2192.อีกหนึ่งอาจารย์เสด็จเตี่ย “หลวงพ่อพริ้ง” วัดบางปะกอก

อีกหนึ่งอาจารย์เสด็จเตี่ย “หลวงพ่อพริ้ง” วัดบางปะกอก ผู้มอบ“ปั้นเหน่งแม่นาค”แก่เสด็จเตี่ย อภิญญาบารมีเหลือล้น ประลองวิชากับเสด็จเตี่ยหลายหน!

ท่านพระครูประศาสน์สิกขกิจ อินทโชติ (พริ้ง) อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดบางปะกอก ตำบลบางปะกอก อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี (ธนบุรีเดิม)

เดิมชื่อ “พริ้ง เอี่ยมทศ” บิดาชื่อเอี่ยม มารดาชื่อสุ่น ได้อุปสมบทเป็นสามเณรตั้งแต่ยังเล็กที่วัดพลับ ธนบุรี

เมื่ออายุครบจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดทองนพคุณ ธนบุรี โดยมิได้อยู่ในเพศฆราวาสเลย ต่อมาจึงได้ถูกนิมนต์มาประจำพรรษาอยู่ที่วัดบางปะกอกนี้ สองสามปีต่อมาจึงได้เป็นพระอธิการเจ้าอาวาส มีพระภิกษุประจำพรรษาอยู่เพียง ๒ -๓ องค์เท่านั้น

เนื่องจากวัดบางปะกอกนี้เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแต่ในสมัยใดไม่ปรากฏแน่ชัด กุฏิ โบสถ์และเสนาสนะอื่น ๆ ชำรุดทรุดโทรมมาก สันนิษฐานจากการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถมาครั้งหนึ่ง เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๐

และจากการสอบถามท่านผู้มีอายุหลายต่อหลายท่านซึ่งอายุใกล้ร้อยปี และท่านเหล่านั้นบางท่านก็ได้ถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็ร้อยกว่าปี ท่านบอกว่าท่านเกิดมาเป็นเด็ก ๆ ก็เห็นวัดบางปะกอกนี้อยู่แล้ว ท่านเคยถามบิดามารดาก็บอกอย่างนี้เช่นเดียวกัน

ผิดแต่ว่า กุฏิ โบสถ์ ชำรุดทรุดโทรมมากไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ โบสถ์โบกปูนปิดทึกแบบมหาอุตเหมือนวัดเก่า ๆ ในต่างจังหวัด ซึ่งก็คงมีมาแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นหรืออาจก่อนกรุงศรีอยุธยาก็ได้ อายุไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ปีขึ้นไป

เดิมทีเดียวบางปะกอกนี้มีชื่อว่าบางคี่ และในสมัยก่อนที่หลวงพ่อพริ้งจะมาเป็นเจ้าอาวาสนั้นมีนักเลงอยู่มาก แม้ในเวลาที่มีการทำบุญตักบาตรในวัด จะต้องมีการตีกันอยู่เป็นประจำ ทำให้ชาวบ้านที่จะมาทำบุญก็ต้องพกมีดไม้มาด้วย

นับแต่ท่านได้มาประจำพรรษาเป็นพระอธิการเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดนี้ นักเลงเหล่านั้นก็เกรงกลัว ต่างมอบตัวเป็นศิษย์ของท่านหรือไม่ก็หายหน้าหายตาไปหมด ต่อมาท่านก็ได้ร่วมกับชาวบ้านบูรณะปฏิสังขรณ์ กุฏิ โบสถ์ วิหาร และเสนาสนะอื่น ๆ ที่ชำรุดทรุดโทรมจนเรียบร้อยสวยงามมาจนถึงบัดนี้เป็นเวลา ๖๐ ปีเศษ

หลวงพ่อพริ้งซึ่งชาวบางประกอบและชาวตำบลใกล้เคียงเรียกท่านว่า “หลวงปู่” ได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาคาถาอาคมจนแก่กล้ามาตั้งแต่เป็นสามเณรอยู่ที่วัดพลับ แต่ท่านจะศึกษาเล่าเรียนมาจากพระอาจารย์องค์ใดนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด มีท่านผู้มีอายุหลายท่านเล่าว่าท่านชอบธุดงค์จาริกในป่าต่าง ๆ หลายครั้งหลายหน

แต่ก็มีบางท่านเล่าให้ฟังว่าท่านเคยเรียนร่วมอาจารย์เดียวกับหลวงพ่อศุข วัดมะขามเฒ่า เลยไม่ได้ความแน่ชัดว่าท่านศึกษามาจากสำนักใด พระอาจารย์องค์ใด เข้าใจว่าท่านคงจะศึกษาเล่าเรียนชั้นแรกกับพระอาจารย์ที่วัดพลับตอนที่ท่านอุปสมบทเป็นสามเณรนั่นเอง

ท่านผู้ใหญ่หลายท่านซึ่งเคยอุปสมบทและเคยใกล้ชิดกับหลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า ท่านได้สนใจศึกษาเล่าเรียนวิชาล่องหนหายตัวและคงกระพันชาตรีตั้งแต่เป็นสามเณร และสามารถทำได้โดยไม่ยาก


หลวงพ่อพริ้งวัดบางปะกอก เรียนกรรมฐานแบบมัชฌิมาจากวัดพลับตั้งแต่เป็นสามเณร เป็นอาจารย์ที่กรมหลวงชุมพรหรือ เสด็จในกรมให้ความเคารพยิ่ง ทั้งเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโคและคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติมด้วย

เสด็จในกรมลองวิชากับหลวงพ่อพริ้งหลายครั้ง เช่นเข้าไปเสกมะพร้าวในครัววัดบางปะกอกให้ปอกไม่ได้ หลวงพ่อพริ้งก็เข้ามาแก้โดยใช้สันมือทุบมะพร้าวลูกนึงแตก ลูกอื่นๆก็ปอกได้ตามปกติ

อีกครั้งเสด็จในกรมขอลองวิชาเสกใบมะขามเป็นตัวต่อตัวแตนต่อหน้าหลวงพ่อพริ้ง ปรากฏว่าใบมะขามเป็นแค่ตัวอ่อนของตัวต่อสีขาวๆคลานดุกดิ๊กบินไม่ได้

เสด็จในกรมทึ่งในอำนาจจิตของหลวงพ่อพริ้งอย่างยิ่งทั้งเคยโดนหลวงพ่อพริ้งลองวิชากลับในขณะที่จะเข้าไปในโบสถ์

หลวงพ่อพริ้งใช้อำนาจจิตให้เสด็จในกรมยืนแข็งอยู่หน้าประตูโบสถ์อยู่พักใหญ่จึงคลายให้ เสด็จในกรมจึงยอมรับในจิตตานุภาพของหลวงพ่อพริ้งยิ่งนัก

ต่อมาเสด็จในกรมก็ได้มรดกชิ้นสำคัญจากหลวงพ่อพริ้ง ซึ่งก็คือปั้นเหน่งกะโหลกแม่นาคพระโขนง

ที่มา ​จดหมายเหตุพระเกจิ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: