2427.ประวัติและอภิญญา หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ตอนที่ 1 ปฐมบท

หลวงพ่อจง พุทฺธสโร ท่านได้ถือกำเนิดที่ตำบลหน้าไม้ อำเภอบางไทร จังหวัพระนครศรีอยุธยา ในต้นสมัยรัชกาลที่ ๕ ของราชวงศ์จักรี ท่านเกิดในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีวอก ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๖ มีนาคม ๒๔๑๕

นามเดิมของท่านชื่อว่า “จง” ในสมัยนั้นยังไม่มีการใช้นามสกุล เลยยังไม่มีนานสกุลพ่วงท้ายชื่อ เป็นบุตรชายคนโตของ “นายยอด” และ “นางขลิบ” ที่มีอาชีพเป็นชาวนา หลวงพ่อจงท่านมีน้องร่วมอุทรเดียวกันอีก 2 คน คือ “นายนิล” หรือ “พระอธิการนิล” และ “นางปลิก”

ชีวิตในวัยเยาว์ของหลวงพ่อจงท่านอยู่ในฐานะเฉกเช่นผู้อาภัพอับโชค อุดมไปด้วยทุกขโรคา มากกว่าความสุขร่าเริงสดใสเหมือนกับเด็กในวัยเดียวกันทั่วไป

หลวงพ่อจงท่านถูกโรคพยาธิเบียดเบียนมาตั้งแต่เล็ก จึงทำให้มีรูปร่างค่อนข้างจะผอมโซ ไม่แข็งแรง หน้าตาซีดเซียว แถมยังมีอุปนิสัยค่อนข้างขี้อาย เซื่องซึม ขาดความกระตือรือร้น ชอบเก็บตัวอยู่ตามลำพังคนเดียว ไม่ค่อยพูดคุยกับใคร ถามมาคำก็ตอบกลับไปคำ และซ้ำร้ายไปกว่านั้นได้กลายเป็นที่น่าเวทนาสำหรับผู้พบเห็นและรู้จักมักคุ้นก็คือหลวงพ่อจงในวัยเยาว์ท่านมีอาการหูอื้อจนเกือบหนวกรับฟังเสียงต่าง ๆ ไม่ค่อยชัดเจน นัยน์ตาก็ฝ้าฟางมองอะไรแทบไม่เห็น

แต่ด้านของจิตใจท่านกลับเพียรใฝ่หารสพระธรรม ชอบทำบุญตักบาตรในวันธรรมสวนะอยู่เป็นเนืองนิจ โดยให้บิดามารดาหรือญาติพี่น้องพอไปยังวัดหน้าต่างใน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านมากนัก

เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

จวบจนกระทั่งอายุของหลวงพ่อจงอายุได้ ๑๒ ปี บิดามารดาของท่านเห็นถึงอุปนิสัยของท่านว่ามีความชอบวัด ติดวัด จึงนำเข้าบรรพชาเป็นสามเณรซะเลย ณ วัดหน้าต่างใน และก็ช่างเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะปรากฏว่าเมื่อท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่รุมเร้ามานานแรมปี ไม่ว่าจะเป็นโรคพยาธิ ที่ทำให้เกิดอาการผอมโซ เซื่องซึม หูอื้อ นัยน์ตาฝ้าฟาง ก็ได้หายไปจนหมดสิ้น ท่านกลับกลายเป็นผู้ที่มีสุขภาพพลานามัยดีมาก และท่านก็มีความสุขในสมณเพศนั้น ดุจดั่งเป็นนิมิตหมายให้รู้ว่า หลวงพ่อจงจะต้องครองเพศอยู่ใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ไปจนชีวิตจะหาไม่

ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ เมื่ออายุครบบวช โยมบิดามารดาจึงได้จัดพิธีอุปสมบทให้ ณ พัทธสีมาวัดหน้าต่างใน โดยมี หลวงพ่อสุ่น เจ้าอาวาสวัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อินทร์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์โพธิ วัดหน้าต่างใน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “พุทฺธสโรภิกขุ”

และหลวงพ่อจงก็ได้พนักจำพรรษาอยู่ ณ วัดหน้าต่างใน ศึกษาพระปริยัติธรรมและธรรมสิกขา พร้อมด้วยฝึกฝนในอักษรสมัยทั้งขอมและไทย จากพระอาจารย์เจ้าอาวาสจนมีความรู้ปราดเปรื่องชำนาญ จนใคร ๆ ก็อดสงสัยมิได้ว่า เอ๊ะ ทำไมหลวงพ่อจง มิยังงมโข่งหรืออุ้ยอ้ายอับปัญญาดุจดั่งที่มีบุคลิกอันอ่อนแอ ส่อสำแดงว่าน่าจะเป็นไปในทางทึบ หรือ อับ

หลวงพ่อจง พลิกความเข้าใจของโยมและวงศ์ญาติให้เป็นการกลับตาลปัตรไปไกลกว่านั้น โดยนอกจากศึกษารู้แจ้งในพระธรรมและภาษาหนังสือจนแตกฉานแล้ว มิช้ามินาน ยังสามารถรับการถ่ายทอดวิทยาการในแขนงว่าด้วยคุณเวทย์วิทยาคมขลัง จากพระอาจารย์โพธิ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน ซึ่งท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสไพศาลในยุคนั้น มาได้ขนาดว่าหมดสิ้นพุงความรู้ของพระอาจารย์ และก็มิได้หยุดยั้งแค่นั้น

หลวงพ่อจงยังได้พากเพียรแสวงหาความรู้ไม่ขาด รู้ว่าที่ไหนมีพระอาจารย์ดี มีผู้เคารพนับถือมาก ในวิชาหรือเจนบจนในวิทยาการหนึ่งวิทยาการใด ท่านเป็นเสาะแสวงหาหนทางนำตนไปนมัสการน้อมยอมเป็นสานุศิษย์ ศึกษาวิชาอย่างไม่มีท้อถอยไม่มีกลัวความลำบาก ในการต้องบุกป่าฝ่าหนามข้ามทุ่งไกล ๆ ซึ่งสมัยนั้นไปไหนต้องใช้พาหนะเท้าย่ำกันเป็นหลัก

ต่อมาจึงได้ไปศึกษาเรียนวิชาปฏิบัติกรรมฐานจากพระอาจารย์ หลวงพ่อปั้น เกจิอาจารย์ของวัดพิกุล ซึ่งท่านมีชื่อเสียงกิตติศัพท์โด่งดังมากจนสมญาว่า เป็นพระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสีผู้ยิ่งใหญ่รูปหนึ่งหมั่นศึกษาและพากเพียรด้วยอิทธิบาทอันแก่กล้าช้านาน

จนในที่สุด “ทั่ง” ถูกฝนลงเป็นเข็มสำเร็จ กาลต่อมา หลวงพ่อจงจึงได้รับขนานนามเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเจริญกรรมฐาน ประเภท อสุภปฏิกูล โดยที่ท่านมีบุคลิกภาพเปี่ยมพร้อมสมบูรณ์ สำหรับการปฏิบัติเจริญภาวนา เหมาะสมกับสภาวะนั้นได้ ด้วยปราศจากอารมณ์หวาดหวั่น หวาดไหว เป็นต้น เปี่ยมพร้อมด้วย มีองค์คุณอันเหมาะสมที่เรียกว่า สัปปายะ (สี่) และมี องค์คุณอันเป็นที่ตั้งของความเพียร (ห้า) ที่เรียกว่า ปธานิยังคะ

เมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมสิกขา และปฏิบัติพระปริยัติธรรมศึกษาพระเวทย์และวิชาการคุณเวทย์วิทยาคม ซึ่งมีความสนใจเป็นพิเศษ เพราะนอกจากมีนิสัยส่วนตัวพอใจแล้ว ยังมีเหตุแวดล้อมจากความรู้สึกชมชื่นและศรัทธาของชาวบ้านชาวเมืองสมัยยุคนั้นให้ความนิยมต่อศาสตร์แขนงนี้

ดังจะเห็นจากมีผู้ถวายความเคารพศรัทธาต่อความเป็นพหูสูต ความยิ่งยงเกรียงไกรในอำนาจฤทธิ์มนต์ขลังของท่านพระครูโพธิ ท่านเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน ซึ่งครั้งกระนั้นเป็นต้นสังกัดของหลวงพ่อจงจนล่วงผ่านวันเดือนไปหลายรอบปีนักษัตร ตราบจนพระอาจารย์โพธิได้ถึงมรณภาพไปเพราะโรคภัยเบียดเบียนตามอายุขัยของผู้ชราภาพ

ประกอบด้วยหลวงพ่อจง เป็นผู้ขึ้นชื่ออยู่ในความรับรู้ของผู้ใกล้ชิด ทั้งใกล้ไกลตลอดมวลหมู่ผู้สนใจเฝ้าสังเกตว่า ได้รับการถ่ายทอดวิทยาการทางเวทย์วิทยาคมมาจากพระอาจารย์โพธิได้อย่างเต็มภาคภูมิ วุฒิที่พระอาจารย์โพธิมีอยู่ แต่นั้นมาบรรดาชาวบ้านก็ให้ความศรัทธาเชื่อมั่นต่อหลวงพ่อจงอย่างท่วมท้น ทำให้ท่านต้องรับภาระหนักในการทำพิธีรดน้ำมนต์ ใช้เวทย์วิทยาคมกระทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ให้ฤกษ์งามยามดี บำบัดเหตุมิดีกาลีร้ายนานาประการ ตามแต่จะมีผู้มาอาราธนานิมนต์ให้โปรดจึงกระทำให้ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นเงาตามตัว

ในขบวนการใช้อุบายอันแยบคาย อบรมบ่มจิตให้ได้รับความสงบจนบังเกิดเป็นสมาธิและฌาน (สมถะกัมมัฏฐาน หรือเรียกว่าสมถะกรรมฐาน) กับอาการบอรมจนให้ดวงจิตบังเกิดปัญญาที่เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน (กัมมัฏฐาน) หลวงพ่อจงพอใจชอบใช้ฝึกจิตในแนวทางเรียกว่า อสุภะ

อสุภะ ตามความหมายก็คือ หมายความถึง สิ่งอันเป็นซากของวัตถุหรือซากร่างปราศจากชีวิต อันไร้ความน่าดู ปราศจากความสวยงามตรงข้ามกลับน่ารังเกียจ น่าเบื่อหน่าย และน่าขยะแขยงสะอิดสะเอียน หลวงพ่อจงพอใจใช้วิธีการ เพ่งอสุภะ เป็นแนวทางอบรมบ่มจิต ก็เพราะได้ความคิดว่า มันเป็นการช่วยให้ตนสามารถมองเห็นชัดด้วยตา และบังเกิดความรู้สึกในใจให้คิดสังเวชอย่างซาบซึ้งถึงความจริงในข้อที่ว่าตนและสรรพสัตว์

เมื่อต้องมีอันต้องตายไปแล้วก็ต้องมีสภาพน่าอเนจอนาถไม่น่าดู ไม่น่ารัก แต่น่าชัง น่ารังเกียจ ทุเรศ อุจาดตา ดังนี้ด้วยกันทั้งนั้นและเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้น ซึ่งจากข้อคิดนี้ จะทำให้ดวงจิตแห้งแล้งหดหู่ ปราศจากความร่านยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ

ปราศจากความหลงงมงาย คิดว่าร่างกายเป็นสิ่งสวยงาม จะได้เป็นเครื่องบรรเทาอัสมิมานะ คือ ความสำคัญผิด เพ้อเห็นไปว่าร่างกายนั้นมันเป็นตัวตนของเขาของเราจริงแท้ ซึ่งความจริงมันมิใช่ ความจริงมันเป็นเพียง อัตตะปราศจากตัวตน เป็นที่รวมอยู่ของธาตุทั้งห้าชั่วครั้งคราว โดยสภาวะปรุงแต่งแวดล้อม ครั้นถึงกาลเวลาก็แตกดับล่วงลับสลายไป ไม่เป็นเขาไม่เป็นเรา ดังนั้น หลงและโลภในรูปรส กลิ่น เสียง

หลวงพ่อจงชอบเพ่งมอง อสุภะ คือ รูปเน่าเปื่อยของศพที่มีผู้เอามามอบให้ และท่านเก็บไว้ในห้องที่จัดไว้พิเศษโดยเฉพาะอย่างซ่อนเร้น มิให้ประเจิดประเจ้อต่อการรู้เห็นของผู้อื่น ท่านจะใช้เวลายามปลอดและสงัดจากผู้คนเข้าไปในห้องพิเศษพร้อมด้วยดวงเทียนที่มีแสงสว่างเพียงมองเห็น ท่านจะนั่งเฝ้าเพ่งมองดูรูปศพคนตาย ไม่เลือกว่าจะเป็นศพขึ้นอืดจนเป็นน้ำเหลืองหยด มีกลิ่นเหม็น

หรือเป็นซากศพแห้งเหี่ยวจนหน้าตาน่าเกลียดเพียงใด ท่านก็จะเฝ้าจ้องมองเพ่งดูอย่างจริงจัง เพ่งมองให้เป็นภาพติดตา จนจำขึ้นใจว่า ศพนั้นท่าทางรูปร่างเป็นอย่างนั้น แห้งเหี่ยวเป็นรอยย่นผิดหน้าตามนุษย์ธรรมดายังงั้นยังงี้ หรือมีน้ำเหลืองหยดเพราะอาการเน่าเปื่อยตรงนั้นตรงนี้ พร้อมกันนั้นก็กระทำจิตใจให้บังเกิดอารมณ์สังเวช

ว่ารูปกายที่เกิดมาแล้วก็ต้องถึงวาระมีอันเป็นไปให้เจ็บป่วย ถูกทำร้ายหรือยังเกิดอุบัติเหตุเป็นภัยอันตรายถึงตาย ตายแล้วก็มีอาการน่าอเนจอนาถต่าง ๆ นานา เป็นเช่นนี้เสมอไป ร่างกายหนอ… ชีวิตหนอ… ต่างล้วนเป็นภาพน่าอนาถ น่าสังเวช น่าชิงชัง น่าเบื่อด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อมีผู้สงสัยถามว่า ทำดังนี้และปลงอารมณ์ได้ดังนี้แล้ว จะบังเกิดประโยชน์อะไร หลวงพ่อจงให้คำตอบว่าได้ประโยชน์คือ ทำให้ไม่หลงใหลรักตัวตนว่าเป็นตัวตนของเขาของเรา มันเป็นแค่ชีวิตกายเกิดที่ก่อสารรูปขึ้นได้ด้วยสภาวะแวดล้อมของธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เช้ารวมตัวกัน ความคิดเห็นแก่ตนเอง เอาเปรียบเบียดเบียนผู้อื่น จะหย่อนหายไปจากสันดานโลภโมโทสัน

เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งขัดเกลาสันดานจิตใจ ให้ผ่องใสสะอาด หากมนุษย์อันเป็นตัวสมมติของกาย เกิดไม่หลงนึกแยกประเภทของกายเกิด ว่านั่นเป็นเขา นี่เป็นเรา ดังนี้แล้ว การอยู่ร่วมกันในสังคม บ้านเมือง ตลอดทั่วโลก ก็จะมีแต่ความสงบสุข ไม่ต้องมีการดิ้นรนจองล้างจองผลาญย่ำยีต่อกันและกัน

หลวงพ่อจงเป็นผู้มีกำลังหนุนมั่นคงด้วยการใช้แรงอิทธิบาทสี่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เข้าปฏิบัติกระทำในกิจการไม่ว่าสิ่งใดที่สนใจ ตลอดจนการท่องบ่นทบทวนวิทยาคมที่พระอาจารย์โพธิ์ประสิทธิ์ประสาทให้ไม่ย่อท้อ ท่านได้พากเพียรกระทำสม่ำเสมออยู่เป็นนิจ ด้วยความมานะแรงกล้า

ยิ่งนานวันนานคืนล่วงไป ภูมิจิตของท่านก็เพิ่มพลังความชำนาญจนเข้าขั้นนับว่าเป็นผู้ได้ฌานสมาบัติขั้นสูงผู้หนึ่ง

ที่มา konmeungbua

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: