2346.อภินิหารหลวงพ่อเชน วัดสิงห์ ผู้สำเร็จวิชาเสือสมิง

ประวัติและอภินิหารหลวงพ่อเชน วัดสิงห์

ประวัติวัดสิงห์

วัดสิงห์ตั้งอยู่ที่บ้านวัดสิงห์ หมู่ 8 ต.ทับยา อำเภออินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี วัดสิงห์น่าจะเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งควรมีอายุอยู่ระหว่างกรุศรีอยุธยาตอนปลายต่อจากกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือประมาณเป็นอายุก็ควรอยู่ระหว่าง 300-200 คาดเดาอายุโดยอาศัยการพิจารณาเจดีย์เก่าในวัด ลักษณะรูปสัณฐานของเจดีย์พอจะบ่งบอกได้ถึงศิลปะ สกุลช่าง ซึ่งประมาณว่าเป็นช่างตอนปลายกรุงศรีอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ข้อมูลอื่นๆ และลำดับอดีตเจ้าอาวาส ไม่มีข้อมูลใดๆ บ่งบอกไว้ จนมาถึงสมัยหลวงพ่อเชน

#ประวัติหลวงพ่อเชน
หลวงพ่อท่าน มีนามเดิมว่า “เชน แดงน้อย” เกิดเมื่อปี ๒๔๓๓ ณ ต.ทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรีโดยมีพี่น้องรวมกันทั้งหมด ๔ คน หลวงพ่อเชนเป็นคนที่สอง เป็นบุตรของนายจ่าง นางทองย้อย สกุล สุวรรณลำภู เป็นช่างวัดสิงห์แต่ดั้งเดิม บิดามารดาก็ประกอบอาชีพทำนา โดยหลวงพ่อเชนท่านเป็นบุตรคนสุดท้องมีพี่ชายและพี่สาว 4 คนตามลำดับดังนี้

1. คุณยายปลิก 2. หลวงตาคำ (อุปสมบทเป็นพระ) 3. คุณยายคล้อย 4. คุณยายใจ

พี่ชายและพี่สาวหลวงพ่อเชนทั้ง 4 คนนี้ก็ถึงแก่กรรมหมดแล้ว ในวัยเด็กนั้นหลวงพ่อท่านออกจะเป็นคนอาภัพสักหน่อยเพราะว่าบิดา-มารดา ของท่านด่วนจากไปตั้งแต่ท่านยังเล็กๆ อยู่ ท่านจึงต้องอยู่ภายใต้การอุปการะของพี่สาวคนโต คือคุณยายปลิก คุณยายปลิกนั้นท่านแต่งงานแล้วย้ายครอบครัวไปอยู่กับสามีที่บ้านห้วยดอนกระเบื้อง ซึ่งก็ไม่ไกลจากวัดสิงห์นัก หลวงพ่อเชนในวัยเด็กท่านเป็นคนบอบบางร่างเล็กไม่แข็งแรง เมื่อไปอยู่กลับพี่สาวนั้นอายุอยู่ราวๆ 12 – 13 ขวบ ขณะนั้นพี่สาว คือ คุณยายปลิกก็ยังไม่มีบุตร – ธิดา เพราะฉะนั้นหลวงพ่อเชนหรือเด็กชายเชน ในขณะนั้นก็ต้องช่วยการงานของพี่สาวสารพัด ตั้งแต่เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ทำนา เกี่ยวข้าว

คุณลุงสมควร ศรีจันทร์ และคุณลุงหงส์ บุญเหลือ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของหลวงพ่อได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า เมื่อต้องรับผิดชอบงานหนักเข้า สุขภาพร่างกายของหลวงพ่อก็ย่ำแย่เพราะเป็นคนไม่แข็งแรงอยู่แล้ว จึงแอบคิดอยู่ในใจว่าต้องต้องหาวิธีที่ไม่ต้องเลี้ยงควายและเกี่ยวข้าว เรื่องเกี่ยวข้าวดูจะไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่ากับการเลี้ยงควาย เพราะถ้าควายดื้อไม่ทำตามท่านก็ไม่กล้าตี เพราะเป็นคนมีเมตาต่อสัตว์มาตั้งแต่เล็กแต่น้อย

เมื่อท่านไม่กล้าตีควาย ควายก็เป็นต้นเหตุให้ท่านถูกพี่สาวตี เพราะไม่ดูแลปล่อยให้ควายลงไปในนาข้าวบ้าง บุกรุกเข้าไปกินยอดผักใบไม้ของเพื่อนข้างบ้านบ้าง จึงถูกตีอยู่เป็นประจำ หลวงพ่อเชนท่านเคยปรารภกับญาติโยมในชั้นหลังว่า ควายมันเป็นสัตว์ที่มีคุณแก่คนอย่างมาก มันสละแรงกายรับใช้ไถนา ให้กับเราแต่พอมันจะขอรับส่วนแบ่งแรงงานของมันบ้างก็ต้องมาถูกทุบตี

ท่านสงสาร ท่านทำไม่ได้ สู้ยอมถูกพี่สาวตีเสียเองจะดีกว่า เมื่อท่านได้อ่านประวัติของหลวงพ่อเชนจะเห็นได้ว่าหลวงพ่อท่านเป็นผู้เมตตามาตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก ท่านยังรู้ว่า ควายซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉานนั้นมันมีบุญคุณต่อคนอย่างพวกเรา แทนที่ท่านจะเฆี่ยนตีควายท่านยอมให้พี่สาวเฆี่ยนตีเสียดีกว่าคุณธรรมอันนี้นับว่าจะหายากยิ่ง

#บรรพชา
สมัยที่ยังเป็นเด็ก “หลวงพ่อเชน” มีหน้าที่ช่วยเหลือในการทำนา งานหลักก็คือ การเลี้ยงควาย

มีอยู่วันหนึ่ง ที่เป็นเหตุทำให้เด็กชายเชน ต้องก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เป็นศิษย์ของพระตถาคต ขณะที่ ด.ช.เชน นำควายไปเลี้ยงกลางทุ่ง ควายเกิดดื้อ ด.ช.เชน เกิดความโมโห จึงใช้มีดปลายแหลมขว้างไปที่ควายตัวนั้น ถูกเข้าที่ขาควาย ได้รับบาดเจ็บ เมื่อกลับถึงบ้าน พี่สาวทราบเรื่อง จึงเกิดความโกรธ ถึงกับลงมือทุบตี และออกปากขับไล่ด้วยความโมโห

เมื่อถูกเฆี่ยนตีหนักเข้าหลวงพ่อเชนท่านจึงเล็งเห็นว่าชีวิตในเพศฆราวาสล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ ฝืนใจตัวเอง โดนทุบตีควายก็เป็นทุกข์ ไม่ทำก็ถูกพี่สาวเฆี่ยนตีก็เป็นทุกข์ จึงเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายอยากจะหลีกหนีให้พ้นจากความทุกข์พยายามมองหาวิธีตามประสาเด็กแต่ก็หาไม่พบครั้นจะหนีไปอยู่ที่อื่นก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องเหล่านี้เอง จึงได้พยายามคิดหาหนทางที่จะให้หลุดจากภาระหน้าที่เลี้ยงควายเสียก่อน เมื่อได้คิดดูอย่างละเอียดแล้วเห็นว่าถ้ายังเป็นฆราวาสอยู่ก็คงหนีไม่พ้น และแลเห็นว่าพระเณรท่านไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้

ด.ช.เชน เคยหนีไปเป็นเด็กวัด อาศัยอยู่กับ หลวงพ่ออิ่ม วัดสุทธาวาส ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากบ้านพักมากนัก ทำหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่ออิ่ม ต่อมาเมื่อ ด.ช.เชน อายุ ๑๒ ปี หลวงพ่ออิ่มจึงจัดการบวชเณรให้ และสอนพระธรรมวินัย ตลอดจนวิปัสสนากรรมฐาน และวิทยาคมให้ สามเณรเชน จนมีความเชี่ยวชาญพอสมควร

หลวงพ่อท่านคิดว่าท่านพบหนทางที่ดีแล้ว จึงปรารภเรื่องนี้กับพี่สาว พี่สาวนั้นเมื่อรู้ว่าน้องอยากจะบวชนั้นก็รู้สึกดีใจเพราะตัวเองไม่รู้ว่าน้องจะบวชหนีทุกข์ที่ถูกเฆี่ยนตี และตั้งแต่ว่าจะบวชไม่สึกจึงจัดการบรรพชาให้เสียที่วัดสุทธาวาส ซึ่งสมัยก่อนนั้นเรียกว่าวัดใหม่ เมื่อสามเณรเชนมีอายุได้ ๒๓ ปี ตรงกับปี ๒๔๕๕ หลวงพ่ออิ่มจึงอุปสมบทให้สามเณรเชน โดยมีท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาแล้วก็ได้ศึกษาธรรมะต่างๆ จากพระอุปัชฌาย์ซึ่งคือ หลวงพ่ออิ่มและอาจารย์ต่าง ๆ อีกหลายรูปหลวงพ่อท่านคงสร้างสมบารมีของการบวชมาแต่อดีตชาติ

เพราะเมื่อบวชเป็นสามเณรแล้วก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมคำสั่งสอนต่าง ๆ และจดจำได้อย่างแม่นยำไม่เป็นที่หนักใจแก่ครูอาจารย์ เมื่อเป็นที่รักใคร่ของครูบาอาจารย์ความรู้ต่าง ๆ ก็ได้รับการถ่ายทอดให้จนหมดสิ้น ทั้งทางด้านปริยัติธรรม พระสูตร พระวินัย ต่าง ๆ ก็เคร่งครัดหมด จนศีลของท่านไม่เคยด่างพร้อยมาตั้งแต่เป็นสามเณร เมื่อมีศีลมีธรรมสุขภาพร่างกายของท่านที่เคยอ่อนแอก็กลับเข้มแข็งกระชุ่มกระชวยมีสง่าราศีเป็นที่น่าเคารพเลื่อมใสตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร

พระภิกษุเชน พำนักอยู่กับหลวงพ่ออิ่มอีก ๓ ปี จึงขออนุญาตหลวงพ่อออกเดินธุดงค์ เพื่อแสวงหาความหลุดพ้น โดยมุ่งตรงสู่ภาคเหนือและอีสาน กลับมาอีกครั้งเมื่อทราบว่า หลวงพ่ออิ่มมรณภาพแล้ว จึงย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่ วัดสิงห์ และอยู่ต่อมา จนกระทั่งครองตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสิงห์

ในด้านการศึกษาวิทยาคม ของ หลวงพ่อเชน นอกจากท่านจะศึกษากับหลวงพ่ออิ่มแล้ว ท่านยังไปฝากตัวศึกษากับ หลวงปู่ศรี วัดพระปรางค์ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี สุดยอดพระคณาจารย์ผู้มีวาจาสิทธิ์ และเชี่ยวชาญทางด้านไสยเวทของเมืองสิงห์บุรี (บางแห่งเขียนชื่อท่านเป็น “สี” ซึ่งท่านเป็นอาจารย์ของ หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง ด้วย)

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ หลวงพ่อเชน มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาคมเป็นอย่างยิ่ง จัดอยู่ในพระคณาจารย์ระดับแนวหน้าท่านหนึ่งของเมืองไทย หลวงพ่อเชน ท่านสนิทสนมกับหลวงพ่อฟุ้ง วัดสะเดา เป็นอย่างมากและไปมาหาสู่กันประจำ มีงานก็มักจะช่วยกันประจำ หลวงพ่อเชน ท่านมีผีมือในศิลปะการปั้น การวาด งานศพของหลวงพ่อศรี ท่านยังปั้นเสือไว้ที่เมรุเผาศพด้วย

หลวงพ่อสำเร็จวิชาเสือสมิง “เสือ” “สาง“ “สมิง” สามอย่างนี้หลายคนมักจะเข้าใจสับสนกัน โดยเฉพาะ “สาง” กับ “สมิง” ความเรื่องความแตกต่างของ 2 อย่างนี้ ขออธิบายไว้ไว้พอสังเขป

เรื่องเสือนั้นคงไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเป็นสัตว์ป่าดุร้าย เรียกกันว่า เจ้าป่า “สาง” นี้หมายถึงเสือกินคน ที่ถูกอาถรรพณ์ของวิญญาณเข้าสิงจนสามารถแปลงร่างเป็นคน คอยล่อหลอกให้คนเดินป่าหรือพรานหลงเชื่อแล้วจับกินเสีย แต่กว่าจะกลายเป็น “สาง” ก็ต้องกินคนมามากมายหลายคนแล้วและวิญญาณคนที่ถูกเสือกินนั่นแหละก็กลับมาเข้าสิงเสือตัวนั้น “สมิง” หมายถึงวิชาทางไสยศาสตร์ที่เกี่ยวกับการแปลงร่างของคนเป็นเสือ แต่เป็นเพียงภาพลวงตาตามปกติ

สมิงจะทำร้ายคนหรือขบกัดกินคน สมิงจะมีกิริยาการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้าสงบนิ่งส่วนมากจะมอบอยู่เฉย ๆ เพราะคนที่ฝึกไสยศาสตร์แขนงนี้สำเร็จจะต้องปฏิบัติสมาธิมาอย่างชำนาญและขณะที่เป็นสมิงอยู่ก็กำลังอยู่ในสมาธิ มีสติครองอยู่จะไม่ทำร้ายคนแต่คนที่พบเห็นจะเกิดความกลัวไปเอง

เรื่อง “สมิง” นี้มักมีนักเขียนเรื่องป่าเข้าใจผิดนำไปเขียนในทำนองว่า พบเสือสมิงกินคนแล้วพากันออกล่า พอล่าได้ก็กลายเป็นคนบ้างเสือเป็นเสือป่า ความจริงเรื่องที่พรานป่าในนิยายล่ามาได้นั้นเป็นสางไม่ใช่สมิง

หลายท่านคงสงสัยว่าวิชาเสือสมิงนี้เค้าฝึกกันทำไม หลายท่านคงเคยได้ทราบเรื่องที่หลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่าท่านเสกทหารของกรมหลวงชุมพรเป็นจระเข้มาบ้างแล้ว วิชาเสือสมิงก็อาจจะคล้าย ๆ กัน เพียงแต่ผู้ฝึกวิชานี้สำเร็จไม่ได้เสกให้คนอื่นเป็นเสือแต่ตัวเองจะกลายเป็นร่างเป็นเสือเอง ส่วนที่ว่าอาจารย์ผู้ฝึกสำเร็จวิชาเสือสมิงบางรายพอแปลงร่างเป็นเสือแล้ว ไม่สามารถกลับกลายเป็นคนได้ก็มีเรื่องนี้คงมีเคล็ดลับบางอย่าง

พระเถราจารย์รุ่นเก่าที่สำเร็จวิชาเสือสมิงเท่าที่ทราบก็มี หลวงพ่อปาน วัดคลองด่านสมุทรปราการ ส่วนคณาจารย์รุ่นหลังคือก่อน พ.ศ. 2500 เล็กน้อย (หมายถึงท่านอาจมีชีวิตมาถึงหลัง พ.ศ.2500 ก็ได้) ที่ฝึกวิชาเสือสมิงสำเร็จก็มี หลวงพ่อสมจิตร วัดสว่างอารมณ์ (ศิษย์หลวงพ่อปาน) หลวงพ่อวงค์ วัดปริณวาส (องค์นี้ก็เข้าใจว่าเป็นศิษย์หลวงพ่อปานเช่นกัน)

เรื่องที่หลวงพ่อเชนท่านสำเร็จวิชาเสือสมิง มีผู้ยืนยันว่าได้เคยเห็นมากับตาตนเอง 2 ราย รายหนึ่งนั้นคือ คุณอารมณ์ ช้างทอง อยู่บ้านเลขที่ 38 หมู่ 8 ตำบลทับยา อ.อินทร์บุรี คุณอารมณ์เล่าว่าไม่ใช่เคยเห็นครั้งเดียว แต่ที่เคยเห็นเต็มตานั้นเป็นเวลากลางวันด้วย ขณะนั้นคุณอารมณ์ลงอาบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาหลังวัด พอขึ้นจากการอาบน้ำก็แลไปเห็นเสือลายพาดกลอนขนาด 8 ศอก สูงใหญ่ ขนาดน้อง ๆ ม้า หมอบอยู่ในป่ายางภายในบริเวณวัด

แรกทีเดียวรู้สึกตกใจแต่พอนึกได้ว่า ในละแวกวัดสิงห์ไม่ใช่ป่าทึบอย่าว่าแต่เสือเลย สัตว์อื่น ๆ ก็ไม่มีและนึกต่อไปได้ว่าหลวงพ่อท่านฝึกวิชาเสือสมิงสำเร็จ เพราะเคยหยอกล้อเอาคนขับรถของชลประทานถึงกับแผ่นมาแล้วก็เลยไม่กลัว คนขับรถชลประทานที่คุณอารมณ์พูดถึงนี้ก็คือ บุคคลที่ 2 ที่เคยเห็นหลวงพ่อแปลงร่างเป็นเสือสมิง

แกชื่อนายผ่อง แต่จำนามสกุลไม่ได้ ปัจจุบันก็ยังมีชีวิตอยู่ หลวงพ่อเชนเคยถามนายผ่องว่า “เฮ้ย ผ่อง เอ็งกลัวเสือมั้ยวะ” ตอนนั้นนายผ่องมาพักอยู่ที่วัดเพราะรถพวกชลประทานมาเก็บไว้ที่วัด นายผ่องนึกไม่ถึงว่าเสือจะมาจากไหน จึงตอบหลวงพ่อไปว่า “ผมไม่กลัวหรอกครับหลวงพ่อเสือนะ” คืนนั้นนายผ่องนอนหลับไปแล้วแต่ตกดึกหูได้ยินเสียงฝีเท้าย่ำอยู่ข้างนอก พยายามฟัดดูก็เข้าใจว่าไม่ใช่เสียงคนแน่

จึงแอบดูตามช่อง พอเห็นเข้าก็ตกใจกลัวแทบสิ้นสติ เพราะเจ้าของเสียงฝีเท้าข้างนอก คือเสือลายพาดกลอนตัวเขื่องตัวโตมาก นายผ่องเฝ้าดูอยู่พักหนึ่งก็เลยเห็นเสือเดินหายไป พอรุ่งเช้า นายผ่องมาหาหลวงพ่อเล่าเรื่องเสือให้หลวงพ่อฟัง หลวงพ่อจึงย้อนถามว่า “ไหนเองบอกว่าไม่กลัวเสือ แล้วทำไมต้องมาบอกข้าด้วยละ”

เรื่องที่หลวงพ่อสำเร็จวิชาเสือสมิงนี้ ไม่เพียงรู้กันเฉพาะสองคนนี้เท่านั้น ศิษย์คนอื่น ๆ ต่างก็ทราบกันดีแต่ไม่เคยจัง ๆ อย่างคุณอารมณ์และนายผ่องคนงานชลประทานที่กล่าวถึง

ศิษย์ในสายคุณพ่อศรี ที่สำเร็จวิชาเสือสมิง ที่มีการบันทึกหรือกล่าวถึง ก็มี หลวงพ่อหร่ำ วัดวังจิก ใครไปลองดีกับท่าน มักจะเจอกับเสือ จนแทบวิ่งออกจากวัด อีกองค์คือหลวงปู่กวย วัดโฆสิตาราม องค์นี้ไม่ต้องกล่าวอธิบาย ท่านสำเร็จวิชาเก่งๆ แทบทุกแขนง

ส่วนรุ่นต่อมา ที่ผมได้ฟังมาจากคนใกล้ชิด คือ หลวงพ่อแสวง วัดหนองอีดุก หลวงพ่อแหวงนี้ ดังทางสัก ตะกรุดและเหรียญท่านเหนียว อุดปืนได้เก่ง ไม่แพ้เกจิรุ่นก่อนๆ เลย ท่านเคยแปลงร่างเป็นเสือสมิง โดยที่หลานของท่านเคยตื่นมาเห็น วิชานี้ หลวงพ่อแหวง ไม่ถ่ายทอดให้ใคร ท่านบอกกลัวแปลงร่างไปแล้ว อาจกลับคืนไม่ได้

ที่มา​ เล่า​ เรื่อง​ พระ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: