2363.ดร.สุเมธ​ เล่าถึง​ ความมหัศจรรย์​ของ”หลวงพ่อแดง”

ดร.สุเมธ​ เล่าถึง​ ความมหัศจรรย์​ของ”หลวงพ่อแดง”

คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับบทบาทของ “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” ในฐานะข้าราชบริพารผู้ถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษ

แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาผู้เคร่งขรึมมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังท่านนี้ เป็นอีกหนึ่งท่านที่เคารพรักเเละศรัทธา หลวงพ่อเเดง วัดเขาบันไดอิฐ ด้วยเช่นกัน

ดร.สุเมธ เป็นคนเพชรบุรี เกิดที่เรือนไทยของตระกูลข้างคุณแม่ คุณแม่ของท่านคือ ท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล เเละเคยเป็นต้นเครื่องพระกระยาหารไทยอยู่ในวัง

ส่วนคุณพ่อคือ คุณอารีย์ ตันติเวชกุล และเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา และเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันได้เสียชีวิตไปแล้วทั้งสองท่าน

” เมื่อกลับมาจากต่างประเทศใหม่ๆ คุณแม่ก็บอกว่าจะพาไปให้พระรดน้ำมนต์ให้เป็นศิริมงคลแก่ชีวิตยืนนาน ผมก็เป็นชาวพุทธคนหนึ่งซึ่งเลื่อมใสในหลักธรรมและปรัชญาของศาสนาพุทธ ดังนั้นผมจึงไม่ยอมขัดอัธยาศัยของคุณแม่ ไปก็ไปหาพระหาเจ้านะย่อมเป็นของประเสริฐเสมอ มีแต่ความร่มเย็นเป็นนิจศีล แล้วเราทั้งสองคนก็ออกเดินทางไปยังวัด ที่เป็นสำนักของหลวงพ่อ ที่คุณแม่ชอบเรียกว่า “คุณพ่อ”

วัดนั้นตั้งอยู่บนเขาเตี้ยๆ แต่เต็มไปด้วยความสะอาดร่มเย็น เมื่อผมกับคุณแม่ขึ้นไปถึงบริเวณนั้น ก็แลเห็นมีผู้คนจำนวนมากนั่งอยู่ก่อน ราวกับว่ามีงานบวชนาคก็ว่าได้ คุณแม่พาผมเลี่ยงไปทางด้านหลัง ที่มีประตูเหล็กแข็งแรงชนิดยืดได้แบบเดียวกับประตูของร้านค้าต่างๆ หลังจากล่วงพ้นประตูเหล็กเข้าไปแล้ว ก็ถึงซอกเล็กๆ ซึ่งค่อนข้างมืด จากนั้นยังจะต้องผ่านประตูไม้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะถอดสลักข้างในออกได้โดยช่องที่ทำซ่อนไว้ให้เร้นลับ ต่อจากนั้นก็ถึงประตูไม้แบบโบราณ ซึ่งปิดสนิทลั่นดานข้างใน

คุณแม่ เข้าไปเคาะแล้วเรียกค่อยๆ พร้อมกับบอกชื่อให้ทราบว่าเป็นใคร ข้างในประตูบังเกิดเสียงกุกกักอยู่เล็กน้อย ต่อมาสลักข้างในก็ถูกถอดออก พอประตูเปิดออก ผมแลเห็นพระภิกษุรูปหนึ่ง รู้สึกว่าชราภาพมาก ท่านหันหลังให้เดินกลับไปข้างใน พร้อมกับสั่งให้ปิดประตูลั่นดานเสีย พอพ้นจากประตูก็ถึงห้องยาวๆ แต่ดูจะแคบที่สุด ห้องกั้นเป็นห้องเล็กๆ ขนาดเมตรครึ่ง ยาวสองเมตร ทุกอย่างเก่าคร่ำ ทั้งประตู และหน้าต่างปิดหมด ในห้องเล็กๆ ห้องนั้น เป็นที่อยู่ของพระภิกษุชรารูปนั้น ส่วนห้องด้านใน มีเตียงไม้เก่าๆ พร้อมด้วยผ้านวมบางๆ ปูต่างที่นอน ที่หัวนอนมีหิ้งพระมีพระพุทธรูปอยู่ 2-3 องค์ ติดๆ กับเตียงใกล้ทางเข้า มีโต๊ะไม้สีดำ บนโต๊ะเต็มไปด้วยข้าวของหลายอย่าง นับตั้งแต่ถ้ำชา ไปจนถึงตะบันหมาก

ขณะนั้น ภิกษุชรานั่งอยู่บนเก้าอี้แบบโยกได้ กำลังนั่งเคี้ยวหมากอยู่ พิจารณาโดยถ้วนทั่วแล้ว ทำให้รู้สึกว่าท่านเป็นคนใจดี ใบหูยานเป็นลักษณะของคนเปี่ยมไปด้วยบุญ มือหนึ่งพาดที่ท้าวแขน อีกมือหนึ่งวางบนตัก ด้วยสำเนียงสุ้มเสียงที่ระบุบ่งว่า เป็นผู้มีอารมณ์เย็น ท่านเปล่งเสียงทักทายว่ามาตั้งแต่เมื่อไร สบายดีหรือ พร้อมกับถามถึงญาติคนโน้นคนนี้หลายๆ คน และยังเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในสมัยท่านให้ฟัง รู้สึกว่าท่านคุยสนุก และสนิทสนมกับเรามาก ในที่สุดจึงทราบว่าท่านสนิทชิดชอบกับที่บ้านมาก ตั้งแต่สมัยทวด และย่าทวด

ตอนหนึ่งคุณแม่ถามว่า

“ทำไมคุณพ่อถึงชอบอยู่อุดอู้ปิดหมดอย่างนี้ ไม่ออกไปเดินเล่นข้างนอกบ้าง”

ท่านก็ยื่นหน้าตอบว่า

“นี่ คุณ คุณได้ยินเสียงนกเสียงการ้องบ้างไหม ข้างนอกน่ะ สมัยก่อนส่งเสียงกันให้แซ่ดไปหมด นกหนูมันยังทนอยู่กันไม่ได้แล้ว จะให้ฉันออกไปได้อย่างไร”

ผมต้องคิดมากในคำพูดของท่าน และเมื่อคิดโดยรอบคอบแล้ว ก็กระทำให้ผมเข้าใจได้ในบัดนั้นว่า พระภิกษุชราที่อยู่ข้างหน้าผมนี้ ท่านตัดแล้ว สละแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง ผมต้องคิดในใจเมื่อท่านเข้าใจพูด และโดยมากจะพูดแต่ถ้อยคำที่ล้วนแต่แหลมคมทั้งสิ้น

ครั้งหนึ่งท่านถามว่า “เขาว่าหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดใช่ไหมวะ”

ผมก็ตอบว่า “ใช่ครับ เขาว่ากันอย่างงั้น”

หลวงพ่อจึงก้มลงมา บอกว่า “ฉันนี่เหยียบน้ำจืดเป็นน้ำทะเลได้”

ผมฟังแล้วก็ตื่นเต้นที่จะได้เห็นของดี ท่านพูดต่อไปว่า

“เหยียบที่ท่าน้ำในแม่น้ำนี้ แล้วก็เป็นน้ำทะเลที่ปากอ่าวโน่น” พูดจบท่านก็หัวเราะเอิ๊กอ๊ากชอบใจ ที่หลอกพวกเราที่ไม่ทันท่าน

ท่าน พูดอีกว่า “ฉันน่ะ อายุ ๙๖ ก.ไก่ ก.กา ไม่เป็นสักตัวเดียว เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็รู้จักทั่วประเทศ ทีพวกคุณเรียนเมืองนอกเมืองนาเป็น ๑๐ ปี ปริญญา เอก โท พ่วงท้ายให้ยาวๆ แต่ก็ไม่เห็นมันดังเลย”

ท่านพูดเตือนสติ เพื่อให้เรารู้จักประมาณตน ประมาณใจ ไม่ทระนง และไม่เห่อเหิม

ครั้งหนึ่งเราบอกว่า “คุณพ่อจำวัดเถอะ เดี๋ยวจะเหนื่อย”

ท่านกลับพูดว่า “ฉันอยู่วัดนี้มา ๗๐ กว่าปีแล้ว ฉันจำได้น่ะวัดฉัน ทำไมฉันจะจำไม่ได้”

ต่อๆ มาผมก็ได้ไปหาท่านเสมอ ซึ่งก็มีอยู่ครั้งหนึ่ง พอผมก้าวล้ำเข้าประตูไป ก็มีพวกที่นั่งอยู่บนวัด ซึ่งเขาอยากจะกราบนมัสการคุณพ่อบ้าง บางคนมาเฝ้าเป็นวันๆ ก็มี เขาเหล่านั้นตามผมพรูเข้าไป
พอท่านเข้าที่นั่งของท่านเรียบร้อยแล้ว ท่านถามว่า

“พาใครมาด้วยหรือ”

ผม อึดอัดไม่ทราบจะตอบประการใดดี เพราะว่าปกติแล้ว ทางวัดจะไม่ให้ใครเข้ามาพบท่านเลย ครั้นผมตอบอ้อมแอ้มไม่ค่อยจะเต็มปากเต็มคำว่า

“ไม่รู้จัก”

ท่านก็เลยบอกว่า “อ๋อ! พวกลูกพ่อเพชร แม่พลอย”

ผม จึงพาซื่อพลอยเข้าใจว่า พวกเหล่านี้ คงจะสนิทชิดชอบกับคุณพ่อเช่นเดียวกัน เพราะท่านรู้จักว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร แต่แล้วก็ต้องมาถึงบางอ้อ ในเมื่อท่านพูดต่อว่า

“พวกพลอยพยัก ใครเขาทำอะไรก็พลอยพยักไปกับเขาด้วย”

พวกนั้นก็เลยหน้าแห้งไป

ท่านแจกเหรียญให้คนละเหรียญ เสร็จแล้วก็ขยับไม้ตะพดแล้วตะเพิดออกมาหมด แต่รู้สึกว่าดูทุกคนต่างพากันอิ่มอกอิ่มใจที่ได้เข้ามาเห็นตัวท่าน และได้รับเหรียญจากมือ แม้จะถูกว่ากล่าวอย่างไรก็สบายใจ นี่แหละความศรัทธา!! บางคนแอบฉีกผ้าจีวรกระรุ่งกระริ่ง ที่ท่านวางไว้สำหรับเช็ดเท้า เอาไปเก็บเป็นเครื่องราง

บรรดาผู้ที่ถูกด่าว่า หากรู้ซึ้งถึงความรู้สึกในส่วนลึกของท่านจริงๆ แล้ว จะไม่โกรธท่านเลย เพราะเหตุว่า เมื่อคนออกไปหมดแล้ว ท่านถึงกับหัวเราะออกมา พลางบอกว่า

“ฉันทำดุไปยังงั้นแหละ แกล้งตะเพิดไปอย่างงั้นเอง จะได้ไม่เข้ามากวนฉัน มาเป็นร้อยเป็นพันคนนั้นจะให้รดน้ำมนต์ คนนี้จะให้เป่ากระหม่อม คนโน้นจะเอานี้ คนนั้นจะเอานี่ มันจะฆ่าฉันให้ตายเร็วๆ “

น่าเห็นใจเพราะถ้าเปิดรับให้เข้ามาแล้ว ท่านก็คงจะไม่มีเวลาพักผ่อนเป็นแน่ โดยเฉพาะยิ่งเป็นวันเสาร์ และวันอาทิตย์ด้วยแล้ว มีเป็นร้อยๆ ทีเดียว เวลาท่านนั่งปลุกเสก หรือเป่ากระหม่อม ท่านเข้าสมาธิด้วยพลังจิตอย่างแรงเห็นได้ชัด ทั้งที่ในห้องอากาศก็ไม่ร้อน พอท่านเริ่มสวด เหงื่อเม็ดโป้งๆ เกาะอยู่เต็มใบหน้าท่าน เมื่อเสร็จพิธี เหงื่อก็ท่วมเห็นแล้วรู้สึกสงสารท่านมาก อย่าลืมว่าอายุท่าน ๙๖ แล้ว เคยถามท่านถึงเรื่องอายุ ท่านมักกล่าวอย่างทีเล่นทีจริงว่า ท่านจะอยู่สัก ๑๐๐ ปี ท่านสั่งไว้ว่าไม่ให้เผาท่าน ให้บรรจุตั้งไว้ที่วัด ลูกศิษย์ลูกหาจะได้มานมัสการท่านได้ทั่วถึง

ท่านไม่ค่อยเชื่อความเจริญในทางวิทยาศาสตร์​ ทุกครั้งที่ท่านเจ็บป่วย ท่านก็จะปรุงหยูกปรุงยาของท่านเสมอ น้อยครั้งที่บรรดาหมอสมัยใหม่จะได้มีโอกาสมารักษาท่าน แม้ว่าในอาทิตย์หนึ่ง ท่านอาบน้ำเพียงครั้งสองครั้ง แต่ทว่าร่างกายของท่านก็ยังสะอาดบริสุทธิ์อยู่เป็นนิจ

ทางด้านวิทยาศาสตร์นี้ ปรากฏว่าท่านเคยเอาชนะมาแล้ว คือ เมื่อคราวเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ ที่จังหวัดเพชรบุรี ยังผลให้วัวและควายต้องล้มตายนับจำนวนมาก สัตวแพทย์เองก็ถึงกับจนปัญญา หมดทางจะบำบัดเยียวยา หมดทางจะกำจัดแก้ไข คราวนั้นใครๆ ก็จำได้ว่าโรคร้ายสงบเงียบลงเพราะความขลัง และศักดิ์สิทธิ์ของผ้ายันต์แขวนคอของคุณพ่อ วัวควายตัวไหนถ้ามีผ้ายันต์ผูกคอเป็นรอดตายทุกตัว

ผ้ายันต์นี้ผืน เล็ก ขนาดกว้างยาวประมาณ 4 X 7 นิ้ว แต่ผ้ายันต์ที่สมบูรณ์จริงๆ ผืนใหญ่กว่า คือขนาดประมาณผ้าเช็ดหน้าผู้ชาย มีอักขระเลขยันต์เต็มไปทั้งผืน ใช้ได้สารพัดอย่าง ทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ปัจจุบันท่านเลิกทำแล้ว สำหรับยันต์ผืนใหญ่ ด้วยตาท่านมองไม่เห็น

จากเรื่องของผ้ายันต์นี้ ผมขอเล่าให้ทราบว่า เมื่อปลายปี พ.ศ. 2514 ผมขับรถไป และได้ไปคว่ำกลางทางถึงยับเยิน เพราะพลิกถึง 3 ตลบ ในขณะที่วิ่งไปด้วยความเร็ว 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตัวผมเองขณะนั้นหลุดออกมาครึ่งตัว ทางหน้าต่างรถด้านตรงข้าม หลังคารถก็ยุบลงมาทับขา นี่แสดงว่าตัวผมต้องหลุดออกมาในระหว่างรถคว่ำ แต่ทว่า…ทำไมผมจึงไม่ถูกตัวรถทับครูดกับพื้น ท่านเชื่อไหมครับ ตัวผมไม่เป็นอะไรเลย นอกจากมีแผลเล็กๆ ที่แขนข้างซ้ายเท่านั้น

เหตุทั้งนี้ก็เพราะว่า ในรถของผมขณะนั้นมีผ้ายันต์ของคุณพ่อผูกไว้ 2 ผืน ในตัวผมวันนั้นไม่ได้มีพระติดมาสักองค์เดียว เมื่อไปนมัสการท่าน และกราบเรียนให้ท่านทราบ ท่านก็หันไปยกมือไหว้พระบนหิ้งบูชา แล้วบอกผมว่า “คุณพระรัตนตรัยมาช่วยทัน”

นี่แสดงว่า ท่านถือว่าท่านเป็นแต่ผู้อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสถิตย์ในตัวเราเท่านั้นเอง ไม่เคยหลงว่าเป็นของตัวท่านเลย

หลายๆ คน คงจะรู้สึกประหลาดใจอยู่บ้างเหมือนกัน หากผมจะบอกให้ทราบว่า คุณพ่อเองก็พกเหรียญเหมือนกัน โดยเอาใส่ไว้ในย่าม เวลาไปไหนมาไหน เหรียญที่ท่านติดใส่ย่ามไปนี้ มีอยู่สองเหรียญด้วยกัน ท่านเอาเข็มกลัดซ่อนปลายกลัดรวมกันไว้ เหรียญหนึ่ง เป็นเหรียญหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่าน อีกเหรียญหนึ่งก็เป็นอาจารย์ของท่านเช่นเดียวกัน จำชื่อไม่ได้ อยู่จังหวัดนครปฐม

ท่านเล่าว่าท่านมีอาจารย์อยู่ 3 องค์ องค์ที่อยู่จังหวัดนครปฐมนั้น ท่านบอกว่าเก่งมาก สามารถย่นระยะทางได้ ลูกศิษย์ขึ้นรถไฟที่สถานีธนบุรี (บางกอกน้อย) หลวงพ่อลงไปฉันน้ำ รถไฟออกท่านก็ไม่ขึ้นมา ลูกศิษย์นึกว่าท่านตกรถไฟ ทำเอาใจไม่ดี ทำไงล่ะ แต่พอถึงวัด ลูกศิษย์ก็เห็นท่านนั่งปร๋ออยู่ที่วัดแล้ว สร้างความตื่นตะลึงแก่บรรดาลูกศิษย์เป็นอันมาก

ขอย้อนกล่าวถึง เหรียญสองเหรียญที่คุณพ่อพกติดไว้ในย่ามอีกนิด ขณะที่ท่านรับนิมนต์ไปฉันเพล ณ บ้านแห่งหนึ่ง ในจังหวัดเพชรบุรีนั่นเอง ปรากฏว่ามีมือเลวมาล้วงเอาเหรียญพระ 2 องค์นั้นไปเสียแล้ว ท่านบ่นเสียดายอยู่เป็นหลายวัน (ท่านคงเสียดายเพราะเป็นของที่ครูบาอาจารย์มอบให้มากกว่าอย่างอื่น : ความเห็นของผม)

ท่านที่รัก… “คุณพ่อ” ที่ผมเล่าให้ฟังมาแต่ต้นนี้ ท่านคงเดาออกซีครับว่า “คุณพ่อ” นี้คือใคร ถ้ายังสงสัยอยู่ผมจะบอกให้ก็ได้ครับ ท่านคือ “คุณพ่อแดง” หรือนัยหนึ่ง “หลวงพ่อแดง” แห่งวัดเขาบันไดอิฐ จังหวัดเพชรบุรี ที่ท่านรู้จักกันทั่วทั้งประเทศไทย

Cr.คนรักษ์​ หลวงพ่อแดงวัดเขาบันไดอิฐ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: