1740.ตำนานหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง

ตำนานหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง
พระเถราจารย์ยุคเก่าแห่งเมืองอุบลผู้มีตบะบารมีแก่กล้า มีพระเวทย์พุทธาคมอันเข้มขลัง ด้วยกิตติคุณความเข้มขลังของหลวงปู่รอดที่ปรากฎให้เห็นอยู่เนืองๆ เหรียญของท่านจึงเป็นเหรียญที่ชาวอุบลหวงแหนมาก และที่สำคัญเป็นเหรียญยอดนิยมของเมืองอุบลที่จัดว่าหายากมากและมีราคาค่านิยมสูง

พระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด) วัดทุ่งศรีเมือง ตำบลในเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2398 โยมบิดาชื่อ บุดดี โยมมารดาชื่อดา ท่านเกิดที่หมู่ 1 ตำบลในเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันเด็กท่านได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่สำนักราชบรรเทา โดยได้ศึกษาอักษรลาว อักษรไทย อักษรขอม จนอ่านออกเขียนได้ ตัวท่านเป็นคนสุภาพเรียบร้อยไม่ชอบทำบาปมาตั้งแต่เด็กๆ จนท่านอายุได้ 24 ปี ตรงกับ พ.ศ. 2422 ท่านจึงได้อุปสมบท ณ วัดป่าน้อย ปัจจุบันเรียกว่า วัดมณีวนาราม โดยท่านอธิการจันลา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ดำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ดีเป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อบวชแล้วท่านได้ศึกษาพระธรรมวิจัยท่องบทสวดมนต์ อันมี เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน พระปาฏิโมกข์ สัททสังคหสูตร มูลกัจจายน์จนจบพระอุปัชฌาย์เห็นว่าท่านมีความรู้ดีจึงส่งท่านไปอยู่ที่วัดทุ่งศรีเมือง ท่านก็ได้ปฏิบัติเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย ขยันเอางานเอาการ ต่อมาท่านเจ้าอาวาส วัดทุ่งศรีเมืองว่างลง ทางการจึงตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสปกครอง วัดทุ่งศรีเมืองต่อมา

ครั้นถึงปี พ.ศ. 2434 ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวง อำเภอม่วงสามสิบ และต่อมาท่านก็ได้เป็นพระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช ท่านเป็นเจ้าคณะอำเภออยู่ 12 ปี ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ในปี พ.ศ. 2446 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี พอถึงปี พ.ศ. 2447 ท่านก็ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูวิโรจน์รัตโนบล

หลวงปู่รอดท่านเป็นพระที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนในเรื่องต่างๆ เสมอมาด้วยความเต็มอกเต็มใจ จึงเป็นที่เคารพเลื่อมใสของบรรพชิตและคฤหัสถ์โดยทั่วไปทั้งเมืองอุบลฯ และเมืองใกล้เคียง หลวงปู่รอดท่านเป็นผู้นำสาธุชนเข้ายึดพระรัตนตรัยด้วยการอบรมให้เล่าเรียน ธรรมปฏิบัติ ทำให้คนชั่วกลับตัวมาเป็นคนดีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเวลาท่านดำริจะทำอะไรเป็นต้องสำเร็จ ท่านได้นำประชาชนบูรณะก่อสร้างถาวรวัตถุไว้หลายแห่งในเขตปกครองของท่าน ที่สำคัญที่สุดก็คือการบูรณะพระธาตุพนมอันเป็นพุทธเจดีย์ที่ศักดิ์สิทธิ์

กล่าวคือในปี พ.ศ. 2444 พระอุปัชฌาย์มหาโชติ วัดบูรพา เมืองอุบลฯ พร้อมทั้งพระอาจารย์มัน ภูริทัต พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล กับคณะเดินธุดงค์มาพักจำพรรษาอยู่บริเวณพระธาตุพนม ท่านอาจารย์ทั้ง 3 ท่านเห็นว่าองค์พระธาตุหมองคล้ำคร่ำคร่า ควรจะทำการบูรณะให้สวยงาม ก็เห็นพ้องกันว่ามีแต่ พระครูอุดรพิทักษ์คณเดช (หลวงปู่รอด) แห่งวัดทุ่งศรีเมืองเท่านั้น ที่จะมีความสามารถบูรณะได้สำเร็จ จึงได้เรียกหัวหน้าญาติโยมชาวพระธาตุพนมมาแนะนำให้ไปนิมนต์หลวงปู่รอดมา เพื่อทำการบูรณปฏิสังขรณ์ ชาวบ้านจึงได้นำหนังสือของพระอาจารย์ทั้งสามไปนิมนต์หลวงปู่รอด ท่านก็ได้รับปากและมาช่วยบูรณะองค์พระธาตุพนมได้สำเร็จ โดยมีชาวบ้านและชาวลาวหลั่งไหลกันมาทั่วสารทิศ มาช่วยกันทำงานประมาณ 2 เดือนก็สำเร็จและมีการฉลองเป็นงานใหญ่ นับว่าเป็นงานปฏิสังขรณ์ชิ้นสำคัญที่ต้องจดจารึกไว้

หลวงปู่รอดท่านมรณภาพในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2485 สิริอายุได้ 88 ปี พรรษาที่ 64 ท่านทิ้งไว้แต่อนุสรณ์คุณงามความดีให้แก่อนุชนคนรุ่นหลัง แม้ว่าท่านจะมรณภาพไปนานแล้วก็ตาม คุณงามความดีของท่านยังจารึกไว้ในหัวใจของชาวอุบลราชธานี และเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวอุบลฯ ตลอดไป

ขอบคุณที่มา ตำนานเล่าขานพระผู้ทรงฌานอภิญญา ครูบาอาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคม

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: