2437.ประวัติและอภิญญา หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ตอนที่ 7 วิธีใช้พระเวทย์ปลุกเสกเตือนอาคม

กล่าวกันทางด้านสุขภาพ หลวงพ่อจงมีสุขภาพอนามัยดีเลิศ โรคที่มีบ้างก็แค่หวัดธรรมดา กิจวัตรการฉันของท่านก็เช่นเดียวกับสงฆ์อื่นเปลี่ยนแต่เป็นว่าตอนเช้าหกโมง ท่านฉันข้าวต้มหมูชามขนาดกลางชามหนึ่ง น้ำชากาแฟไม่ฉันเลย ส่วนน้ำดื่มชอบน้ำต้มธรรมดา ๆ เท่านั้น อย่างอื่นไม่ดื่มเลย เคยติดยานัตถุ์และบุหรี่อยู่ 4 – 5 ปี

แต่ต่อมาเห็นว่าเป็นเครื่องทำให้รำคาญรุงรัง เพราะต้องเอาติดย่ามไปด้วย ทำให้มีห่วง ท่านเลยตัดสินใจเลิก เป็นการตัดกังวล มีผู้ถามว่า ของสองสิ่งเป็นยาเสพติดมีฤทธิ์ชะงัด เลิกกับมันยากนัก มีคนอยากเลิก เลิกไม่ได้ ท่านมีวิธีขมังอย่างไร หลวงพ่อเพียงตอบยิ้ม ๆ

“…ตั้งใจอดจริง ก็ต้องทิ้งมันได้… ไม่มีอะไรในโลก ซึ่งเราตั้งใจทำและทำจริงแล้วจะทำไม่ได้ ทำได้ดีหรือไม่ สุดแต่กรรมและวาสนา หรือที่เรียกว่า แล้วแต่พระพรหมลิขิตไว้ประจวบเหมาะอย่างไรนั่นเอง…”

อย่างไรก็ดี เวลาเข้านอนของท่าน กลับไม่เป็นเวลาแน่นอนเสมอไป เว้นแต่อยู่ที่วัดของท่าน แต่ก็อีกนั่นแหละ หากมีผู้ไปเยี่ยมนมัสการ ท่านก็มักไม่ชอบที่จะจะหนีเข้านอนในเวลาราวสี่ทุ่มอันเป็นเวลาปกติ เพราะท่านชอบรับแขก และเกรงใจว่าเขาอุตส่าห์ไปหา ก็ควรต้อนรับคุยกันให้เขาได้รับสิ่งที่ต้องการสมปรารถนา จวบจนวัยย่าง 90 เป็นต้นมา ลูกศิษย์ลูกหาเกรงกันว่าสุขภาพของท่านจะร่วงโรยเกินไป จึงมักจะรู้ว่าไม่ควรรบกวนท่านเกินเวลากำหนดเข้าจำวัด

ก่อนนอน หลวงพ่อจงมักชอบเล่นกับแมว อุ้มมันตบหัวลูบหลังมันอยู่ราวสิบนาที จากนั้นศิษย์ทุบน่องทุบหลังอีกราวสิบถึงสิบห้านาทีเป็นอย่างมากจึงนอนหลับไปเลย วิธีนอนของท่านก็แปลก ตอนแรกจะนอนแบบก้มหลังโก้งโค้งพร้อมด้วยมีผ้าคลุมตลอดองค์ เป็นเช่นนี้ตลอดไป แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง แต่ก็จะกลับมาอยู่ในลักษณะนี้ จนถึงเวลาตื่นราวตีสี่ จากนั้นก็กระทำกิจวัตร คือปัดกวาดทั่วตลอดวัดด้วยตนเอง เสร็จก็พอดีได้เวลาเคาะระฆัง เรียกเป็นสัญญาณทำวัตรสงฆ์ร่วมด้วยภิกษุลูกวัด อย่างนี้เป็นนิจ

วิธีใช้พระเวทย์ปลุกเสกเตือนอาคม (กับ) นับถือบูชาพระในวิธีถูกต้อง

บรรดาเรื่องราวเกี่ยวกับการแสดงออกซึ่งพลังพิสดารกลายเป็นคำเลื่องลือนับถือในอานุภาพนาประการ ของหลวงพ่อจงอย่างไรก็ตามที เมื่อมีบุคคลเชื่อ บุคคลผู้ปราศจากเชื่อก็คงต้องมีควบคู่กันไป ดุจมีดำต้องมีขาวไม่มีปัญหา และจะวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไรก็ปราศจากข้อพิสูจน์อำนาจลึกลับที่ (อาจ) มีขึ้นจริง ในเหล่าคนผู้ไม่ศรัทธาก็ไม่เชื่อเป็นธรรมดา

เมื่อราวปลายปีพ.ศ.2506 ได้มีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นขึ้นว่า หลวงพ่อจงก็มีอายุมากแล้ว เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดาจะต้องมีมาสู่ท่าน และขณะนั้นท่านก็มักมีกิจเป็นห่วงอย่างเดียว คือประสงค์จะสร้างเขื่อนกั้นน้ำบริเวณริมหน้าวัดหน้าต่างใน ด้านนอกของวัดหน้าต่างนอกของท่าน กับบูรณปฏิสังขรณ์โบสถ์ที่เกือบใช้การไม่ได้ให้มีสภาพดีขึ้นจนใช้การได้ไปก่อน

โดยมิใช่คิดสร้างใหม่เป็นเงินล้านอย่างเขาอื่น กับสร้างหอระฆังให้มีสภาพโอ่อ่าขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้บ้างบกพร่อง บ้างมิมีโอกาสสร้างไว้ก่อน ทั้งที่เป็นเรื่องภายในวัดของท่าน มัวแต่ใช้เวลาไปวุ่นวายช่วยธุรกิจของผู้อื่น และที่สำคัญที่สุดไม่กล้าและไม่พึงใจจะออกปากรบกวนชวนเชิญใครให้เขาทำบุญ เพราะถือว่าการทำบุญไม่ต้องเชิญชวน มันแล้วแต่จิตใจของผู้จะทำด้วยศรัทธาแค่ไหน โดยความนึกคิดของเขาเองเป็นสำคัญ

จึงพากันเสนอข้อคิดเห็นว่า สมควรสร้างรูปเป็นรูปปั้นของท่านขึ้น และสร้างหนังสือประวัติของท่านขึ้น เขียนทุกสิ่งเกี่ยวกับท่านด้วยความเที่ยงธรรมและเป็นข้อเท็จจริง ทั้งสองสิ่งนี้สืบไปเบื้องหน้า หากใครเขานับถือเคารพมีศรัทธาตัวท่านจริงจังมิเสื่อมคลาย เขาก็จะได้หาไปไว้บูชาสักการะแทนตัวจริงของท่าน

ซึ่งเงินรายได้เหล่านั้นก็จะเป็นส่วนหนึ่ง ที่อาจรวบรวมสมทบเข้าเป็นกองทุนดำเนินการสร้างสรรค์งานสามประการ เขื่อนกั้นน้ำ บูรณปฏิสังขรณ์โบสถ์สร้างหอระฆังให้สำเร็จบริบูรณ์ลุล่วงผลตามปรารถนาของหลวงพ่อจง ซึ่งท่านมีประสงค์ต้องการกระทำอย่างแรงกล้าก่อนมรณภาพ และสิ่งนี้แม้ท่านมิได้แสดงเป็นห่วง…

แต่แน่ละท่านไม่ชอบรบกวนใคร ท่านคงจะคิดถึงมัน และมันอาจเป็นอารมณ์รบกวนท่านในเฮีอกท้ายของลมปราณมรณะบ้างก็ได้ ฉะนั้นความสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้จนเป็นผลสำเร็จ แม้หลวงพ่อจงจะสถิตอยู่ในภพใด แม้นวิญญาณของท่านรับทราบถึงบรรดา เจตนาดีที่มีผู้ต่อท่านกระทำต่อท่านเพื่อท่านในปัจจุบัน อนาคต ทั้งที่ไม่มีท่านเป็นตัวตนอยู่ วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของท่านก็คงจะประสบปิติสุขเกษมสันต์สำราญอย่างอเนกอนันต์กาล

เคยมีผู้ทำหนังสืออย่างย่อ ๆ แจกเป็นที่ระลึกในงานพิธีศพของท่านแต่ก็พิมพ์จำนวนจำกัดและแจกจ่ายไปหมดสิ้น ไม่พอกับจำนวนนับหมื่นแสนที่ต้องการทราบประวัติละเอียด และต้องการได้ไว้ เป็นเครื่องรำลึกบูชาคุณของท่านที่มีต่อสรรพสัตว์ไม่เลือกหน้า เพราะทุกคนยังรำลึกถึงพระเดชพระคุณของท่านมิมีวันลืมเลือนโดยง่าย

สำหรับรูปปั้น เคยมีศิลปินรับอาสาไปสร้าง เขาคือ ชาญ สารพุทธิ อาจารย์ศิลปชั้นเอกจากเพาะช่าง

หลวงพ่อจง พอใจรูปปั้นนั้นมาก เพราะเคยมีผู้ปั้นไปให้ท่านดู ท่านดูไปดูมาแล้วหัวร่อ บอกว่าไม่เหมือนไม่รู้ใคร คนอื่นไม่รู้จักหรือแม้ที่รู้จัก ก็คงจะยิ่งฉงนกันมาก… แต่เมื่อเป็นรูป โดย ชาญ สารพุทธิปั้น

ท่านบอกว่า นี่เอง… จึงจะเป็นอาตมาได้อย่างคล้ายคลึงพอดูได้…

จากนั้น ท่านได้ทำพิธีปลุกเสกรูปปั้นของท่านแทบทุกเช้าค่ำเวลาทำวัตรในเมื่อมีโอกาสเวลาไม่ต้องเดินทางไปที่อื่นใด และต่อมา ท่านได้ปลุกเสกเถ้าธูปเทียน ดอกไม้บูชาแห้ง และผมปลงของท่าน รวมส่งให้ศิลปินชาญ เพื่อใช้ผสมผงสร้างรูปปั้นอีกมาก หากใครผู้ใดมีรูปปั้นของท่านไว้บูชาและอาราธนาถูกวิธี จะบันดาลให้บังเกิดผลในอานุภาพศักดิ์สิทธิ์มหาศาลเป็นอัศจรรย์ อาทิ เป็นมหาเมตตา มหานิยม มหาลาภ คงกระพันชาตรีและแคล้วคลาด

สะบัด “ปัด” อัคคี ป้องกันฟืนไฟรังควานและระงับดับจิต ตลอดจนความร้อนอกใจนานาประการปราศจากศัตรูผู้คิดบีฑาทำร้าย

สำหรับพิธีบูชาหลวงพ่อจง คือ ใช้ธูปเจ็ดดอก เทียน และดอกไม้หอม กระทำบูชา อธิษฐานรำลึกถึงหลวงพ่อจง อาราธนาขอให้ท่านแผ่อิทธิบารมีปกป้องบังเกิดคุณตามเจตจำนง ซึ่งอธิษฐาน หมั่นทำเช่นนี้จะไม่ผิดหวัง มักได้ผลดีมาก

บรรดาเครื่องรางของขลังของหลวงพ่อจงมีมากชนิด ท่านสร้างและปลุกเสกไว้เป็นจำนวนมาก แต่ก็มักหมดสิ้นไปโดยรวดเร็ว เพราะมีผู้แสวงหากันไว้มาก เพียงท่านเดินทางเข้ากรุงเทพฯ หรือ ต่างจังหวัดในเวลาวันสองวัน เครื่องรางของขลังซึ่งบรรดาศิษย์และผู้ติดตามเอาติดไปมักไม่ใคร่พอจ่ายแจกประชาชนทุกแห่ง เพราะพอรู้ว่าหลวงพ่อจงไปอยู่ที่ใด มักจะแห่กันเข้าหานมัสการอย่างคับคั่งเสมอไป

ต่อไปนี้เป็นคำเฉลยอรรถาธิบายวิธีอาราธนาปลุกเสกอธิษฐาน การใช้เครื่องรางของขลังต่าง ๆ (ซึ่งเวลานี้ของแท้หายากอยู่เหมือนกัน แต่ที่มีอยู่แล้วก็มีเป็นจำนวนแสน ๆ ล้าน ๆ)…แต่อย่างไรก็ดี ก็ใช้ได้กับรูปปั้นและรูปบูชาด้วย… ให้สวดภาวนาอธิษฐานดังนี้

ตั้ง นะโมสามจบ

พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธรรมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ

ต่อจากนี้ สวดบทอิติปิโส อีกสามจบ แล้วจึงตั้งบทว่า

พุทธัง อาราธนานัง ธรรมมัง อาราธนานัง สังฆัง อาราธนานัง

จึงอธิษฐานดังนี้ ต่อไป

ขอบารมีพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์เจ้า และหลวงพ่อจง (พุทธสโร)… และถ้ามีเสื้อยันต์ ตะกรุดโทน ตะกรุดชุด 16 ดอก และของอื่น ๆ ให้ระบุชื่อของนั้น ๆ เวลารำลึกใช้

จงดลบันดาลให้ข้าพระพุทธเจ้า จงประสบความเป็นผู้คงกระพันชาตรี แคล้วคลาดจากมหาอำนาจร้ายสรรพโพยภัยภยันอันตรายไม่ให้เข้าใกล้ทำร้าย และจงบังเกิดเป็นมหาเสน่ห์ มหานิยม จิตคิดเมตตาจากจิตใจผู้อื่นพึงมีต่อข้าพระพุทธเจ้า โดยอำนาจบารมีของพระคุณเจ้าที่ข้าพระพุทธเจ้าน้อมรำลึกบูชาโดยบริสุทธิ์ใจ ขออาราธนาจงดลบันดาลให้บังเกิดผลเป็นไปดังอธิษฐาน โดยพลันทันที

หากมีเหตุฉุกเฉิน ให้รีบอธิษฐานภาวนา ดังนี้

พุทธังรักษา ธัมมังรักษา สังฆังรักษา พระบิดารักษา พระมารดารักษา พระอินทร์รักษา พระพรหมรักษา พระครูบาอาจารย์รักษา อิมังอังคพัน ธนังอธิถามิ

แล้วปลุกเสกต่อไป ดังนี้

อิติสุคโต อุสุวิหิสุ พุทธะสังมิ มออุ อุกันหะเนหะ อุตะธัง โธอุตะ ธังอะตะ หังระอะ อะนะปัสสะ

(ภาวนาทบทวน ตั้งแต่ 3 ถึง 7 จบ)

การใช้คำอธิษฐานภาวนาบทปลุกเสก ต้องจำให้แม่นยำคล่องแคล่วตึ้งจิตคิดรำลึกถึงพระบารมีคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และท่านอาจารย์หลวงพ่อจงโดยแน่วแน่

หากใช้ตะกรุดโทน (มหารูดมงคลชาตรี) หรือใช้ตะกรุดชุด 16 ดอกติดตัวไป เมื่อจะเข้าโรมรันรบประจัญบาน ให้เอามือรูดพระตะกรุดไว้เบื้องหน้าสะดือ จะแคล้วคลาดคงทนต่อปืนผาหน้าไม้ สรรพสาตราวุธ แหลนหลาว หอกดาบ ขวากหนาม ของแหลมของคมทุกชนิด แต่ยามคิดหนีศัตรู ให้รูดพระตะกรุดไว้เบื้องหลัง จะแคล้วคลาดอันตราย ไม่มีผู้ติดตามทำร้าย หรือไม่ขัดขวาง แม้จะไล่ติดตามก็ให้มีเหตุไล่ไม่ได้ไล่ไม่ทัน

แต่ถ้าจะใช้เข้าหาเจ้านายผู้ใหญ่ ท้าวพระยาผู้มีอำนาจบารมียิ่งใหญ่ให้รูปพระตะกรุดทั้งสองประเภทที่มีอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง รูดไปเบื้องขวาตน ถ้าเข้าหาท้าวพระยากษัตริย์หรือนางผู้สูงศักดิ์ ให้รูดไปเบื้องซ้าย

ถ้าจะทำการแข่งขัน แข่งเรือ แข่งม้า วัวควาย วิ่งแข่ง ตอนจะเริ่มออกแข่งขัน ให้ภาวนารูดพระตะกรุดไว้ใต้สะดือ แลเมื่อสามารถออกเลยล้ำหน้าเขาไปแล้ว จึงรูดพระตะกรุดกลับไปไว้เบื้องหลัง คู่แข่งขันจะไม่มีโอกาสไล่ตามทัน

ผู้ใดหมั่นบูชาหลวงพ่อจง (พุทธสโร) และบรรดาเครื่องรางของขลังซึ่งตนมีศรัทธาเลื่อมใสเชื่อมั่นในพระคุณอิทธิบารมีของท่าน ซึ่งมีได้แก่

เสื้อพระยันต์ราชสีห์มหาอำนาจ (สีแดง) คงกระพันชาตรี

พระเครื่อง ทุ่งเศรษฐี (ดำใหญ่ และ แดงเล็ก)

พระยันต์มหาอำนาจ (มหานิยมแคล้วคลาด)

พระตะกรุดชุด 16 ดอก (แคล้วคลาด คงกระพัน เมตตา มหานิยม มหาเสน่ห์ มหาลาภ)

ธนบัตรขวัญถุง (เรียกเงินตราไหลมาเทมาหา)

พระตะกรุดโทน (เช่นเดียวกับพระตะกรุดชุด 16 ดอก

แต่มีอิทธิบารมีแก่กล้าทางคงกระพัน ค่าพันตำลึงทอง)

รูปปั้น (หล่อ) ของหลวงพ่อจงเอง

พระยันต์ต่าง ๆ เขียนลงบนผืนผ้าขาว

เหรียญกลมรูปหลวงพ่อจง (สำหรับเด็ก)

รักยม (เมตตา มหานิยม มหาเสน่ห์)

ยันต์พระฉิม (มหาลาภ ค้าขายเป็นมหานิยม)

โดยเฉพาะ พระยันต์ พระตะกรุด หากใช้ในการเดินทางและบังเกิดเมื่อยล้า หรือเกรงว่าจะเหน็ดเหนื่อยจะปลุกเสกภาวนาป้องกันเสียก่อนก็ได้ โดยทำพิธีภาวนาอธิษฐานปลุกดังข้างต้นแล้ว ให้ยกมืออธิษฐานเสกซ้ำต่อไปอีกว่า

เสกขาธัมมา อเสกขาธัมมา เนวเสกขาธัมมา ธัมมาเสกขาธัมมา จากนี้เอามือลูบแข้งขามือและร่างกายให้ทั่ว ให้คิดเชื่อว่าต่อไปนี้ตัวเราเดินวิ่งเท่าไร ๆ เป็นไม่มีเมื่อย ไม่มีเหนื่อยอีกแล้วอย่างเด็ดขาด เพราะพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์และท่านอริยสงฆ์หลวงพ่อจงท่านดลใจประสิทธิพรประเสริฐป้องกันแก่ตัวเราได้แล้ว จึงกราบสามครั้งบนพื้นธรณีลงไป

สำหรับการปลุกเสกเครื่องรางของขลังทุกชนิด ควรกระทำทุกเช้าค่ำ โดยวิธีตั้งบทสวด ดังนี้

คือจุด ธูป เทียน บูชา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และหลวงพ่อจง (พุทธสโร) เสียก่อน

จากนั้น ตั้งนะโม สามจบ (กราบ) จึงปลุกเสกด้วยพระคาถาว่า

พุทโธ พุทธัสสะ อิทธิฤทธิ์ พุทธะ นิมิตตัง

การปลุกเสกนี้ จะทำให้บังเกิดอิทธิบารมีเข้มขลังเพิ่มขึ้นทับทวีทั้งจะดลบันดาลสุขแก่ผู้เป็นเจ้าของ กระทำการบูชาตลอดนิจกาล มิว่าจะมีประสงค์ปรารถนาสิ่งใด ก็จะมักได้สมปรารถนาไม่เคลื่อนคลายไม่หลุดจากมือ

เห็นสมควรแจ้งรายนามพระมหาตะกรุดชุด 16 ดอกไว้แต่ละดอกเพื่อความรู้อันสมบูรณ์ของท่านผู้ศรัทธา ดังนี้

1. เกราะเพชร 2. พรหมสี่หน้า 3. มหานิยม 4. คงกระพัน 5. ป้องกันเขี้ยวงา 6. เมตตา 7. แคล้วคลาด 8. ปกป้องภัยจากผี “คุณ” 9. ปกป้องปัด “สะบัด” อัคคีพ่าย 10. มหาอุด (สรรพอาวุธไม่ระคายผิว) 11. ป้องกันภัย ขีปณาวุธนานา 12. เดินทางไกลไม่เหนื่อยไม่เมื่อย 13. กระทู้เจ็ดแบก 14. ปกป้องภัยจากฟ้าผ่า 15. นะจังงัง บังตาผู้อื่น 16. มหารูดวาระสุดท้าย

ที่มา konmeungbua

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: