1713.บุญญฤทธิ์ พระโพธิญาณเถร

บุญญฤทธิ์ พระโพธิญาณเถร
จากหนังสือ บุญญฤทธิ์ พระโพธิญาณเถร
หลวงพ่อชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง
อำพล เจน บรรณาธิการ
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พระสงฆ์ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบหลายองค์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน มักมีเรื่อง “นอกเหตุเหนือผล” อันเกิดด้วย “บุญญฤทธิ์” ของแต่ละท่านให้ผู้คนทั่วไปประหลาดใจ และสงสัยอยู่เสมอ
นับตั้งแต่นักบินเห็นหลวงปู่แหวน อยู่บนอากาศ ขณะทำการบินอยู่เหนือคอยแม่ปั๋ง แต่หลวงปู่กลับบอกว่า “ฮาบ่ใจ้ปี๋” จะเหาะได้ยังไง
ชาวจีนคนหนึ่ง ลอบเทน้ำมนต์ของหลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม ทิ้งนอกวัด แต่เทไม่ออกถึงกับร้อง ไอ้หยา…หลวงพ่อองค์เล็กก็เก่งเหมียนกัน
ผู้ก่อการร้ายบุกวัดบ้านโนนเจริญ ซึ่งหลวงปู่มั่นพำนักอยู่ตามลำพัง เพื่อหมายจะฆ่าแต่กลับหาท่านไม่พบ ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่ได้หลบซ่อนตัวไปไหน
หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ก่อนจะไปกราบหลวงปู่ครูบาพรหม วัดพระพุทธบาทตากผ้า พูดกับลูกศิษย์ว่า ถ้าไปแล้วครูบาพรหมไม่พูดด้วยจะเอาไม้ทิ่มปาก เมื่อไปถึงหลวงปู่ครูบาพรหมก็พูดจ้อ แล้วดักคอว่า ไม่งั้นจะมีคนเอาไม้มาทิ่มปากฉัน ทำเอาหลวงพ่อฤๅษีลิงดำต้องไล่เลียงลูกศิษย์เป็นรายหัวว่ามีใครแอบดอดไปฟ้องหลวงปู่ครูบาพรหมล่วงหน้าหรือเปล่า
เรื่องยิงไม่ออก แทงไม่เข้า รถคว่ำไม่ตาย ดูจะเป็นธรรมดาสำหรับชาวพุทธในประเทศไทยไปเสียแล้ว
บุญฤทธิ์อย่างนั้นถือเป็นโชคหรือบุญวาสนาของชาวพุทธแต่ละคนจะได้ประสบกับตัวเอง
หลวงพ่อชา สุภทฺโท เป็นพระปฏิบัติดีแล้วชอบแล้วอีกองค์หนึ่ง ซึ่งมีบุญญฤทธิ์ที่หลายคนได้ประสบกับตัวเองมามากมาย แต่เรื่องอย่างนี้หลวงพ่อไม่เคยให้ความสนใจ สอนให้คนอย่าสนใจ ให้มุ่งปฏิบัติตนเพื่ออย่างน้อยชีวิตนี้ได้ตกเข้าในกระแสธรรมบ้างก็นับว่าดียิ่ง
แต่ประสบการณ์แปลก ๆ นอกเหตุเหนือผลของหลวงพ่อชาก็มีผู้ประสบและได้บันทึกเอาไว้ไม่น้อย ข้าพเจ้าจะคัดบางเรื่องบางเหตุการณ์ที่ไม่โลดโผนโจนทะยานเกินไปนัก เพื่อดำรงเจตนาของหลวงพ่อชาที่ไม่ปรารถนาให้ใคร ๆ เอาใจใส่เรื่องแบบนี้เกินไป ทั้งเรื่องที่เกิดกับคนอื่นและเกิดขึ้นกับตนเอง

เรื่องที่ 1
เรื่องแรก พระอาจารย์อมร เขมจิตโตมี เจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกธรรมชาน์ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้บันทึกจากปากคำของร้อยเอกสมบุญ บุญญรังสรรค์ (ยศขณะพ.ศ.2510)
เรื่องมีอยู่ว่า ผู้กองเพิ่งย้ายมาอยู่อุบลฯ ใหม่ ๆ ก็ถามไถ่ใครต่อใครว่ามีอาจารย์เก่งที่ไหนบ้าง เนื่องจากว่าเป็นผู้สนใจในเรื่องเครื่องรางของขลังอยู่เป็นนิสัย จึงมีผู้บอกให้ไปหาหลวงพ่อชาวัดหนองป่าพง
วันแรกที่ได้พบหลวงพ่อ ก็เพียงสนทนาธรรมทั่วไป จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา แต่ยังไม่กล้าขออะไรจากท่าน
อีกหนึ่งสัปดาห์ก็มาใหม่และกราบขอของดี แต่หลวงพ่อกลับบอกว่าอาตมาไม่มีของดีอะไร ของที่ดียิ่งกว่าของดีทั้งหลายคือธรรมะ ผู้ปฏิบัติตามธรรมะแล้วสามารถคุ้มครองคนเองได้ ถึงยังงั้นแล้ว ผู้กองสมบุญยังคงรบเร้าจะเอาให้ได้
หลวงพ่อจึงบอกว่า อาตมาเคยมีพระเครื่องเหมือนกัน 12 องค์ เหตุที่มีนั้นเกิดจากโยมคนหนึ่งนำกระเป๋าที่ลูกสาวเคยใช้มาถวายเพราะลูกสาวตาย คิดถึงลูกสาวมากทุกครั้งที่เห็นกระเป๋าใบนี้หลวงพ่อไม่รู้จะเอากระเป๋าไปทำอะไรเพราะเป็นของที่ที่พระใช้ไม่ได้ แต่เพื่อรักษาน้ำใจ จึงรับเอาไว้ ตั้งใจจะเอาไว้ใส่เข็มเย็บผ้ากับด้าย เปิดดูแล้วไม่มีอะไรในกระเป๋าจึงเอาไปแขวนไว้ข้างฝา ด้านหัวนอน
หลายวันต่อมา เห็นกระเป๋าแกว่งไปมา เข้าใจว่าลูกหนูคงเข้าไปอยู่ในนั้นแล้วออกไม่ได้ จึงลุกไปเปิดกระเป๋าดูและเห็นพระเครื่องรูปใบโพธิ์อยู่ในกระเป๋า 12 องค์ ไม่ทราบว่ามาอยู่ในกระเป๋าได้อย่างไร
ต่อมาก็มีผู้ทราบเรื่องและมาทยอยขอไปจนหมดไม่เหลือ ผู้รับพระเครื่องไปบอกว่า เป็นพระเครื่องหลวงพ่อลี วัดอโศการาม ปากน้ำ ผู้ได้ไปก็เก็บเงียบจนดูเหมือนจะหายสาบสูญไปเลย
เมื่อผู้กองไม่สามารถรบเร้าเอาของดีจากหลวงพ่อได้ จึงกราบขอเส้นเกษาที่ปลงแล้วของท่าน ก็เลยได้ไปตามประสงค์ จึงเป็นเหตุให้มีผู้ขอเส้นเกษาของหลวงพ่อตามอย่างกันมาโดยตลอด
ครั้นผู้กองกลับกรมทหารแล้วก็เล่าเรื่องที่ได้พบหลวงพ่อชาและเกิดความเลื่อมใสให้เพื่อนทหารด้วยกันฟัง วันต่อมาจึงนัดแนะกันมาหาหลวงพ่อชาพร้อมกัน 4 คน คือ ผู้กองสมบุญ ร้อยโทกิตติ ร้อยโทวินัย และทหารยศนายพันอีก 2 นาย
ทั้งหมดสนทนากับหลวงพ่อแล้วก็เกิดความเลื่อมใสขอฝากตัวเป็นศิษย์ และขอให้หลวงพ่อจดชื่อพวกตนเอาไว้ หลวงพ่อหยิบกระดาษ ปากกาขึ้นมาแล้วบอกว่า 11คุณกิตติช่วยจดที”
ร้อยโทกิตติถึงกับสะดุ้ง และซักไซ้ไล่เลียงว่าใครบอกชื่อผมกับหลวงพ่อหรือยังไง ทุกคนบอกว่าเปล่า
ต่อมา นายพันตรีสมใจ จันทรศร ได้ทราบกิตติศัพท์ของหลวงพ่อชาจากนายทหารที่เคยไปกราบท่าน จึงไปรับตัวผู้กองสมบุญ พร้อมทั้งภรรยาเพื่อไปกราบหลวงพ่อด้วยกัน
ระหว่างทางก็พูดว่า “ผมตั้งใจจะถามอะไรอย่างหนึ่งกับพระอาจารย์ชา ดูว่าท่านจะตอบได้หรือไม่ แต่ผมไม่บอกว่าอะไร
เมื่อได้พบและสนทนากับหลวงพ่อครู่หนึ่ง หลวงพ่อซึ่งกำลังอธิบายธรรมะให้ทุกคนฟังอยู่ขณะนั้นก็ได้พูดขึ้นว่า
“อย่างเช่นบางคนมีความสงสัยเรื่อง สวากฺขาโต ภควตาธมฺโม..”
ผู้พันสมใจถึงกับลุกขึ้นทันที แล้วกราบลงตรงหน้าหลวงพ่อชา เกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างเต็มที่
ยังไม่ได้ถามเลยท่านก็ตอบให้เสียแล้ว
เรื่องทำนองนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับข้าพเจ้าเองเหมือนกันข้าพเจ้าใกล้ชิดกราบไหว้หลวงพ่อชาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆไม่ประสีประสาและได้รับเมตตาจากหลวงพ่อพอสมควร จนถึงวัยเริ่มจะรุ่น
วัยอย่างนั้นย่อมเริ่มจะรู้จักสนใจผู้หญิง และมีอารมณ์เพศเป็นปกติธรรมดา สำหรับข้าพเจ้ารู้สึกตัวว่าออกจะหมกมุ่นอยู่กับอารมณ์เพศเป็นอันมาก แอบดูหนังสือโป๊ แอบอ่านหนังสือใต้ดินอยู่เป็นกิจวัตร
คงต้องบอกว่าข้าพเจ้าได้รับเมตตาจากหลวงพ่อจริง ๆ จนถึงกับหลวงพ่อเอ่ยปากชวนข้าพเจ้าบวชสองครั้ง ในระยะเวลาห่างกัน 2-3 ปี ขณะยังมีอายุประมาณ 12-15 ขวบ
ครั้งหนึ่งสหายของหลวงพ่อคือพระอาจารย์ฉลวย มาเยี่ยมหลวงพ่อที่วัดหนองป่าพง และจะพำนักอยู่ที่นี่หลายวัน วันแรกหลังฉันภัตตาหารแล้ว หลวงพ่อพาพระอาจารย์ฉลวยเดินเที่ยวชมรอบ ๆ วัด โดยมีข้าพเจ้าเพียงคนเดียวร่วมทางไปด้วย
ระหว่างเดินผ่านปากทางเข้าเขตที่พักของแม่ชีด้านหลังวัด หลวงพ่อก็หยุดสนทนากับพระอาจารย์ฉลวย แล้วหันมาหาข้าพเจ้า พลางชี้ไปที่ป้ายคำกลอนบนต้นไม้
“อ่านดัง ๆ ซิ” หลวงพ่อสั่ง
“การมีภรรยาเป็นทุกข์อย่างยิ่ง การไม่มีภรรยาเป็นลาภอันประเสริฐ การมีสามีเป็นทุกข์อย่างยิ่ง การไม่มีสามีเป็นลาภอันประเสริฐ”
ข้าพเจ้าอ่านไปรู้สึกเหมือนถูกจับความผิดได้ไปด้วย และหลวงพ่อก็ยืนฟังเงียบ ๆ เสร็จแล้วหัวเราะเบา ๆ
หลังจากนั้นเมือข้าพเจ้าหยิบหนังสือโป๊เมื่อไหร่ มักจะมีความรู้สึกว่า มีสายตาของหลวงพ่อเฝ้ามองอยู่เสมอ

เรื่องที่ 2
บิดาข้าพเจ้าก็เป็นผู้ที่หลวงพ่อให้ความเมตตากรุณาอย่างมากเหมือนกัน ครั้งที่บิดาของข้าพเจ้าป่วยหนัก เข้าโรงพยาบาลด้วยโรคถุงน้ำดีอักเสบ หลวงพ่อทราบข่าวก็ส่งคนวัดให้นำเอาเส้นเกษาซึ่งห่อด้วยตะกั่วมองดูเหมือนหัวลูกปืนมาให้บิดาข้าพเจ้าในโรงพยาบาล
ต่อมาหลวงพ่อก็เดินทางมาเยี่ยมไข้ด้วยตัวเอง ถามไถ่อาการตามธรรมดาไป ในขณะที่บิดาข้าพเจ้ามีปิติยินดีจนตาแดง ๆ เกือบจะร้องไห้ ก่อนกลับหลวงพ่อบอกกับบิดาข้าพเจ้าว่า
“หายแล้วไปอยู่วัดกับอาตมานะ”
บิดาข้าพเจ้าก็รับปาก
ภายหลังอีกไม่กี่วัน หมอก็ให้บิดาข้าพเจ้ากลับบ้านได้ เนื่องจากอาการดีขึ้นจนปลอดภัยแล้ว มารดาและพี่สาวก็เตือนให้บิดาข้าพเจ้าไปอยู่วัดกับหลวงพ่อเสียเถิด แต่บิดาข้าพเจ้าห่วงกิจการค้าและห่วงลูก ๆ ไม่ยอมไปอยู่วัด
ไม่นานหลังจากนั้น บิดาข้าพเจ้าก็กลับเข้าโรงพยาบาลอีกและถึงแก่ความตายในครั้งนี้เอง

เรื่องที่ 3
โดยทั่วไปแล้ว ไม่ใคร่มีผู้ทราบว่าหลวงพ่อเคยแจกของดีแก่ลูกศิษย์ลูกหาทั่วไปอยู่บ้าง ของดีเหล่านั้นมีไม่มาก และไม่แพร่หลายไปยังจังหวัดอื่น ๆ คงมีแต่เพียงชาวจังหวัดอุบลฯ เท่านั้นที่ได้ไว้เป็นส่วนใหญ่
ภายหลังปี 2520 หลวงพ่อก็เลิกแจก และไม่ให้ใครสนใจเรื่องนี้อีก ของดีเหล่านั้นมีอะไรบ้างข้าพเจ้าไม่อาจบอกได้ เนื่องจากว่าทางวัดไม่อยากให้ข้าพเจ้านำเรื่องนี้มาเผยแพร่ เพราะจะผิดความประสงค์ของหลวงพ่อ และจะเป็นการฝืนความปรารถนาของหลวงพ่อด้วย
ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าได้รับทุกข์เวทนาเพราะปวดฟันจนทนไม่ไหว ถึงกับน้ำตาไหลไม่รู้ตัว ยาแก้ปวดก็ไม่มี ยังเป็นเด็กวัดอนงคาราม วงเวียนเล็ก ไม่มีเงิน ต้องทนทุกข์อยู่จนค่อนคืนอย่างทรมาน
ข้าพเจ้าระลึกได้ท่ามกลางความเจ็บปวด จึงลุกขึ้นไปรินน้ำมาแก้วหนึ่ง ตั้งจิตอธิษฐานถึงหลวงพ่อขอยาแก้ปวด เพราะทนไม่ไหวจริง ๆ แล้วเอาของดีของหลวงพ่อจุ่มลงในแก้วน้ำ เสร็จแล้วยกขึ้นดื่ม
ขอสาบานว่าข้าพเจ้ารู้สึกในทันทีที่น้ำล่วงพ้นลำคอเข้าไปว่าตรงจุดที่ปวดแทบตายในปากนั้นตอดตุบ ๆ ตามจังหวะเต้นของหัวใจ. ความเจ็บป่วยก็วูบหาย วูบหาย ตามจังหวะนั้นอยู่เพียงเสี้ยววินาทีก็หายเป็นปลิดทิ้งทันที

เรื่องที่ 4
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับน้ำมนต์ คล้ายคลึงกับเรื่องของหลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม
ชาวบ้านคนหนึ่งไปขอให้หลวงพ่อทำน้ำมนต์ หลวงพ่อให้ตักน้ำมา 1 ขัน เอามาวางตรงหน้าไม่ได้ทำอะไรกับน้ำมนต์เลย หลวงพ่อคุยกับแขกคนนั้นคนนี้เรื่อยไป
ชายชาวบ้านเห็นหลวงพ่อไม่ทำน้ำมนต์ให้ก็เตือนว่า “น้ำมนต์ของผมล่ะครับ”
“เสร็จแล้วเอาไปกรอกใส่ขวดเถอะ” หลวงพ่อตอบ
ชายคนนั้นก็กรอกน้ำในขันที่หลวงพ่อไม่ได้แตะต้องใส่ขวดอย่างหงุดหงิดไม่พอใจ
ครั้นออกจากวันก็เททิ้งด้วยโทสะ
ปรากฏว่าเทไม่ออก

ทุกคนซึ่งนั่งคุยกับหลวงพ่อก็พากันแปลกใจที่ได้เห็นชายคนนั้นกลับเข้ามาอีก แล้วละล่ำละลักขอขมาโทษหลวงพ่อปากคอสั่น

ยังมีอีกมากมายหลายเรื่อง หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นกับหลายคน ซึ่งโลดโผนตื่นเต้นกว่านี้ แต่ข้าพเจ้าไม่สะดวกใจจะนำมาเล่าให้ฟัง คงต้องเก็บเอาไว้ผู้คนเดียวต่อไป เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ที่ประสบเรื่องนอกเหตุเหนือผลจากของดีของหลวงพ่อและค่อยปล่อยให้อากาศธาตุเป็นผู้บันทึกเรื่องราวเหล่านั้นเอาไว้อย่างเงียบ ๆ
บุญฤทธิ์และอิทธิปาฏิหาริย์นี้ หลวงพ่อชาเคยกล่าวว่ามันเป็นของเล่นของเด็ก ๆ ถ้าไปเล่นกับมันมากเกินไปจะหลง

พระสุปฏิปันโนทุกองค์มักจะใช้บุญฤทธิ์เฉพาะเวลาปรารถนาจะโน้มน้าวผู้คนเข้าวัดเท่านั้น เมื่อเข้ามาแล้วก็จะเทศนาดึงให้ออกจากสิ่งเหล่านั้น
อย่างเช่นเรื่องใบ้หวย ทุกคนทราบว่าหลวงพ่อไม่เคยทำแต่ครั้งหนึ่งหลวงพ่อเคยบอกใครคนหนึ่งไปจนถูกและได้เงินก้อนใหญ่มากที่สุดในชีวิต ใครคนนั้นก็พยายามเข้าวัดเพื่อหวังตัวเลขจากหลวงพ่ออีกสักครั้ง หลวงพ่อก็ค่อย ๆ เทศนาดึงให้ออกจากการเล่นหวย ในที่สุดใครคนนั้นบัดนี้เป็นพุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดตลอดมา และไม่แตะต้องการพนันอีกเลย
เรื่องยิงไม่ออก แทงไม่เข้า รถคว่ำไม่ตาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับบุญฤทธิ์ของหลวงพ่อเล่นกัน

หลวงพ่อกับชินบัญชรคาถา
เฮียคุง (คุณชัยสิทธิ เตชะศิริธนะกุล) เป็นผู้ค้นคว้าศึกษาเรื่องราวของครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในอดีตมามากและมีความประทับใจในเรื่องราวของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์กับหลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า เป็นพิเศษ
เมื่อรู้จักหลวงพ่อชาครั้งแรก เกิดศรัทธา ถวายตัวเป็นศิษย์โดยกราบเรียนว่า ตนเองอยากจะหาครูบาอาจารย์ไว้สักองค์เหมือนกรมหลวงชุมพรฯ มีหลวงปู่ศุขเป็นอาจารย์ ตั้งใจว่าจะขอเอาหลวงพ่อเป็นอาจารย์แบบนั้น
หลวงพ่อตอบว่าไม่ทันเชื่อหรอก อีกหน่อยพอได้ยินว่าหลวงพ่อนั้นดัง หลวงปู่โน้นดี ก็จะแจ้นไปหาเหมือนเก่า
เฮียคุงยืนยันว่า รับรอง ไม่เป็นแบบนั้น
หลวงพ่อหัวเราะ ไม่ว่าอะไร

ภายหลัง เฮียคุงซึ่งได้ใกล้ชิดหลวงพ่อ ได้รับใช้ปรนนิบัติเสมือนเป็นศิษย์เป็นอาจารย์อย่างแท้จริงโดยไปมาหาสู่วัดหนองป่าพง ปานว่าเป็นบ้านที่สอง วันหนึ่งมีเวลาว่างก็นั่งสวดคาถาชินบัญชรอยู่คนเดียว หลวงพ่อได้ยินจึงถามว่า คุงสวดคาถาอะไร เฮียคุงกราบเรียนว่าคาถาชินบัญชรครับ หลวงพ่อจึงบอกให้เฮียคุงสวดดัง ๆ ให้ท่านฟังด้วย เฮียคุงก็สวดดัง ๆ ถวายท่านตามบัญชา

เมื่อสวดจบแล้วหลวงพ่อกล่าวว่า คาถานี้ดีมาก พระอรหันต์ทั้งนั้นเลย
ต่อมาหลวงพ่อนำพระลูกวัดไปวัดถ้ำแสงเพชร อำเภออำนาจเจริญ โดยมีโยมนำรถผู้มารับท่านและพระอีกประมาณ 5 รูป จากวัดหนองป่าพง ซึ่งเฮียคุงก็ได้ร่วมเดินทางไปด้วยหลวงพ่อนั่งข้างหน้าข้างคนขับ พระลูกวัดนั่งกลางรถ ส่วนเฮียคุงนั่งหลังสุดคนเดียว
พอรถวิ่งไปได้สักระยะหนึ่ง เฮียคุงเกิดกลัวอุบัติเหตุ จึงเอนหลังลงสวดพระคาถาชินบัญชรอยู่ในใจ หมายเอาพระคาถานั้นเป็นที่พึ่งกันภัย
หลวงพ่อซึ่งนั่งอยู่หน้าสุดก็หัวเราะและกล่าวว่า
“คุงมันกลัว สวดชินบัญชรใหญ่”

ช่วยเด็กตกน้ำ
คุณกมล สินธุเชาน์ เล่าว่า ครั้งหนึ่งหลวงพ่อสั่งให้เฮียเหมาออกไปที่หน้าวัด ให้ไปบอกรถคันหนึ่งจอดอยู่หน้าวัดหนองป่าพงว่า อย่าไปไหน หลวงพ่อจะออกไปทำธุระ จะต้องใช้รถ คุณกมลนึกแย้งในใจว่าหน้าวัดจะมีรถที่ไหน วัดหนองป่าพงสมัยนั้นเรื่องจะมีรถผ่านไปมายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร แต่ขัดคำสั่งไม่ได้ต้องออกไปดู พบว่ามีรถยนต์จอดอยู่คันหนึ่งจริง ๆ จึงบอกกล่าวแก่เจ้าของรถตามบัญชาหลวงพ่อ
เมื่อกลับมารายงานเรื่องรถถวายหลวงพ่อแล้ว ท่านลุกขึ้นครองจีวรและกล่าวว่า
“ไปวัดเขื่อนจักคราว” (จักคราว หมายถึง สักนิดหน่อยสักเดี๋ยว สักครู่)

วัดเขื่อนคือวัดวนโพธิญาณ สาขาของวัดหนองป่าพง ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสิริธร อ.พิบูลมังสาหาร
“ไปทำไมหลวงพ่อ” เฮียเหมาสงสัย
“ไปช่วยเด็กตกน้ำ” หลวงพ่อตอบ

ระยะทางจากวัดหนองป่าพงไปถึงวัดเขื่อนราว ๆ 80 กว่ากิโลเมตร สมัยนั้นใช้เวลาวิ่งเกือบสองชั่วโมงจึงถึง

เมื่อไปถึงก็เป็นเวลาพอดีกับครอบครัวของนายอำเภอปรีชา ณ ศีลวันต์ กำลังเล่นน้ำที่ริมฝั่งวัดเขื่อน ขณะนั้นเกิดอุบัติเหตุขึ้นทันที ลูกของท่านนายอำเภอจมหายลงไปในน้ำ ภรรยาของท่านนายอำเภอก็โผตามไปช่วย เลยมีอันจมหายไปด้วยกันทั้งคู่
หลวงพ่อซึ่งไปถึงวัดพอดีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ท่านไม่ได้เดินไปที่ริมฝั่งเกิดเหตุแต่อย่างใด ท่านเพียงเดินขึ้นไปศาลาวัดเหมือนมีธุระกับทางวัดและนั่งลงพักที่นั่น
ครู่เดียวก็ได้ทราบข่าวอุบัติเหตุแม่ลูกจมน้ำจะตาย แต่กลับปลอดภัยดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ
รายละเอียดการรอดตายไม่ทราบชัดว่ารอดขึ้นมาได้อย่างไร
คงทราบแต่ว่าเมื่อแม่ลูกปลอดภัยแล้ว หลวงพ่อก็กลับวัดหนองป่าพงทันที
เป็นการเดินทางไปถึงแล้วนั่งพักแป๊บเดียวแล้วก็กลับดังคำที่ท่านบอกว่าจะไปช่วยเด็กตกน้ำ
ขอบคุณที่มา
http://www.g-pra.com/webboard/show.php…

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: