหน อยู่อย่างไรแล้วก็จะไปไหน

เวลาใบไม้ร่วงหล่นจากขั้วทับถมกันไปไม่มีสิ้นสุดก็เป็นธรรม บางต้นมันก็เขียวทำให้ครึ้ม บางต้นมันก็ตายซากแห้งเหี่ยว เหล่านั้นมันเป็นธรรมเครื่องเตือนสติสัมปชัญญะไปหมด

ฉะนั้นพระเดชพระคุณท่าน โปรดวางใจได้ ไม่ต้องเป็นห่วงกระผม เพราะได้ฟังธรรมอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน”
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นพระที่มีความรู้ในทางปริยัติ สอบได้เปรียญ ๕ ประโยค และใส่ใจในการส่งเสริมพระปริยัติธรรมจนได้รับการยกย่องจากพระผู้ใหญ่ และเจริญในสมณศักดิ์อย่างรวดเร็ว ท่านไม่สามารถเข้าใจได้ว่าพระธุดงค์หรือพระกรรมฐานจะเข้าใจธรรมได้อย่างไรในเมื่อไม่เรียนหนังสือ ท่านเคยกล่าวว่า “ขนาดลืมตาเรียน และมีครูอาจารย์ที่เป็นนักปราชญ์มาสอน ยังไม่ค่อยรู้ แล้วมัวไปนั่งหลับตาจะไปรู้อะไร”

หลวงปู่ฝั้น

แต่ภายหลังเมื่อท่านได้รู้จักกับศิษย์ของหลวงปู่มั่น โดยเฉพาะพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร และพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร ซึ่งช่วยให้ท่านหายเจ็บป่วยด้วยสมุนไพรและสมาธิภาวนา ท่านก็มีศรัทธาในการทำกรรมฐาน และหันมามีทัศนคติที่ดีต่อพระป่า โดยเฉพาะหลวงปู่มั่น

เมื่อมีงานปลงศพหลวงปู่เสาร์ที่จังหวัดอุบลราชธานีในปี ๒๔๘๖ สมเด็จ ฯ ได้มีโอกาสพบหลวงปู่มั่น หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เล่าว่า “ท่านจึงเดินเข้าไปหา และพูดกับหลวงปู่มั่น ว่า….”เออ!! ท่านมั่น เราขอขมาโทษเธอ เราเห็นโทษแล้ว แต่ก่อนเราก็บ้ายศ”

ภายหลังเมื่อหลวงปู่มั่นได้เข้าไปกราบสมเด็จ ฯ ที่วัดบรมนิวาส สมเด็จ ฯ ซึ่งตอนนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆนายกตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ ได้สอบถามหลวงปู่มั่นเกี่ยวกับการปฏิบัติว่า “เราก็เป็นผู้ปกครอง บริหารงานการคณะสงฆ์ทั้งประเทศ ยุ่งแต่กิจการงาน พอนั่งภาวนาพุทโธครั้งใดทีไร ความคิดก็พุ่งไปคิดอยู่แต่ในงานการบริหารคณะสงฆ์ ไม่สามารถทำให้หยุดคิดได้เลย จะทำให้ไม่คิดนี้ยาก ท่านอาจารย์มีวิธีอื่นบ้างไหม ที่จะทำให้จิตเป็นสมาธิภาวนา”

ท่านพ่อลี

หลวงปู่มั่นตอบว่า “การนั่งสมาธิภาวนานั้น ท่านให้คิดได้ แต่ให้มีสติตามรู้ พิจารณาถึงสภาพความเป็นจริง อนิจลักษณะ อยู่ตลอดเวลา” เมื่อนำคำตอบของหลวงปู่มั่นไปปฏิบัติ การภาวนาของสมเด็จ ฯ ก็ราบรื่น ไม่ติดขัด ท่านจึงยิ่งมีศรัทธาปสาทะมากขึ้น

จากประสบการณ์ส่วนตัวของสมเด็จ ฯ ที่ได้สัมผัสกับพระกรรมฐาน และจากประสบการณ์ที่ท่านได้พบเห็นว่าหมู่บ้านใดที่มีพระกรรมฐานมาเผยแผ่ธรรม ญาติโยมจะประพฤติตัวเรียบร้อย รู้จักสวดมนต์ไหว้พระ อยู่ในศีลในธรรม มีการทำสมาธิภาวนา ท่านจึงมีความประทับใจอย่างมากในพระกรรมฐาน จนถึงกับกล่าวในที่ประชุมสงฆ์ว่า “การเผยแผ่พระพุทธศาสนาต้องให้พระกรรมฐานเป็นแนวหน้า หรือเรียกว่า กองทัพธรรมแนวหน้า”

ในปี ๒๔๙๒ หลวงปู่มั่นได้มรณภาพที่จังหวัดสกลนคร ทิ้งมรดกอันได้แก่คำสอนและกองทัพธรรมที่ท่านและหลวงปู่เสาร์ได้สร้างขึ้นเพื่อสถาปนาธรรมให้ตั้งมั่นในจิตใจของผู้คนจวบจนทุกวันนี้

หลวงปู่มั่น

เจาะเวลาหาอดีต

ขอขอบคุณ
ที่มา อภินิหาร​ ตำนาน​ พระเกจิฯ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: