2303.สุดยอดพระเกจิสายรามัญ พระอุปัชฌาย์เย็น (บ๊อะ) วัดบางคูวัดนอก

#สุดยอดพระเกจิสายรามัญ
#เทพเจ้าแห่งความเมตตา
……..พระเถราจารย์รามัญแห่งเมืองปทุมธานี พระมหาเถระรามัญผู้เปรียบประดุจดั่งเทพเจ้าแห่งความเมตตาของชาวปากคลองบางคูวัด สุดยอดพระเกจิอาจารย์สายรามัญผู้สร้างตำนานเหรียญหายากอันดับต้น ๆของจังหวัดปทุมธานี พระมอญรูปนี้ก็คือ
“พระอุปัชฌาย์เย็น (บ๊อะ) โกณฺฑญฺโญ”

อดีตเจ้าคณะตำบลบางคูวัด
อดีตเจ้าอาวาสวัดปากคลอง(วัดบางคูวัดนอก) ตำบลบางคูวัด อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
พระอุปัชฌาย์เย็น(บ๊อะ) โกณฑญฺโญ เทพเจ้าแห่งความเมตตาของชาวปากคลองบางคูวัด ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ บิดามารดาของท่านได้ตั้งชื่อให้ท่านว่า เย็น ซึ่งท่านเกิดมาในตระกูลชาวมอญแห่งบ้านปากคลอง ตำบลบางคูวัด แขวงเมืองปทุมธานี(คนเฒ่าคนแก่ให้ข้อมูลว่าท่านเป็นคนบ้านคุ้งวัด) ท่านจึงมีชื่อเป็นภาษามอญอีกหนึ่งชื่อว่า บ๊อะ ซึ่งแปลเป็นไทยว่า เย็น (ต่อมาคนไทยได้เรียกชื่อท่านเพี้ยนเป็น บ๊ะ)

เมื่ออายุท่านครบกำหนดบวช ท่านจึงเข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดกลาง(วัดบางคูวัดกลาง) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๙ โดยมี พระครูปัญญารัตน์ วัดกลาง(วัดบางคูวัดกลาง) เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยท่านได้รับฉายาทางธรรมว่า “โกณฺฑญฺโญ”

หลังจากที่ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว ระยะแรกท่านได้อยู่ศึกษาพระธรรมวินัย พระปริยัติธรรมกับท่านพระครูปัญญารัตน์ (ด๊ะ) วัดกลาง(วัดบางคูวัดกลาง) ต่อมาท่านได้เดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมและวิชาอักขระบาลีกับพระอาจารย์ชื่น ที่วัดสลักเหนือ ซึ่งพระอาจารย์ชื่น รูปนี้นั้นมีความชำนาญในด้านอักขระภาษาบาลีสันสกฤตเป็นอย่างมาก กระทั่งเมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๓๗ ท่านได้เดินทางไปศึกษาวิชาที่วัดเทียนถวาย

โดยท่านได้ร่ำเรียนวิชาวิปัสสนาและวิชาเวทย์ศาสตร์ต่างๆจาก พระสมุห์สว่าง ธมฺมโชโต (ต่อมาท่านนี้ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมานุสารี ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี) และในช่วงนี้เองท่านได้มีความสนิทสนมกับ พระครูธัญญาเขตเขมากร บวรสมณาจารย์ สังฆวหะ หรือหลวงปู่ช้าง วัดเขียนเขต ซึ่งในขณะนั้นท่านได้บวชและมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเทียนถวาย

ซึ่งทั้งสองท่านนี้มีความสนิทสนมกลมเกลียวกันเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าหลวงปู่ช้าง จะมีอายุที่มากกว่า หลวงปู่บ๊อะ(หลวงปู่ช้าง เกิด พ.ศ.๒๓๙๓ , หลวงปู่บ๊อะ เกิด พ.ศ.๒๔๐๘) แต่ด้วยหลวงปู่ช้าง มีพรรษากาลที่น้อยกว่า หลวงปู่บ๊อะ(หลวงปู่ช้าง บวช พ.ศ.๒๔๓๗ , หลวงปู่บ๊อะ บวช พ.ศ.๒๔๒๙) หลวงปู่ช้าง ท่านจึงให้ความเคารพแก่หลวงปู่บ๊อะเป็นอย่างมาก

กระทั่งเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๔๐ คณะสงฆ์ตำบลบางคูวัด ซึ่งมี พระครูปัญญารัตน์(ด๊ะ) เจ้าคณะหมวดตำบลบางคูวัด เจ้าอาวาสวัดบางคูวัดกลาง ในขณะนั้น ได้มีคำสั่งให้ พระเย็น โกณฺฑญฺโญ วัดบางคูวัดกลาง ย้ายไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากคลอง(วัดบางคูวัดนอก) และได้ให้พระภิกษุติดตามพระเย็นไปอยู่ด้วยหนึ่งคณะ

ซึ่งในยุคที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดปากคลอง(วัดบางคูวัดนอก) นั้น ท่านได้พัฒนาวัดปากคลองมาตามลำดับ ท่านได้บูรณปฏิสังขรเสนาสนะต่างๆภายในวัดปากคลอง มาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ในระยะแรกท่านได้ทำการบูรณกุฏิสงฆ์ใหม่ ๑ หลัง โดยท่านได้ทำการเปลี่ยนฝาและมุงหลังคาใหม่ , ท่านได้ทำการบูรณศาลาท่าน้ำใหม่ ๓ หลัง โดยมีนางเล็ก ได้รับเป็นเจ้าภาพค่าซ่อมแซมให้ , ท่านได้ริเริ่มสร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ , ท่านได้ริเริ่มสร้างกุฏิสงฆ์เพิ่มอีก ๒ หลัง โดยมี พระปราบอังวะ กับ คุณนายพวง ได้ถวายเรือนปั้นหยา ๑ หลัง และมี นางลำไย สุขุมาลจันทร์ ได้ถวายเรือนอีก ๑ หลัง เป็นต้น

หลวงปู่เย็น(บ๊อะ) โกณฺฑญฺโญ ท่านเป็นพระสงฆ์นักพัฒนา ท่านได้สร้างคุณงามความดีให้แก่คณะสงฆ์และสาธารณะประโยชน์เป็นอย่างมาก กระทั่งเมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๔๓ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น พระปลัด ฐานานุกรมใน พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อ่อน) วัดราชบพิตรฯ พระนคร และเป็นพระกรรมวาจาจารย์

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระอุปัชฌาย์ สามารถอุปสมบทให้กับกุลบุตรที่ต้องการจะบวชเป็นพระภิกษุและสามเณรได้ และเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าคณะหมวดตำบลบางคูวัด

พระปลัดเย็น(บ๊อะ) โกณฺฑญฺโญ ท่านเป็นพระสงฆ์มอญที่เคร่งครัดในพระวินัยรูปหนึ่งของเมืองปทุมธานี ท่านเป็นพระสมถะ เรียบง่าย รักสันโดษ มีความเมตตาสูง ท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถในด้านยาสมุนไพรเป็นอย่างดี เนื่องด้วยการแพทย์ในสมัยนั้นยังไม่เจริญครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่นัก

เมื่อชาวบ้านเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา พระสงฆ์จึงเป็นที่พึ่งทางใจและที่พึ่งทางกายที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้น ประกอบกับหลวงปู่เย็น(บ๊อะ) ท่านมีความรู้ในเรื่องยาสมุนไพรเป็นอย่างดี ชาวบ้านต่างๆจึงมาให้ท่านรักษาให้ ทั้งรักษาด้วยสมุนไพร และรักษาด้วยน้ำมนต์ที่ท่านได้เสกเอาไว้กันเป็นจำนวนมาก โดยท่านก็เมตตากับทุกคนที่มาหาท่านโดยมิได้เลือกที่มักรักที่ชังแต่อย่างใด ท่านจึงเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านในระแวกย่านบ้านปากคลอง และใกล้เคียงเป็นอย่างมาก

หลวงปู่เย็น(บ๊อะ) โกณฺฑญฺโญ ท่านได้สร้างวัตถุมงคลจำพวกเครื่องราง ตะกรุด ไว้ใช้แจกแก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาของท่านไว้จำนวนหนึ่ง แต่ไม่มากนัก กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ คณะลูกศิษย์ได้ขออนุญาตจัดสร้าง เหรียญรูปเหมือนตัวท่านขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกในงานทำบุญฉลองอายุ ๗๐ ปีของท่าน

โดยท่านได้ทำการปลุกเสกเอง ซึ่งเหรียญรุ่นนี้นับเป็นเหรียญรุ่นแรกของท่านด้วย ซึ่งเหรียญรุ่นนี้เป็นเหรียญที่มีประสบการณ์สูง และในปัจจุบันเหรียญรุ่นนี้เป็นเหรียญหายากมากอันดับต้นๆเหรียญหนึ่งของจังหวัดปทุมธานี เป็นเหรียญยอดนิยมที่เป็นที่ต้องการของบรรดานักสะสม และนักเล่นพระเครื่องกันยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก

พระปลัดเย็น(บ๊อะ) โกณฺฑญฺโญ ท่านเป็นพระที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมาโดยตลอด กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ท่านได้อาพาธลงด้วยโรคลมปัจจุบัน และได้ละสังขารลงอย่างสงบ ณ ภายในกุฎิสงฆ์ของท่าน ซึ่งนับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่หลวงชองชาวบ้านปากคลองบางคูวัด ที่สูญเสียผู้เปรียบดั่งเทพเจ้าแห่งชาวปากคลองบางคูวัดไปอย่างไม่มีวันกลับ สิริรวมอายุท่านได้ ๘๒ ปี พรรษา ๖๑
*********************************
เรียบเรียงโดย : ขุนแผน แดนรามัญ
ขอขอบพระคุณแหล่งข้อมูล
สมุดบันทึก ทำเนียบพระสังฆาธิการอำเภอเมืองปทุมธานี , สมุดบันทึก ประวัติวัดบางคูวัดนอก

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: