1677.เขี้ยวเสือแกะ หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน (บางเหี้ย) สมุทรปราการ และบุญญาภินิหารของหลวงพ่อ

หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย
ท่านเกิดปี พ.ศ. ๒๓๖๘ ที่ตำบลคลองด่าน ท่านได้บรรพชา เป็นสามเณรที่วัดแจ้ง หรือวัดอรุณฯ กรุงเทพฯ เพื่อเรียนหนังสือ ไทย หนังสือขอม มูลกัจจายน์ และหนังสือใหญ่ ต่อมาท่านได้สึกจากเณร มาช่วยพ่อแม่ ประกอบอาชีพ ทำจาก และตัดฟืนไปขายเป็นอาชีพประจำ ท่านเป็นผู้มีนิสัยอดทนหนักเอาเบาสู้ ทำให้พ่อแม่เบาใจมาก

ต่อมาเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ท่านก็ได้บรรพชาอุปสมบทที่วัดอรุณฯ โดยมีพระศรีศากยมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วก็ได้อยู่ศึกษากับพระอุปัชฌาย์หลายปี ท่านมีความสนใจในทางกรรมฐานเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นท่านได้กราบลามาอยู่ วัดบางเหี้ย ตำบลบางเหี้ย อำเภอบางบ่อ ท่านประพฤติปฏิบัติ เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย เจ้าอาวาสขณะนั้น ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้ปกครองดูแลพระเณร ออกพรรษาแล้วท่านก็ออกรุกขมูล บุกดงพงป่าเพื่ออบรมสมาธิฝึกกรรมฐาน แสวงหาความรู้วิทยาคมจากสำนักอาจารย์ที่มีชื่อเสียง รู้ว่าอาจารย์ที่ไหนดี ท่านก็บุกไปจนถึงเพื่อขอศึกษาอาคมกับอาจารย์นั้น ท่านสนใจในวิชาไสยศาสตร์ เป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงไม่มีความยากสำหรับท่าน เมื่อมีความชำนาญแคล่วคล่องในเวทย์มนต์ ก็ทำให้เกิดความขลัง ความรู้ความสามารถก็ทวีเป็นเงาตามตัว ต่อมาท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส ปกครองสงฆ์ดูแลวัด

นอกจากนี้หลวงพ่อปานฯยังเป็นหัวหน้าสายรุกขมูล และสอนกรรมฐานอันลือชื่อ การออกธุดงควัตร ท่านจะเป็นอาจารย์ควบคุมพระเณร บางปีก็ถึงห้าร้อย พระกรรมฐานสองสายนี้ มีชื่อเสียงมาก่อนกรรมฐานสายอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น

เนื่องจากหลวงพ่อปานได้ศึกษาวิทยาคม ในการสร้างเสือมาโดยสมบูรณ์แบบ ท่านก็เริ่มสร้างแจกจ่ายให้กับประชาชนแถวย่านบางเหี้ยก่อน ที่วัดจึงต้องต้อนรับประชาชน ที่พากันหลั่งไหลเข้าสู่วัดบางเหี้ยเพื่อรับแจกเสือ ตอนแรกคนแกะเสือก็มีเพียงคนเดียว ต่อมาต้องเพิ่มคนแกะเรื่อยๆ จนถึง ๔ คน และมากกว่านั้น แต่ที่มีฝีมือนั้นมีอยู่ ๔ คน ใครต่อใครก็พากันกล่าวขวัญว่า “เสือหลวงพ่อปาน” แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็ยังรู้จัก และในสมัยนั้นไม่มีใครทำเลียนแบบ สำหรับหลวงพ่อปานวัดบางเหี้ยนั้น ท่านแก่กว่าหลวงพ่อปานวัดบางนมโค ๔๐ ปี และในจังหวัดสมุทรปราการ

หลวงพ่อกับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมัยก่อนมีแม่น้ำอยู่สายหนึ่ง ซึ่งไหลผ่านป่าดงพงพีมีต้นน้ำอยู่แปดริ้ว มาลงทะเลที่สมุทรปราการ ทุกครั้งที่น้ำทะเลหนุน น้ำเค็มจะทะลักเข้าไปตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ ทำให้ชาวบ้านในย่านนั้นได้รับความลำบาก สิ่งที่ไหลขึ้นมาตามน้ำคือตัวเหี้ย ตะกวด และจระเข้ จนต้องมีการทำประตูกั้นน้ำไว้เพื่อมิให้น้ำเค็มจากทะเลไหลขึ้นไปปนกับน้ำจืด และเพื่อป้องกันสัตว์เลื้อยคลานที่มีอยู่ชุกชุม มิให้แพร่หลายไปตามคลองต่างๆ ด้วยเหตุที่มีสัตว์พวกนี้ชุกชุม ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านบางเหี้ย” และคลองบางเหี้ย วัดก็ตั้งชื่อว่า วัดบางเหี้ย มี ๒ วัดคือวัดบางเหี้ยนอก กับวัดบางเหี้ยใน ประตูที่กั้นคลองนั้น มีชื่อเรียกกันปัจจุบันว่า “ประตูน้ำชลหารวิจิตร”

ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ประตูน้ำเกิดชำรุด ต้องทำการซ่อมแซมหลายครั้ง เมื่อแล้วเสร็จได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จไปที่ตำบลบางเหี้ย จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อที่จะทำพิธีเปิดประตูน้ำใหญ่ที่ตั้งอยู่ในคลองบางเหี้ย ปรากฏว่าทรงประทับอยู่ที่คลองด่านถึง ๓ วัน

บรรดาชาวบ้านที่อยู่ในแถบถิ่น บางบ่อ บางพลี บางเหี้ย และบริเวณใกล้เคียง เมื่อรู้ข่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวฯจะเสด็จมาเปิดประตูน้ำ ต่างก็พากันเตรียมของที่จะถวาย หลวงพ่อปานได้นำเขี้ยวเสือ ที่แกะอย่างสวยงามใส่พาน แล้วให้เด็กป๊อดซึ่งเพิ่งจะมีอายุ ๗-๘ ขวบหน้าตาดี เดินถือพานที่ใส่เขี้ยวเสือแกะเป็นรูปเสือ ตามหลังท่านไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ริมคลองด่าน

เมื่อไปถึงที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ หลวงพ่อได้เรียกเอาพานใส่เขี้ยวเสือจากเด็กผู้ติดตาม แต่เด็กคนนั้นบอกกับท่านว่า

“เสือไม่มีแล้ว เพราะมันกระกระโดดน้ำไปในระหว่างทางจนหมดแล้ว”

หลวงพ่อปานจึงได้เอาชิ้นหมูที่ทำขึ้นจากดินเหนียว แล้วเสียบกับไม้ แกว่งล่อเอาเสือขึ้นมาจากน้ำต่อหน้าพระพักตร์ พระองค์ทรงตรัสว่า

“พอแล้วหลวงตา”

หลังจากนั้นหลวงพ่อได้ถวายเขี้ยวเสือแกะนั้นแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงพิจารณาชั่วครู่ จึงตรัสถามชื่อพระเถระรูปร่างสูงใหญ่ผู้ปลุกเสกเขี้ยวเสือ หลวงพ่อปาน ทูลว่าท่านชื่อปาน (ติสโร) เป็นเจ้าอาวาสวัดบางเหี้ย

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ มีรับสั่งกับพระปานว่า

“ได้ยินชื่อเสียง และกิตติคุณมานาน เพิ่งเห็นตัววันนี้”

แล้วรับสั่งถามว่า

“ที่แจกเครื่องรางเป็นรูปเสือมีความหมายอย่างไร ?”

หลวงพ่อปานทูลตอบว่า

“ได้ไปรุกขมูลธุดงค์ในป่า พบเสือใหญ่หลายครั้ง ได้สังเกตดูเห็นว่า “เสือ” เป็นสัตว์ปราดเปรียว ฉลาด ว่องไว เฉียบขาด มีตบะ และอำนาจ สามารถที่จะใช้ตาสะกดสัตว์อื่นให้อยู่ในอำนาจได้ คนทั่วไปเรียกผู้ร้ายใจฉกรรจ์ว่า “ไอ้เสือ” ก็คือเอาความเก่งกาจของเสือมานั่นเอง การที่ทำเครื่องรางรูปเสือ มิใช่จะสนับสนุนให้คนกลายเป็น”อ้ายเสือ” เพียงแต่ต้องการเอาลักษณะของเสือจริงในป่า ที่ปราดเปรียว ว่องไว เฉลียวฉลาด เฉียบขาดมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงพอพระทัยในคำตอบของพระปานยิ่งนัก (ด้วยท่านมิได้ โอ้อวดว่า เครื่องรางของท่านดีเด่น แต่ประการใด) ทรงพระราชทานผ้าไตร และผ้ากราบ (ต่อมาได้พระราชทานสมณศักดิ์ เป็น “พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ”)

พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง”เสด็จประพาส มณฑลปราจิณ” ได้เล่าถึงพระปานไว้ว่า

“พระครูปานมาหาด้วย พระครูปานรูปนี้นิยมกันในทางวิปัสสนา และธุดงควัตร มีพระสงฆ์วัดต่างๆ ไปธุดงค์ด้วยสองร้อยสามร้อย แรกลงไปประชุมที่วัดบางเหี้ย มีสัปบุรุษที่ศรัทธาเลื่อมใสช่วยกันเลี้ยง กินน้ำจืดที่มีไว้เกือบจะหมดแล้วก็ออกเดิน ทางที่เดินนั้น ลงไปบางปลาสร้อย แล้วจึงเวียนกลับขึ้นไปปราจิณ นครนายก ไปพระบาท แล้วเดินลงมาทางสระบุรี ถ้ามาตามทางรถไฟ แต่ไม่ขึ้นรถไฟ เว้นแต่พระที่เมื่อยล้าเจ็บไข้ ผ่านกรุงเทพฯกลับลงไปบางเหี้ย ออกเดินทางอยู่ในแรมเดือนยี่ กลับไปวัดอยู่ในราวเดือนห้าเดือนหก ประพฤติเป็นอาจิณวัตรเช่นนี้มา ๔๐ ปีแล้ว

คุณวิเศษที่คนเลื่อมใสคือ ให้ลงตะกรุด ด้ายผูกข้อมือ รดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากคือ เขี้ยวเสือแกะเป็นรูปเสือ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ฝีมือหยาบๆ ข่าวที่ร่ำลือกันว่า เสือนั้นเวลาจะปลุกเสก ต้องใช้หมู ปลุกเสกเป่าไปข้อไร เสือนั้นกระโดดลงไปในเนื้อหมูได้ (น่าจะหมายความว่า พอปลุกเสกได้ที่เสือจะกระโดดกัดเนื้อหมู เป็นอันใช้ได้น่ะครับ) ตัวพระครูเองเห็นจะได้ความลำบาก เหน็ดเหนื่อยในการที่ใครๆ กวนให้ลงโน่นลงนี่ เขาว่าบางทีก็หนีไปอยู่ในป่าช้า ที่พระบาทฯ (สระบุรี) ก็หนีไปอยู่บนเขาโพธิ์ลังกา คนก็ยังตามไปกวนไม่เป็นอันหลับอันนอน แต่บริวารเห็นจะได้ผลประโยชน์ ในการทำอะไรๆ ขาย เวลาแย่งชิงก็ขึ้นไปถึง ๓ บาท ว่า ๖ บาทก็มี ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครูปลุกเสก สังเกตดูอัธยาศัยเป็นคนแก่ใจดีมีกิริยาเรียบร้อย อายุ ๗๐ แล้วยังไม่แก่มาก รูปร่างล่ำสันใหญ่โต เป็นคนพูดน้อย มีคนมาช่วยพูด”

จะเห็นว่า ในพระราชนิพนธ์ “เสด็จประพาสเมืองปราจิณ” ได้เล่าถึง “พระปาน” อย่างละเอียด สิ่งสำคัญยิ่งก็คือ เครื่องรางเขี้ยวเสือที่ทำเป็นรูปเสือ ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ ราคาเช่าซื้อตัวละ ๑ บาทบ้าง ๓ บาทบ้าง ๖ บาทบ้าง ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก (ในสมัยนั้น กาแฟถ้วยละ ๑ สตางค์ ก๋วยเตี๋ยวชามละ ๓ สตางค์ ข้าวผัดจานละ ๕ สตางค์) หลังจากเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจ ก่อนที่ท่านจะเสด็จกลับเมืองหลวง พระองค์มีรับสั่งกับหลวงพ่อปานว่า

“ฟ้าไปก่อน แล้วให้พระท่านไปทีหลัง”

พระราชดำรัสนี้ทำให้ทุกคนพิศวง เพราะไม่เข้าใจความหมาย (ยกเว้นหลวงพ่อฯ) แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี พระองค์ท่านก็เสด็จสวรรคต และต่อจากนั้นไม่ถึงปี หลวงพ่อปานก็มรณภาพลงเช่นกัน จึงสันนิษฐานว่าพระองค์อาจจะรู้ด้วยญาณ ว่าท่านและหลวงพ่อปานคงถึงเวลาที่จะละสังขารแล้ว

บุญญาภินิหารของหลวงพ่อ

หลวงพ่อปานท่านเป็นผู้มีความเมตตา ปรานี และมีวาจาสิทธิ์ จนเป็นที่ยำเกรงแก่ประชาชนทั่วไป บรรดาลูกศิษย์ของท่านจะพยายามปฏิบัติตนอยู่ในคุณงามความดี เพราะกลัวหลวงพ่อว่าตนไม่ดี แล้วจะไม่ดีตามวาจาสิทธิ์ของท่าน กอปรกับท่านมีเจโตปริยญาณ และอนาคตังสญาณ

อาทิเช่นครั้งหนึ่งท่านเตรียมจะออกเดินธุดงค์ พร้อมกับพระภิกษุสามเณรจำนวนมากจากวัดต่างๆ พระทั้งหลายจะต้องเข้ามาหาหลวงพ่อ เพื่อรายงานตัวก่อน ถ้าท่านไม่ให้ไปก็ไปไม่ได้ ในครั้งนั้นมีพระอยู่องค์หนึ่ง ชื่อพระผิว หลวงพ่อได้เรียกเข้ามาหา และบอกว่า

“คุณเก็บบาตร เก็บกลด กลับวัดไปเถอะ”

พระผิวเสียใจเป็นอย่างยิ่งถึงกับร้องไห้ หลวงพ่อปานจึงกล่าวกับพระผิวว่า

“อย่าเสียใจไปเลยคุณ กลับไปวัดเถอะ เดินทางไปกับหลวงพ่อมันลำบากมาก องค์อื่นท่านแข็งแรง หลวงพ่อกลัวคุณจะลำบากจึงให้กลับไปก่อน”

พระผิวจึงจำใจกลับ หลังจากพระผิวกลับมาถึงวัดได้ ๒ วันเท่านั้นท่านก็เป็นไข้ทรพิษ และมรณภาพลงในที่สุด การเดินธุดงค์นั้น ท่านมักจะให้ศิษย์ออกเดินทางล่วงหน้าไปก่อนทุกคราว แต่พอถึงจุดนัดหมาย หลวงพ่อจะไปคอยอยู่ข้างหน้าก่อนเสมอ

หลวงพ่อปานท่านเป็นพระที่เคร่งครัดเอาจริงเอาจัง มีจิตใจกล้าหาญ ผิดว่าผิด ถูกว่าถูก ไม่มีการเอนเอียงไปทางใดเลย การทำกรรมฐาน ท่านให้นั่งพิจารณาธาตุ เพ่งสิ่งต่างๆ เช่น ไฟเทียน น้ำในบาตร ปฐวีธาตุ จนพลังใจแก่กล้ามั่นคง และฝึกสติโดยการให้เดินจงกรม เมื่อฝึกจิตจนได้ที่แล้วท่านจึงจะสอนวิชาเคล็ดลับต่างๆ ให้ มีทั้งอยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม และวิชาไสยศาสตร์ต่างๆ ที่เรียนนี้ก็เพื่อรู้ เรียนไว้เพื่อแก้ และเพื่อป้องกันตัว (เวลาออกธุดงค์) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในสมัยนั้น ในการไปเดินธุดงค์คราวหนึ่ง ท่านไปได้หินเขียววิเศษ เป็นวัตถุสีเขียว แวววาวมาก โตขนาดเมล็ดถั่วดำ และข้างๆ หินนี้ มีเต่าหินที่สลักด้วยหินทรายสีออกน้ำตาลแดงเล็กน้อย หลวงพ่อปานท่านนิมิตเห็นสิ่งนี้ก่อนท่านจะออกธุดงค์

เนื่องจากหลวงพ่อปานฯ เป็นผู้ที่ชอบเรียนรู้อยู่เสมอ ท่านจึงชอบธุดงค์ไปในที่ต่างๆ บางครั้งท่านก็ไปองค์เดียว คราวหนึ่งท่านเดินธุดงค์ไปทางจังหวัดปราจีนบุรี ไปถึงวัดโพธิ์ศรี เมื่อไปถึงวัด ท่านเจ้าอาวาสกำลังขึงกลองเพลอยู่ ท่านเห็นดังนั้นก็ลงมือช่วยเหลือทันที พอเสร็จเรียบร้อย สมภารท่านก็นิมนต์หลวงพ่อปานขึ้นไปคุยกันบนกุฏิ ขณะที่คุยกันอยู่มือของท่านสมภารก็ปั้นลูกดินกลมๆ อยู่ในมือ สักครู่หนึ่งท่านสมภารก็โยนลูกดินนั้นขึ้นไปบนอากาศ กลายเป็นม้าตัวหนึ่ง กับตุ๊กตาอีกตัวหนึ่งไล่จับเหยี่ยวอยู่บนท้องฟ้า

หลวงพ่อปานเห็นดังนั้นท่านก็หัวเราะชอบใจ แต่ไม่ได้พูดอะไร เมื่อท่านลงจากกุฏิของท่านสมภารแล้ว ท่านได้พูดกับพระในวัดนั้นว่า “โดนลองดีเข้าให้แล้ว” พอพูดจบท่านก็หยิบผ้าสังฆาฏิที่พาดบ่าท่านอยู่ นำมาม้วนแล้วโยนขึ้นไปในอากาศ ปรากฏว่าผ้านั้นได้กลับกลายเป็นกระต่ายหลายตัว วิ่งอยู่ในลานวัด ใครจะจับก็จับไม่ได้ เป็นที่อัศจรรย์แก่ผู้พบเห็น หลังจากนั้นหลวงพ่อปานท่านจะออกเดินธุดงค์ ท่านมักจะมุ่งหน้าไปทาง อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรีเสมอ เพราะในย่านนั้นเต็มไปด้วยพระอาจารย์ผู้มีวิชาอาคม ท่านปรารถนาจะเรียนในสิ่งที่ท่านยังไม่รู้ให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น

ท่านพระครูโกศล ปาสาธิโก ท่านเล่าให้ฟังว่า “หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน ท่านเก่งเรื่องจิต ท่านแสดงฤทธิ์ได้มากมาย ท่านได้เคยเล่าถึงสรรพคุณของเต่าวิเศษที่พาท่านไปในเมืองลับแล ซึ่งเป็นภพซ้อนภพกันอยู่นี่ ได้ไปพบกับสิ่งอัศจรรย์หลายอย่าง พอเป็นคติเตือนใจ ครั้นเมื่อกลับมาจากการท่องเที่ยวครั้งนั้น หลวงพ่อปานได้เคร่งครัดการปฏิบัติกรรมฐานของท่านอย่างหนัก โดยไม่ปล่อยกาลเวลาให้ผ่านพ้นไป ท่านตระหนักดีว่า ชีวิตของท่านนั้นสั้นนัก ควรจะเร่งรีบภาวนา ทำจิตให้มีกำลัง มีสมาธิ และมีปัญญาติดตัวไว้ อุบายธรรมของท่าน ก็คือการพิจารณา สภาวธรรมความจริงแห่งวัฏฏะ เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความทุกข์ความวุ่นวาย เกิดเพราะจิตเข้าไปยึดมั่น จิตปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา การระงับดับเหตุทั้งปวง ย่อมต้องระงับดับที่ใจ เพราะใจเป็นใหญ่ใจเป็นประธาน ท่านมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติ เพื่อพระนิพพานเป็นที่หมาย เพื่อให้พ้นจากวัฏฏะอันหมุนวนไม่รู้จักจบ”

ก่อนที่หลวงพ่อปานจะมรณภาพนั้น ประชาชนที่มีความเคารพบูชาหลวงพ่อ ได้พร้อมใจกันหล่อรูปท่านขึ้นมาองค์หนึ่ง ขนาดเท่าองค์จริง เพื่อไว้เป็นที่เคารพบูชา เพราะหลวงพ่อไม่ค่อยได้อยู่วัด ท่านมักจะเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เป็นประจำ จะได้กราบรูปหล่อแทนตัวท่าน แต่เมื่อหล่อรูปแล้วท่านก็ไม่ค่อยจะเข้าวัด ท่านมักจะปลีกตัวไปจำวัดที่พระปฐมเป็นประจำ การที่ท่านไม่อยากเข้าวัดของท่านนั้น อาจเป็นเพราะท่านรู้ล่วงหน้าว่าถึงคราวจะหมดอายุขัยแล้ว ท่านจึงต้องการความสงบในการพิจารณาธรรม แต่ท่านก็ไม่กล้าพูดกับใครๆ เมื่อญาติโยมอ้อนวอนมากๆ เข้า ท่านก็บ่ายเบี่ยงไปว่า “เข้าไปไม่ได้ อ้ายดำมันอยู่ ขืนเข้าไปอ้ายดำมันจะเอาตาย” คำว่า “อ้ายดำ” หมายถึงรูปหล่อของท่านนั่นเอง ปัจจุบันนี้รูปหล่อของท่านก็ยังประดิษฐานอยู่ที่วัดมงคลโคธาวาส (วัดคลองด่าน หรือวัดบางเหี้ย) คืออยู่ที่กุฏิของหลวงพ่อซึ่งได้จัดสร้างขึ้นใหม่ และปรากฏความศักดิ์สิทธิ์มากมาย น้ำมนต์ที่หน้ารูปหล่อของท่านก็มีคนนำไปดื่ม และทองคำเปลวที่รูปหล่อก็มีคนนำไปปิดที่หน้าผาก เพื่อรักษาโรคได้ผลมาแล้วมากมาย

ด้านสาธารณประโยชน์ หลวงพ่อเป็นผู้นำในการสร้างถนนจากคลองด่านไปบางเพรียง ถนนจากวัดมงคลโคธาวาสไปวัดสว่างอารมณ์ ถนนจากวัดมงคลโคธาวาสจรดคลองนางหงษ์ ถนนแต่ละสายปัจจุบันได้พัฒนาเป็นถนนถาวรและใช้สัญจร ไปมาจนถึงทุกวันนี้

ด้านความศักดิ์สิทธิ์อภินิหารของหลวงพ่อนั้น เป็นที่เลื่องลือกันทั่วไป เป็นพระอาจารย์ ที่มีญาณแก่กล้าชื่อเสียงโด่งดังในสมัยรัชกาลที่ 5 เครื่องรางของขลัง ของท่านเป็นที่เลื่อมใสศรัทธามากและสืบ เสาะหากันจนทุกวันนี้ ท่านคร่ำเคร่งทางวิปัสสนามากและ ธุดงค์อยู่เสมอ ด้วยคุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่งของหลวงพ่อที่ได้ประกอบขึ้นไว้ แต่ครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ ราษฎรในตำบลใกล้เคียง กระทั่งต่างอำเภอและต่างจังหวัดพากันเคารพนับถือและรำลึก ถึงหลวงพ่ออย่างไม่ เสื่อมคลาย

ด้านสมณศักดิ์ หลวงพ่อปาน ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ”

ท่านมรณภาพเมื่อ วันที่ 29 สิงหาคม 2453 เวลา 4 ทุ่ม 45 นาที

เมื่อท่านถึงมรณภาพไปแล้วจึงร่วมกันประกอบพิธีนมัสการรูปหล่อของท่าน รูปหล่อดั้งเดิมของท่าน ปัจจุบัน อยู่ที่มณฑปวัดมงคลโคธาวาส อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

Cr.ข้อมูลจากเวป พระรัตนตรัย กระดานสนทนาธรรม

Cr.รูปสวยๆจาก คุณอ๊อดเสือ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: