2049.หลวงพ่อครูบากัญไชย เทพเจ้านักบุญแห่งลุ่มเเม่น้ำเมย

หลวงพ่อพระครูสิริรัตนาภรณ์ (กัญไชย กาญจโน) เทพเจ้านักบุญแห่งลุ่มเเม่น้ำเมย

มีนามเดิมว่า เด็กชายดวงคำ พลายสาร เกิดเมื่อวันพุธที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๘ ตรงกับขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๗ ปีเถาะ ที่บ้านศรีบุญเรือง ตำบลม่วงตึ้ด อำเภอเมือง จังหวัดน่าน หลวงพ่อเป็นบุตรคนที่ ๕ ในบรรดาพี่น้องชายหญิง ๙ คน บิดาชื่อ นายยศ มารดาชื่อ นางต่อม พลายสาร
หลวงพ่อครูบากัญไชยเป็นคนขยันมีความอดทนเข้มแข็งมาก ตั้งแต่เมื่อเยาว์วัยก็มีความเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย มีความรับผิดชอบสูง มีจิตใจโอบอ้อมอารี สุภาพอ่อนน้อม รู้จักสัมมาคารวะจึงเป็น ที่รักใคร่ของคนทั่วไปในหมู่บ้าน เมื่อเจริญวัยได้ ๑๓ ปี พ่อหลวงยศผู้เป็นบิดานำไปฝากเป็นศิษย์วัดอยู่กับเจ้าอธิการขัติยศ โชติธฺมโม เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง และเจ้าคณะตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอเมือง จังหวัดน่าน สมัยนั้นการเรียนหนังสือไทยภาคกลางยังไม่แพร่หลาย ท่านจึงเรียนเฉพาะหนังสือล้านนาไทยพื้นเมืองเหนือกับเจ้าอธิการขัติยศจนแตกฉาน กอปรกับหนังสือล้านนาไทยเป็นหนังสือที่สามารถลงอักขระคาถาอาคมได้ หลวงพ่อจึงสนใจวิชาอาคมไปด้วยและเข้าเรียนหนังสือไทยภาคกลาง ณ โรงเรียนประชาบาล วัดม่วงตึ๊ด จังหวัดน่านจนสำเร็จชั้นประถมปีที่ ๒
เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี หลวงพ่อมีความมุ่งมั่นปรารถนาที่จะขออุทิศตน เป็นพุทธสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับเมตตาอุปการะจากพระอธิการกัญจนะวงศ์ เจ้าอาวาสวัดม่วงตึ๊ด เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบรรพชาแล้ว พระอธิการกัญจนวงศ์จึงเปลี่ยนชื่อให้ท่านใหม่ว่า กัญไชย
หลวงพ่อได้อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๘ ณ พัทธสีมาวัดม่วงตึ๊ด จ.น่าน โดยมีพระครูนันทสมณาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดน่าน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูธรรมสิริสุนทร เจ้าอาวาสวัดภูมินทร์ เป็นพระกรรมวาจารย์ พระครูสิริธรรมกิต เจ้าอาวาสวัดอภัย เป็นอนุสาวจารย์ ได้รับฉายาว่า กัญไชย กาญจโน

วันหนึ่งในขณะที่หลวงพ่อได้แผ่เมตตาจิตพระธรรมวินัยญาณ เหมือนนิมิตไปว่าท่านกำลังเดินทางมุ่งหน้าไปยังทิศตะวันตกของประเทศ ที่มีป่าเขาทึบ มีภูเขาสูงเสียดฟ้า ทำให้ท่านคิดได้ว่า อยากจะสร้างเสนาสนะวัดที่ยากไร้ ในถิ่นทุรกันดารสักแห่งสองแห่งของทิศดังกล่าว แล้วจะกลับมายังจังหวัดน่าน

ปี พ.ศ.๒๔๙๓ ท่านได้กราบลาพระเดชพระคุณหลวงปู่ขัติยศ ออกจากวัดศรีบุญเรือง จ.น่าน มุ่งตรงไปยังอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในขณะนั้นจากจังหวัดตากไปยังอำเภอแม่สอดยังไม่มีทางรถยนต์วิ่ง ท่านต้องเดินทางด้วยเท้าขึ้นเขาลงห้วย พักแรมตามระหว่างทาง ๓ คืน ๔ วัน จนถึงอำเภอแม่สอด เมื่อถึงแม่สอดแล้ว ท่านได้พำนักอยู่ ณ วัดดอนไชย อำเภอแม่สอด เป็นเวลาพอสมควร
ในขณะที่พักอยู่วัดดอนไชย ท่านได้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะวัดดอนไชย เช่น สร้างกุฏิ หอฉัน พระอุโบสถ กำแพงวัดโบราณล้านนา ที่ใช้เป็นศาลาพักแรมของประชาชนทั่วไปได้ ขณะเดียวกันได้สร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญวัดอรัญเขต พระอุโบสถวัดมณีไพรสณฑ์ จนชื่อเสียงของท่านเลื่องลือไปทั่วของการเป็นพระนักพัฒนา เป็นนายช่างก่อสร้างวัดวาอาราม
เมื่อท่านได้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะของของวัดต่าง ๆ ในเขตอำเภอแม่สอด จนเป็นที่พอใจตามที่ตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่แรกแล้วนั้น ท่านเตรียมตัวที่จะเดินทางกลับยังจังหวัดน่าน ในขณะเดียวกันนั้น นายยศ คำมา และนายมูล กริยา พร้อมด้วยคณะทายกทายิกาวัดมาตานุสรณ์ ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด พร้อมด้วยชาวบ้านจำนวนมากได้พร้อมใจกัน กราบอาราธนานิมนต์ขอหลวงพ่อไปจำพรรษาที่วัด เพราะวัดไม่มีพระภิกษุอยู่ประจำ มีเพียงแต่สามเณร ท่านจึงรับนิมนต์ไว้และตั้งใจว่าจะขออยู่เพียงแค่ ๑ พรรษาเท่านั้น
เมื่อออกพรรษาแล้วคณะทายกทายิกาผู้อุปการะวัดได้ปรึกษาหารือที่จะสร้างพระวิหารของวัด เพราะวิหารหลังเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก ด้วยความมีเมตตาจิต หลวงพ่อจำเป็นต้องอยู่ช่วยสร้างพระวิหารจนแล้วเสร็จ พร้อมกับขอพระราชทานวิสูงคามสีมาให้แก่วัดมาตานุสรณ์เมื่อปลายปี ๒๔๙๔

ต่อมาจึงได้รับพระบรมราชานุญาตเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ทางวัดจึงทำพิธีฝังลูกนิมิตและผูกพัทธสีมาในปีนั้น โดยหลวงพ่อได้ใช้วิหารที่สร้างขึ้นใหม่นั้นเป็นโรงอุโบสถเพื่อพระสงฆ์ทำสังฆกรรมต่อไป
ต่อมาวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๖ หลวงพ่อจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดมาตานุสรณ์ อย่างเป็นทางการ นับแต่นั้นมาหลวงพ่อได้สร้างผลงานมากมายไม่เฉพาะแก่ชาวแม่กาษาหรือ ชาวแม่สอดเท่านั้น แต่ท่านยังได้ช่วยเหลือสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ที่ล้วนแล้วเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนมากมายนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นในเขตท้องที่จังหวัดตากทั้ง ๕ อำเภอชายแดน แม้กระทั่งจังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน ท่านยังเป็นประธานในการจัดสร้างซ่อมแซม บูรณะปฏิสังขรณ์ลานพระธาตุแช่แห้ง, พญานาคคู่ขนานทางขึ้นไปยังพระธาตุแช่แห้งตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
พระเดชพระคุณหลวงพ่อครูบากัญไชยเป็นพระเถระผู้ทรงศีลบริสุทธิ์เป็นที่พึ่งของคณะศิษยานุศิษย ์และประชาชนผู้ที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาทั้งหลาย หลวงพ่อเป็นพระแท้ มีจริยาวัตรนุ่มนวล มีปฏิปทาอันงดงาม สมเป็นสมณสารูปทุกอย่าง ที่ทุกคนกราบไหว้ท่านได้อย่างสนิทใจ ผู้ใดได้มีโอกาสนมัสการกราบไหว้ท่านแล้ว จะรู้สึกมีความสุข เกิดศรัทธาเลื่อมใส รู้สึกมีความสดชื่น มีกำลังใจ สามารถที่จะเอาชนะปัญหานั้น ๆ ได้อย่างประหลาด นับได้ว่าหลวงพ่อเป็นพระ “สุปฏิปันโน” ผู้ควรเคารพบูชาอย่างยิ่งรูปหนึ่ง ด้วยเพราะท่านเป็นพระเถระผู้ทรงวิทยาคุณ มีพลังจิตตานุภาพสูง เป็นผู้มีคาถาอาคมแก่กล้า ท่านจึงเป็นที่พึ่งของชาวบ้านทั่ว ๆ ไป กว่า ๕๐ ปี ที่ท่านอยู่แม่สอด ได้มอบวัตถุมงคลให้กับลูกศิษย์ลูกหา ตลอดจนชาวบ้านทั่วไปนับแสน ๆ คน ปรากฎว่ายังไม่เคยมีผู้ใดประสบกับภัยอันตรายทั้งปวง จนท่านได้รับฉายานามว่า“เทพเจ้านักบุญแห่งลุ่มน้ำเมย”
สมณศักดิ์ของหลวงพ่อครูบากัญไชย ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นพระครูสิริรัตนาภรณ์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๒ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลแม่กาษา เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๓๓

ปลายปี ๒๕๔๑ หลวงพ่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่สอดหลายครั้งด้วยโรคหลอดลมอักเสบ เคยอาพาธหนักที่สุดเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๔๑ หลังจากนั้นหลวงพ่อเข้ารับการรักษาอีกครั้ง ในวันอังคารที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ เมื่อเวลาบ่าย และต่อมา หลวงพ่อได้ละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา ๒๒.๐๕ น. ของวันอังคารที่ ๙ แรม ๙ ค่ำ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ สิริอายุรวม ๘๓ ปี ๘ เดือน ๗ วัน ๖๔ พรรษา

ที่มา “เล่า เรื่อง พระ”

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: