2048.ประวัติพระแก้วมรกต อันศักดิ์สิทธิ์ แห่งวัดหลวง จ.น่าน

ประวัติพระแก้วมรกต วัดหลวง จ.น่าน

วัดหลวง ตำบลสวด อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน พระแก้วมรกตของวัดหลวง ตำบลสวด อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน ได้มาเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ข้าพเจ้านายปั๋น อินหลี อดีตกำนันตำบลสวด ได้รับคำบอกเล่าจาก พ่อตา มหาวรรณ (พ่อตาจันทร์) อยู่บ้านทุ่งผึ้ง ตำบลสวด ซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปนานแล้ว ท่านบอกว่าพระแก้วมรกตที่อยู่วัดหลวง องค์นี้ แต่เดิมมีคนบ้านหลวง เมืองสวด ชื่อ นายใหม่บอนกับพวกหลายคน ได้ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารสู้รบกับข้าศึกที่เมืองเชียงตุง ปัจจุบันอยู่ประเทศพม่า ทิศเหนือของจังหวัดเชียงราย อยู่เป็นเวลานานการสู้รบด้วย มีด หอก ดาบฟันแทงกับฝ่ายข้าศึก นายใหม่บอนกับพวกรู้ว่าตนเองมีความสามารถเก่งกล้าในทางไสยศาสตร์ คาถาอาคมมีเครื่องรางของขลัง และชั้นเชิงปฏิภาณไหวพริบ ได้สู้รบอย่างเต็มที่ ข้าศึกที่มีกำลังมากกว่า จึงได้ออกมาอาศัยอยู่

บนจอมปลวกที่สูงใหญ่ ตั้งหลักสู้รบกัน ฝ่ายข้าศึกปีนจอมปลวกขึ้นมาก็ถูกฝ่ายนายใหม่บอนกับพวกฟันแทง เพราะฝ่ายของนายใหม่บอนมีชั้นเชิงเหนือกว่าข้าศึก เมื่อทางฝ่ายข้าศึกยิงปืนมาทางจอมปลวก ที่พวกนายใหม่บอนอาศัยหลบอยู่ลูกปืนก็ไม่ถูกจอมปลวก ถึงแม้ข้าศึกจะใช้วิธีใดสู้รบก็ไม่สามารถจะสู้ได้ จนข้าศึกอ่อนกำลังลงไม่สามารถที่จะสู้รบต่อไปได้ จึงล่าถอยไป เมื่อข้าศึกถอยไปแล้วนายใหม่บอนกับพวก จึงพิจารณาดูว่าที่จอมปลวกที่พวกตนอาศัยหลบอยู่คงจะมีของดีอะไรสักอย่าง ทำให้แคล้วคลาดจากอันตรายของข้าศึก จึงได้ช่วยกันค้นหาและขุดดินจอมปลวกดู ก็ได้พบพระแก้วมรกตองค์ดังกล่าวอย่างง่ายดาย นายใหม่บอนกับพวกจึงได้เดินทางกลับพร้อมอัญเชิญพระแก้วมรกตมาด้วย เมื่อมาถึงบ้านนายใหม่บอนกับพวกจึงได้ปรึกษาหารือกันกับญาติพี่น้อง ผู้เฒ่า ผู้แก่ เล่าเรื่องการสู้รบกับข้าศึกจนได้พระแก้วมรกตมา ทั้งหมดเห็นว่าพระแก้วมรกตองค์ดังกล่าวควรเก็บไว้ที่วัดหลวง เพื่อให้ชาวบ้านได้สักการบูชาเป็นของคู่บ้านคู่เมือง เป็นสิริมงคล ทำให้ชาวบ้านอยู่ร่มเย็นเป็นสุข เมื่อพระแก้วมรกตได้เก็บไว้ที่วัดหลวง

ความถึงเจ้านายฝ่ายเหนือ (ฝ่ายข้าราชการและฝ่ายสงฆ์) ว่าอยากจะเห็นองค์พระแก้วมรกตว่ามีลักษณะอย่างไร จึงเดินทางมาที่วัดหลวงหลายครั้ง พูดจาหว่านล้อม ใช้เล่ห์กลทุกวิถีทางเพื่ออยากได้พระแก้วมรกตองค์นี้ไปไว้ที่วัดใหญ่ในเมือง วัดที่เล็กไม่ควรเก็บรักษาไว้ ฝ่ายศรัทธาชาวบ้านไม่ยอมให้ดูก็บอกว่าไม่เคยรู้เคยเห็น บางครั้งมีเจ้านายฝ่ายเหนือเดินทางมาโดยไม่บอกล่วงหน้า เมื่อมาถึงวัดก็จะไปตรวจดูที่แท่นพระทันที แต่ทางเจ้าอาวาส เณร ปฏิเสธ ทุกครั้ง จากนั้นมีคนคิดวางแผนตอนกลางคืน มีคนจุดไฟเผาบ้านของพ่อเฒ่าแปง มงคล ซึ่งอยู่ใกล้วัด เพื่อให้ชาวบ้านแตกตื่นไปช่วยกันดับไฟไหม้ ฝ่ายพระ เณร ทางวัดก็เก็บข้าวของเพื่อหนีไฟชุลมุน วุ่นวาย จึงทำให้พระสูญหายไป 1 องค์ คือ พระสมาศร์เพชร ซึ่งเก็บไว้คู่กับพระแก้วมรกต จึงเหลือแต่พระแก้วมรกตองค์เดียวนับว่าเป็นอัศจรรย์อย่างยิ่งที่องค์พระแก้วมรกต ไม่สูญหาย จึงเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองให้ชาวบ้านหลวงได้สักการะ บูชา รดน้ำ ในวันเข้าพรรษา ออกพรรษา และวันสงกรานต์ปีใหม่ทุกปี หลังจากมีเหตุการณ์ต่าง ๆ มีผู้ไม่หวังดีอยากได้องค์พระแก้วมรกตไปครอบครอง ศรัทธา ชาวบ้าน ผู้เฒ่า ผู้แก่ จึงได้ตกลงกันว่าหากมีการนำพระแก้วมรกตไว้ที่วัดจะสูญหายแน่ จึงตกลงกันว่าการรักษาองค์พระแก้วมรกตจะมีการหมุนเวียนให้ผู้เฒ่า ผู้แก่ ที่มีความซื่อสัตย์ไว้ใจได้เป็นผู้เก็บรักษา โดยหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามบ้าน เช่น บ้านของหมื่นวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ จะรู้กันเพียงไม่กี่คน เพื่อปิดบังการโจรกรรม และสูญหาย หากถึงวันสำคัญทางศาสนาก็จะนำมารดน้ำดำหัวสักการะเสร็จแล้วก็จะเก็บไว้เหมือนเดิม

ต่อมาปี พ.ศ. 2530 ได้มีการประชุมศรัทธา ผู้เฒ่า ผู้แก่ ในคุ้มวัดหลวง ถึงการเก็บรักษาองค์พระแก้วมรกตไว้ที่วัดหลวง เพื่อจะได้ช่วยกันดูแลรักษาป้องกันการสูญหายและเลียนแบบ มติที่ประชุมได้ตกลงกันแล้ว จึงได้ช่วยกันบริจาคเงินทองซื้อเหล็กเส้น เหล็กแผ่น ใส่กระจกอย่างดี เก็บรักษาไว้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2530 แล้วถ่ายรูปเอาไว้เพื่อให้ชาวบ้านได้เก็บไว้บูชา ใบใหญ่บูชาใบละ 10 บาท ส่วนใบเล็กในกรอบอัด สำหรับติดตัวไปไหนมาไหน บูชาใบละ 23 บาท เมื่อมีคนมาบูชาอัดใส่กรอบติดตัวไปไหนมาไหน เมื่อเกิดอุบัติเหตุ อันตรายขึ้น ไม่ว่าทางรถยนต์ชนกัน รถคว่ำ หรืออุบัติเหตุอย่างใดก็ตาม ก็แคล้วคลาดปราศจากอันตรายทุกครั้งไป ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่าองค์พระแก้วมรกตมีปาฏิหาริย์ช่วยคุ้มครอง จึงเคารพบูชากันต่อ ๆ มา
ต่อมาทางคณะกรรมการวัดหลวงจึงได้ร่วมกันจัดทำรูปเหมือนองค์พระแก้วมรกต เพื่อให้ศรัทธาชาวพุทธศาสนิกชนได้สักการบูชา โดยจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2537 และได้นิมนต์พระอาจารย์ชื่อดังหลายรูปมาทำการปลุกเสก เช่น พระครูอินทรสรวิสุทธิ์ วัดเมืองราม อำเภอเวียงสา โดยได้จัดทำขึ้น 3 แบบคือพระกริ่งเงินบูชาองค์ละ 399 บาท พระกริ่งทองแดงบูชาองค์ละ 59 บาท พระเหรียญทองแดงบูชาองค์ละ 29 บาท ได้มีศรัทธาชาวบ้านนำไปสักการบูชามากมาย ก่อนจะเก็บองค์พระแก้วมรกตไว้ในห้องพระที่วัดหลวง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2530 หลวงพ่อใจ๋มาเป็นเจ้าอาวาส พร้อมพระภิกษุ 9 รูปทำพิธีปลุกเสก พ.ต.ท.เฉลียว ขจรบริรักษ์ สารวัตรฯ กิ่งอำเภอบ้านหลวง เป็นประธานจุดธูปเทียน นายปั๋น อินหลี เป็นกำนันตำบลสวด นายคำตั๋น คนสูง เป็นไวยาวัจกร (หมื่นวัด) ปลุกเสกรุ่นเหรียญทอง พระครูอินทรสร วิสุทธิ์ วัดเมืองรามอำเภอเวียงสา เป็นประธานปลุกเสก พระนิคม ธีรปัญโญ (ขยัน) เป็นเจ้าอาวาส นายพินิจ หาญพาณิชย์นายอำเภอบ้านหลวง เป็นประธานจุดธูปเทียน นายศรีนวล แก้วใหม่ เป็นกำนันตำบลสวด นายทา มงคลเป็นไวยาวัจกร (หมื่นวัด)
พ่อตา มหาวรรณ หมู่ที่ 6 บ้านทุ่งผึ้ง ตำบลสวด อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน

Cr.พ่อปั๋น อินหลี อดีตกำนันตำบลสวด บ้านป่าเป๋ย ตำบลสวด อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน
ขอขอบคุณข้อมูล สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบ้านหลวงตวยครับผม

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: