2404.อุปสรรคของการทำกรรมฐาน

อุปสรรคของการทำกรรมฐาน

ตลอดช่วงชีวิตแห่งการเป็นพระอาจารย์กรรมฐาน พระอาจารย์มั่นได้ให้คำแนะนำ
ในการปฏิบัติแก่ พระภิกษุเป็นจำนวนมาก

เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ท่านมักต้องนำมาเน้นย้ำอยู่เสมอ คือเรื่องอุปสรรคหรือเครื่องเศร้าหมองของการทำกรรมฐาน โดยท่านได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

ผู้ต้องการพ้นทุกข์จริงๆ แล้ว ต้องไม่หลงในความเป็นเหล่านั้น ญาณคือความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นในระหว่างแห่งความสงบ เป็นต้นว่า ญาณระลึกชาติหนหลังได้ ญาณรู้จักเหตุการณ์ในอดีต ญาณรู้จักเหตุการณ์ในอนาคต รู้จักวาระจิตความนึกคิดของบุคคล อื่นเป็นต้น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นวิชาที่น่าอัศจรรย์มากทีเดียว แต่ถ้าหากว่าหลงและติดอยู่ในญาณนี้แล้ว จะทำให้เกิดความเนิ่นช้าในการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่อริยสัจธรรม แต่ญาณเหล่านี้เป็นอุปกรณ์อย่างดีพิเศษ ในอันที่จะดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจน์หรือการทรมานบุคคลบางคน แต่จะต้องรู้ว่ามันเป็นญาณ อย่ายินดีหรือติดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะเท่ากับว่ามันเป็นผลพลอยได้ เกิดจากการบำเพ็ญจิตเข้าสู่อริยสัจจ์นั่นเอง

ถ้าหากว่าเราไปยินดีหรือไปติดอยู่เพียงเท่านี้แล้ว ก็จะก้าวเข้าไปสู่ความพ้นไปจากทุกข์ไม่ได้ แม้แต่พระเทวทัตในสมัยพุทธกาลก็สำเร็จญาณถึง ๕ ประการ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้สมกับความประสงค์ แต่หลงอยู่ในความรู้ญาณของตน เกิดทิฏฐิมานะว่าตนเก่งตนดี ถึงกับต้องการจะเป็นพระพุทธเจ้าแทนเอาเลยทีเดียว แต่ที่ไหนได้ ในที่สุด โดยอาศัยญาณกลับต้องเสื่อมหมดทุกอย่าง ไม่พ้นทุกข์ ไม่เข้าถึงอริยสัจจ์ แต่กลับตกนรกไปเลย

ญาณเหล่านี้มันน่าติดใจจริงๆ เพราะมันวิเศษแท้ ทั้งเยือกเย็นทั้งสว่างผ่องใส ทั้งรู้อะไรที่เป็นอดีต อนาคต ตามความประสงค์ ผู้ที่ไม่เข้าใจความเป็นจริง ที่ติด ณ ที่นี้ เราจะสังเกตเห็นได้ตรงที่เกิดทิฏฐิขึ้นมาเลยอย่างหนึ่ง คือการถือตัวว่าดีกว่าใครๆ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นครูบาอาจารย์หรือเพื่อนสหธรรมิกหรือศิษย์ หาว่าศิษย์สู้เราไม่ได้ ใครก็สู้เราไม่ได้ ทิฏฐิชนิดนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วด้วยตัวของตัวเองก็ไม่รู้ตัวเอง

ท่านเปรียบเหมือนว่ามีจระเข้ตัวหนึ่งใหญ่เหลือเกินอยู่ในท้องทะเล มันไม่รู้ว่าหางของมันอยู่ที่ไหน เมื่อมันไม่รู้มันเห็นหางของมัน มันก็กินหางของมัน กินไปๆ จนเหลือแต่หัว เลยขม้ำซ้ำหมดเลย และท่านก็อธิบายว่า การหลงตัวด้วยญาณนี้มันละเอียดนัก เราจะสังเกตได้อีกอย่างหนึ่งคือ การขาดความรอบคอบในบางสิ่งบางประการเพราะเหตุแห่งการถือตัว เช่น การกล่าวคำดูถูกดูหมิ่นต่อเพื่อนสหธรรมิกด้วยกัน หรือต่อครูบาอาจารย์ของตนหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งตนไม่เห็นด้วย

การดำเนินญาณทุกญาณมันต้องเสื่อม มันจะคงตัวอยู่ตลอดไปหาได้ไม่ แม้จะใช้ความพยายามสักเท่าใดก็ตาม คือว่าครั้งแรกๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นความจริงได้ แต่ต่อไปก็เลือนเข้าๆ กลับกลายเป็นความนึกคิดโดยอาศัยสัญญาเก่า นี้คือความเสื่อมแห่งญาณ ลูกศิษย์ก็มีหลายองค์ที่ต้องเสื่อมลงจากญาณเหล่านี้อย่างน่าเสียดาย

ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสื่อม จึงต้องรีบดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจจ์เสียเลย เพราะความที่จิตเข้าสู่อริยสัจจ์ได้แล้ว มันก็ห่างจากความเสื่อมไปทุกทีๆ​ ท่านหนูใหญ่ อายุคราวเดียวกับท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ไม่พยายามดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจจ์ แต่ว่าวิญญาณแหลมคมดี เอาแต่ญาณภายนอกอย่างเดียว จึงเสื่อมไปได้ คือท่านหนูใหญ่นั้นปรากฏว่า เมื่อปฏิบัติไปแล้วเกิดญาณหยั่งรู้ความจริงบางอย่างได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งมีความรู้พิเศษเป็นที่อัศจรรย์มาก เมื่อหมู่คณะที่อยู่ร่วมสำนักกับท่านประพฤติผิดธรรมวินัยในข้อวัตรปฏิบัติ แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ท่านสามารถรู้ได้ด้วยญาณของท่าน ทั้งๆ ที่ท่านก็ไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นแต่ประการใด อาทิเช่น

ครั้งหนึ่งเวลาตอนบ่ายสามเณรทั้งหลายกำลังดื่มน้ำปานะ(อัฏฐบาล)ถวายพระ เวลาที่พระทั้งหลายกำลังดื่มอยู่นั้น ขณะนั้นท่านหนูใหญ่กำลังทำสมาธิอยู่ในความสงบ ได้ปรากฏเห็นพระเหล่านั้นในญาณของท่านว่ากำลังฉันอาหารกันอยู่ ท่านจึงไปที่ท่ามกลางหมู่คณะนั้นแล้วกล่าวว่า พวกเรากำลังฉันสิ่งของที่เจือด้วยอนามิสแน่ เพราะมันไม่บริสุทธิ์

ซึ่งพระภิกษุสามเณรทั้งหลายกำลังฉันน้ำปานะอยู่พากันสงสัย และสามเณรผู้ทำก็ยืนยันว่าบริสุทธิ์ไม่มีอะไร เพราะทำมากับมือ แต่ท่านหนูใหญ่ก็ยืนยันว่าไม่บริสุทธิ์แน่ จึงมีการตรวจค้นกันขึ้น ได้พบเมล็ดข้าวสุกติดอยู่ที่ก้นภาชนะนั้นจริงๆ เพราะเหตุนั้น หมู่คณะทั้งหลายจึงพาเกรงขามท่านมาก เพราะเมื่อยู่ใกล้ๆ กับท่านแล้วต้องระวัง ระวังความนึกคิด เป็นเหตุให้เกิดสติสัมปชัญญะมากขึ้น

แต่เมื่อ ท่านหนูใหญ่ไม่ได้หมั่นเพียรบำเพ็ญสมณธรรม ทำตัวอยู่ห่างจากท่านอาจารย์มั่นมากขึ้นเป็นสำคัญ ในที่สุดก็เสื่อมจากคุณอันนั้น จนสึกออกไปเป็นฆราวาส อยู่ใต้อำนาจของกิเลสต่อไป

ท่านพระอาจารย์มั่นบอกว่า “ผู้ที่ได้ญาณนี้แล้ว ถ้าเป็นเช่นนี้ย่อมเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งทีเดียว เพราะเท่ากับคนได้สมบัติมหาศาลแล้วรักษาสมบัติไม่ได้หรือใช้สมบัติไม่เป็น ไม่ได้ประโยชน์จากสมบัตินั้น ผู้ที่ได้ญาณก็เหมือนกันกว่าจะทำมันขึ้นมาได้แสนยากลำบากนัก แต่เมื่อได้มาแล้วกลับไม่รู้จักรักษาและไม่รู้จักทำให้มันเป็นประโยชน์ จึงเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทั้งหลายควรสังวรณ์เป็นอย่างยิ่ง

สำหรับเรื่องญาณหรือความสงบ ถ้าหากไปหลงมันปล่อยให้มันเกิดแต่ความสงบอย่างเดียว ย่อมไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจะได้ เพราะสถานที่นั้นเป็นที่สบายอย่างยิ่งและน่าอยู่ มันทำให้เกิดความสุขอย่างน่าพิศวง และเป็นสถานที่น่าติดอยู่ของหมู่โยคาวจรทั้งหลายจริงๆ มิหนำซ้ำบางทีท่านก็หลงไปถึงกับว่าที่นี่เองเป็นที่หมดไปจากกิเลส อันที่จริงแล้วที่นี่เองจำเป็นต้องแก้ไขตัวของตัวเองอย่างหนักเหมือนกันกับ คนที่กำลังนั่งนอนสบาย แล้วจะให้ทำงานหนักก็จำเป็นต้องบังคับทั้งปลอบ

ท่านพระอาจารย์มั่นชี้ตัวอย่างท่านอาจารย์
เทสก์ เทสรังสี (พระนิโรธรงฺสี) ว่าท่านเทสก์นี้ได้ติดหลงอยู่ในญาณนี้นานยิ่งกว่าใครๆ ในระยะที่ท่านเทสก์หลงอยู่ในญาณนั้น เราได้พยายามแก้ไขอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้คลายจากความเป็นเช่นนั้น กว่าจะได้ผลต้องใช้เวลาถึง ๑๒ ปี เพราะท่านอาจารย์เทสก์ได้ติดอยู่ในญาณถึง ๑๒ ปี

ครั้นเมื่อท่านอาจารย์เทสก์แก้ไขตัวของท่านได้แล้วถึงกับอุทานว่าเราหลงไป ถึง ๑๒ ปี ถ้าไม่ได้ท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิแก้ไขแล้ว เราก็จะต้องติดไปจนตาย

ท่านพระอาจารย์มั่นได้เน้นหนักว่า การแก้ไขสิ่งของที่ดี ที่เกิดขึ้นนี้ลำบากกว่าแก้สิ่งของไม่ดี เพราะความไม่ดีรู้กันในหมู่ผู้หวังดี หาทางแก้ไขได้ง่าย ส่วนความดีที่ต้องติดดีนี่แก้ไขยาก ผู้ติดดีจึงต้องใช้ความพยายามหลายอย่างเพราะขั้นนี้มันเป็นขั้นปัญญา

เนื่องจากการเกิดขึ้นภายในนั้นมีพร้อมทั้งเหตุและผลจำทำให้เชื่อเอาจนได้ จะไปว่าอะไรกับอย่างอื่นที่ไกลจากอริยสัจธรรม แม้แต่วิปัสสนาซึ่งเป็นทางไปสู่อริยสัจจ์อยู่แล้ว แต่ผู้ดำเนินไม่มีความรอบรู้พอ ก็กลับกลายเป็นวิปัสสนูกิเลสไปได้

#ที่มา_การจริญสมาธิด้วยกรรมฐาน_๔๐วิธี
#พระอาจารย์มั่นภูริทัตโต
*******************************************
ขออนุโมทนาขอขอบคุณและขออนุญาตนำ
มาเผยแผ่เป็นธรรมทานแก่ผู้ที่มีความศรัทธา.

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: