1748.โอม พยางค์ศักดิ์สิทธิ์

โอม พยางค์ศักดิ์สิทธิ์
คำว่า โอม เชื่อว่าทุกคนย่อมรู้จักคำนี้ดี และ เราทราบกันดีว่าความหมายของคำว่าโอม มาจากคำ 3 พยัญชนะ รวมกัน คือ อะ อุ มะ โดยแบ่งออกเป็น 2 นัยความหมาย คือ ความหมายทางฮินดู เป็นคำสรรเสริญพระนามของพระเป็นเจ้าทั้ง 3 (ตรีมูรติ) และ ความหมายของคนที่นับถือพุทธ (บางกลุ่ม) กล่าวว่า โอมนั้นใช้แทน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งก็เทียบกับสิ่งบูชาสูงสุดของฝ่ายพุทธ

การนำคำว่าโอม เข้ามาเทียบกับพระรัตนตรัยนั้น ก็เนื่องจาก ผู้นับถือศาสนาพุทธบางคนที่ยังคงนับถือศาสนาพราหมณ์ควบคู่กันไปด้วย รายละเอียดการแทนความหมายของคำว่าโอมในพระเป็นเจ้าทั้ง 3 ของศาสนาพราหมณ์และพุทธนั้นขอข้ามไปไม่กล่าวถึง เพราะมีข้อมูลให้สืบค้นใน google มากมาย

โอม เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์ฮินดู ที่ต้องสวดขึ้นต้นก่อนการสวดสรรเสริญพระเป็นเจ้า หรือบทสรรเสริญเทพองค์อื่นๆ เหตุใดคำนี้จึงถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ คงมิใช่เพียงแค่เอามาสมมุติแทนพระเป็นเจ้าทั้ง 3 แล้วก็จะกลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ได้

ที่มาของโอม ตามหลักอภิปรัชญาในคัมภีร์พระเวท เช่น อุปนิษัท ไมตฺรายณ ถือว่าเป็นปฐมมนตรา (พีชมนตร) ที่เป็นแก่นสารสำคัญที่สุด ของจักรวาล โดยถือว่าโอมคือเสียงเริ่มแรกของการเกิดจักรวาล (Big bang) ในสาระสำคัญความหมายไม่ได้กล่าวถึงพระเป็นเจ้าทั้ง 3 โดยตรง แต่ โอม คือ จิตที่อยู่ภายในกายของมนุษย์ทั้ง 3 สถานะ

โอม เป็นศาสตร์แห่งโยคะ ที่โยคี มุ่งปฏิบัติสู่การปลดปล่อยความเป็นอิสระแห่งจิตวิญญาณด้วยการเปล่งคลื่นเสียงเพื่อนำพาจิตวิญญาณให้หลุดพ้น (เช่นเดียวกับการทำสมาธิของพุทธ) คุณค่าความหมายของโอม ในหลักอภิปรัชญาชั้นสูง (คัมภีร์มาณฺฑูกย อุปนิษัท) กล่าวถึง “โอม” คือการรวม “อะ อุ มะ” เข้าด้วยกัน อันประกอบด้วยธาตุพยางค์ทั้ง 3
อะ – แทนจิตสำนึก หรือจิตกำลังตื่น
อุ – แทนจิตสำนึกในฝัน
มะ – แทนจิตสำนึกช่วงหลับสนิท

จิตสำนึกทั้ง 3 นี้ คือจิตที่รวมอยู่ภายในตัวมนุษย์ทุกคน ดังนั้น การเปล่งเสียงโอม เพื่อเป็นการปลดปล่อยจิตวิญญาณ จึงเป็นการนำพาจิตของตัวเราเพื่อเข้าสู่พระเป็นเจ้า หรือพูดภาษาชาวบ้านก็คือ พระเป็นเจ้าก็คือตัวเรา ตัวเราก็คือพระเป็นเจ้า ปรัชญาของฮินดูถือว่า พระเป็นเจ้าคือทุกสิ่งในจักรวาล คือสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหมด (ความเป็นอนันต์)

มนุษย์ที่ต้องการเข้าถึงสภาวะของ โอม นั้นคือการหลอมรวมจิต(เหนือ)สำนึก เพื่อเข้าสู่ความเป็น อาตมัน หรือเข้าสู่สภาวะไร้ตัวตนของพรหมันจักรวาล นี้คือแก่นแท้ของโอม ดังนั้นการฝึกเปล่งเสียงของนักบวชโยคี จึงต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจในสภาวะของจิตสำนึก เพื่อดึงสมาธิ(จิตเหนือสำนึก)เข้าสู่พระเป็นเจ้า โอมจึงจะศักดิ์สิทธิ์ในรูปของพืชมนตร

จริงแล้วรายละเอียดการแทนสภาวะของโอม (อะ อุ มะ) ที่แทนจิตสำนึกแต่ละช่วง แล้วเทียบกับพระเป็นเจ้าทั้ง 3 มีรายละเอียดอีกมาก และพระเป็นเจ้าทั้ง 3 อยู่ในตัวเราได้อย่างไร นอกจากนี้ โอม ยังเป็นศาสตร์ที่สัมพันธ์กับการสร้างพระแสงศรวิเศษทั้ง 3 (ศรประลัยวาต ศรอัคนีวาต ศรพรหมาสตร์) ซึ่งคัมภีร์มัณฑก อุปนิษัท ระบุชัดเจนที่กำหนดให้ตัวมนุษย์เป็นลูกศรพลังแห่งศรวิเศษทั้งสาม

รายละเอียดที่กล่าวมาทั้งหมด ไว้ค่อยอธิบายตอนหลัง ในบทความนี้แค่ความหมายง่ายๆ ของ โอม ไปก่อน พอดีมีคนมาถามถึงความหมายของคำว่า โอม ในความหมายอื่น ที่ไม่ใช่ความหมายที่มีกันในอินเตอร์เน็ต ถ้าว่างๆ จะมาเขียนอธิบายให้ละเอียดกว่านี้ ครั้งนี้เอาแค่น้ำจิ้มไปก่อนแล้วกันครับ

Cr.อัมรินทร์ สุขสมัย

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: