1707.พ่อท่านกระจ่าง วัดน้ำรอบ จ.สุราษฏร์ธานี ศิษย์น้อง “ขุนพันธรักษ์ราชเดช”

พ่อท่านกระจ่าง อนุภาโส วัดน้ำรอบ จ.สุราษฏร์ธานี ตอน ยอดพระเกจิแห่งลุ่มน้ำพุมดวง

เรื่องของเรื่องเกิดจากผมและเพื่อนๆ มีแผนการเดินทางลงภาคใต้เพื่อนำเหรียญบารมีหลวงพ่อทวด (เหยียบน้ำทะเลจืด) ที่พวกเราร่วมกันสร้างไปขอความเมตตาจากบรรดาพระเกจิอาจารย์ต่างๆ ช่วยเสกหรืออธิษฐานจิตให้

เจ้าเพชร-เพื่อนรุ่นน้องได้แนะนำให้ผมได้รู้จักกับ “พ่อท่านกระจ่าง อนุภาโส” วัดน้ำรอบ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฏร์ธานี เขาว่าพ่อท่านกระจ่างกำลังเดินทางจากสุราษฏร์ธานีขึ้นมาทำธุระที่กรุงเทพ โดยท่านจะเข้าพักที่วัดบุปผาราม ฝั่งธนบุรี ดังนั้นจึงเป็นจังหวะและโอกาสอันดีที่พวกเราจะได้ขอความเมตตาจากท่านช่วยเสกให้โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปถึงวัด ซึ่งความเมตตาของท่านในคืนนั้นเองที่ทำให้ผมได้รู้จักและสัมผัสถึงคำว่า “ยอดพระเกจิแห่งลุ่มน้ำพุมดวง” เป็นครั้งแรกในชีวิต

จะว่าไปแล้วในบรรดาจังหวัดต่างๆ ของภาคใต้ “สุราษฎร์ธานี” จัดว่าเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุด และด้วยความที่สุราษฏร์ธานีมีอดีตเป็นเมืองเก่าแก่ที่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่สุราษฏร์ธานีจะมีความเจริญในด้านต่างๆ หลายต่อหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นศิลปวัฒนธรรม การค้า หรือแม้แต่ศาสนา โดยเฉพาะกับความอุดมสมบูรณ์ของพระเกจิอาจารย์ที่มีค่อนข้างมาก

ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าชื่อเสียงของพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าของจังหวัดนี้นอกจากจะเป็นที่คุ้นหูคุ้นตาบรรดาคนชอบความขลังแล้ว ในบางองค์ก็สร้างเหรียญและมีราคาค่านิยมที่ต้องว่ากันในหลักแสนหลังล้าน อาทิเช่น หลวงพ่อเพชร วชิโร วัดอัมพวัน,หลวงพ่อกล่อม อานันโท วัดโพธาวาส,หลวงพ่อนุ้ย สุวัณโณ วัดอัมพาราม,หลวงพ่อพัฒน์ นารโท วัดใหม่พัฒนาราม,หลวงพ่อพัว เกสโร วัดบางเดือน ฯลฯ ซึ่งในส่วนของพ่อท่านกระจ่างนั้น ต้องบอกว่าท่านคือหนึ่งในลูกศิษย์ฝีมือดีสมาธิจิตเยี่ยมของ “หลวงพ่อพัว เกสโร แห่งวัดบางเดือน” ว่ากันว่านอกจากวัตรปฏิบัติและคุณธรรมที่ชาวบ้านยกย่องกันแล้ว ในส่วนของวิชาอาคมก็ต้องบอกว่าพ่อท่านกระจ่าง สามารถเสกของได้ขลังถูกใจคนทั้งจังหวัดครับ

พวกเรานัดพร้อมกันบนรถตู้ครับ ระยะทางหกร้อยกว่ากิโลเมตรจากกรุงเทพ-สุราษฏร์ธานี เล่นเอาใครบางคนบนรถเหมือนกับจะขาดใจเพราะเห็นนอนหลับนิ่งไปตลอดทาง ในขณะที่บางคนก็สัพยอกพี่อ้วน (คนขับรถ) ว่าขับรถช้ามาก

โดยส่วนตัวผมว่าพี่อ้วนแกไม่ได้ขับช้าหรอกครับ เพราะเท่าที่เห็นพี่อ้วนแกก็เหยียบคันเร่งร้อยกว่าเสมอ เอากันจริงๆ ผมว่าเป็นที่หัวใจของพวกเราเองแหละครับที่ร้อนรนตามประสาเด็กเถื่อนเมืองกรุง จะว่าไปแล้วคนเราถ้าหากหยุดใจที่ร้อนรนลงเสียบ้างก็น่าจะดี เพราะอะไรที่ช้าๆ จะได้เร็วขึ้น

ระหว่างทางเจ้าเพชรบอกพวกเราว่าพ่อท่านกระจ่างเป็นศิษย์หลายครูและมีดีหลายอย่าง เขาการันตีว่าเรื่องตีรันฟันแทงหนังเหนียวคงกระพันถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจในรายวิชาและสามารถทำให้ชาวบ้านละแวกวัดหันมาสนใจศึกษาในเรื่องของการปฏิบัติสมาธิภาวนาได้คือการที่พ่อท่านกระจ่าง สามารถนั่งสมาธิติดตามดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับแต่ยังไม่ถึงเกณฑ์สิ้นอายุไขให้กลับมาเข้าร่างได้ เขาว่าเหตุการณ์นี้ค่อนข้างดังมากในช่วงนั้น เรื่องมีอยู่ว่า

ชาวบ้านคนหนึ่งได้นอนหลับตามปกติ แต่บังเอิญว่าวันนั้นเกิดนอนไม่ยอมตื่น คนในบ้านเรียกเท่าไรก็ไม่รู้สึกตัว ลูกชายจึงได้ไปตามพ่อท่านกระจ่างให้มาช่วย หลังจากที่พ่อท่านกระจ่างมาถึงบ้านและพบว่าชายผู้นี้นอนหลับแบบไม่ตื่นและไม่รู้สึกตัวแต่อย่างใด ท่านจึงได้นั่งเข้าสมาธิออกติดตาม

เขาว่าเวลาผ่านไปได้เกือบชั่วโมง ชายคนดังกล่าวได้ตื่นและลืมตาขึ้นพร้อมๆ กับพ่อท่านกระจ่างได้ออกจากสมาธิ ซึ่งพ่อท่านกระจ่างได้บอกว่าวิญญาณของชายผู้นี้ได้ออกจากร่างแล้วไม่ยอมกลับ แต่เมื่อท่านตรวจดูแล้วพบว่าชายผู้นี้ยังไม่ถึงฆาต ท่านจึงได้นั่งสมาธิออกติดตามจนเจอและนำวิญญาณกลับมาเข้าร่างได้สำเร็จ ซึ่งเจ้าเพชรสำทับกับพวกเราว่า นี่เป็นแค่หนึ่งตัวอย่างเท่านั้น ที่มากและหนักกว่านี้ยังมีอีกเยอะ

เส้นทางจากถนนใหญ่เข้าสู่วัดน้ำรอบค่อนข้างคดเคี้ยวเหมือนรูปตัวเอสครับ เสียงรถตู้เลี้ยวโค้งหักศอกดังขึ้นเป็นระยะๆ เล่นเอาพวกเราต้องนั่งหัวโยกหัวคลอนไปตามแรงเหวี่ยงของรถ บางคนที่หลับก็ต้องตื่น ส่วนคนที่ตื่นอยู่แล้วก็ต้องล้วงลูกอมในกระเป๋าขึ้นมากินเพื่อป้องกันการไหลออกของอาหารในกระเพาะ

ผมเผลอหัวเราะอย่างเอ็นดู อดคิดไม่ได้ว่าทุกครั้งที่พวกเราเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่เก่าหรือไปเยือนสถานที่ใหม่ เจอครูบาอาจารย์องค์เก่าหรือได้กราบพระเกจิอาจารย์องค์ใหม่ พวกเราค่อนข้างตื่นเต้นเป็นพิเศษกว่าคนปกติ ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะมันจะหวือหวาหรือได้พบกับความสุขสบาย หากแต่พวกเราคิดตรงกันว่าการเดินทางช่วยให้พวกเราทุกคนได้เรียนรู้ ได้คิดแก้ปัญหา และสำคัญคือทุกคนมีความตื่นตัวตลอดเวลา

พ่อท่านกระจ่าง อนุภาโส ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดน้ำรอบครับ สมณศักดิ์ของท่านคือ “พระครูอนุภาสวุฒิคุณ” เจ้าเพชรบอกว่าเดิมทีท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะกลาง อันเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน ต่อมาเมื่อพระอาจารย์ของท่านคือ “พระครูปิยะศีลวัตร” อดีตเจ้าอาวาสของวัดน้ำรอบมรณภาพลง ท่านจึงต้องโยกย้ายตัวเองเข้ามาเป็นเจ้าอาวาสของวัดน้ำรอบตามคำสั่งเสียของผู้เป็นอาจารย์ และด้วยความที่พ่อท่านกระจ่างเป็นพระเปี่ยมบารมีและมีความสามารถหลายด้าน ท่านได้ปลูกศรัทธาและนำพาชาวบ้านเข้าพัฒนาวัดน้ำรอบจนเจริญก้าวหน้าอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้

พ่อท่านกระจ่าง เป็นคนพื้นเพท้องถิ่นนี้ครับ ท่านเกิดที่หมู่บ้านกลาง ตำบลน้ำรอบ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฏร์ธานี ในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๔๗๑ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะโรง ท่านมีชื่อเดิมว่า “กระจ่าง อินทรศฤงคาร” บิดามารดาชื่อ “นายปลีก-นางแจ่ม อินทรศฤงคาร” ครอบครัวของท่านประกอบอาชีพเกษตรกรรม ท่านเล่าว่าชีวิตในวัยเด็กของท่านค่อนข้างลำบาก เนื่องจากบิดาของท่านได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านอายุได้สิบกว่าขวบ ทำให้ท่านต้องละทิ้งชีวิตความสนุกสนานในวัยเด็กลงอย่างสิ้นเชิง โดยท่านต้องรับภาระในฐานะบุตรชายคนโต คือช่วยมารดาทำงาน

ท่านเล่าว่าจริงๆ แล้วลึกๆ ท่านเป็นคนที่ชอบในเรื่องไสยศาสตร์เวทย์มนต์คาถาและมีความผูกพันกับวัดตั้งแต่เด็ก ประกอบกับสมัยนั้นเจ้าอาวาสต่างวัดต่างๆ มักจะเป็นผู้ที่มีวิชาอาคมแกร่งกล้า เพราะถ้าไม่แน่จริงแล้วค่อนข้างอยู่ลำบาก ท่านว่าส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพของพื้นที่ซึ่งยังห่างไกลจากความเจริญ เจ็บไข้ได้ป่วย ผีจะเข้าเจ้าจะสิง ล้วนแล้วแต่ไปสิ้นสุดที่สมภารเจ้าอาวาสของวัด ประมาณว่าวัดคือทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตครับ

“หน้าที่ของพระนอกจากปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว สิ่งที่ต้องมองให้ออกอีกประการหนึ่งคือ พระจะต้องมีหน้าที่สงเคราะห์แก่ญาติโยมให้พ้นจากความทุกข์ ไม่ว่าจะทุกข์กาย ทุกข์ใจ การสงเคราะห์ก็ต้องแยกแยะกันให้ดี คนไม่สบายหามกันมาที่วัด ก็ต้องเข้าช่วยเหลือกันให้ถูกจุด คนไม่สบายก็ต้องให้ยา คนนั่งหลับตาก็ต้องให้ธรรมะ เรียกว่าต้องทำทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นคาถาหรือธรรมะ ซึ่งการนำมาใช้ก็แล้วแต่สภาพการณ์”

ท่านหัวเราะก่อนเล่าต่อว่า ชีวิตในช่วงนั้นค่อนข้างพลิกผันมากเพราะมารดามาเสียชีวิตลงอีกคน ท่านว่าในความเป็นเด็กตอนนั้นสมองตีบตันมาก เพราะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตาที่มากลั่นแกล้ง แต่ก็ยังโชคดีที่มีครูบาอาจารย์คอยให้กำลังใจทำให้ท่านสามารถสลัดความคิดเหล่านั้นออกไปได้ และด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบต่อชีวิตของน้องๆ ทำให้ท่านต้องยืนหยัดต่อสู้จนน้องๆ ทุกคนมีวุฒิภาวะสามารถดำเนินชีวิตด้วยตัวของตัวเองได้ ท่านจึงได้จัดสรรแบ่งปันไร่นาให้แก่ทุกคนได้ดูแลจนเรียบร้อยก่อนที่ท่านจะหันหลังให้กับทางโลก

ท่านย้ำว่าการตัดสินใจออกบวชของท่านในครั้งนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ท่านได้ศึกษาธรรมะจนเห็นถึงความทุกข์และหนทางที่จะพ้นจากทุกข์

“เราไม่เป็นห่วงอะไรอีกแล้ว เพียงขอให้น้องๆ ทุกคนเติบโตและดูแลตัวเองได้ ตอนนั้นมีความคิดสองอย่างคือนอกจากการบวชจะทำให้พ่อแม่ที่เสียชีวิตไปแล้วได้รับผลบุญแล้ว การบวชจะทำให้ชีวิตของเรามีความสุข เป็นการปลงภาระ เพราะถ้าเรายังใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา เราก็จะต้องครองเรือน มีลูก และมีความวุ่นวาย”

ท่านเล่าว่าหลังตกผลึกทางความคิดได้ดังนั้น ท่านจึงได้ตกลงใจเข้าสู้ร่มการสาวพัสตร์เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ขณะอายุ ๒๒ ปี ณ พัทธสีมาวัดวิหาร ตำบลน้ำรอบ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยมีท่านเจ้าคุณธรรมปรีชาอุดม วัดตรณาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาสว่าง ปทุโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาเฟื้อ อุตรญาโน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยท่านได้รับฉายาว่า “อนุภาโส” ภายหลังจากเสร็จสิ้นการบรรพชา ท่านได้เข้าจำพรรษา ณ วัดน้ำรอบ เพื่อที่จะได้ปรนนิบัติครูบาอาจารย์ที่มีพระคุณกับท่านมาตลอดตั้งแต่วัยเยาว์คือ “พระครูปิยศีลวัตร (นึก)” เจ้าอาวาสวัดน้ำรอบในสมัยนั้น

ท่านเล่าว่าชีวิตการเป็นพระใหม่นอกจากปรนนิบัติดูแลพระผู้เป็นอาจารย์แล้ว ท่านได้อุทิศเวลาที่เหลือทั้งหมดไปกับการศึกษาพระธรรมวินัย ด้วยจิตใจที่ตั้งมั่นและหนักแน่นในเส้นทางของตนเองในที่สุดท่านก็สามารถสอบผ่านได้นักธรรมเอก ท่านว่าในช่วงนั้นท่านเองยังเป็นพระหนุ่มน้อย ไสยศาสตร์เวทย์มนต์คาถาถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์และมีอิทธิพลกับท่านมาก ประกอบกับท่านมีความคิดว่าการเรียนรู้ในเรื่องนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองแล้วยังสามารถนำมาใช้ช่วยเหลือชาวบ้านได้ตามอัตภาพ

พ่อท่านกระจ่างอมยิ้มก่อนเล่าต่อว่า ในยุคนั้นท่านทราบมาว่า “พ่อท่านว่อน” วัดท่าเสม็ด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพระเกจิอาจารย์อาคมขลังและมีชื่อเสียง ท่านจึงได้เข้าไปขออนุญาตพระครูปิยศีลวัตรผู้เป็นพระอาจารย์เพื่อออกเดินทางไปเรียนกับพ่อท่านว่อน ท่านว่าในทันทีที่ได้รับอนุญาตท่านจึงเร่งรีบมายังวัดท่าเสม็ด โดยสิ่งแรกที่พ่อท่านว่อนสอนเลยคือเรื่องของสภาวะจิตในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกบริกรรม การเจริญภาวนา ไล่เรียงไปจนถึงการรวบรวมพลังจิต ซึ่งด้วยพื้นฐานที่ท่านเคยฝึกมาจากพระครูปิยศีลวัตร ทำให้ภายในเวลาไม่นานนักท่านก็สามารถผ่านบททดสอบจากพ่อท่านว่อนได้เป็นผลสำเร็จ

ท่านเล่าว่าถัดจากโหมดสมาธิจิตก็เป็นการเข้าสู่วิชาพื้นฐานของไสยศาสตร์คือวิชาด้านคงกระพัน

“เอาเฉพาะวิชากันปืนกว่าจะทำกันได้ก็เลือดตาแทบกระเด็น แต่พอทำได้คราวนี้ขยับนิดเดียวก็สำเร็จได้”

ท่านหัวเราะก่อนกล่าวว่า

“วิชาเมตตา เอาคำว่าเมตตาจริงๆ นะ ทำยากกว่า ความยากอยู่ตรงที่ตัวคนทำต้องมีความเมตตาอยู่ทุกขณะ”

หมายความว่าพ่อท่านก็ต้องดำรงความเมตตาทุกขณะ?-ผมถาม

“คิดง่ายๆ มีความเมตตาเหมือนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยคุ้มครอง คนคิดร้ายจะทำร้ายเรา หากเรามีเมตตาต่อเขา เขาก็จะไม่กล้าเข้ามาทำร้ายเรา พลังตัวนี้มันค่อนข้างอัศจรรย์ใจมาก เพราะมันสามารถทะลุออกไปกระทบถึงภายในจิตใจผู้คน”

ท่านหันไปที่พานข้างๆ ก่อนจะหยิบแผ่นทองแดงที่ลงอักขระยันต์ยื่นส่งให้พวกเราดู

“ส่วนมากคนนิยมของแขวนเอว มากกว่าของที่ดีที่อยู่ในใจ”

“พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ เมตตายะ ภิกขะเว เจโตวิมุตติยา ภิกษุทั้งหลาย เมตตามีไว้เพื่อหลุดพ้น หลุดพ้นจากอะไร หลุดจากทุกเรื่อง มะนุสสานัง ปิโยโหติ เป็นที่รักของมนุษย์ อะมะนุสสานัง ปิโยโหติ เป็นที่รักของอมนุษย์ เทวดารักขันติ มีเทวดาคุ้มครอง เห็นว่าดีอย่างนี้ สมควรไหมที่คนเราจะมีความเมตตาอยู่ทุกขณะ”

พวกเราพยักหน้ายอมรับแบบตาละห้อย แม้แผ่นทองแดงจะมีตัวอักขระชวนครอบครองก็จริง แต่ทุกคนก็เชื่อว่าการเจริญเติบโตทางความสัมพันธ์ในฐานะลูกศิษย์กับอาจารย์มันควรจะเป็นอะไรที่มากกว่านั้น อีกอย่างหนี่งคือเราเองก็ไม่อาจรู้ได้ว่าของที่ท่านยื่นให้ดู จะเป็นของที่ชาวบ้านคนอื่นมาขอความเมตตาให้ท่านลงจารให้หรือเปล่า ฉะนั้นในฐานะเด็กเถื่อนคนไกลจึงควรสำรวมความอยากได้ไว้ให้มาก เพราะเจ้าเพชรบอกพวกเราว่าพ่อท่านกระจ่างยังมีสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าทองแดงแผ่นนี้ ชะรอยท่านจะได้ยินเรื่องที่พวกเรากระซิบ

ท่านยิ้มก่อนเล่าต่อว่านับเป็นโชคดีของท่านที่มาเรียนกับพ่อท่านว่อน เพราะ ณ วัดท่าเสม็ดแห่งนี้เองทำให้ท่านได้พบกับลูกศิษย์ของพ่อท่านว่อนชื่อ “ขุนพันธรักษ์ราชเดช” ท่านว่าด้วยความที่เป็นคนคอเดียวกัน รักและชอบในศาสตร์แบบนี้เหมือนกัน ทำให้ท่านและขุนพันธรักษ์ราชเดชได้ผูกมิตรสนิทสนมกันจนถึงขั้นขุนพันธรักษ์ราชเดชเอ่ยปากชวนท่านให้ไปต่อวิชากับ “พระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม” เจ้าอาวาสวัดเขาอ้อในขณะนั้น ท่านว่าด้วยใจที่มุ่งมั้นและพื้นฐานที่แน่นมาแต่เดิมทำให้ท่านสามารถเรียนรู้ในวิชาอาคมต่างๆ จากสำนักเขาอ้อได้ภายในเวลาเพียงหนึ่งปี

“วิชาอาคมของเขาอ้อมีมานานแล้ว เชื่อถือได้แน่นอน ตอนที่อยู่กับพระอาจารย์ปาล เราเห็นท่านเดินเข้าป่าบ้าง เดินขึ้นเขาบ้าง นั่งอยู่ที่ศาลาบ้าง กุฏิของท่านก็เปิดโล่งไว้อย่างนั้น เราถามว่าพระอาจารย์เดินไปไหนมาไหนไม่ปิดประตู ไม่กลัวขโมยเหรอ ท่านก็บอกว่าไม่มีใครเอาของๆ ท่านไปได้ถ้าท่านไม่อนุญาต เพราะท่านเสกวิชากำบังตาไว้ เรื่องนี้มีโยมยืนยันมาหลายคน เราก็เฝ้าสังเกตเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เลยขอเรียนบ้างเพื่อเอาไว้ใช้ ท่านสอนคาถาให้สามสี่ตัว ลองเอามาใช้ดูมันก็ได้ผลจริงๆ”

มีวิชาทำหวยไหมครับ?

เสียงใครบางคนละเมอถาม

“ถามเลขเด็ด เราไม่รู้หรอก ถ้ารู้เราคงเล่นเองแล้ว ถ้าอยากรวยแนะนำว่าให้ขยันทำมาหากินและหาเก็บ แต่เล่นหวยก็ยังดีกว่าเล่นการพนันนะ บางคนเล่นไพ่กันแบบอดตาหลับขับตานอน อีกพวกคือเล่นบอลแทงผิดติดหนี้สินกับเป็นหมื่นเป็นแสน ครอบครัวเดือนร้อนไปหมด สุดท้ายก็ต้องมาให้รดน้ำมนต์ เราก็พูดว่ารดน้ำมนต์ล้างทุกข์นะไม่ได้ล้างหนี้สิน”

ฟังแล้วต้องอมยิ้มครับ

“น้ำมนต์ไว้ล้างทุกข์ ไม่ได้ใช้ล้างหนี้สิน”

ท่านเล่าว่านอกเหนือจากวัดเขาอ้อแล้ว ในเวลาต่อมาท่านได้ไปพบและขอเรียนวิชากับบรรดาพระเกจิอาจารย์อีกหลายๆ รูป อาทิเช่น หลวงพ่อพิมพ์ / หลวงพ่อแดง วัดวิหาร/ หลวงพ่อพัว วัดบางเดือน รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนวิชาอาคมกับอาจารย์ฆราวาสชื่อดังนามว่า “ปู่โทน หรำแพร” ว่ากันว่าหากปู่โทนมีงานพุทธาภิเษกจะต้องนิมนต์พ่อท่านกระจ่างไปร่วมเสกเป็นประจำ

“อย่างที่บอกว่าวัดกับบ้านต้องอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน บางคนว่าเรียนไปทำไมเยอะแยะ พอเราบอกว่าที่เรียนก็เพื่อตัวเอง เขาก็หัวเราะ พอเราพูดต่อว่าเพื่อตัวเองจะได้ไปช่วยชาวบ้าน ไปช่วยผู้ที่เคราะห์ร้ายได้ ก็เห็นเงียบกันหมด ถามว่าเราไม่ช่วยแล้วใครเล่าจะช่วย”

จะว่าไปแล้วก็ต้องยอมรับครับ เพราะระหว่างที่สนทนาจะมีญาติโยมทั้งในถิ่นและต่างถิ่นแวะเวียนเข้ามาขอความเมตตาจากท่านตลอดเวลา คำพูดที่พวกเราได้ยินจากชาวบ้านเป็นสิบครั้งคือ พ่อท่านช่วยดู/ช่วยรักษาให้ลูกหลานด้วยนะ ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะเหตุที่ว่าชาวบ้านเหล่านี้มีความรู้สึกว่าพ่อท่านกระจ่างเป็นที่พึ่งพาของชีวิตพวกเขาได้

ซึ่งเมื่อพวกเราถามท่านถึงประเด็นนี้ ท่านก็ได้แต่อมยิ้มพร้อมกับบอกว่าเวลาช่วยก็ช่วยทุกคนอย่างเต็มที่ ถึงแม้ในทุกวันนี้ท่านจะมีภาระหน้าที่เพิ่ม ซึ่งค่อนข้างจะหนัก คือการดูแลวัดต่างๆ ที่อยู่ละแวกวัดน้ำรอบ อีกถึงสามวัดก็ตาม แต่ท่านก็ว่าภาระเยอะก็ไม่ได้ทำให้จังหวะชีวิตของท่านต้องเปลี่ยนไปมากนัก ท่านยังคงเป็นพระกระจ่างองค์เดิมที่ประตูกุฏิเปิดรับปัญหาหรือเรื่องราวต่างๆ จากญาติโยมตลอดเวลา

“ทุกวันนี้ก็พอใจมาก การช่วยเหลือคนทุกข์ร้อนทำให้เรามีความสุข แน่นอนมันอาจจะไม่ได้ผลหรือราบรื่นแบบเต็มที เพราะทุกอย่างมันมีปัญหา มันมีอุปสรรคบ้างเป็นธรรมดา”

ถึงตรงนี้บางคนอาจจะมองว่าชีวิตการเป็นพระเกจิอาจารย์ของพ่อท่านกระจ่างค่อนข้างราบรื่น หากแต่ในรายละเอียดรายทาง ท่านบอกพวกเราว่า ท่านยอมรับว่าเจอปัญหาและอุปสรรคค่อนข้างเยอะ บางครั้งท่านถึงกับมีอาการถอนหายใจ แต่สิ่งที่ทำให้ท่านสามารถลุกขึ้นยืนต่อสู้ได้คือธรรมะและการตกผลึกความเข้าใจถึงธรรมชาติของมนุษย์

“จริงๆ แล้วทุกวันนี้ถึงจะเข้าใจ แต่ก็มีบางครั้งที่เหนื่อย มีบางครั้งที่ไม่อยากเจอญาติโยม แต่พอเราตั้งสติและหวนคิดได้ว่าการที่เราต้องเจอผู้คน ต้องสงเคราะห์ผู้คนที่เข้ามาพร้อมกับปัญหา มันคือการหยิบยื่นความสุขให้แก่เขา ก็บอกกับตัวเองว่า เราอย่าเห็นแก่ตัว เราต้องเห็นแก่คนอื่นด้วย”

“เราเตือนตัวเองเสมอว่า เวลาไปเจอคนเยอะๆ เราจะต้องมีสติและมีความเมตตาอยู่ตลอดเวลา เพราะการที่ชาวบ้านเขาเข้ามาหาเรา นั่นหมายถึงเขาให้ความเคารพและความศรัทธาในตัวเรา เราจึงไม่สามารถแสดงอาการเหนื่อยหรือมานั่งตีหน้าเศร้าได้”

ส่วนในประเด็นเรื่องของความเหนื่อยล้าต่อภาระหน้าที่หลายอย่าง ท่านยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดาของทุกคนที่ต้องมีเพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ทุกครั้งที่จะมีอาการแบบนี้ ท่านว่าตัวท่านเองก็จะหาทางผ่อนคลายด้วยการอ่านหนังสือธรรมะหรือปลีกตัวเข้านั่งสมาธิ

“เหนื่อยก็พัก เพราะเรื่องแบบนี้เป็นกลไกเป็นธรรมชาติของร่างกาย แต่ก็ไม่เคยหยุดพักนาน เพราะบอกตัวเองอยู่ตลอดว่าเรามีงานในความรับผิดชอบ”

เมื่อพวกเรากราบเรียนถามท่านว่า แล้วในวันนี้มีอะไรที่ท่านคิดอยากจะทำอีกหรือไม่?

“ไม่ได้คิดอยากจะทำ ส่วนมากเขาคิดแล้วเอามาให้เราทำ”

คำตอบอย่างรวดเร็ว ทำเอาพวกเราต้องอมยิ้ม ขณะที่ชาวบ้านที่นั่งฟังหัวเราะเสียงดังลั่น

เวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับความรู้สึกที่ชัดเจนในความเป็นพ่อท่านกระจ่าง ท่านบอกพวกเราว่าถึงในวันนี้ท่านจะมีอายุที่มากถึง ๘๗ ปี แต่ท่านก็ยังสนุกและมีความสุขกับการได้สงเคราะห์คน ท่านว่าคนเราถ้าไม่บั่นทอนจิตใจของตัวเราเอง แน่นอนว่าความสำเร็จ ความสมหวัง จะอยู่เคียงคู่ขนานไปกับทุกย่างก้าวของชีวิตแน่นอน ที่สำคัญคืออย่าเอาแต่เห็นแก่ตัว ต้องเห็นแก่คนอื่นด้วย

“เจอกันคราวหน้าจะให้ตะกรุดคนละดอก”

พ่อท่านกระจ่างทิ้งท้ายก่อนขอตัวไปบวชพระใหม่

ครับถึงการเดินทางครั้งนี้จะไม่ได้เครื่องรางของขลังเหมือนการเดินทางครั้งก่อน แต่ถ้าเราไม่บันทอนจิตใจของตัวเราเองแล้ว แน่นอนความสมหวังจะต้องอยู่เคียงคู่ขนานไปกับพวกเราอย่างแน่นอน ที่สำคัญคืออย่าเผลอไปหยิบตะกรุดในพานที่ตั้งอยู่ข้างที่นั่งของพ่อท่านกระจ่างมาล่ะ มิฉะนั้นโอกาสหน้าไม่มีแน่นอน….สวัสดีครับ

ขอบคุณที่มาดีๆจาก oknation

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: