1753.ท่านพระอาจารย์มั่นท่านย้ำอยู่เสมอว่า….

ท่านพระอาจารย์มั่นท่านย้ำอยู่เสมอว่า
“ ให้ใช้บทพุทโธเป็นบทบริกรรมสำหรับผูกจิตก็ได้ เมื่อจิตสงบลงเป็นสมาธิแล้วให้วางบทบริกรรมเสีย แล้วพิจารณาร่างกาย ครั้งแรกให้พิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งที่เราสามารถที่เราจะเพ่งพิจารณาได้อย่างสะดวกในอาการ ๓๒

เมื่อพิจารณาจนเกิดความชัดเจนกลับไปกลับมาหรือที่เรียกว่าอนุโลมปฏิโลมแล้ว เมื่อหายสงสัยในจุดที่พิจารณานั้นแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนเป็นจุดอื่นต่อไป อย่าพิจารณาเป็นวงกว้างทั้งร่างกาย เพราะปัญญายังไม่แก่กล้า

ถ้าพิจารณาพร้อมกันทีเดียวทั้งร่างกาย ความชัดเจนจะไม่ปรากฏ ต้องค่อยเป็นค่อยไป เมื่อจิตมีความชำนาญเพียงพอแล้ว คำบริกรรมพุทโธก็ไม่จำเป็น เพียงกำหนดจิตก็จะสงบเข้าสู่สมาธิได้ทันที

ผู้ปฏิบัติจิตตภาวนาถ้าส่งจิตออกไปภายนอกจากร่างกายแล้ว เป็นอันผิดทางมรรคภาวนา แนวการปฏิบัติไม่พ้นไปจากกายจึงเป็นสนามรบ กายจึงเป็นยุทธภูมิที่ปัญญาจะต้องค้น เพื่อทำลายกิเลสและกองทุกข์ซึ่งจิตของเราทำเป็นธนาคารเก็บสะสมไว้ภายใน หอบไว้ หาบไว้ หามไว้ หวงไว้ จนนับภพนับชาติไม่ได้

สัตว์ทั้งหลายไม่ว่าชนิดใดในสังสารวัฏนี้ ล้วนแต่ติดอยู่กับกายนี้ทั้งสิ้น ทำบุญทำบาปก็เพราะกายอันนี้ มีความรัก มีความชัง มีความหวงมีความแหน ก็เพราะกายอันนี้ เราสร้างทรัพย์ขึ้นมาก็เพราะกายอันนี้

เราประพฤติศีลประพฤติธรรมก็เพราะกายอันนี้ เราประพฤติผิดศีล เราประพฤติผิดธรรมก็เพราะกายอันนี้

ในพระพุทธศาสนา พระอุปัชฌาย์ก่อนที่จะให้ผ้ากาสายะแก่กุลบุตรผู้เข้ามาขอบรรพชาอุปสมบท ก็สอนให้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่เห็นได้โดยง่าย “

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
( จากหนังสือบูรพาจารย์ )ขออนุโมทนาบุญท่านผู้มีส่วนเผยแผ่โอวาทธรรมและภาพพ่อแม่ครูบาอาจารย์ขอจงเจริญรุ่งเรืองในธรรม สาธุอนุโมทามิ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: