1841.แก้วโป่งข่ามวิฑูร ค่าควรเมือง

แก้วโป่งข่ามวิฑูร ค่าควรเมือง

แก้ววิฑูร จัดเป็นแก้วโป่งข่ามในวรรณะชั้นสูง แก้ววิฑูรมีหลายสี เช่น สีขาว สีดำ สีเขียว สีเหลือง สีส้มอมแดง และสีน้ำผึ้ง สีของแก้ววิฑูร อาจจะเป็นสีเดียวทั้งเม็ด หรือมีสีอื่นแซม อาจมีลายเป็นริ้วเส้น หรืออาจมีลายเส้นเป็นวงกลมลักษณะคล้ายแก้วตาเสือ
แก้ววิฑูรที่พบส่วนใหญ่ จะมีสีขุ่น อยู่ภายในเนื้อแก้ว เนื้อที่สวยและหายากคือ สีเหลืองใส อาจมีรอยริ้วภายใน หรือไม่มีก็ได้ มีคนสอบถามขอเคล็ดวิธีเลือกดูแก้ววิฑูรสีน้ำผึ้ง ก็เลยขอบอกเคล็ดวิธีเทียบดูของโบราณที่ใช้วัดลักษณะสีแก้ว แก้ววิฑูรที่หายากและโบราณตีค่าควรเมืองมี 2 แบบ คือ
1. แก้ววิฑูร สีน้ำผึ้ง (หนามเฮี้ยง) ลักษณะเป็นแก้วสีเหลืองใสคล้ายสีน้ำผึ้ง คือ จะไม่เหลืองมากนักแต่จะเป็นเหลืองอมส้ม โบราณจะเทียบสีวิฑูรสีน้ำผึ้ง โดยใช้น้ำผึ้งป่าเดือน 5 ใส่ภาชนะใส แล้วนำแก้ววิฑูรมาเทียบสี หากสีเรียบเสมอกันจึงถือว่าวรรณะสีใช้ได้เป็นดั่งหนามเฮี้ยง มีค่าควรเมือง หรือหากแก้วดวงใดมีลายเส้นเกิดขึ้นภายในเนื้อแก้ว ส่องดูแล้วลายเส้นคล้ายเส้นไหมเหลืองแดง (แสดแดง แสดเหลือง) เป็นลายคล้ายทางน้ำไหล เรียกว่า มธุปทัมก่าน จัดเป็นแก้ววิฑูรสีน้ำผึ้ง ที่หากยากมากที่สุด แก้วชนิดนี้ ในสมัยโบราณกำหนดไว้ควรคู่กับเจ้าเมือง เจ้านาย คหบดีชั้นสูงเท่านั้น

2. แก้ววิฑูร สีแดงชาต ลักษณะเป็นแก้วสีแดงสดอมส้ม คือจะไม่แดงสดมากนัก จัดเป็นแก้วประภาชนิดหนึ่ง แก้วที่มีวรรณะสีแดงสดอมส้ม ไร้สีอื่น ไร้รอยริ้ว มีชื่อเรียกว่า แก้วสุริยะประภา การเทียบสีแก้ว โบราณใช้แก้วส่องกับแสงอาทิตย์ในยามเช้า ให้มองผ่านแก้ว ถ้าหากสีกลางด้านในทึบเป็นวงกลมคล้ายดวงอาทิตย์ สีขอบของแก้วใสเหมือนสีของแสงอาทิตย์ นั้นคือ แก้วเนื้อดี เรียกว่า สุริยะประภา

แก้ววิฑูร ทุกวรรณะ ทุกสี เชื่อว่ามีคุณทางความชุ่มเย็น โชคลาภ ค้าขาย การติดต่อชื่อเสียงและอำนาจ ตามความเชื่อ แก้ววิฑูรสีน้ำผึ้ง จะเด่นทางด้าน โชคลาภ ลาภลอย ค้าขาย ส่วนแก้ววิฑูร สีแดงชาต เด่นทางด้านชื่อเสียงและอำนาจ โชคลาภค้าขาย และทางแคล้วคลาด
แก้วโป่งข่ามวิฑูรมีหลายวรรณะ หลายสี ดังนั้น ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนอาจชอบสีและวรรณะที่ต่างกัน หลายคนชอบแก้ววิฑูร สีทึบ หรือที่เรียกว่า น้ำตัน แก้ววิฑูรชนิดทึบที่มีลายแร่ภายใน ต้องพิจารณาเลือกให้ดี เพราะอาจมีลายที่เกิดโทษ ตามตำราได้ ซึ่งจะถือว่าเป็นแก้วที่ให้โทษมากกว่าให้คุณ หรือที่เรียกว่า มลทินแก้ว ในตำราวชิรเป็ก เรียกว่า โทษารัตนา หรือ แก้วอุบาทว์

Cr.อัมรินทร์ สุขสมัย

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: