2314.หลวงปู่บุญมี วัดอ่างแก้ว พระเกจิเก่ง เกจิดีที่ถูกลืม

#พระเกจิเก่งเกจิดีที่ถูกลืม
หลวงปู่บุญมี พรหมโชติโก (พระครูพรหมโชติวัฒน์)
วัดอ่างแก้ว (ธนบุรี)กรุงเทพฯ

……หลวงพ่อพระครูพรหมโชติวัฒน์ (บุญมี พรหฺมโชติโก) อดีตเจ้าอาวาส วัดอ่างแก้ว
……..หลวงพ่อบุญมี พรหมโชติโก หนึ่งในพระเกจิดังฝั่งธนบุรี ท่านเป็นศิษย์ของพระภาวนาโกศลเถร (เอี่ยม สุวณฺณสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดโคนอนและวัดหนังบางขุนเทียน หลวงพ่อท่าน มีชื่อเสียงร่วมสมัยกับ

#เจ้าคุณผล_วัดหนัง
#หลวงปู่โต๊ะ_วัดประดู่ฉิมพลี
#หลวงพ่อเส่ง_วัดกัลยาณมิตร
#หลวงพ่อแช่ม_วัดนวลนรดิศ
#หลวงพ่อโชติ_วัดตะโน เป็นต้น

….แม้ว่าชื่อเสียงหลวงพ่อบุญมีจะไม่โด่งดังเท่าหลวงปู่โต๊ะ แต่พูดถึงความเก่งกาจเรื่องวิชาอาคมของหลวงพ่อบุญมีไม่ธรรมดาแน่นอน คนกรุงเทพฯจะรู้จักท่านดี เพราะท่านได้วิชาจากหลวงปู่เอี่ยมมาเต็มๆ แถมยังได้รับความไว้วางใจให้มาดูแลวัดอ่างแก้ว ตั้งแต่ ปี 2487 ซึ่งถือเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่ง เพราะสร้างโดยหลวงปู่รอด วัดนางนอง ผู้เป็นอาจารย์ของหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง
……..หลวงพ่อบุญมีท่านมีเมตตาธรรมสูง มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิเป็นอย่างดี เป็นพระคณาจารย์ที่มีคุณธรรม มีวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือไปไกลไปถึงหัวเมืองพิษณุโลกก็รู้จักท่านเป็นอย่างดี มีผู้อาราธนาท่านไปนั่งปรกในพิธีพุทธาภิเษกอยู่เสมอ ที่สำคัญ งานปลุกเสกพระเครื่องยุคนั้น ต้องนิมนต์ท่านไปร่วมอธิษฐานจิต ไม่ว่างานใหญ่หรือเล็ก
จึงเป็นที่ยอมรับในหมู่พระวิทยาจารย์ผู้ที่ทรงวิทยาคม ถึงปัจจุบันนี้

#ประวัติ

หลวงปู่บุญมี วัดอ่างแก้ว เขตภาษีเจริญ ธนบุรี
พระครูพรหมโชติวัฒน์ (บุญมี) นามสกุล กิตติธรรม เกิดวันที่ 6 ธันวาคม 2432 ที่บ้านตำบลหลักสอง อำเภอหนองแขม จังหวัดธนบุรี นามบิดา นายจีนฮก นามมารดา นางแดง พึ่งมี
บรรพชาอุปสมบท เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2452 ณ วัดอ่างแก้ว แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

พระภาวนาโกศลเถร (เอี่ยม สุวณฺณสโร) วัดหนัง เป็นพระอุปัญฌาย์ พระอธิการเบี้ยว อินฺทสุวณฺโณ วัดอ่างแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูสังวรยุตตินทรีย์ (คำ ช้างมงคล) วัดหนัง
เป็นพระอนุสาวนาจารย์

…….ท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีปัญญาความทรงจำแม่นยำเป็นอย่างดี เขียนและอ่านภาษาไทยและภาษาขอมได้ ได้ศึกษาพระธรรมและวินัยพอสมควรแก่การประพฤติปฎิบัติเป็นอย่างดี แต่มิได้เข้าสอบความรู้ ท่านเป็นผู้มีความชำนาญในช่างไม้ ช่างแก้นาฬิกา ตะเกียงลาน และความรู้ด้านศิลปะอื่นๆ อีกหลายแขนง

ท่านได้ส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรศึกษาพระธรรมวินัยเข้าสอบนักธรรมสนามหลวง อบรมเทศนาสั่งสอนประชาชนทุกวันพระ ได้มีตำแหน่งหน้าที่ทางการปกครองดังนี้ ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอ่างแก้วเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2487 และได้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโคนอน เมื่อ พ.ศ.2508

#ท่านพัฒนาวัดทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ ดังนี้
พ.ศ. 2488 บูรณะอุโบสถ
พ.ศ. 2491 สร้างถนนคอนกรีตหน้าศาลาโรงทึม
พ.ศ. 2494 สร้างสุสานเก็บศพ
พ.ศ. 2496 สร้างถนนจากหน้าสุสานไปสู่ศาลาโรงทึม และหอสวดมนต์
พ.ศ. 2499 ซ่อมแซมช่อฟ้าใบระกาอุโบสถ
พ.ศ. 2500 ซ่อมแซมกำแพงอุโบสถ และสร้างซุ้มประตูอุโบสถทั้ง 4 ด้าน
พ.ศ. 2500 – 2502 ย้ายและซ่อมแซมกุฎิสงฆ์ จัดเข้าระเบียบใหม่
พ.ศ. 2503 สร้างศาลาโรงทึม พ.ศ.2503
พ.ศ. 2504 สร้างโรงครัว
พ.ศ. 2505 สร้างศาลาท่าน้ำ 2 หลัง
พ.ศ. 2506 สร้างฌาปนสถาน
พ.ศ. 2508 สร้างศาลาการเปรียญ
พ.ศ. 2511 สร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กหน้าโรงเรียน ยาว 35 วา
พ.ศ. 2512 สร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ริมคลองขวาง
พ.ศ. 2514 สร้างกำแพงก่ออิฐถือปูน และสร้างซุ้มประตู ริมถนนพัฒนาการ
พ.ศ. 2515 ร่วมกับราชการ สร้างสะพานข้ามคลองหน้าวัด และท่อระบายน้ำ
พ.ศ. 2517 บูรณปฎิสังขรณ์อุโบสถ ครั้งที่ 2
พ.ศ. 2518 สร้างห้องน้ำห้องสุขา และทำเพดานศาลาโรงทึม เดินสายไฟฟ้า
พ.ศ. 2519 สร้างใบเสมาบนกำแพงอุโบสถ
พ.ศ. 2521 สร้างศาลาบำเพ็ญกุศล และสุสานบรรจุศพ 2 แถว
พ.ศ. 2522 สร้างศาลาโรงครัว
พ.ศ. 2523 สร้างเจดีย์ 2 องค์

#สมณศักดิ์

พ.ศ. 2490 เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พ.ศ. 2495 เป็นพระครูชั้นประทวน
พ.ศ. 2500 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นตรี ราชทินนามที่พระครูพรหมโชติวัฒน์
พ.ศ. 2509 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็น พระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท
ในราชทินนามเดิม
พ.ศ. 2516 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็น พระครูสัญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอก
ในราชทินนามเดิม

……..หลวงพ่อบุญมีท่านได้ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2524 เวลา 19.05 น. ณ กุฎิเจ้าอาวาส วัดอ่างแก้ว แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
สิริรวมอายุได้ 92 ปี 9 วัน 72 พรรษา

…….ท่านพระครูพรหมโชติวัฒน์ ได้สร้างวัตถุมงคลขึ้นหลายรุ่น เพื่อแจกจ่ายแก่ศิษยานุศิษย์และญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาในคราวทำบุญอายุบ้าง สมนาคุณแก่ผู้ร่วมบริจาคสร้างถาวรวัตถุภายในวัดบ้างมีทั้งปลุกเสกเองและทำพิธีพุทธาภิเษกแยกเป็นหลายรุ่นแยกตาม พ.ศ.ที่สร้าง ดังนี้
พ.ศ. 2502 สร้างเหรียญชินราชเสมาเล็ก ทำพิธีปลุกเสกเอง
พ.ศ. 2503 สร้างเหรียญรูปพระครูพรหมโชติวัฒน์ เสมาใหญ่ ปลุกเสกเอง
พ.ศ. 2504 สร้างเหรียญพระพุทธชินราช ทำพิธีปลุกเสกเอง
พ.ศ. 2510 สร้างเหรียญหลวงพ่อโต (หน้าโบสถ์) ทำพิธีปลุกเสกเอง
พ.ศ. 2511 สร้างเหรียญรูปหลวงพ่อฯ ครึ่งองค์ เสมาเล็ก ทำพิธีปลุกเสกเอง
พ.ศ. 2516 สร้างเหรียญรูปหลวงพ่อฯ เต็มองค์ ราชเสมาใหญ่

จัดทำพิธีพุทธาภิเษกที่วัด โดยพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิวิทยาคมหลายท่านดังนี้ หลวงพ่อเงินวัดดอนยายหอม หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี หลวงปู่ทองอยู่ วัดใหม่หนองพะอง หลวงพ่อเล็ก วัดหนองดินแดง หลวงพ่อพัฒน์ วัดบึงบวรสถิต ชลบุรี หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยาณมิตร หลวงพ่อไพฑูรย์ วัดโพธินิมิตร หลวงพ่อถิร วัดป่าเลย์ไลย์ สุพรรณบุรี หลวงพ่อเก็บ วัดดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี หลวงพ่อวัย วัดเขาพนมยงค์ สระบุรี หลวงพ่อคำมี วัดถ้ำคูหาสวรรค์ ลพบุรี หลวงพ่อพริ้ง วัดโก่งธนู ลพบุรี และหลวงพ่อบุญมี วัดอ่างแก้ว

การทำพุทธาภิเษกครั้งนี้ ได้จัดสร้างวัตถุมงคลหลายอย่าง เช่น พระพุทธรูปบูชาเชียงแสน ขนาด หน้าตัก 9 นิ้ว และ 5 นิ้ว รูปหล่อหลวงพ่อฯ หน้าตัก 6 นิ้ว พระสมเด็จ พระนางพญา พระรูปหลวงพ่อฯ ในวงศ์พระจันทร์ เนื้อผง การทำพิธีครั้งนี้นับเป็นมหาพุทธาภิเษกที่ยิ่งใหญ่ครั้งแรกของวัดอ่างแก้ว

พ.ศ. 2517 สร้างเหรียญหลวงพ่อฯ เต็มองค์ เสมาใหญ่ จัดทำพิธีพุทธาภิเษก ที่วัด โดยพระคณาจารย์ผู้ทรงวุฒิวิทยาคมหลายท่าน ดังนี้ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง หลวงพ่อถิร วัดป่าเลย์ไลย์ สุพรรณบุรี หลวงพ่อทองอยู่ วัดใหม่หนองพะองค์ สมุทรสาคร หลวงพ่อสุด วัดกาหลง สมุทรสาคร หลวงพ่อเล็ก วัดหนองดินแดง นครปฐม หลวงพ่อพัฒน์ วัดบึงบวรสถิต ชลบุรี หลวงพ่อเก็บ วัดดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี และหลวงพ่อบุญมี วัดอ่างแก้ว

โดยหลวงพ่อพระครูพรหมโชติวัฒน์ (บุญมี) เป็น ประธานปรกตลอดพิธี
พ.ศ.2521 สร้างเหรียญหลวงพ่อฯ รูปไข่ (รุ่นไม่มีห่วง) ทำแจกในงานบรรจุอัฐิบรรพบุรุษของท่าน ที่สุสานวิสุทธิมรรคคีรี จังหวัดสระบุรี ทำพิธีปลุกเสกเอง
พ.ศ. 2522 อุดชันรงค์ เป็นแบบพระชัยวัฒน์ จัดทำขึ้นพร้อมรูปหล่อพระเครื่อง และรูปหล่อบูชาเท่าตัวของหลวงพ่อฯ
พ.ศ. 2523 สร้างเหรียญหลวงพ่อฯ รุ่นนี้ถือว่าเป็นรุ่นสุดท้ายของหลวงพ่อพระครูพรหมโชติวัฒน์ (บุญมี)

….วัตถุมงคลของท่านล้วนแล้วแต่สุดยอดทุกรุ่นและเป็นของดีราคาเบาที่น่าใช้น่าเก็บครับ..เพจจดหมายพระเกจิขอแนะนำเลยครับ.
ที่มา​ จดหมายเหตุพระเกจิ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: