2266.ประวัติหลวงพ่อแม้น วัดเกาะสุวรรณาราม

#หลวงพ่อแม้น อัคคจิตโต วัดเกาะสุวรรณาราม แขวงคลองถนน เขตสายไหม กทม.
…….หลวงท่านเป็นศิษย์เอกเพียงผู้เดียว ของพระเดชพระคุณท่านพระครูพิศาลวิริยะคุณ (ลป.สงวน ธัมมโชติ) พระอภิญญาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดเกาะสุวรรณาราม

ชาติกำเนิด

ท่านถือกำเนิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๗๐ ตรงกับแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีเถาะ ณ บ้านออเกาะ (ชุมชนวัดเกาะสุวรรณาราม) หมู่ที่ ๓ ต.คลองถนน อำเภอบางเขน (ปัจจุบันอยู่ในเขตสายไหม) กทม.

บิดาชื่อ คุณพ่อผิน เชื้อแก้ว
มารดาชื่อ คุณแม่มาลัย สองห้อง (เชื้อแก้ว)
มีพี่น้องร่วมอุทรทั้งสิ้น ๘ คน ดังนี้

๑. นายม้วน เชื้อแก้ว ถึงแก่กรรม
๒. ลพ.แม้น อัคคจิตโต
๓. พระภิกษุล้วน เชื้อแก้ว มรณภาพแล้ว
๔. นางลมูล อุทัยฉาย (เชื้อแก้ว) ถึงแก่กรรม
๕. พระอาจารย์จวน สุทธจิตโต
๖. นางกุหลาบ เชื้อแก้ว
๗. พระภิกษุโปร่ง เชื้อแก้ว มรณภาพแล้ว
๘. นายละม่อม เชื้อแก้ว ถึงแก่กรรม

เพศฆราวาส

ชีวิตวัยเยาว์ ท่านเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาล วัดเกาะสุวรรณาราม จนจบชั้น ป.๔ เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๒ จากนั้นออกมาช่วยบิดา มารดา ทำนา ท่านเล่าว่า “สมัยเด็กๆ ลำบากมาก ต้องเลี้ยงดูน้องๆ หลายคน ประกอบกับช่วงนั้นเกิดสงครามหาเอเชีย บูรพา และสงครามโลกครั้งที่ ๒ ด้วย

พอหลังสงครามก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.๒๔๘๕ พอหลังสงครามสงบ และน้ำลดแล้ว ก็มารับจ้างทำนาบ้าง ทำงานก่อสร้างบริเวณสนามบินดอนเมือง ” นอกจากนี้ท่านยังเล่าว่า ” มีเพื่อนรุ่นพี่ได้ชวนท่านไปทำนาเกลือ และจับปูแสมมาดอง เพื่อนำกลับมาขาย ทำได้ประมาณ ๒ ปีเศษก็ต้องเลือกเพราะเกลือราคาตกมากจึงได้กลับมาทำนาต่อ”

สมัยวัยหนุ่มท่านมีเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ชื่อ ร.ต.เสน่ห์ ทองหยด (ถึงแก่กรรมแล้ว) เมื่อสมัยหนุ่ม ดำนา ออกแขกเกี่ยวข้าวด้วยกัน ไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอเป็นเสมือนคู่แฝด

เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

เมื่อสมัยหนุ่ม ท่านและ ร.ต.เสน่ห์ เคยบอกว่าจะบวชพร้อมกัน แต่มาติดที่ฐานะทางบ้าน และอีกประการหนึ่ง ร.ต.เสน่ห์นั้นติดราชการทหาร ต้องรอไปก่อน ส่วนท่านมิได้ละความตั้งใจที่จะบวช เมื่ออายุครบบวช มารดาของท่านจึงปึกษาและไหว้วานให้คุณลุงสาย และคุณป้าจันทน์ พระเทพ เป็นธุระจัดงานบวชให้ (เนื่องจากท่านทั้งสองสนิทสนมกับลป.สงวน)

โดยอุปสมบทที่พัทธสีมา วัดเกาะสุวรรณาราม โดยมีพระครูสังฆวิชิต (ลป.สงวน ธัมมโชติ สมณศักดิ์สุดท้าย ที่พระครูพิศาลวิริยคุณ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เมฆ จิมิโณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์สง่า ธรรมเสวี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้จำพรรษา อยู่ที่วัดเกาะสุวรรณาราม ได้ศึกษาพระปริยัติธรรม และกรรมฐาน รวมถึงสรรพวิชาอาคม จากลป.สงวน เป็นองค์ปฐม หลังจากที่ท่านสอบได้นักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอกแล้ว ท่านจึงได้หันมาศึกษาทางปฏิบัติ อย่างจริงจังจากลป.สงวน มากขึ้น จวบจนลป.สงวน ละสังขารในปี พ.ศ.๒๕๐๕ รวมระยะเวลาที่ท่านได้ศึกษาจากลป.สงวนทั้งสิ้น ๙ ปี

ตลอดระยะเวลาที่ครองเพศบรรพชิตท่านได้ออกปริวาส และธุดงค์ เป็นประจำทุกปีตั้งแต่พรรษาแรก จวบจนมรณภาพ มิได้ขาดแม้แต่เพียงพรรษาเดียว โดยท่านจะออกเดินทางประมาณกลางเดือนธันวาคมของทุกปีจนถึงประมาณเดือนมีนาคมของปีถัดไป จึงเดินทางกลับวัด

การธุดงค์ของท่านั้นจะเดินทางจากจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย จนถึงเชียงใหม่ รวมเวลาในแต่ละปีประมาณ ๓ เดือนเศษ

ในระหว่างที่ธุดงค์ ท่านได้ศึกษากับครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิเช่น ลพ.สอน (ไม่ทราบวัด ไม่แน่ว่าจะเป็นลพ.สอน วัดเสิงสานรึไม่) ลป.ภู (ไม่ทราบวัด) และครูบาอาจารย์ท่านอื่นอีกหลายองค์ นอกจากนี้ ระหว่างการปฏิบัติทางจิตท่านได้เล่าว่า มีครูบาอาจารย์หลายองค์มาแนะนำในนิมิตร ซึ่งส่วนใหญ่ท่านว่าเป็นพ่อปู่ฤาษี หลายองค์ทีเดียว

นอกจากนี้ท่านยังได้ร่ำเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณ เพื่อสงเคราะห์ผู้คนจากลพ.บุญส่ง วัดก้อนแก้ว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งโรคที่คนมักมาให้ท่านรักษามาก จนมีชื่อเสียงก็คือ โรคริดสีดวงจมูก หรือโรคไซนัส ซึ่งมีผู้คนมารักษากับท่านมากมาย (ท่านได้ถ่ายทอดวิชานี้ให้กับหลานชายท่าน ซึ่งต่อมาได้ทำหน้าที่รับการรักษาแทน)

จากคำบอกเล่าทำให้ทราบว่า ลพ.สิริ วัดตาล ก็ได้เคยเดินทางมารักษากับลพ.แม้น ด้วยเช่นกัน

ลพ.แม้น เป็นพระเถราจารย์ที่ทรงพุทธาคมเป็นเลิศ เป็นที่พึ่งทางใจ และเป็นเนื้อนาบุญแก่ญาติโยมพุทธบริษัทจำนวนมาก กุฏิของท่านจะคร่าคร่ำไปด้วยผู้คนมิได้ขาด ทั้งที่มารักษาโรค และมารับการสงเคราะห์ในด้านอื่นๆ อิทธิคุณของ่านมีมากมายนัก แต่จากความทรงจำและคำบอกเล่าพอจะสรุปได้ดังนี้

๑. ท่านเป็นหมอแผนโบราณ ที่เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการรักษาโรคริดสีดวงจมูก นั้นท่านมิได้เรียกร้องทรัพย์สินเงินทอง หรือถ้ามีผู้ศรัทธาต้องการบริจาคเพื่อทำบุญท่านก็มิได้ขัดข้อง แต่ก้ได้รวบรวมถวายเป็นส่วนกลางของวัดต่อไป

๒. ท่านเป็นผู้แตกฉานในการลงอักขระ ต่างๆ อย่างมาก ถ้าผู้ใดเคยได้รับวัตถุมงคลจากท่าน พวกผ้ายันต์ หรือปลัดขิก จะเห็นถึงความตั้งใจในการลงอักระ ลายมือท่านสวยงามมาก จริงๆ และท่านมักจะลงอักขระหลายๆ ตัวจนเต็มพื้นที่ หาที่ลงเพิ่มไม่ได้แล้วนั่นแหละ จึงจะพอใจท่าน

ที่ท่านชอบลงเยอะๆ ท่านว่า “ถ้ามีอักขระตัวใดวิบัติ ตัวอื่นๆ ที่เหลือก็จะได้ช่วยกัน” อักขระที่มมักจะเห็นท่านลงเสมอ ในวัตถุมงคลก็คือ ” ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์” ” มะ อะ อุ” และ ” นะ หัวใจมนุษย์”

๓. ท่านเป็นผู้มีจิตอันประพัสสร มีญาณทัศนะอันแจ่มแจ้ง ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการปฏิบัติทางจิตโดยความมุ่งมั่นของท่านมาโดยตลอดตั้งแต่พรรษแรก จวบจนมรณะภาพ ซึ่งท่านก็ได้ให้การสงเคราะห์แก่ผู้เดือดร้อนเป็นกรณีๆไป ตั้งแต่ปัญหาเล็ก เช่นของหาย ไปจนถึง ความเดือดร้อนจาก สัมพเวสี หรือไปล่วงเกินเทพเทวดา ผู้มีฤทธิ์

๔. ท่านเป็นผู้ไม่ยึดติดในยศถาบรรดาศักดิื์ ท่านเคยได้รับการคัดเลือก ให้เป็นเจ้าอาวาส แต่ท่านก็ปฏิเสธไป โดยท่านขออยู่ปฏิบัติธรรมในฐานะพระลูกวัด อย่างสงบดีกว่า

แม้กระทั่งเมื่อท่านพระอาจารย์ลำไย ถึงแก่มรณภาพแล้ว ชาวบ้านได้รวมกันมาอ้อนวอนให้ท่านเป็นเจ้าอาวาส สืบต่อไป ท่านก็ได้ปฏิเสธไปอีกคำรบหนึ่ง ว่าท่านไม่ได้ต้องการ ขออยู่อย่างนี้ดีกว่า

เคยมีนักข่าวหนังสือพิมพ์พระเครื่องฉบับบหนึ่งมายื่นข้อเสนอกับท่านว่าขอเงินจำนวนหนึ่ง แล้วจะเขียนเชียร์ให้ดัง ท่านก็มิได้สนใจ และมีได้ถือโกรธ ตอบกลับไปอย่างเมตตาว่า “แค่นี้ ก็ไม่มีเวลาพักผ่อนแล้ว”

………แม้ลพ.แม้น จะช่วยสงเคราะห์ โดยภาษาชาวบ้านที่เราเรียกว่าการนั่งทางใน แต่ท่านก็มิได้ทำตัวเป็นหมอดู บอกใบ้เลขหวย หรือทำการใดอันเป็นการผิดพระธรรมวินัย ท่านเพียงแต่มีจิตที่จะสงเคราะห์ให้เขาหมดทุกษ์เท่านั้น

การสงเคราะห์ของท่านมิได้หวังทรัพย์สินเงินทอง หากมีผุ้ใดถวายท่านก็รับเอาไว้ แต่มิได้สนใจสะสม เมื่อมากก็นำไปสมทบมอบให้เจ้าอาวาส ขณะนั้น สมทบทุนสร้างเสนาสนะ และอุโบสถ สืบไปครับ หลวงพ่อแม้นเป็นที่ศัทธาจากประชาชนทั่วไปรมถึงพื้นที่ค้างเคียงจวบจนวาระสุดท้ายชีวิตของท่าน

โดยท่านมรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวามคม พ.ศ ๒๕๔๓ รวมสิริอายุได้ ๗๓ ปี สร้างความเศร้าโศกเสียใจเป็นอันมากแก่บรรดาศิษย์ญานุศิษย์ของท่านเป็นจำนวนมาก

ที่มา​ จดหมายเหตุ​พระเกจิ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: