2220.“หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค” ศิษย์อาจารย์พ่วงแห่งสำนักบัวแปดกลีบ

หลวงพ่อพรหม วัดช่องแคท่านเป็นชาวเมืองกรุงเก่าจ.พระนครศรีอยุธยา เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗ ที่ ต.บ้านแพรก อ.มหาราช โยมบิดา-มารดาชื่อ นายหมี-นางล้อม โกสะลัง 

ในวัยเยาว์ได้ศึกษาร่ำเรียนหนังสือกับพระที่วัดใกล้บ้านได้ศึกษาอักษรขอมควบคู่กับภาษาไทยตั้งแต่ก่อนอุปสมบท เมื่ออายุครบบวชได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดปากคลองยาง โดยมีหลวงพ่อถม วัดเขียนลายเป็นพระอุปัชฌาย์ได้รับฉายาว่า “ถาวโร” 

แล้วมาจำพรรษาที่วัดเขียนลายจ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยด้านปริยัติธรรมจนแตกฉาน ต่อมามีความสนใจในด้านวิปัสสนากรรมฐาน จึงตัดสินใจออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติธรรมชั้นสูงจนเข้าสู่เขตประเทศพม่า แต่ก็ยังไม่พบชัยภูมิที่เหมาะสมจะเป็นพุทธภูมิสำหรับภาวนาหาความสงบวิเวกจึงเดินธุดงค์ต่อไปจนมาถึงภูเขาช่องแคเมื่อไปถึงพื้นที่ก็เกิดฝนตกหนัก ชาวบ้านจึงบอกทางให้ไปหลบฝนในถ้ำ

คืนแรกหลวงพ่อพรหมได้มีนิมิตอันเกิดจากจิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์มาแนะแนวทางการปฏิบัติธรรมชั้นสูงให้ ท่านจึงใช้ถ้ำแห่งนี้ในการฝึกฝนบำเพ็ญภาวนาจนแก่กล้า ศรัทธาของชาวบ้านก็เริ่มทยอยเข้ามาจากป่าอันรกร้างว่างเปล่าก็กลายเป็นเสนาสนะมากมาย พระภิกษุจากที่ต่างๆเริ่มทยอยมาฝากตัวเป็นศิษย์รับคำสอนจากท่าน

ท่านจึงซื้อที่ดินสร้างวัดกุฏิสงฆ์หอสวดมนต์และเสนาสนะต่างๆให้ชื่อว่า วัดช่องแคและจำพรรษาที่นั่นตลอดมา หลวงพ่อพรหมท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่หันหลังให้คำว่า แพ้ เสมอมา เรียกได้ว่าท่านเป็นทั้งหมอเทวดา วาจาศักดิ์สิทธิ์ และสร้างอภินิหารเป็นที่ประจักษ์แก่สายตามานักต่อนัก จนชื่อเสียงขจรไกลเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้ไกล


อาจารย์พ่วง แห่งสำนักบัวแปดกลีบ

ท่านเริ่มศึกษาวิชาไสยศาสตร์และคาถาอาคมกับอาจารย์ที่เป็นฆราวาส ชื่ออาจารย์พ่วงแห่งสำนักบัวแปดกลีบอันโด่งดัง ต่อมาเมื่ออุปสมบทแล้วจึงได้ศึกษาอสุภ-สมถกรรมฐาน วิปัสสนา จากหลวงพ่อดำซึ่งเป็นพระสงฆ์ไม่ทราบวัดอยู่ประมาณ ๔ ปีในพรรษาที่ ๕ อาจารย์พ่วงได้พาไปฝากอาจารย์ปู่วอนซึ่งเป็นฆราวาสและได้ศึกษาวิชาแขนงต่างๆเป็นเวลา ๕ ปีเต็ม

จนกระทั่งอาจารย์ปู่วอนถึงแก่กรรม ซึ่งในภายหลังหลวงพ่อพรหมได้นำกระดูกมาเก็บไว้ที่วัดช่องแค จากนั้นหลวงพ่อพรหมก็ไม่ได้ไปศึกษากับอาจารย์ท่านใดโดยตรงมีแต่ศึกษาแลกเปลี่ยนวิชากับอาจารย์รุ่นพี่และรุ่นเดียวกันในระหว่างธุดงค์เช่น หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ

หลวงพ่อพรหมจะเดินธุดงค์ทั้งเส้นทางใกล้และไกลโดยหลวงพ่อเคยเดินธุดงค์ไปประเทศพม่าถึงเมืองย่างกุ้งและได้มีโอกาสที่มนัสการพระเจดีย์ชเวดากองและเดินธุดงค์ผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์ ผ่านเทือกเขาน้อยใหญ่และธุดงค์อยู่ในประเทศพม่าเป็นเวลานาน จึงเดินทางกลับประเทศไทยทางด่านแม่ละเมา จ.ตาก

และเดินเรื่อยๆไปจนถึงเขาช่องแค ต.พรหมนิมิตร อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เกิดฝนตกหนักหลวงพ่อพรหมได้หลบเข้าไปอยู่ในถ้ำซึ่งเป็นถ้ำเล็กๆซึ่งเป็นสถานที่ที่หลวงพ่อพรหมเห็นว่าเป็นที่วิเวกเหมาะแก่การบำเพ็ญธรรมจึงเริ่มปลูกต้นไม้แห่งศรัทธาลง ณ ช่องเขาแห่งนี้

ขณะที่หลวงพ่อพรหมจำศีลปฏิบัติธรรมอยู่นั้นที่วัดช่องแคมีพระภิกษุจำพรรษาอยู่แล้ว ๒ รูป แต่ยังไม่มีเจ้าอาวาสภาย ในวัดยังไม่มีเสนาสนะใดๆบริเวณวัดรกร้าง ต่อมาชาวบ้านในแถวนั้นซึ่งมีความนับถือเลื่อมใสหลวงพ่อได้นิมนต์ให้หลวงพ่อพรหมลงมาจำพรรษาข้างล่างคือ วัดช่องแคในปัจจุบัน

หลวงพ่อพรหมจึงเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดช่องแคโดยที่ชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคที่ดินเพิ่มขึ้น หลวงพ่อพรหมได้เริ่มต้นสร้างวัดจากวัดที่รกร้างไม่มีเสนาสนะใดๆ เมื่อปี ๒๔๖๐ มาเป็นวัดที่มีกุฏิ ศาลาการเปรียญ โรงครัว ซึ่งส่วนหนึ่งของทรัพย์สินมาจากการขายสมบัติส่วนตัวและมรดกของหลวงพ่อเอง ต่อมาเมื่อทางวัดจะสร้างโบสถ์ ซึ่งต้องใช้ทุนทรัพย์สูง คณะกรรมการของวัดจึงขออนุญาตหลวงพ่อสร้างวัตถุมงคลขึ้น

หลวงพ่อพรหมมีวิธีการปลุกเสกวัตถุมงคลไม่เหมือนใคร ส่วนใหญ่หลวงพ่อจะปลุกเสกในบาตร ถ้ามีเทียนชัยจะจุดเทียนชัยหยดน้ำตาเทียนลงในบาตรน้ำมนต์แล้วนำเทียนชัยวนรอบๆ ๙ รอบ

แล้วจึงนำดินสอพองมาเจิมที่วัตถุมงคล เอามือคนไปรอบๆโดยที่หลวงพ่อลืมตาเพ่งกระแสจิตอัดพลังแล้วจึงนำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมวัตถุมงคลทั้งหลายแล้วหลวงพ่อจับบาตรใส่วัตถุมงคล เพ่ง กระแสจิตอีกครั้งจนกระทั่งวัตถุมงคลเหล่านั้นมีรังสีพุ่งออกมา จึงนำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมอีกครั้งเป็นเสร็จพิธี

ดังนั้นเราจะสังเกตได้ว่าพระเนื้อผงของหลวงพ่อจะมีรอยบิ่น เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เพราะเกิดจากหลวงพ่อเอามือคนในบาตร ดังนั้นพระที่มีรอยบิ่นจึงสันนิษฐานได้ว่า ได้สัมผัสกับมือหลวงพ่อโดยตรง

หลวงพ่อพรหมไม่เคยย้ายไปอยู่วัดใดเลยตลอดระยะเวลา๕๘ ปี โดยที่หลวงพ่อได้ลาออกจากเจ้าอาวาสเมื่อปี ๒๕๑๔ รวมเวลาที่เป็นเจ้าอาวาสวัดช่องแค ๕๔ ปี เพื่อให้พระปลัดแบงค์ ธมมวโรเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน หลวงพ่อพรหมมรณภาพเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๘ เมื่อเวลา ๑๕.๐๐ น. ณ.โรงพยาบาลบ้านหมี่ จ.ลพบุรี รวมอายุได้ ๙๑ ปี ๗๑ พรรษา

ที่มา นักเลงโบราณ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: