1812.ตามรอยตำนานหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ

ตามรอยตำนานหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ
ชีวประวัติและปฎิปทาคือจริยธรรม ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ที่ท่านกำลังอ่านอยู่ขณะนี้ ผู้เขียนได้พยายามเสาะแสวงหามารวบรวมตามกำลังความสามารถจากพระอาจารย์หลายท่านที่เคยเป็นศิษย์อยู่ศึกษาอบรมกับท่านมาเป็นยุคๆ จนถึงวาระสุดท้าย แต่คงไม่ถูกต้องแม่นยำหนักตามประสงค์เท่าไรนัก เพราะท่านที่จดจำมาและผู้รวบรวมคงไม่อาจรู้และจำได้ทุกประโยค และทุกกาลสถานที่ที่ท่านเที่ยวจาริกบำเพ็ญและแสดงให้ฟังในที่ต่างๆ กัน ถ้าจะรอให้จำได้หมดทุกแง่ทุกกระทงถึงจะนำมาลงก็นับวันจะลบเลือนและหลงลือไปหมด คงไม่มีหวังได้นำมาลงให้ท่านผู้สนใจได้อ่านพอเป็นคติแก่อนุชนรุ่นหลังอย่างแน่นอน ดังนั้น แม้จะเป็นประวัติที่ไม่สมบูรณ์ทำนองล้มคุกคลุกคลาน ก็ยังหวังว่าจะเกิดประโยชน์อยู่บ้าง การเขียนประวัติและจริยธรรมของท่านทั้งภายนอกที่แสดงออกทางกาย วาจา และภายในที่ท่านรู้เห็นเฉพาะใจแล้วแสดงให้ฟังนั้น จะเขียนเป็นทำนองเกจิอาจารย์ที่เขียนประวัติของพระสาวกทั้งหลาย ดังที่ได้เห็นในตำราซึ่งได้แสดงไว้ต่างๆ กัน เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้เห็นร่องรอยที่ธรรมแสดงผลแก่ท่านผู้สนใจปฏิบัติตามมาเป็นยุคๆ จนถึงสมัยปัจจุบัน หากไม่สมควรประการใด แม้จะเป็นความจริงดังที่ได้ยินได้ฟังมาจากท่าน แต่ก็หวังว่าคงได้รับอภัยจากท่านผู้อ่านทั้งหลาย เนื่องจากเจตนาที่มีต่อท่านผู้สนใจในธรรมอาจได้คติข้อคิดบ้าง จึงได้ตัดสินใจเขียนทั้งที่ไม่สะดวกใจนัก

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เป็นอาจารย์ทางวิปัสสนาซึ่งควรได้รับยกย่องสรรเสริญอย่างยิ่งจากบรรดาศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิดท่าน ว่าเป็นอาจารย์วิปัสสนาชั้นเยี่ยมในสมัยปัจจุบัน จากเนื้อธรรมที่ท่านแสดงออกซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดได้มีโอกาสฟังอย่างถึงใจตลอดมา ทำให้ปราศจากความสงสัยในองค์ท่านว่า สมควรตั้งอยู่ในภูมิธรรมขั้นใด ท่านมีคนเคารพนับถือมาก ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ในภาคต่างๆ เกือบทั่วประเทศไทย นอกจากนั้น ท่านยังมีสานุศิษย์ทั้งนักบวชและฆราวาสในประเทศลาวอีกมากมายที่เคารพเลื่อมใสในท่านอย่างถึงใจตลอดมา ท่านมีประวัติงดงามมาก ทั้งเวลาเป็นคฤหัสถ์และเวลาทรงเพศเป็นนักบวช ตลอดอวสานสุดท้าย ไม่มีความด่างพร้อยเลย ซึ่งเป็นประวัติที่หาได้ยากในสมัยปัจจุบัน ความเป็นผู้มีประวัติอันงดงานตลอดสายนี้ รู้สึกจะหายากยิ่งกว่าหาเพชรหาพลอยเป็นไหนๆ

ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว โดยนายคำด้วงเป็นบิดา นางจันทร์เป็นมารดา นับถือพระพุทธศาสนา ประจำสกุลตลอดมา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม วันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ที่บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องกัน ๙ คน แต่เวลาท่านมรณภาพปรากฏว่า ยังเหลือเพียง ๒ คน ท่านเป็นคนหัวปี มีร่างเล็ก ผิวขาวแดง มีความเข้มแข็งว่องไวประจำนิสัย มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมาแต่เด็ก พออายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในสำนักวัดบ้านคำบง มีความสนใจและรักชอบในการศึกษาธรรมะ เรียนสูตรต่างๆ ในสำนักอาจารย์ได้อย่างรวดเร็ว มีความประพฤติและอัธยาศัยเรียบร้อย ไม่เป็นที่หนักใจหมู่คณะและครูอาจารย์ที่ให้ความอนุเคราะห์

เมื่อบวชได้ ๒ ปี ท่านจำเป็นต้องสึกออกไปตามคำขอร้องของบิดาที่มีความจำเป็นต่อท่าน แม้สึกออกไปแล้ว ท่านก็ยังมีความมั่นใจที่จะบวชอีก เพราะมีความรักในเพศนักบวชมาประจำนิสัย เวลาสึกออกไปเป็นฆราวาสแล้วใจท่านยังประหวัดถึงเพศนักบวชมิได้หลงลืมและจืดจาง ทั้งยังปักใจว่าจะกลับมาบวชอีกในไม่ช้า ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะอำนาจศรัทธาที่มีกำลังแรงกล้าประจำนิสัยมาดั้งเดิมก็เป็นได้

พออายุได้ ๒๒ ปี ท่านมีศรัทธาอยากบวชเป็นกำลังจึงได้ลาบิดามารดา ท่านทั้งสองก็อนุญาตตามใจไม่ขัดศรัทธา เพราะมีความประสงค์จะให้ลูกของตนบวชอยู่แล้ว พร้อมทั้งมีศรัทธาจัดแจงบริขารในการบวชให้ลูกอย่างสมบูรณ์ ท่านได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเลียบในตัวเมืองอุบล มีท่านพระอริยกวีเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูสีทาเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านพระครูประจักษ์อุบลคุณเป็นพระอนุศาสนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระอุปัชฌายะให้นามฉายาว่า ภูริทตฺโต เมื่ออุปสมบท แล้วได้มาอยู่ในสำนักวิปัสสนากับท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล วัดเลียบ เมืองอุบล

เกิดสุบินนิมิต
เมื่อท่านเริ่มปฏิบัติวิปัสสนาใหม่ๆ ในสำนักพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล วัดเลียบ อุบลราชธานี ท่านบริกรรมภาวนาด้วยบท พุทโธ ประจำนิสัยที่ชอบกว่าบรรดาบทธรรมอื่นๆ ในขั้นเริ่มแรก ยังไม่ปรากฏเป็นความสงบสุขมากเท่าที่ควร ทำให้มีความสงสัยในปฎิปทาว่าจะถูกหรือผิดประการ.. แต่มิได้ลดละความเพียรพยายาม ในระยะต่อมาผลปรากฏเป็นความสงบพอให้ใจเย็นบ้าง ในคืนวันหนึ่งเกิดสุบินนิมิตว่า ท่านออกเดินทางจากหมู่บ้านเข้าสู่ป่าใหญ่อันรกชัฏที่เต็มไปด้วยขวากหนามจนจะหาที่ด้นดั้นผ่านไปแทบไม่ได้ ท่านพยายามซอกซอนไปตามป่านั้นจนพ้นไปได้โดยปลอดภัย พอพ้นจากป่าไปก็ถึงทุ่งกว้างจนสุดสายตา เดินตามทุ่งไปโดยลำดับไม่ลดละความพยายาม ขณะที่เดินตามทุ่งไปได้พบต้นไม้ต้นหนึ่ง ชื่อต้นชาติ ซึ่งเขาตัดล้มลง ขอนจมดินอยู่เป็นเวลานานปี เปลือกและกระพี้ผุผังไปบ้างแล้ว ไม้ต้นนั้นรู้สึกใหญ่โตมาก ท่านเองก็ปีนขึ้นและไต่ไปตามขอนชาติที่ล้มนอนอยู่นั้น พร้อมทั้งพิจารณาอยู่ภายใน และรู้ขึ้นมาว่า ไม้นี้ไม่มีการงอกขึ้นได้อีก ซึ่งเทียบกับชาติของท่านว่าจะไม่กำเริบให้เป็นภพ-ชาติสืบต่อไปอีกแน่นอน คำว่าขอนชาติท่านพิจารณาเทียบกับชาติความเกิดของท่านที่เคยเป็นมาที่ขอนชาติผุผังไปไม่กลับงอกขึ้นได้อีก เทียบกับชาติของท่านว่าจะมีทางสิ้นสุดในอัตภาพนี้แน่ ถ้าไม่ลดละความพยายามเสีย ทุ่งนี้เวิ้งว้างกว้างขวางเทียบกับความไม่มีสิ้นสุดแห่งวัฏฏวนของมวลสัตว์ ขณะที่กำลังยืนพิจารณาอยู่ ปรากฏว่ามีม้าสีขาวตัวหนึ่งรูปร่างใหญ่และสูงเดินเข้ามาเทียบที่ขอนชาตินั้น ท่านนึกอยากจะขี่ม้าขึ้นมาในขณะนั้น เลยปีนขึ้นหลังม้าตัวแปลกประหลาดนั้น ขณะนั้นปรากฏว่าม้าได้พาท่านวิ่งไปอย่างเต็มกำลังฝีเทา ท่านเองก็มิได้นึกว่าจะไปเพื่อประโยชน์อะไร ณ ที่ใด แต่ม้าก็พาท่านวิ่งไปอย่างไม่ลดละฝีเท้า โดยไม่กำหนดทิศทางและสิ่งที่ตนพึงประสงค์ใดๆ ในขณะนั้น ระยะทางที่ม้าพาวิ่งไปตามทุ่งอันกว้างขวางนั้น รู้สึกว่าไกลแสนไกลโดยไม่อาจจะคาดได้ ขณะที่ม้ากำลังวิ่งไปนั้น ได้แลเห็นตู้ใบหนึ่ง ในความรู้สึกว่าเป็นตู้พระไตรปิฎกซึ่งวิจิตรด้วยเงินสีขาวงดงามมาก ม้าได้พาท่านตรงเข้าไปสู่ตู้นั้นโดยมิได้บังคับ พอถึงตู้พระไตรปิฎกที่ตั้งอยู่เฉพาะหน้า ส่วนม้าก็ได้หายตัวไปในขณะนั้น โดยมิได้กำหนดว่าได้หายไปในทิศทางใด ท่านได้เดินตรงเข้าไปหาตู้พระไตรปิฎกที่ตั้งอยู่ที่สุดของทุ่งอันกว้างนั้น ซึ่งมองจากนั้นไปเห็นมีแต่ป่ารกชัฏที่เต็มไปด้วยขวากหนามต่างๆ ไม่มีช่องทางพอจะเดินต่อไปได้อีก แต่มิทันจะเปิดดูตู้พระไตรปิฎกว่ามีอะไรอยู่ข้างในบ้าง เลยรู้สึกตัวตื่นขึ้น

สุบินนิมิตนั้นเป็นเครื่องแสดงความมั่นใจว่า จะมีทางสำเร็จตามใจหวังอย่างแน่นอน ไม่เป็นอย่างอื่น ถ้าไม่ลดละความเพียรพยายามเสียเท่านั้น จากนั้นท่านได้ตั้งหน้าประกอบความเพียรอย่างเข้มแข็ง มีบท พุทโธ เป็นคำบริกรรมประจำใจในอิริยาบถต่างๆ อย่างมั่นใจ ส่วนธรรมคือธุดงควัตรที่ท่านศึกษาเป็นประจำด้วยความรักสงวนอย่างยิ่งตลอดมา นับแต่เริ่มอุปสมบทจนถึงวันสุดท้ายปลายแดนแห่งชีวิต ได้แก่ ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ไม่รับคหปติจีวรที่เขาถวายด้วยมือ ๑ บิณฑบาตเป็นวัตรประจำวันไม่ลดละ เว้นเฉพาะวันที่ไม่ฉันเลยก็ไม่ไป ๑ ไม่รับอาหารที่ตามส่งทีหลัง คือรับเฉพาะที่ได้มาในบาตร ๑ ฉันมื้อเดียว คือฉันวันละหน ไม่มีอาหารว่างใดๆ ที่เป็นอามิสเข้ามาปะปนในวันนั้นๆ ๑ ฉันในบาตร คือมีภาชนะใบเดียวเป็นวัตร ๑ อยู่ในป่าเป็นวัตร คือเที่ยวอยู่ตามร่มไม้บ้าง ในป่าธรรมดา ในภูเขาบ้าง หุบเขาบ้าง ในถ้ำ ในเงื้อมผาบ้าง ๑ ถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร คือมีผ้า ๓ ผืน ได้แก่สังฆาฏิ จีวร สบง (เว้นผ้าอาบน้ำฝนซึ่งจำเป็นต้องมีในสมัยนี้) ๑ ธุดงค์นอกจากนี้ ท่านก็สมาทานและปฏิบัติเป็นบางสมัย ส่วน ๗ ข้อนี้ท่านปฏิบัติเป็นประจำ จนกลายเป็นนิสัยซึ่งจะหาผู้เสมอได้ยากในสมัยปัจจุบัน ท่านมีนิสัยทำจริงในงานทุกชิ้นทั้งกิจนอกการใน ไม่เหลาะแหละ มีความมุ่งหวังต่อแดนหลุดพ้นอย่างเต็มใจในอิริยาบถต่างๆ เต็มไปด้วยความพากเพียรเพื่อถอดถอนกิเลสทางภายใน ไม่มีความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมเข้ามาแอบแฝงได้ ทั้งๆ ที่มีกิเลสเหมือนสามัญชนทั่วๆ ไป เพราะท่านไม่ยอมปล่อยในให้กิเลสย่ำยีได้ มีการต้านทานห้ำหั่นด้วยความเพียรอย่างไม่ลดละ ซึ่งผิดกับคนธรรมดาอยู่มาก (ตามท่านเล่าให้ฟังในเวลาบำเพ็ญ)

ในระยะต่อมาที่แน่ใจว่าจิตมีหลักฐานมั่นคงพอจะพิจารณาได้แล้ว ท่านจึงย้อนมาพิจารณาสุบินนิมิต จนได้ความโดยลำดับว่า การออกบวชปฏิบัติตนสมควรแก่ธรรมก็เท่ากับการยกระดับจิตให้พ้นจากความผิดมีประเภทต่างๆ ซึ่งเปรียบเหมือนบ้านเรือนอันเป็นที่รวมแห่งสรรพทุกข์ และป่าอันรกชัฏทั้งหลายอันเป็นที่ซุ่มซ่อนแห่งภัยทั้งปวง ให้ถึงที่เวิ้งว้างไม่มีจุดหมาย ซึ่งเมื่อเข้าถึงแล้ว เป็นคุณธรรมที่แสนสบายหายกังวลโดยประการทั้งปวง ด้วยปฏิปทาข้อปฏิบัติที่เปรียบเหมือนม้าตัวองอาจเป็นพาหนะขับขี่ไปถึงที่อันเกษม และพาไปพบตู้พระไตรปิฎกอันวิจิตรสวยงาม แต่วาสนาไม่อำนวยสมบูรณ์จึงเป็นเพียงได้เห็น แต่มิได้เปิดตู้พระไตรปิฎกออกชมอย่างสมใจเต็มภูมิแห่งจตุปฎิสัมภิธาญาณทั้งสี่ อันเป็นคุณธรรมยังผู้เข้าถึงให้เป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องเลื่องลือระบือทั่วไตรโลกธาตุ มีความฉลาดกว้างขวางในอุบายวิธี ประหนึ่งท้องฟ้ามหาสมุทร ไม่มีความคับแค้นจนมุมในการอบรมสั่งสอนหมู่ชนทั้งเทวดาและมนุษย์ทุกชั้น แต่เพราะกรรมอันดีเยี่ยมไม่เพียงพอ บารมีไม่ให้ โอกาสวาสนาไม่อำนวย จึงเป็นเพียงได้ชมตู้พระไตรปิฎกและตกออกมาเป็นผลให้ทานได้รับเพียงชั้นปฏิสัมภิทานุศาสน์ มีเชิงฉลาดในเทศนาวิธีอันเป็นบาทวิถีแก่หมู่ชนพอเป็นปากเป็นทางเท่านั้น ไม่ลึกซึ้งกว้างขวางเท่าที่ควร ทั้งนี้แม้ท่านจะพูดว่า การสั่งสอนของท่านพอเป็นปากเป็นทางอันเป็นเชิงถ่อมตนก็ตาม แต่บรรดาผู้ที่ได้เห็นปฏิปทาคือข้อปฏิบัติที่ท่านพาดำเนินและธรรมะที่ท่านนำมาอบรมสั่งสอน แต่ละบทละบาท แต่ละครั้งแต่ละคราว ล้วนเป็นความซาบซึ้งจับใจไพเราะเหลือจะพรรณนาและยากที่จะได้เห็นได้ยินจากที่อื่นใดในสมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นสมัยที่ต้องการคนดีอยู่มาก

เกิดสมาธินิมิต
เมื่อท่านพักอบรมภาวนาด้วยยย บทพุทโธ อยู่ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลฯ ขณะที่จิตสงบลงปรากฏว่าเป็นอุคหนิมิตขึ้นมาในลักษณะคนตายอยู่ต่อหน้า แสดงอาการพุพองมีน้ำเน่าน้ำหนองไหลออกมา มีแร้งกาและสุนัขมากัดกินและยื้อแย่งกันอยู่ต่อหน้าท่านจนซากนั้นกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ เป็นที่น่าเบื่อหน่ายและสลดสังเวชเหลือประมาณในขณะนั้น เมื่อจิตถอนขึ้นมา ในวาระต่อไป ไม่ว่าจะนั่งภาวนา เดินจงกรม หรืออยู่ในท่าอิริยาบถใด ท่านก็ถือเอานิมิตนั้นเป็นเครื่องพิจารณาโดยสม่ำเสมอไม่ลดละ จนนิมิตแห่งคนตายนั้นได้กลับกลายมาเป็นวงแก้วอยู่ต่อหน้าท่าน เมื่อเพ่งพิจารณาวงแก้วนั้นหนักๆ เข้าก็ยิ่งแปรสภาพไปต่างๆ ไม่มีทางสิ้นสุด ท่านพยายามติดตามก็ยิ่งปรากฏเป็นรูปร่างต่างๆ จนไม่มีประมาณว่าความสิ้นสุดแห่งภาพนิมติจะยุติลง ณ ที่ใด ยิ่งเพ่งพิจารณาก็ยิ่งแสดงอาการต่างๆ ไม่มีสิ้นสุด โดยเป็นภูเขาสูงขึ้นเป็นพักๆ บ้าง ปรากฏว่าองค์ท่านสะพายดาบอันคมกล้าและเท้าทั้งสองมีรองเท้าสวมอยู่บ้าง แล้วเดินไป-มาบนภูเขานั้นบ้าง ปรากฏเห็นกำแพงขวางหน้ามีประตูบ้าง ท่านเปิดประตูเข้าไปดูเห็นมีที่นั่งและที่อยู่ของพระ ๒-๓ รูป กำลังนั่งสมาธิอยู่บ้าง บริเวณกำแพงนั้นมีถ้ำและเงื้อมผาบ้าง มีดาบสอยู่ในถ้ำนั้นบ้าง มียนต์คล้ายอู่ มีสายหย่อนลงมาจากหน้าผาบ้าง ปรากฏว่าท่านขึ้นสู่อู่ขึ้นไปบนภูเขาบ้าง มีสำเภาใหญ่อยู่บนภูเขาบ้าง เห็นโต๊ะสี่เหลี่ยมอยู่ในสำเภาบ้าง มีประทีปความสว่างอยู่ บริเวณรอบๆ หลังเขานั้นบ้าง ปรากฏว่าท่านฉันจังหันอยู่บนภูเขานั้นบ้าง จนไม่อาจจะตามรู้ตามเห็นให้สิ้นสุดลงได้

สิ่งที่ท่านได้เห็นเกี่ยวกับนิมิตเป็นเหตุให้รู้สึกว่ามีมากมาย จนไม่อาจจะนำมากล่าวจบสิ้นได้ ท่านพิจารณาในทำนองนี้ถึง ๓ เดือน โดยการเข้าๆ ออกๆ ทางสมาธิ ภาวนาพิจารณาไปเท่าไร ก็ยิ่งรู้ยิ่งเห็นสิ่งที่จะมาปรากฏจนไม่มีทางสิ้นสุด แต่ผลดีปรากฏจากการพิจารณา ไม่ค่อยมีพอเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องและแน่ใจ เมื่อออกจากสมาธิประเภทนี้แล้ว ขณะกระทบกับอารมณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วๆ ไป ก็เกิดความหวั่นไหว คือทำให้ดีใจ เสียใจ รักชอบและเกลียดชังไปตามเรื่องของอารมณ์นั้นๆ หาความเที่ยงตรงคงตัวอยู่มิได้ จึงเป็นเหตุให้ท่านสำนึกในความเพียรและสมาธิที่เคยบำเพ็ญมาว่า คงไม่ใช่ทางแน่ ถ้าใช่ทำไมถึงไม่มีความสงบเย็นใจและดำรงตนอยู่ด้วยความสม่ำเสมอ แต่ทำไมกลับกลายเป็นใจที่วอกแวกคลอนแคลนไปตามอารมณ์ต่างๆ ไม่มีประมาณ ซึ่งไม่ผิดอะไรกับคนที่เขามิได้ฝึกหัดภาวนาเลย ชะรอยจะเป็นความรู้ความเห็นที่ส่งออกนอกซึ่งผิดหลักของการภาวนาไปกระมัง จึงไม่เกิดผลแก่ใจให้ได้รับความสงบสุขเท่าที่ควร

ท่านจึงทำความเข้าใจเสียใหม่โดยย้อนจิตเข้ามาอยู่ในวงแห่งกาย ไม่ส่งใจไปนอก พิจารณาอยู่เฉพาะกาย ตามเบื้องบน เบื้องล่าง ด้านขวาง สถานกลาง โดยรอบ ด้วยความมีสติตามรักษา โดยการเดินจงกรมไป-มามากกว่าอิริยาบถอื่นๆ แม้ว่านั่งทำสมาธิภาวนาเพื่อพักผ่อนให้หายเมื่อยบ้างเป็นบางกาลก็ไม่ยอมให้จิตรวมสงบลงดังที่เคยเป็นมา แต่ให้จิตพิจารณาและท่องเที่ยวอยู่ตามร่างกายส่วนต่างๆ เท่านั้น ถึงเวลาพักผ่อนนอนหลับ ก็ให้หลับด้วยพิจารณากายเป็นอารมณ์

พยายามพิจารณาตามวิธีนี้อยู่หลายวันจึงตั้งท่านนั่งขัดสมาธิพิจารณาร่างกายเพื่อให้ใจสงบด้วยอุบายนี้ อันเป็นเชิงทดลองดูว่าจิตจะสงบแบบไหนกันอีกแน่ ความที่จิตไม่ได้พักสงบตัวเลยเป็นเวลาหลายวัน พร้อมกับได้รับอุบายวิธีที่ถูกต้องเข้ากล่อมเกลา จิตจึงรวมสงบลงได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายผิดปกติ ขณะที่จิตรวมสงบตัวลงไป ปรากฏว่าร่างกายได้แตกออกเป็นสองภาค และรู้ขึ้นมาในขณะนั้นว่า “นี้เป็นวิธีที่ถูกต้องแน่นอนแล้วไม่สงสัย” เพราะขณะที่จิตรวมลงไปมีสติประจำตัวอยู่กับที่ ไม่เหลวไหลและเที่ยวเร่ร่อนไปในที่ต่างๆ ดังที่เคยเป็นมา และนี้คืออุบายที่แน่ใจว่าเป็นความถูกต้องในขั้นแรกของการปฏิบัติ ในวาระต่อไปก็ถืออุบายนี้เป็นเครื่องดำเนินไม่ลดละ จนสามารถทำความสงบใจได้ตามต้องการ และมีความชำนิชำนาญขึ้นไปตามกำลังแห่งความเพียร ไม่ลดหย่อยอ่านกำลัง นับว่าได้หลักฐานทางจิตใจที่มั่นคงด้วยสมาธิ ไม่หวั่นไหวคลอนแคลนอย่างง่ายดาย ไม่เหมือนคราวบำเพ็ญตามนิมิตในขั้นเริ่มแรก ซึ่งทำให้เสียเวลาไปเปล่าตั้ง ๓ เดือน โทษแห่งความไม่มีครูอาจารย์ผู้ฉลาดคอยให้อุบายสั่งสอน ย่อมมีทางเป็นไปต่างๆ ดังที่เคยพบเห็นมาแล้วนั้นแล อย่างน้อยก็ทำให้ล่าช้า มากกว่านั้นก็ทำให้ผิดทาง และมีทางเสียไปได้อย่างไม่มีปัญหา

ท่านเล่าว่า สมัยที่ท่านออกบำเพ็ญกรรมฐานภาวนาครั้งโน้น ไม่มีใครสนใจทำกันเลย ในความรู้สึกของประชาชนสมัยนั้น คล้ายกับว่า การบำเพ็ญกรรมฐานเป็นของแปลกปลอม ไม่เคยมีในวงของพระและพระศาสนาเลย แม้แต่ชาวบ้านเองพอมองเห็นพระกรรมฐานเดินธุดงค์ไป ซึ่งอยู่ห่างกันคนละฟากทุ่งนา เขายังพากันแตกตื่นและกลัวกันมาก ถ้าอยู่ใกล้หมู่บ้านก็จะพากันวิ่งเข้าบ้านกันหมด ถ้าอยู่ใกล้ป่าก็พากันวิ่งเข้าหลบซ่อนในป่ากันหมด ไม่กล้ามายืนซึ่งๆ หน้า พอให้เราได้ถามหนทางที่จะไปสู่หมู่บ้านตำบลต่างๆ บ้างเลย บางครั้งเราเดินทางไปเจอกับพวกผู้หญิงที่กำลังเที่ยวหาอยู่หากิน เที่ยวเก็บผักหาปลาตามภูเขาซึ่งมีเด็กๆ ติดไปด้วย พอมองเห็นพระธรรมกรรมฐานเดินมาเสียงร้องลั่นบอกกันด้วยความตกใจกลัวว่า “พระธรรมมาแล้ว” พร้อมกับทิ้งหาบหรือสิ่งของอยู่บนบ่าลงพื้นดินเสียงดังตูมตาม โดยไม่อาลัยเสียดายว่าอะไรจะแตกอะไรจะเสียหาย ส่วนตัวก็ต่างคนต่างวิ่งหาที่หลบซ่อน ถ้าอยู่ใกล้ป่าหรือยู่ในป่าก็พากันวิ่งเข้าป่า ถ้าอยู่ใกล้หมู่บ้านก็พากันวิ่งเข้าบ้าน ส่วนเด็กๆ ที่ไม่รู้เดียงสาเห็นผู้ใหญ่ร้องโวยวายและต่างคนต่างวิ่งหนี เจ้าตัวก็ร้องไห้วิ่งไปวิ่งมาอยู่บริเวณนั้น โดยไม่มีใครกล้าออกมารับเอาเด็กไปด้วยเลย เด็กจะวิ่งตามผู้ใหญ่ก็ไม่ทัน เลยต้องวิ่งหันรีหันขวางอยู่แถวๆ นั้นเอง ซึ่งน่าขบขันและน่าสงสารเด็กที่ไม่เดียงสาซึ่งร้องไห้วิ่งตามหาผู้ใหญ่ด้วยความตกใจและความกลัวเป็นไหนๆ ส่วนพระธรรมท่านเห็นท่าไม่ดี กลัวเด็กจะกลัวมากและร้องไห้ใหญ่ ก็ต้องรีบก้าวเดินเพื่อผ่านไปให้พ้น ถ้าขืนไปถามเด็กเข้าคงได้เรื่องแน่ๆ คือเด็กจะยิ่งกลัวและร้องไห้วิ่งไปวิ่งมา และยิ่งจะร้องไห้ใหญ่ไปทั่วทั้งป่า ส่วนผู้ใหญ่ที่เป็นแม่ของเด็กก็ยืนตัวสั่นอยู่ในป่าอย่างกระวนกระวาย ทั้งกลัวพระธรรมกรรมฐาน ทั้งกลัวเด็กจะวิ่งเตลิดเปิดเปิงหนีไปที่อื่นอีก ใจเลยไม่เป็นใจเพราะความกระวนกระวายคิดถึงลูก เวลาพระธรรมผ่านไปแล้ว แม่วิ่งหาลูก ลูกวิ่งหาแม่วุ่นวายไปตามๆ กัน กว่าจะออกมาพบหน้ากันทุกคนบรรดาที่ไปด้วยกันประหนึ่งบ้านแตกสาแหรกขาดไปพักหนึ่ง พอออกมาครบถ้วนหน้าแล้ว ต่างก็พูดและหัวเราะกันถึงเรื่องชุลมุนวุ่นวาย เพราะความกลัวพระธรรมกรรมฐานไปยกใหญ่ ก่อนที่จะเที่ยวหากินตามปกติ

เรื่องเป็นเช่นนี้โดยมาก คนสมัยที่ท่านออกธุดงคกรรมฐาน เขาไม่เคยพบเห็นกันเลย จึงแสดงอาการตื่นเต้นตกใจและกลัวกันสำหรับผู้หญิงและเด็กๆ ฉะนั้นเมื่อคบกันในขั้นเริ่มแรกจึงไม่ค่อยมีใครสนใจธรรมะกับพระธุดงค์นัก นอกจากจะกลัวกันเป็นส่วนมาก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเหตุหลายประการ เช่น มารยาทท่านก็อยู่ในอาการสำรวมเคร่งขรึม ไม่ค่อยแสดงความคุ้นกับใครนัก ถ้าไม่คบกันนานๆ จนรู้นิสัยกันดีก่อนแล้ว และผ้าสังฆาฏิ จีวร สบง อังสะ และบริขารอื่นๆ โดยมากย้อมด้วยสีกรัก คือสีแก่นขนุน ซึ่งเป็นสีฉูดฉาดน่ากลัวมากกว่าจะน่าเลื่อมใส

เวลาออกเดินทางเพื่อเจริญสมณธรรมในที่ต่างๆ ท่านครองจีวรสีแก่นขนุน บ่าข้างหนึ่งแบกกลดซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าร่มธรรมดาที่โลกๆ ใช้กันทั่วๆ ไป บ่าข้างหนึ่งสะพายบาตร ถ้ามีด้วยกันหลายองค์ เวลาออกเดินทางท่านเดินตามหลังกันเป็นแถว ครองจีวรสีกรักคล้ายสีน้ำตาล เห็นแล้วน่าคิดน่าทึ่งอยู่ไม่น้อยสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน และน่าเลื่อมในสำหรับผู้ที่เคยรู้อัธยาศัยและจริยธรรมท่านมาแล้ว ประชาชนที่ยังไม่สนิทกับท่านจะเกิดความเลื่อมในก็ต่อเมื่อท่านไปพักอยู่นานๆ เขาได้รับคำชี้แจงจากท่านด้วยอุบายต่างๆ หลายครั้งหลายคราว นานไปใจก็ค่อยโอนอ่อนต่อเหตุผลอรรถธรรมไปเอง จนเกิดความเชื่อเลื่อมใส กลายเป็นผู้มีธรรมในใจ มีความเคารพเลื่อมใสในครูอาจารย์ผู้ให้โอวาทสั่งสอนอย่างถึงใจ ก็มีจำนวนมาก

พระธุดงค์ผู้มุ่งปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรมจริงๆ เข้าถึงใจประชาชนได้ดีและทำประโยชน์ได้มากโดยอาศัยคำโฆษณา แต่การประพฤติปฏิบัติตัวโดยสามีจิกรรม ย่อมเป็นเครื่องดึงดูดจิตใจผู้อื่นให้เกิดความสนใจไปเอง

การเที่ยวแสวงหาที่วิเวกเพื่อความสงัดทางกายทางใจไม่พลุกพล่านวุ่นวายด้วยเรื่องต่างๆ เป็นกิจวัตรประจำนิสัยของพระธุดงคกรรมฐานผู้มุ่งอรรถธรรมทางใจ ดังนั้นพอออกพรรษาแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นจึงชอบออกเที่ยวธุดงค์ทุกๆ ปี โดยเที่ยวไปตามป่าตามภูเขาที่มีหมู่บ้านพอได้อาศัยโคจรบิณฑบาต ทางภาคอีสานท่านชอบเที่ยวมากกว่าทุกๆ ภาค เพราะมีป่ามีภูเขามาก เช่น จังหวัดนครพนม สกลนคร อุดรธานี หนองคาย เลย หล่มสัก และทางฝั่งแม่น้ำโขงของประเทศลาว เช่น ท่าแขก เวียงจันทน์ หลวงพระบาง ที่มีป่าเขาชุกชุมมาก เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม การบำเพ็ญเพียรในท่าอิริยาบถต่างๆ นั้น ไม่ว่าท่านจะพักอยู่ในสถานที่ใด ไม่มีการลดละทั้งกลางวันกลางคืน ถือเป็นงานสำคัญยิ่งกว่างานอื่นใด เพราะนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นไม่ชอบทางการก่อสร้างมาแต่เริ่มแรก ท่านชอบการบำเพ็ญเพียรทางใจโดยเฉพาะ และไม่ชอบเกาะเกี่ยวกับเพื่อนฝูงและหมู่ชน ชอบอยู่ลำพังคนเดียว มีความเพียรเป็นอารมณ์ทางใจ มีศรัทธามุ่งมั่นต่อแดนพ้นทุกข์อย่างแรงกล้า ดังนั้น เวลาท่านทำอะไรจึงชอบทำจริงเสมอ ไม่มีนิสัยโกหกหลอกหลวงตนเองและผู้อื่น การบำเพ็ญเพียรของท่านเป็นเรื่องอัศจรรย์ไปตลอดสาย ทั้งมีความขยัน ทั้งมีความทรหดอดทนและมีนิสัยชอบใคร่ครวญ จิตท่านปรากฏมีความก้าวหน้าทางสมาธิและทางปัญญาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ล่าถอยและเสื่อมโทรม การพิจารณากายนับแต่วันที่ท่านได้อุบายจากวิธีที่ถูกต้องในขั้นเริ่มแรกมาแล้ว ไม่ยอมให้เสื่อมถอยลงได้เลย ท่านยึดมั่นในอุบายวิธีนั้นอย่างมั่นคง และพิจารณากายซ้ำๆ ซากๆ จนเกิดความชำนิชำนาญ แยกส่วนแบ่งส่วนแห่งกายให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นใหญ่และทำลายลงด้วยปัญญาได้ตามต้องการ จิตยิ่งนับวันหยั่งลงสู่ความสงบเย็นในไปเป็นระยะไม่ขาดวรรคขาดตอน เพราะความเพียรหนุนหลังอยู่ตลอดเวลา

ท่านเล่าว่า ท่านไปที่ใด อยู่ที่ใด ใจท่านมิได้เหินห่างจากความเพียร แม้ไปบิณฑบาต กวาดลานวัด ขัดกระโถน ทำความสะอาด เย็บผ้า ย้อมผ้า เดินไปมาในวัด นอกวัด ตลอดการขบฉัน ท่านทำความรู้สึกตัวอยู่กับความเพียร
โดย: พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: