1776.หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เผชิญพญานาคมิจฉาทิฐิ

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เผชิญพญานาคมิจฉาทิฐิ
จากหนังสือประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เรียบเรียงโดยท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปัณโณแห่งวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ได้บันทึกประวัติตอนหนึ่งของแม่ทัพธรรมแห่งภาคอีสานเอาไว้ว่าพระอาจารย์มั่นสมัยที่ท่านไปบำเพ็ญเพียร ณ ถ้ำเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ท่านได้พบกับพญานาคที่เป็นมิจฉาทิฐิตนหนึ่งดังปรากฎข้อความดังต่อไปนี้…..

….ในถ้ำเชียงดาว ซึ่งมิใช่ถ้ำที่ยาวเข้าไปในกลางเขาที่ประชาชนชอบเข้าไปเที่ยวกันเป็นประจำ แต่เป็นถ้ำหนึ่งที่สูงขึ้นไปกว่าถ้ำที่ท่านพักอยู่ ท่านว่าในถ้ำที่ท่านพักมีพญานาคตนหนึ่ง รักษาถ้ำอยู่เป็นประจำมาเป็นเวลานาน แต่รู้สึกจะเป็นพญานาคมิจฉาทิฐิ จึงชอบกล่าวโทษพระอย่างไม่มีประมาณแห่งความพอดี

ขณะที่พระอาจารย์มั่นท่านพักอยู่ถ้ำนั้น มักถูกพญานาคที่รักษาถ้ำตำหนิติเตียนด้วยเรื่องต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ เวลาแผ่เมตตาให้ส่วนกุศล ก็รู้สึกว่าจะรับได้ยาก นั่นก็เพราะคงจะเคยมีกรรมกับพระมานานยังไม่จบสิ้นลงได้ ดังนั้น ขณะที่ท่านพำนักอยู่ที่นั่น จึงถูกคอยจ้องจับโทษอยู่เป็นประจำแทบทุกอิริยาบถแม้ขณะหลับก็ตาม

ตอนกลางคืนเวลาท่านใส่รองเท้าเดินจงกรมมีเสียงดังบ้าง ก็ว่าสมณะอะไรเดินจงกรมมีเสียงดังราวกับเสียงม้าแข่ง ไม่สำรวมระวังบ้างเลย เสียงรองเท้ากระทบดินและหินกระเทือนทั่วภูเขา ไม่คิดว่าใครจะมีความลำบากรำคาญบ้างเลยนิ

ทั้งที่ท่านก็เดินไปมาอย่างเบา ๆ ในท่าสำรวมของผู้บำเพ็ญธรรมไม่ผิดไปจากปรกติธรรมดาเลย

พอท่านทราบว่าพญานาคจ้องจับผิดโทษ ท่านก็พยายามระวังเดินเบา ๆ ก็ยังถูกว่าอีก ว่าสมณะอะไรเดินจงกรมราวกับเขาด้อมจะยิงนก บางครั้งเท้าท่านก็ไปสะดุดหินทางจงกรม มีเสียงดังตุ๊บตั๊บบ้าง เท่านั้นก็ว่าสมณะอะไรเดินจงกรมราวกับเขาเต้นระบำโป๊ โขยกเขยกไม่สำรวมระวังเอาบ้างเลย

บางคราวท่านตกแต่งทางจงกรมให้พอเดินได้สะดวกไม่ขระขระเกินไป พอยกหินมาวางเรียงรายตามทางจงกรม ก็ว่าสมณะอะไรไม่สมควรจับโน่นโยนนี่อยู่ไม่เป็นสุข ไม่คิดว่าหัวใครจะแตกเพราะความกระทบกระเทือนจากความอยู่ไม่เป็นสุขของตน ไม่ว่าการไปการมา การเข้าออกในบริเวณนั้น ท่านต้องได้ทำความระมัดระวังเป็นพิเศษ แม้เช่นนั้น ก็ยังคงได้รับความตำหนิจากพญานาคมิจฉาทิฐิจนได้

ตอนกลางคืนท่านพักจำวัด ขณะหลับไปอวัยวะส่วนต่าง ๆ อาจไหวติงไปบ้าง พอตื่นนอนขึ้นมา ความรู้สึกที่บันทึกไว้โดยตลอดก็บอกว่าพญานาคตำหนิว่าท่านนอนทำเสียงตุกติกบ้าง เสียงหายใจฟูดฟาดบ้าง เสียงกรนบ้าง ร้อยแปดพันประการที่จะสรรหามาจ้องจับผิดโทษ

ขณะที่ท่านกำหนดจิตดูพญานาคตนที่ขี้โมโหและแสนจ้องจับผิดโทษเก่งทีไร ปรากฎว่าพญานาคตนนี้ก็จะโผล่หัวออกมาคอยจ้องมองท่านอยู่เป็นประจำประหนึ่งว่ามันไม่ยอมพลิกสายตาไปที่อื่นเลย ถ้าเป็นคนก็เรียกว่าหน้าเสือใจยักษ์ ไม่ยอมรับส่วนบุญจากใครเลยนอกจากตั้งหน้าตั้งตาสร้างแต่ความโมโหโทโสอันเป็นไฟเผาตัวอยู่ตลอดเวลา

ท่านเองก็เมตตาสงสารกลัวพญานาคตนนั้น จะเป็นบาปเป็นกรรมหนักเข้าทุกที แต่ก็สุดวิสัยที่จะอนุเคราะห์ได้ในระยะนั้น เพราะตัวพญานาคเองไม่มาสนใจในเหตุผลอรรถธรรมเอาเสียเลย มีแต่คอยจ้องจับผิดโทษอยู่ท่าเดียว

บางครั้งท่านพระอาจารย์มั่นก็เตือนพญานาคตนนั้นให้ทราบเรื่องสมณะบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านได้อธิบายให้พญานาคตนนั้นเข้าใจว่าท่านมิได้มาที่นี่เพื่อก่อกรรมทำเข็ญแก่ผู้หนึ่งผู้ใด นอกจากมุ่งบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นอย่างเต็มกำลังความสามารถเท่าที่จะทำได้เท่านั้น

ท่านเตือนพญานาคว่าไม่ควรติดใจใฝ่ต่ำว่าท่านจะมาทำความเดือดร้อนเสียหาย ท่านพยายามทำความดีทุกขณะที่ระลึกได้ ผลบุญที่บำเพ็ญมามากน้อยก็ได้แผ่ไปยังสัตว์โลกที่ควรจะได้รับส่วนบุญที่ท่านมาแผ่อุทิศให้ จึงไม่ควรเดือดร้อนเสียใจว่าท่านมารบกวนความสุขที่ควรจะได้

ท่านพญายามอธิบายให้พญานาคฟังว่าการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ยังมีชีวิต ซึ่งก็จะต้องมีการพลิกไหวไปมา นอกจากคนหรือสัตว์ที่ตายแล้วเท่านั้น จึงจะไม่สามารถกระดุกกระดิก ตัวท่านแม้เป็นสมณะซึ่งเป็นเพศที่สำรวม แต่ก็มิได้สำรวมแบบคนตาย เพราะลมหายใจยังมีอยู่ จึงจำต้องสูดเข้าสูดออก ค่อยบ้างแรงบ้าง แม้ขณะหลับ ลมหายใจก็ยังทำงานและร่างกายทุกส่วนก็ยังทำงานเช่นเดียวกัน แต่ก็มิได้เลยขอบเขต

การเดินจงกรมก็พยายามค่อยเดินค่อยไปในท่าสำรวม แต่ก็อดถูกตำหนิจากพญานาคมิได้ว่าเดินราวกับม้าแข่ง เป็นต้น ความจริงแล้ว ม้าแข่งซึ่งเป็นเพียงสัตว์เดรัจฉานกับสมณะผู้มีศีลสำรวมเดินจงกรมด้วยท่าระวังตั้งสตินั้น ก็ผิดราวฟ้ากับดิน

ท่านว่าพญานาคไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกันถ้าไม่ใช่ผู้อาภัพในความดีทั้งหลาย หมายยึดนรกเอาเป็นเรือนนอนเท่านั้น ซึ่งท่านเองก็สุดวิสัยที่จะปฏิบัติให้ถูกใจไปเสียทุกอย่าง

ท่านพระอาจารย์มั่นเตือนพญานาคตนนั้นว่าหากยังหวังความสุขความเจริญเหมือนโลกทั้งหลาย พญานาคก็ควรจะสำนึกในความผิดถูกชั่วดีของตนบ้าง ไม่ควรปล่อยให้นรกเข้าไปเผาใจตลอดเวลา น่าจะยังพอมีทางออก การตำหนิติเตียนผู้อื่น แม้เขาจะเป็นผู้ผิดจริงก็ยังจัดว่าเป็นการก่อกวนจิตใจตนให้ขุ่นมัวไปด้วยอยู่นั่นเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวของสมณะเช่นท่านก็ยังมองไม่เห็นว่าได้ผิดพลาดจากหลักของสมณะไปที่ตรงไหนบ้าง แต่ก็ได้รับความตำหนิจากพญานาคเรื่อยมา ซึ่งถ้าพญานาคตนนี้เป็นคน ก็น่าจะอยู่กับโลกเขาไม่ได้ คงจะเห็นโลกเป็นขี้แห้งขี้สดไปหมด เอาแต่สำคัญตนว่าเป็นทองคำอันสูงค่าที่จะคละเคล้ากับโลกที่เต็มไปด้วยขี้สกปรกไม่ได้ ทั้งนี้ ก็ล้วนเพราะความเดือดร้อนวุ่นวายของใจที่คิดแต่เรื่องคอยจ้องจับผิดผู้อื่นจนอยู่ไม่เป็นสุข

ท่านพยายามชี้ให้พญานาคเห็นว่าการจ้องจับผิดผู้อื่นอย่างไม่มีขอบเขต นักปราชญ์ถือว่าเป็นความผิดและเป็นบาปกรรมไม่มีชิ้นดี เป็นการสร้างบาปหาบทุกข์ใส่ตัวเปล่า ๆ ถึงแม้ท่านจะเป็นผู้ถูกตำหนิ แต่ตัวท่านก็หาได้เป็นทุกข์ร้อนอะไรเลย กลับกัน ตัวพญานาคเอง กลับรู้สึกกระวนกระวายอยู่ภายในไม่เป็นสุข ไม่ว่าพญานาคตนนั้นจะคิดอะไรออกมา พระอาจารย์มั่นท่านทราบอยู่อย่างเต็มอก แต่ก็พร้อมทั้งให้อภัยอยู่ตลอดมา

หลังจากที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้พยายามเทศน์สั่งสอนให้พญานาคที่มีมิจฉาทิฐิได้มองเห็นถึงทางผิดถูกและบาปกรรมที่จะได้รับติดตัวไปอยู่พักใหญ่ ท่นก็ถามพญานาคว่าเป็นอย่างไรบ้างที่ท่านอธิบายธรรมมาให้ฟังทั้งหมดนั้น พญานาคมีความเข้าใจหรือไม่ ซึ่งพญานาคก็ตอบว่าตนเองเข้าใจดีทุกประโยคที่ท่านพระอาจารย์มั่นเมตตาโปรดสัตว์ผู้อาภัพ แต่เนื่องจากพญานาคตนนี้ มีกรรมหนามาก จึงยังคงไม่เบื่อหน่ายความอาภัพของตน ยังคงถกเถียงกับตัวเองอยู่เวลานี้ ยังไมลงรอยกันได้เลย ใจคอยแต่จะไหลลงทางต่ำที่เคยเป็นมาอยู่เรื่อย ๆ ไม่ยอมฟังเสียงอรรถธรรมที่ท่านพระอาจารย์มั่นนำมาพร่ำสอนบ่างเลย

ท่านพระอาจารย์มั่นถามว่าใจชอบไหลลงทางต่ำนั้น ไหลลงอย่างไร พญานาคตอบว่าก็ใจชอบแต่จะติเตียนท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ทุกขณะที่เผลอตัวทั้งที่พระอาจารย์มั่นก็ไม่ได้มีความผิดอะไรเลย แต่ใจก็ชอบคิดของมันอย่างนั้น ไม่รู้จะทำอย่างไรถึงจะพอดีและเห็นโทษในความผิดเสียบ้างเพื่อพอจะมีทางเดินเพื่อความดีต่อไปได้

พระอาจารย์มั่นท่านกล่าวกับพญานาคว่าท่านเป็นเพียงผู้แนะแนวทางให้บ้างเล็กน้อยเท่านั้น ไม่อาจทำหน้าที่แก้ไขหรือถอดถอนแทนพญานาคตนนั้นได้ การแก้ไขดัดแปลงจึงเป็นหน้าที่ที่ตัวพญานาคจะต้องรับผิดชอบตัวเอาเอง จะต้องพยายามทำอย่างเต็มกำลังความสามารถ ไม่ลดละท้อถอย สิ่งที่เคยเป็นภัยก็จะค่อยลดตัวลง สิ่งที่เป็นคุณก็จะมีทางเจริญได้และลบล้างกันไปจนกลายเป็นความดีล้วน ๆ ไม่มีสิ่งชั่วเข้ามาแอบแฝงแทงใจต่อไป

หากว่าพญานาคตนนั้นเชื่อในธรรมมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เคยช่วยโลกให้พ้นจากทุกข์ภัยตลอดมา พญานาคก็จะเป็นผู้มีธรรมคุ้มครองใจ ซึ่งใจที่มีธรรมคุ้มครอง ไม่ว่าจะหลับหรือตื่น ย่อมเป็นสุข ไม่กระวนกระวายส่ายแส่ มีตนเสมอภาคต่อสิ่งทั้งปวง ไม่ชมว่าสิ่งนั้นดี ไม่ตำหนิว่าสิ่งนี้ชั่วจนตัวเองต้องเป็นทุกข์ไปตาม อันหาได้เป็นทางที่นักปราชญ์ท่านดำเนินกัน

พอจบการสนทนา พญานาคก็รับคำท่านพระอาจารย์มั่นว่าจะพยายามทำตามที่ท่านแนะนำ หลังจากนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นก็ทำความเพียรไปและสังเกตพฤติกรรมของพญานาคไป ผลปรากฎว่าดีขึ้นบ้าง กล่าวคือในเวลาที่จิตของพญานาคซึ่งคอยจะจ้องจับผิดโทษท่านพระอาจารย์มั่นอยู่บ่อย ๆ ปรากฎขึ้นมาตามนิสัย พญานาคตนนั้นก็จะคอยทำความกวดขันตัวเอง แต่ก็รู้สึกว่าเป็นความลำบากอยู่ไม่น้อยทีเดียว

เมื่อพระอาจารย์มั่นเห็นความลำบากในการรักษาจิตของพญานาคที่คอยจะคิดไม่ดีอยู่เรื่อย ๆ ท่านเลยหาอุบายลาพญานาคไปเที่ยวที่อื่น ซึ่งพญานาคก็ยินดีให้ท่านไป เรื่องของพญานาคกับท่าน จึงเป็นอันยุติลงเพียงเท่านี้….
http://www.bp.or.th/webboard/index.php?topic=12378

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: