2038.หลวงปู่ชอบออกธุดงค์ พบพระสมัยพุทธกาล!!

พบพระสมัยพุทธกาล!! หลวงปู่ชอบออกธุดงค์กลางป่า พบ พระพากุลเถระ ภิกษุสมัยพุทธกาล มาโปรดธรรม พร้อมขอให้ หลวงปู่อย่าละการธุดงค์!!

หลังจากพ้นพรรษาที่ถ้ำดอกคำ หลวงปู่ชอบมีความตั้งใจว่าจะธุดงค์เข้าพม่าให้จงได้ แม้จะทราบว่า เส้นทางป่าเขาฝั่งพม่าเต็มไปด้วยความยากลำบาก และถูกทัดทานจากสหธรรมิกหลายรูปก็ตาม ท้ายที่สุด หลวงปู่ชอบจึงเดินธุดงค์เข้าเขตป่าพม่านานถึง ๓ ปี ท่านเล่าว่า

“เมืองพม่านั้นมีมนต์เพรียกให้ไปเยี่ยมให้ได้ ไม่ว่าจะมีอุปสรรคอะไรขวางกั้นก็ต้องไปให้ได้”

ซึ่งเสียงเพรียกที่เรียกนี้ก็มาจากส่วนหนึ่งในอดีตชาติของท่านที่เคยอยู่ในพม่านั่นเอง

หลวงปู่ชอบเดินธุดงค์ตามแนวป่าเขาในเขตแดนพม่า ตลอดเส้นทางแทบจะไม่พบเจอผู้คนเท่าใดนัก ส่วนใหญ่ก็จะมีแต่เทวดาที่มาฟังธรรมในยามค่ำคืน คราวใดที่ท่านปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเดินจงกรม ทำสมาธิภาวนา หรือเจริญพระพุทธมนต์ กระแสแห่งธรรมเหล่านี้ก็จะแผ่กระจายสะเทือนไปทั่วทั้งไตรภูมิ รับรู้ได้ถึงสวรรค์ชั้นฟ้า

ในดินแดนที่เต็มไปด้วยมนต์ขลังแห่งนี้เองได้บังเกิด “บทเพลงอรหันต์” อันเป็น “ธรรมสากัจฉา” คือ “ปุจฉา-วิสัชนา” อันลือลั่น ระหว่างหลวงปู่ชอบกับพระพากุลเถระและพระมหากัสสปเถระ สองพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล บทเพลงเสวนาธรรมในนิมิตนั้นเป็นบทจารึกธรรมที่ถูกบันทึกถ่ายทอดให้ลูกหลานชาวพุทธเข้าใจหลักธรรมได้กระจ่างชัดอีกครั้ง

บทสนทนาธรรมแห่งอรหันต์เริ่มต้นขึ้น เมื่อหลวงปู่ชอบได้เดินธุดงค์มาพักอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง และได้ทำบริขารชิ้นหนึ่งหายไปในช่วงกลางวัน ตามหาเท่าไรก็ไม่เจอ จนเลิกล้มการค้นหา พอพลบค่ำ ท่านนั่งสมาธิเจริญภาวนา กระทั่งยามดึกสงัดก็ปรากฏนิมิตแจ่มกระจ่างขณะที่ดำรงในองค์ภาวนา ในนิมิตมีพระอรหันตเถระท่านหนึ่งแสดงปาฏิหาริย์ลอยเหาะตรงมายังถ้ำแล้วหยุดอยู่ที่หน้าหลวงปู่ชอบ ทราบได้ทันทีว่ามีนามว่า “พระพากุละ” รูปร่างสูงขาว สวยงาม พระอรหันต์เข้ามาสอบถามว่า

“ท่านกำลังมองหาบริขารที่หายไปในช่วงกลางวันใช่หรือไม่” (พลางชี้มือไปแล้วบอกว่า) “อยู่ที่นั่น มิได้หาย … ท่านลืมไว้ต่างหาก”

เช้าวันรุ่งขึ้น หลวงปู่ชอบเดินไปดูยังตำแหน่งที่พระพากุละบอก ซึ่งก็เห็นบริขารอยู่ตรงนั้นจริงๆ สร้างความแปลกใจเป็นอย่างมาก

ในคืนวันนั้นเอง ทันทีที่หลวงปู่ชอบเข้าสมาธิก็เกิดนิมิตกระจ่างใสดังจันทร์เพ็ญ ในนิมิตเห็นพระพากุละเหาะมาเยี่ยมท่านเหมือนคืนที่ผ่านมา พระอรหันต์ได้สรรเสริญว่า ท่านเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สมเป็นพุทธทายาทของอริยวงศ์ จากนั้นจึงได้แสดงธรรมแก่ท่านโดยเน้นข้อ “ธุดงควัตร” โดยมีความดังนี้

“จงพยายามรักษาธุดงค์ไว้ให้มั่นคงต่อไป อย่าให้เสื่อมร่วงโรยไปเสีย ธุดงควัตรเสื่อมเท่ากับศาสนาเสื่อม แม้คัมภีร์ธรรมทั้งหลายยังมีอยู่ก็ไม่อาจทรงคุณค่าแก่ผู้สนใจเท่าที่ควร ธุดงควัตรเป็นธรรมขั้นสูงมาก ผู้รักษาธุดงค์ได้ต้องเป็นผู้มีจิตใจสูง

ท่านควรทราบว่า พระอริยเจ้าทุกประเภทไปจากธุดงควัตรนี้ทั้งนั้น เพราะธุดงค์เป็นธรรมเครื่องทำลายกิเลสได้ทุกประเภท ธุดงควัตรจึงเป็นทางเดินเพื่ออริยธรรม อริยบุคคล คนไม่มีธุดงควัตรคือคนวัตรร้าง เช่นเดียวกับบ้านร้าง เมืองร้าง อะไรก็ตาม ถ้าลงได้ร้างแล้วไม่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาเลย

ท่านจงรักษาธุดงควัตรอันเป็นเครื่องทำลายกิเลสไว้ให้ดีและมั่นคง อย่าให้เป็นพระวัตรร้าง เพราะจะเป็นทางรั่วไหลแตกซึมแห่งมรรคผลนิพพานที่ควรจะได้จะถึง พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายบรรดาที่เลิศแล้วล้วนแต่รักษาธุดงควัตรกันทั้งนั้น ใครประมาทธุดงค์ว่าไม่สำคัญ ผู้นั้นคือผู้หมดสาระสำคัญในตัวเอง ท่านจงรักษาความสำคัญของตนไว้ด้วยธุดงควัตร

ผู้ที่มีธุดงควัตรเป็นผู้มีอำนาจทั้งภายนอกภายในอย่างลึกลับจับใจที่บอกใครไม่ได้ เป็นผู้เด่นในวงทวยเทพชาวไตรภพทั้งหลาย มนุษย์และเทวดาทุกชั้นภูมิเคารพรักผู้มีธุดงควัตรประจำตัวอยู่ และไปที่ไหนไม่เป็นภัยแก่ตัวเองและผู้อื่น มีแต่ความเย็นฉ่ำภายในทั้งกลางวันและกลางคืน

ธุดงควัตรเป็นธรรมลึกลับ ยากที่จะมองเห็นความสำคัญ ทั้งที่ธุดงควัตรเป็นธรรมสำคัญในศาสนามาดั้งเดิม ธุดงควัตรเป็นหลักใหญ่แห่งพระศาสนา ผู้ที่มีธุดงค์ประจำตัวคือผู้รู้ความสำคัญของตัวและรักษาถูกจุดแห่งความสำคัญได้ดี เป็นที่น่าชมเชยอย่างถึงใจ ผู้ที่มีธุดงควัตรดีเป็นผู้มีจิตใจเมตตาอ่อนโยนในสัตว์ทั้งหลาย ถ้ายังมีผู้ปฏิบัติธุดงควัตรอยู่ตราบใด ศาสนาก็ยังทรงออกทรงผลอยู่ตราบนั้น เพราะธุดงค์เป็นทางที่ไหลมาแห่งมรรคและผลทุกชั้น ไม่มีสถานที่ กาลเวลา หรือสิ่งใดๆ มาเป็นอุปสรรคกีดขวางทางเดินเพื่อมรรคผลนิพพานได้ ถ้าธุดงควัตรยังเป็นไปอยู่กับผู้ปฏิบัติทั้งหลาย

ท่านจงจดจำให้ถึงจิต คิดไตร่ตรองให้ถึงธรรม ถือธุดงควัตรดังกล่าวมา อยู่ที่ใดไปที่ใดจะชุ่มเย็นอยู่กับตัวท่านเอง ธุดงควัตรนี่แลคือบ่อเกิดแห่งธรรมทั้งหลายดังนี้”

ในนิมิตนั้น หลังจากพระพากุละแสดงธรรมเทศนาเป็นที่เรียบร้อยก็ได้จากไป แต่ถึงแม้พระอรหันตเถระจะจากไปแล้ว ข้อธรรมที่ท่านได้แสดงไว้ก็ยังจารึกอยู่ในใจไม่รู้ลืม หลวงปู่ชอบนำข้อธรรมที่เต็มไปด้วยความลุ่มลึกนั้นมาพิจารณาและรู้สึกว่า

“การดำเนินของเราคงไม่เป็นโมฆะในวงพระศาสนา มิฉะนั้น พระอรหันต์องค์วิเศษคงไม่เหาะมาโปรดเมตตาให้เสียเวลา”

คิดได้ดังนี้ก็รู้สึกมีกำลังใจ เร่งความเพียรภาวนาอย่างเต็มที่


ประวัติพระพากุละ

พระพากุลเถระ เอตทัคคะ : เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีโรคภัยไข้เจ็บน้อยที่สุดด้วย

พากุละ แปลว่า คนสองตระกูล ไม่ปรากฎนามของบิดามารดา ท่านเป็นบุตรเศรษฐีในเมืองโกสัมพี

เมื่อเวลาที่ท่านคลอดออกมาได้ ๕ วัน มีการทำมงคลโกนผมหน้าไฟพร้อมทั้งตั้งชื่อ พี่เลี้ยงนางนมได้พาท่านไปอาบน้ำที่แม่น้ำคงคา ขณะนั้นได้มีปลาใหญ่ตัวหนึ่งมาคาบเอาทารกแล้วกลืนเข้าไปในท้อง แต่เพราะเด็กนั้นเป็นผู้มีบุญ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “ปัจฉิมภวิกสัตว์” แปลว่า “ผู้เกิดในภพสุดท้าย” ถ้ายังไม่บรรลุพระอรหันต์ อย่างไรเสียก็จักยังไม่ตาย ต่อมาปลาได้ถูกชาวประมงจับได้แล้วนำไปขายให้ตระกูลเศรษฐีในเมืองพาราณสี พอผ่าท้องปลาออกมา ก็ได้เจอทารกน้อย เลยเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม

ฝ่ายบิดามารดาเก่าเมื่อได้ทราบข่าวจึงมาขอบุตรคืน แต่ทั้งสองฝ่ายก็ตกลงกันไม่ได้ จึงถวายฎีกาต่อพระเจ้าพาราณสี พระองค์จึงทรงวินิจฉัยให้ตระกูลทั้งสองสลับเปลี่ยนกันเลี้ยงตระกูลละ ๔ เดือนท่านใช้ชีวิตอยู่ในตระกูลทั้ง ๒ อย่างมีความสุข จนกระทั่งอายุถึง ๘๐ ปี

ท่านพร้อมด้วยบริวารได้ไปฟังพระธรรมเทศนา ในเวลาที่พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดชาวเมืองพาราณสี จึงได้ทูลขอบวช ในขณะที่ท่านมีอายุ ๘๐ ปี เมื่อท่านบวชแล้ว ก็ตั้งใจศึกษาและปฏิบัติด้วยความไม่ประมาท มีความพากเพียรพยายามเจริญวิปัสสนากรรมฐานเพียง ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหันต์

เชื่อกันว่า

ท่านได้มีอายุยืนถึง ๑๖๐ ปีคือเป็นฆราวาส ๘๐ ปี และเป็นพระอยู่ ๘๐ ปี ตำนานกล่าวว่าท่านมีอายุยืนยาวนาน เพราะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน โดยไม่ต้องฉันยารักษาโรคเลยที่เป็นเช่นนี้เพราะท่านเคยสร้างเว็จจกุฎีถวายสงฆ์ และได้บริจาคยาให้เป็นทานนั้นเอง

Cr.ตังค์​ ตังค์

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: