1771.ตะกรุดหนังเสือ คงกระพัน มหาอำนาจ แคล้วคลาด กันปืน

เครื่องราง “ตะกรุด” นั้น มีการสร้างกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งสร้างจากวัสดุต่างๆ เช่น โลหะแผ่นบางเช่นเงิน ทอง จากอักขระเลขยันต์ลงในแผ่นโลหะนั้นๆ ในระหว่างที่จารเลขยันต์ จิตจะต้องนิ่งสงบ และมีการบริกรรมพระคาถาไปด้วย โดยปรารถนาว่าจะให้ตะกรุดดอกนั้นมีพุทธคุณในด้านใด ก็บริกรรมคาถากำกับเฉพาะในด้านนั้นๆ เมื่อเสร็จแล้วก็ม้วนแผ่นโลหะ เหลือรูไว้สำหรับสอดเชือกเพื่อให้เป็นสายสร้อยแล้วอาราธนาขึ้นคอหรือบางคนก็ใช้คาดเอว ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของตะกรุดนั้นๆว่าให้อาราธนาขึ้นคอเพียงอย่างเดียวหรือสามารถคาดเอวได้ด้วย

สำหรับตะกรุดในสมัยก่อนมักจะนิยมสร้างขึ้นโดยมีพุทธคุณด้านแคล้วคลาด ป้องกันภัย มหาอุตม์ คงกระพัน เนื่องจากสมัยก่อนมีศึกสงครามมาก ฉะนั้นจึงต้องสร้างเครื่องรางที่ให้อานุภาพทางด้านนี้โดยเฉพาะ หากแต่ในปัจจุบัน ความนิยมในอานุภาพของเครื่องรางชนิดต่างๆเปลี่ยนไป ซึ่งจะนิยมในอานุภาพเมตตามหานิยม โชคลาภ มากกว่า เพราะสมัยนี้ไม่มีศึกสงคราม จึงเน้นที่การทำมาหากิน การสร้างฐานะให้มั่นคงร่ำรวย

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันก็ยังมีการสร้างเครื่องรางที่มีอานุภาพด้านคงกระพัน แคล้วคลาดอยู่ เนื่องจากหลายคนก็ยังต้องการที่พึ่งพาทางจิตใจ ในเวลาเดินทางไกล หรือมีอาชีพที่เสี่ยงอันตราย ซึ่งเครื่องรางประเภทตะกรุด ก็ตอบโจทย์อานุภาพในด้านนี้ค่อนข้างมาก หนึ่งในนั้น คือ “ตะกรุดหนังเสือ” ที่สร้างจากหลายสำนัก หลายพระเกจิอาจารย์ อยู่ที่ความศรัทธาของแต่ละคนว่าจะเลือกบูชาของพระเกจิอาจารย์ท่านไหน ซึ่งกรรมวิธีในการสร้าง การปลุกเสก ก็เฉกเช่นเดียวกับการสร้างตะกรุดด้วยแผ่นโลหะ คือการาจารอักขระเลขยันต์ลงบนแผ่นหนังเสือ ระหว่างที่จารก็ต้องมีจิตที่แน่วแน่ มีสมาธิมั่นคง แล้วบริกรรมคาถาไปด้วย

ซึ่งโดยมากแล้ว อานุภาพของตะกรุดหนังเสือ จะโดดเด่นไปในทางมหาอำนาจ แคล้วคลาด คงกระพัน โดยถือเอาสัญชาตญาณของเสือที่เป็นสัตว์ที่มีพลังอำนาจมาก เป็นสัตว์ที่ถือว่าเป็นใหญ่ในป่า เป็นสัตว์ที่เอาตัวรอดได้ดี คล่องแคล่ว มาเป็นเคล็ดในการสร้างตะกรุด อานุภาพของตะกรุดหนังเสือ จึงมีลักษณะดังกล่าว ซึ่งเหมาะกับผู้บูชาที่ศรัทธาชื่นชอบในตะกรุดประเภทนี้ หรือผู้ที่ต้องเดินทางไกลบ่อยๆ ผู้ที่ต้องทำงานเสี่ยงอันตราย หรือแวดล้อมด้วยศัตรู คนที่คิดไม่ดี หรือต้องการบูชาเพื่อเสริมอำนาจวาสนาบารมีได้อีกด้วย โดยตะกรุดหนังเสือซึ่งเป็นที่นิยมกันสะสมในกลุ่มคนที่ชื่นชอบเครื่องราง เช่น ตะกรุดหนังเสือ หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม จ.นครปฐม , ตะกรุดหนังเสือ หลวงปู่แย้ม วัดสามง่าม จ.นครปฐม , ตะกรุดหนังเสือ หลวงพ่อฟู วัดบางสมัคร จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น และยังมีตะกรุดหนังเสือที่ปลุกเสกโดยครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับผู้สะสมบูชาเช่นกัน

แต่เมื่อได้นำมาบูชาแล้ว ก็จะมีข้อห้ามต่างๆที่ในแต่ละสำนักมีกำกับไว้ ซึ่งผู้บูชาพึงปฏิบัติ อาทิ ห้ามด่าว่าบุพการี ห้ามประพฤติผิดในกาม เป็นต้น ซึ่งข้อห้ามเหล่านี้ ล้วนเป็นกรอบเพื่อให้ผู้บูชาอยู่ในศีลธรรมอันดีงามทั้งนั้น

ขอบคุณที่มา thaiza

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: