6110. “วิธีที่ดีที่สุดในการธำรงค์รักษาพระพุทธศาสนา…ขอให้เริ่มที่ตัวเราปฏิบัติธรรมให้ถูกต้อง” พระราชดำรัสของในหลวงร.๙ถึงแนวทางการดูแล “พุทธศาสนา”

พระราชดำรัส เพื่อเชิญไปอ่านในวันเปิดประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ครั้งที่ ๑๕ ณ กรุงกาฎมัณฑุ ประเทศเนปาล วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๙

“… โอกาสนี้ ใคร่จะปรารภกับท่านทั้งหลายถึงความมั่นคงของพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งแนวทางที่จะอภิบาลบำรุง

พระพุทธศาสนานั้น หากหมายถึงคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้ๆ ย่อมมีความแน่นอนมั่นคง หาภัยอันตรายหรือผู้ใดเหตุใดจะมาเบียนบ่อนทำลายมิได้ เพราะคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาเป็นธรรมะ คือหลักความจริงที่คงความจริงอยู่ตลอดกาลทุกเมื่อ ไม่มีแปรผัน

ดังนั้น การรักษาความมั่นคงของพระพุทธศาสนาก็ดี การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาก็ดี เมื่อพูดให้ตรงจึงน่าจะหมายถึงการคุ้มครองป้องกันและทำนุบำรุงพุทธบริษัทยิ่งกว่าอย่างอื่น

การป้องกันและทำนุบำรุงนี้มีแนวทางอันเป็นพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งว่า ทุกคนที่ถือตัวว่าเป็นชาวพุทธจะต้องสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาตามภูมิปัญญา ความสามารถ และโอกาสของตนที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจที่กระจ่างถูกต้องในหลักธรรม

และเมื่อศึกษาเข้าใจแล้ว เห็นประโยชน์แล้ว ก็น้อมนำมาปฏิบัติ ทั้งในกิจวัตรและในกิจการงานของตน เพื่อให้ได้รับผล คือความสุข ความสงบร่มเย็น และความเจริญงอกงามในชีวิต เพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับ ตามขีดความสามารถและความประพฤติปฏิบัติของแต่ละคน

เมื่อชาวพุทธรู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะอย่างถูกต้องทั่วถึง พระศาสนาก็จะมั่นคงขึ้นได้ ทั้งนี้ เพราะเหตุที่บ่อนเบียนพระศาสนาให้เศร้าหมองนั้นมักจะมาจากการกระทำของชาวพุทธผู้ไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่ปฏิบัติตามธรรมะนั้นเองเป็นสำคัญ …”

ซึ่งพระองค์ได้ทรงเน้นย้ำเรื่องนี้เป็นอย่างมากว่าขอให้การธำรงพระศาสนาต้องเกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้อง จาก พระราชดำรัส พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดสัมมนาของสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติฯ ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ณ ศาลาธรรมชินราชปัญจบพิธ วัดเบญจมบพิธฯ วันเสาร์ที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕

“… พระพุทธศาสนานั้น ถ้าหมายถึงคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้ๆ แล้ว ก็หาภัยอันตรายมิได้ ไม่มีผู้ใดหรือเหตุใดๆ จะเบียนบ่อนทำลายได้เลย เพราะคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาเป็นธรรมะ คือหลักความจริงที่คงความจริงอยู่ตลอดกาลทุกเมื่อ ไม่มีแปรผัน

ดังนั้น การป้องกันภัยให้แก่พระพุทธศาสนาก็ดี การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาก็ดี พูดให้ตรงจึงน่าจะหมายถึงการป้องกันภัยให้แก่พุทธบริษัทและการทำนุบำรุงพุทธบริษัทยิ่งกว่าอื่น

การป้องกันและทำนุบำรุงนี้ ในรายละเอียดย่อมต้องกระทำกันอย่างจริงจังมากมายหลายอย่างโดยรอบทุกด้าน ตามที่ผู้ร่วมงานแต่ละฝ่ายแต่ละท่านจะประชุมปรึกษากันต่อไป

แต่โดยหลักใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในการป้องกันหรือในการทำนุบำรุง ควรจะมุ่งถึงวิธีการสำคัญขั้นพื้นฐานประการหนึ่งว่า ทุกคนที่ถือตัวว่าเป็นพุทธศาสนิกชนจะต้องศึกษาพระพุทธศาสนาตามภูมิปัญญา ความสามารถ และโอกาสของตนๆ ที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องกระจ่างชัดขึ้นในหลักธรรม

เมื่อศึกษาเข้าใจแล้ว เห็นประโยชน์แล้ว ก็น้อมนำมาปฏิบัติทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวันและการงานของตน เพื่อให้เกิดความสุข ความสงบร่มเย็น และความเจริญงอกงามในชีวิต เพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับตามขีดความประพฤติปฏิบัติของแต่ละคน

ถ้าชาวพุทธรู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะอย่างถูกต้องทั่วถึงกันมากขึ้น ปฏิบัติการบ่อนเบียนพระศาสนาให้เศร้าหมองก็จะลดน้อยลง เพราะทุกวันนี้ที่เกิดความเสื่อม ความเสียหาย ก็มิใช่ผู้ใดใครอื่นทำให้ เป็นเรื่องที่ชาวพุทธผู้ไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่ปฏิบัติตามธรรมะ ทำขึ้นเกือบทั้งนั้น …”

ท่านยังสามารถหาอ่าน พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส ในเรื่องธรรมะได้ที่ หนังสือ ธรรมะจากพระโอษฐ์

ขอขอบคุณท่านเจ้าของเรื่อง
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: