2458.หลวงพ่อกวย คุณวิเศษ และครูบาอาจารย์ของท่าน

หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร
วัดโฆษิตาราม บ้านแค ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท

หมายเหตุ
จากประวัติของหลวงพ่อ ไม่ปรากฏว่าท่านมาอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านแคเมื่อใด แต่ต้องก่อนสงครามคือ ๒๔๘๔ แน่นอนในช่วงนี้ หลวงพ่อยังได้เรียนวิชาเพิ่มเติมกับหลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา อ.เดิมบาง จ.สุพรรณบุรี ได้เรียนวิชาทำผงจินดามณี, เรียนวิชามือยาว ฯ และยังได้เรียนวิชาทำผ้าขอด ไปได้กลับได้ และตะกรุดกระดูกงูจากหลวงพ่อแบน วัดเดิมบาง อ.เดิมบาง จ.สุพรรณบุรี อาจารย์ท่าน ๒ องค์นี้ มีหลักฐานแน่ชัด แม้ขณะที่พักจำพรรษาที่วัดบางตาหงายอ.บรรพตพิสัย

ยังได้เรียนวิชาเพิ่มเติมกับ หลวงพ่อพวง วัดหนองกระโดนด้วย ในตำรารักษาไข้ได้กล่าวถึงเอาไว้ ก่อนมรณภาพตอนที่ท่านล้มเจ็บ ท่านได้พูดกับศิษย์ว่า ถ้าจะให้วัดของท่านรุ่งเรืองทางอาคมเหมือนสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ ต้องนิมนต์ศิษย์ท่านบวชอยู่ที่วัดนี้ถึง ๓ องค์ ทางศิษย์ได้ถาม ท่านว่าใครบ้าง

ท่านตอบว่าอาจารย์เม่า (บ้านอยู่ใกล้วัดจั่นเจริญศรี) คนหนึ่ง อีกคนหนึ่งคือ อาจารย์จิ๊ต (ชิต) (คนบ้านแค) แล้วท่านก็หยุดพูด เหมือนท่านจะนึกได้ว่าการนำคนที่มีอาคมถึง ๓ คน มาอยู่รวมกันนั้นเป็นไปได้ยาก (อาจารย์เม่า สำเร็จวิชา บังฟัน, บีบถ้วยปูนขาวให้ปากถ้วยเข้ามารวมกันได้, หลวงตาจิ๊ต ปัจจุบันบวชอยู่ ไม่ทราบวัด สำเร็จวิชาหินเบา เสกก้อนหินโยนลงน้ำลอยได้)

ครูและอาจารย์ของหลวงพ่อ
ต่อไปจะขอกล่าวถึงครูบาอาจารย์ของหลวงพ่อ เท่าที่มีกลักฐานแน่ชัด ตลอดจนมนต์และคาถาที่หลวงพ่อเรียนมา ว่าเรียนมาจาก สายไหน หรืออาจารย์องค์ใด ถ้าไม่กล่าวถึงอาจารย์ของท่าน พระประวัติก็จะไม่สมบูรณ์ แต่จะขอกล่าวถึงอาจารย์หรือครูบาอาจารย์ที่สอนทางวิปัสสนาและอาคม ตลอดจนการทำเครื่องรางของขลังเท่านั้น

แต่เดิมเมื่อ หลวงพ่อบวชตั้งแต่พรรษาแรก อายุท่าน ๒๐ ปี พอพรรษาต่อ ๆ มาท่านก็เรียนเทศน์มหาชาติและเรียนนักธรรม จนกระทั่งพรรษา ๘ หรือ อายุท่านได้ ๒๘ ปี ท่านจึงเรียนวิปัสสนากรรมฐาน ครูบาอาจารย์ของท่านเท่าที่ทราบมีดังนี้


หลวงพ่อศรี วัดพระปรางค์

๑. หลวงพ่อศรี วิริยะโสภิต หรือหลวงพ่อสี อดีตเจ้าอาวาสวัดพระปรางค์ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี หลวงพ่อได้มาเรียนวิปัสสนา จะเรียนอยู่กี่พรรษาไม่แน่ชัด แต่มีหลักฐานแน่ชัดคือปีแรกที่เรียนวิปัสสนา ได้พักจำพรรษาที่วัดหนองตาแก้ว อ.เดิมบางนางบวช หลวงพ่อได้ปลูกต้นสมอไว้ ๑ ต้น, ขุดสระไว้ ๑ สระ ปัจจุบันศักดิ์สิทธิ์มาก ได้จำพรรษาที่วัดนี้เพียง ๑ พรรษา เท่านั้น แสดงว่าหลวงพ่อได้เรียนวิปัสสนาและอาคมเพียงปีเดียวก็สำเร็จ

นอกจากนั้นหลวงพ่อศรียังมีศิษย์ที่เป็นพระมีวิชาดีหลายองค์ เช่น หลวงพ่อทอง วัดพระปรางค์, หลวงพ่อหร่ำ วัดวังจิก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี หลวงพ่อเฟื่อง วัดแหลมคาง, หลวงพ่อ ฟัง วัดสะเดา สิงห์บุรี, พระครูพิมพ์ วัดสนามชัย อ.สรรคบุรี, หลวงพ่อบัว วัดแสวงหา อ่างทอง, หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง หลวงปู่ปรง วัดธรรมเจดีย์ จ.สิงห์บุรี ฯ

หลวงพ่อศรีนี้ ปัจจุบันเหรียญท่านรุ่นแรกและรุ่นเดียวของท่านมีราคาแพงมาก แพงอันดับ ๑ ของจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อท่านมรณภาพ ได้ทำฌาปนกิจ ปรากฏว่ามีดาวขึ้นในเวลากลางวัน แม้รูปหล่อท่านกับสถูปที่เก็บอัฐิของท่านปัจจุบันศักดิ์สิทธิ์มาก


หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ

๒. หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ หลวงพ่อได้เดินทางมาเรียนวิชาเพิ่มเติมกับหลวงพ่อเดิม แต่ไม่ได้พักที่วัดหลวงพ่อเดิม แต่พักที่วัดบางตาหงา อ.บรรพตพิสัย เฉพาะที่พักจำพรรษาที่วัดบางตาหงาย ท่านอยู่ถึง ๗ พรรษา สมัยนั้นพระครูพิมพ์ยังเด็ก ได้เป็นเด็กวัดหิ้วปิ่นโตให้ เมื่อหลวงพ่อกลับมาแล้ว ยังเดินทางไปเรียนวิชาเพิ่มเติมอยู่เสมอ

สมัยนั้นเดินด้วยเท้า เคยเดินไปกับลุงลอน ยังมีหลักฐานรูปถ่ายทั้งที่วัดและที่ลุงลอน หลวงพ่อได้เรียนวิชาทำมีดหมอ, ตะกรุด, และแหวนแขน เรื่องแหวนแขนนี้ หลวงพ่อเดิมทำเป็นและเก่งด้วย กับหลวงพ่อกัน วัดเขาแก้ว นั้นชอบพอกัน ยังเคยพบรูปถ่ายหลวงพ่อกัน ที่กุฏิหลวงพ่อ ศิษย์ร่วมอาจารย์ คือ หลวงปู่พิมพา วัดหนองตางู อ.พรรพตพิสัย

๓. ครูบาอาจารย์องค์อื่น ๆ นอกจากหลวงพ่อศรี วัดพระปรางค์, หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ แล้วยังมีอาจารย์องค์อื่น ๆ อีกหลายองค์ แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าหลวงพ่อเรียนมาเมื่อไรตอนไหน แต่ในตำราคาถาของหลวงพ่อได้เขียนเอาไว้ชัดแจ้ง คือ


หลวงพ่อแบน วัดเดิมบาง

หลวงพ่อแบน วัดเดิมบาง หลวงพ่อได้เขียนผ้ายันต์ และผ้าขอดแบบเดียวกันและได้เขียนชื่อเจ้าของตำราเอาไว้, หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา อ.เดิมบาง หลวงพ่อได้นำพระถอดพิมพ์แบบของหลวงพ่ออิ่ม, ทำผ้ายันต์แบบเดียวกันและเขียนชื่อ หลวงพ่ออิ่มเอาไว้, หลวงพ่อพวง วัดหนองกระโดน นครสวรรค์ หลวงพ่อเขียนคาถาเอาไว้ และเขียนชื่อเจ้าของเอาไว้ คือหลวงพ่อพวง, หลวงพ่อเคน วัดดงเศรษฐี จ.อุทัย


หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา

หลวงพ่อเล่าให้หมอเฉลียว เดชมา เอาไว้ว่า เคยมาเรียนแพทย์แผน โบราณ และต่อกระดูก, ครูฟุ้ง, ครูจำปี ศิษย์ในสายหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อยุธยา ถ่ายทอดวิชาสะเดาะกุมารในท้องให้ หลวงพ่อและวิชาถอนคุณถอนของพอกแป้ง ให้หลวงพ่อ, ครูลุน, ครูเพ็ง อาจารย์แหล่ม วัดท่าช้าง เป็นศิษย์สายหลวงพ่อกลั่นวัดพระญาติ อยุธยา ถ่ายทอดวิชาอาบว่านยา, วิชาหินเบา, วิชาสัก, โดยเฉพาะวิชาสักและอาบว่านยานี้ ทำให้หลวงพ่อโด่งดัง เป็นที่ยอมรับของศิษย์ มีหลายคนที่สักยันต์จากหลวงพ่อไป ยิงไม่ออก


หลวงพ่อโต วัดวิหารทอง

นายปาน ถ่ายทอดวิชาลงนะและตัวเฑาะของหลวงพ่อโต วัดวิหารทอง, นอกจากนั้นหลวงพ่อยังได้สืบทอดคาถาและยันต์ของหลวงพ่อเฒ่า วัดค้างคาว วัดนี้อยู่ใกล้วัดหลวงพ่อ ยันต์และคาถานี้ตรงกับหลวงปู่ศุข ได้ศึกษาตำราเล่มเดียวกับหลวงพ่อเฒ่า วัดค้างคาว หลวงพ่อเฒ่ามีพรรษาแก่กว่า (ในอำเภอสรรคบุรี หลวงพ่อเฒ่าดังมาก ดังกว่าหลวงพ่อปากคลองและดังกว่าหลวงพ่อ) หลวงพ่อยังได้ตำราเสกผ้าอาบเป็นกระต่าย, ยังได้วิชาจระเข้ และเสือสมิงสามารถทำได้ ปัจจุบันมีศิษย์ที่ทำได้จริง ๑ คน และรู้คาถานี้ ปลุกได้แต่แปลงร่างไม่ได้ อีก ๑ คน ก็ขอยุติครูบาอาจารย์ของท่านแต่เพียงนี้ เอาเฉพาะที่มีลายมือของท่านเขียนบอกเอาไว้


หลวงพ่อเฒ่าปั้น วัดค้างคาว

Cr.Bigberm Suphawat

แอพเกจิ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: