2393.พบหลวงปู่ใหญ่ในถ้ำวัวแดง

พบหลวงปู่ใหญ่ในถ้ำวัวแดง

เณรน้อยต้นบุญก็พยายามเดินบุกป่าฝ่าดง มองไปทางไหนก็มีแต่ป่ากับป่า และถ้ำกับเหว เดินไปเรื่อยๆเจอถ้ำๆหนึ่ง ปากถ้ำกว้างใหญ่ลักษณะคล้ายอุโมงค์ มีแสงสาดช่องหินลงมาสามารถเห็นทางเป็นระยะๆ จึงตัดสินใจเดินลอดถ้ำไป ตั้งแต่บ่าย๑ ถึงบ่าย ๓ โมง เดินไปอย่างเพลินใจโดยไม่รู้สึกเหนื่อยเมื่อล้าแต่อย่างใด พอไปสุดอุโมงค์ก็เห็นลานหินกว้าง พื้นเรียบเหมือนขัดมันมาอย่างดี มีต้นไม้ใหญ่หลายต้นขึ้นเรียงรายเป็นร่มเงาอย่างพอเหมาะอากาศเย็นสบายใจยิ่งนัก บรรยากาศเป็นคล้ายอีกโลกหนึ่งเลย หน้าถ้ำจะมีหินใหญ่ลักษณะคล้ายวัวกำลังหมอบอยู่ ลำตัวเป็นสีแดง ส่วนนมเป็นสีขาว มีเขาโค้งงามยาวเข้าหากัน หากไม่ทันสังเกตจะนึกว่าวัวกำลังหมอบอยู่

เณรน้อยมองไปเห็นชีปะขาว จำได้ว่าเป็นคนเดียวกับที่ตะโกนเรียกบอกที่วัดนาเหมือง ท่านชื่อปู่สิงขร เป็นผู้อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่ใหญ่มานานจนท่านจำไม่ได้ว่ากี่ร้อยปีมาแล้ว กำลังยืนโบกมือเรียกด้วยความยินดี ปู่สิงขรมายืนรอรับ และทักทายกันพอสมควรท่านก็พาไปกราบหลวงปู่ใหญ่บรมครูเทพโลกอุดร ซึ่งกำลังนั่งฉันหมากอยู่อย่างอารมณ์ดี หน้าตาท่านอิมเอิบผ่องใสอย่างหาใครเปรียบได้ยาก รัศมีแห่งธรรมแผ่กระจายสายแห่งความเยือกเย็นมากระทบจิต นัยน์ตาท่านเปล่งประกายฉายแววแห่งเมตตาธรรมเหมือนมีน้ำไหลอยู่ภายในดวงตาของท่าน มุมปากยิ้มเย็นๆ ผิวพรรณผุดผ่องเหมือนสีทองประกายพราว

เณรน้อยมองหน้าท่านเหมือนคุ้นเคยเหมือนเคยเห็นที่ไหนมาก่อน พอย้อนหลังท้าวความในอดีตจึงจำได้ว่าเป็นพระองค์เดียวกับที่เคยมาช่วยชีวิตตอนที่ตายครั้งแรก คือเป็นไข้เลือดออก และครั้งที่สองตอนตกต้นไม้ตาย ท่านมาช่วยชุบชีวิตให้ฟื้นขึ้นมาเป็นองค์เดียวกันนี้เอง เณรน้อยก้มกราบคาราวะท่านด้วยเศียรเกล้า หลวงปู่ใหญ่ท่านไม่ได้กล่าวว่าอะไรเพียงแต่ยิ้มๆ แล้วสั่งให้ปู่สิงขรพาเณรน้อยไปเก็บสัมภาระที่ในถ้ำ แล้วให้ไปสรงน้ำชำระร่างกายที่แอ่งน้ำภายในถ้ำ

เมื่อเณรน้อยต้นบุญได้มาเจอหลวงปู่ใหญ่ผู้เป็นบรมครูแห่งยุคของพระพุทธศาสนาของพระสมณโคดม พระผู้เป็นอมตะมีประวัติความเแ็นมาที่ยาวนาน และพิสดารยิ่งนัก ซึ่งตัวหลวงปู่เองท่านก็ไม่แสดงตัวหรือโอ้อวดองค์ท่านเองแม้นแต่น้อย ท่านก็อยู่ตามปกติของท่าน ทำกิจวัตรต่างๆ และสืบสานงานพระศาสนาตามกำลังความสามารถของท่าน นอกจากจะแสดงโอวาทธรรม สอนวิชชา และมอบหมายงานแล้วท่านจะไม่สนทนา หรือถามไถ่เรื่องอื่นใดเลย การที่จะทราบประวัติท่านนั้น เป็นเรื่องที่ท่านไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าใดนัก และก็ไม่ค่อยได้บอกเล่าแต่อย่างใด จะมีก็แต่ปู่สิงขรที่เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล และสั่งสอนตามคำบัญชาของหลวงปู่ใหญ่เท่านั้นที่เล่าให้ฟัง

วันหนึ่งปู่สิงขรเมื่อถูกถามถึงเรื่องราวความเป็นมาของหลวงปู่ใหญ่ ซึ่งเณรน้อยผู้อยากรู้อยากเห็นได้รบเร้าถามอยู่บ่อยๆ ท่านเลยเมตตาเล่าให้ฟังว่า…

ประวัติหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร
ณ บ้านอุรุเวลาเสนานิคม ท่านสุปัณณะกะเศรษฐี มีภรรยาชื่อนางสุปัณณะกะมาตา ทั้งสองท่านเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก อุปถัมภ์ทะนุบำรุงพระสงฆ์ และให้ทานอยู่เป็นนิจ แต่ทั้งสองท่านไม่มีบุตรสืบสกุล จึงทำให้เป็นที่เสียใจในตระกูลเป็นอย่างมาก

ครั้งหนึ่งท่านสุปัณณะกะเศรษฐี และนางสุปัณณะกะมาตา ได้นิมนต์พระมหากัสสปะมาฉันบิณฑบาตรที่บ้าน และชวนญาติมิตรมาร่วมถวายอาหารด้วย หลังจากพระมหากัสสปะฉันเสร็จเรียบร้อย นางสุปัณณะกะมาตา ได้ขอประทานบุตรชายจากพระมหากัสสปะ ท่านจึงกล่าวต่อนงว่า จากนี้ไปอีก ๔ เดือนจะมีผู้มีบุญมาเกิด และบุตรชายจะได้บวชในพระพุทธศาสนา ไม่มีโอกาสได้ครองสมบัติใดๆทั้งสิ้น ท่านสุปัณณะกะเศรษฐีดีใจมาก เพราะตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าถ้ามีบุตรชายจะให้บวช

หลังจากนั้น ๔ เดือนนางสุปัณณะกะมาตาได้ตั้งครรถ์ และกำเนิดบุตรชายรูปร่างสมบูรณ์ ผิวพรรณผ่องใส เมื่อวันอาทิตย์ชขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ ท่านสุปัณณะกะเศรษฐี ได้ตั้งชื่อบุตรชายว่า สุปัณณะกะกุมาร

หลังจากที่ท่านได้บุตรชายตามปรารถนาท่านก็บริจาคทานเป็นอันมาก ได้สร้างวิหารถวายพระสงฆ์ และนำบุตรชายไปถวายแด่ พระมหากัสสปะ ท่านก็รับไว้ด้วยความยินดี ต่อมาเมื่อ สุปัณณะกะกุมาร เจริญวัยได้ ๗ ขวบ พระมหากัสสปะได้ให้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ท่านก็เรียนได้เร็วเป็นที่พอใจของพระมหากัสสปะเป็นอันมาก เมื่อสามาเณรสุปัณณะกะกุมาร มีอายุครบ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบท เข้าป่ารับพระกรรมฐานจากพระมหากัสสปะ ได้เดินธุดงค์ในประเทศอินเดีย พม่า และจีน อยู่นานถึง ๔ ปี จึงได้กลับมา

หลังจากกลับมาพระมหากัสสปะได้มีอาการอาพาธ ท่านได้เรียกพระภิกษุ ๓ รูปคือ ๑.พระสุปัณณะกะ ๒.พระภิคิยะ ๓.พระสุวรรณกะ เข้ามารับโอวาทครั้งสุดท้าย และได้ฝากพระทั้งสามให้ดูแลพระศาสนาในที่ต่างๆ ให้ยั่งยืนสืบไป ดูแลพระภิกษุสามเณร ตามอารามทั่วไป พร้อมกำชับให้นำร่างที่ละสังขารไปไว้ที่ภูเขาหิมาลัย ณ ถ้ำปัญจนรดี เทือกเขาที่สูงที่สุดในหิมาลัย ต่อมาภายหลังท่านทั้งสามจึงได้แยกย้ายกันไปเผยแพร่พระศาสนา มีลูกศิษย์มากมาย

สำหรับหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร(พระธรรมลักขิต) ได้เดินธุดงค์จากประเทศอินเดียมาพม่า ได้รับลูกศิษย์ไว้มากมาย จนเข้าเขตประเทศไทยด้านจังหวัดราชบุรีได้มาพักจำพรรษาที่ดงพญาไฟ สมัยนั้นไม่มีบ้านเรือน และผู้คน ท่านอยู่ปฏิบัติธรรมภาวนาของท่านเรื่อยไปๆ หลังจากนั้น หลังจากนั้นหลวงปู่พระสังฆรักขิต ได้ตามมาสมทบอยู่จำพรรษาที่ดงพญาไฟในถ้ำสุมณฑา ได้ตั้งชื่อว่า เขาพิลาศ ต่อมาภายหลังเรียก พิศาลโรงธรรม เดินธุดงค์ไปมาระหว่างภูเขาต่างๆ เพื่อปฏิบัติบำเพ็ญธรรม สอนพระธรรมแก่พระภิกษุสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนผู้ใฝ่ธรรมทั่วไป

หลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดรท่านได้เป็นผู้บูรณะพระพุทธบาทสระบุรีเป็นองค์แรก และได้จาริกไปนมัสการอยู่เสมอ
หลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร ได้ดำริจะสร้างเมืองขึ้นใหม่รวบรวมผู้คนกลุ่มน้อย สมัยนั้นมีขอม พวกคนดง พวกสินชัย และพวกบำเพ็ญตนในเมืองลี้ลับ(บังบด) ให้สร้างเมืองขึ้นมา เพราะแต่ก่อนผู้คนอยู่กันเรื่อยๆ ที่ใดมีน้ำสมบูรณ์ มีห้วยหนองอยู่ที่ไหนก็ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นั่นเป็นกลุ่มๆ พอเกิดความแห้งแล้งก็พากันอพยพไปตั้งบ้านเรือนที่อื่น จึงไม่เกิดบ้านเมืองขึ้นมา ทำให้พระสงฆ์ไม่สามารถเผยแพร่ศาสนาได้ จึงไม่เกิดวัดวาอาราม แม้่นพวกขอมก็เร่ร่อนเช่นเดียวกัน ภายหลังหลวงปู่ได้พาพวกสินชัยสร้างเมืองขึ้นห่างจากลพบุรีไปไม่ไกล แต่ถูกพวกขอมขับไล่ไปอยู่เสียที่อื่น จึงได้โยกย้ายหนีไปทางเหนือต่อไป ที่จังหวัดเพชรบูรณ์

หลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดรท่านมีความท้อใจในการสร้างเมืองเพื่อเผยแพร่พระศาสนา จึงตัดสินใจย้ายไปจำพรรษาอยู่อีกฝากของลำน้ำโขง คือประเทศลาวในปัจจุบัน ท่านย้ายไปอยู่ภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่า ภูเขาควายน้อย เพราะสมัยก่อนพวกความป่ามักพาแม่ควายมาออกลูกที่นี่จึงได้ตั้งชื่อตามนี้ในเขาแห่งนี้มีถ้ำแห่งหนึ่งกว้างขวางพอสมควร เหมาะในการบำเพ็ญภาวนาหน้าถ้ำมีหินทรายแดงลักษณะคล้ายวัว หลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดรจึงได้ตั้งชื่อว่า ถ้ำอศุภลาศ ลูกศิษย์พากันเรียกว่า ถ้ำวัวแดง

หลังจากท่านได้ที่อยู่จำพรรษาเรียบร้อย หลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดรท่านได้ดำริจะสร้างเมืองให้ชาวลาว สมัยนั้นมีชนกลุ่มน้อยที่อพยพมาในแถบทางใต้ของภูเขาควายน้อย หลวงปู่ท่านได้สร้างเมืองขึ้นมาชื่อว่า เมืองศรีวิชัย ภายหลังเกิดโรคระบาดจึงได้ย้ายไปสร้างเมืองใหม่ขึ้นมา ชื่อเมือง โพนแก้ว ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นหลวงพระบางศรีวิชัย หลวงปู่ได้เมตตาอบรมสั่งสอนชาวเมืองให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และได้สร้างวัดขึ้นมาชื่อว่า วัดพุทธรักษาราม อยู่มาได้ประมาณ ๓๐๐ ปี เมืองนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่ก็พบกับภัยธรรมชาติทำให้เมืองนี้สูญสลายไป หลวงปู่จึงได้พาชาวเมืองไปสร้างเมืองใหม่อีกเมืองหนึ่งชื่อ เมืองตะโพนชัย เมืองนี้อยู่ได้ ๒๐ ปี ชาวเมืองเกิดฆ่ากันเพื่อแย่งสมบัติเงินทอง จนเมืองล่มจม หลวงปู่ท่านคิดถึงหลวงปู่สังฆรักขิตได้พากลุ่มชนคนไทที่เป็นเชลยขอมในสมัยนั้น สร้างบ้านเมืองขึ้นมาชื่อ เมืองไท ต่อมาพากันเรียกว่า สุโขทัย
สำหรับหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร (พระธรรมรักขิต) ได้รับลูกศิษย์ของหลวงปู่สังฆรักขิตกลับไปถ้ำภูเขาควายน้อย เพื่อศึกษาในระดับภูมิธรรมที่สูงขึ้น ลูกศิษย์ทั้ง ๑๖ รูปได้แก่

๑. หลวงปู่จันทร์เด่น พระสุภิตามหาเถระ

๒. หลวงปู่บำเพ็ญ พระรัตนมหาเถระ

๓. หลวงปู่เย็นดี พระอชิตะมหาเถระ

๔. หลวงปู่พอดี พระมหาอุตรมหาเถระ (หรือพระอุตรวัชชี)

๕. หลวงปู่สันที พระมหาโสณธรรมเภระ(หรือพระโสณกฎิธีธรรม)

๖. หลวงปู่สุรีย์ พระมหิถมหาเถระ

๗. หลวงปู่อัถสี พระอัถสีมหาเถระ

๘. หลวงปู่กุณภี พระมหากุณภีมหาเถระ

๙. หลวงปู่สุรสีห์ พระสุรสีวรรณามหาเถระ

๑๐.หลวงปู่อัถวี พระอัถวีเวทีมหาเถระ

๑๑.หลวงปู่นรสิงห์ พระนรสีสุขุภีมหาเถระ

๑๒.หลวงปู่สังฆเถรี พระมหาสังฆเมธีมหาเถระ

๑๓.หลวงปู่กาสี พระมหากาสีมหาเถระ

๑๔.หลวงปู่มนตรี พระมหามนตรีมหาเถระ

๑๕.หลวงปู่ยันตรี พระยันตรีมหาเถระ

๑๖.หลวงปู่มัถวี พระมัถวีธรรมมหาเถระ

หลังจากได้อบรมลูกศิษย์ทั้ง ๑๖ รูป ออกเผยแพร่พระธรรมทั้ง ๑๖ สายจวบจนพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองตราบเท่าทุกวันนี้ หลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดรมีความอุตสาหะวิริยะเป็นอย่างมาก ในแต่ละปี หลวงปู่ท่านจะออกเยี่ยมลูกศิษย์ทั้ง ๑๖ รูปโดยสมำ่เสมอ ภายหลังหลวงปู่ท่านได้รับปู่สิงขรเข้ามาเป็นลูกศิษย์อีกผู้หนึ่ง และส่งไปศึกษาเรียนที่ ภูแซ (เขาสามบรรพต) เป็นสถานที่รวบรวมพระธรรมวินัย จนภายหลังได้เป็นคณาจารย์ใหญ่ของภูแซ และได้รับลูกศิษย์จากทั้ง ๑๖ สายมาศึกษาทุกๆปี จนมีอภิญญาทางธรรมชั้นสูง และเผยแพร่พระธรรมต่อไป

หลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดรท่านทำงานมาตลอดโดยมิได้ย่อท้อต่อความเหนื่อยยากลำบาก และอุปสรรคอันใดเลย

ขอบคุณที่มา
http://www.bighead.co.th/Default.aspx…

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: