1637.ประวัติหลวงพ่อทรัพย์ พรหมปัญญา วัดปลักแรต แห่งเมืองพิษณุโลก

ประวัติหลวงพ่อทรัพย์ พรหมปัญญา วัดปลักแรต อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑ ณ ที่ จังหวัดสุพรรณบุรี โยมบิดา ชื่อ นายแจ้ง โยมมารดา ชื่อ นางอินทร์

เมื่อเข้าบรรพชาอุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างคร่ำเคร่ง เชี่ยวชาญในจิตศาสตร์ ศึกษาอาคม จากพระอุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นพระมหาเถรรัตตัญญูในยุคนั้นพระเถราจารย์ผู้มีชื่อเสียงเกียรติคุณในเขตลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยม ในยุคนั้นหลายรูป จากปากคำของหลานชายหลวงพ่อทรัพย์ เล่าว่า หลวงพ่อทรัพย์ได้ไปศึกษาพุทธาคมและวิปัสสนากรรมฐานจาก หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ วัดบางคลาน เมืองพิจิตร

นอกจากนั้นท่านยังไปศึกษาเคล็ดวิชาอาคมเพิ่มเติม และวิชาทำน้ำพระพุทธมนต์ กับ หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ขำ อินทปัญโญ หรือ อินทปัญญา วัดปลักไม้ดำ หรือ วัดโพธิ์เตี้ย ต.ลานกระบือ อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร (ภายหลัง แยกออกมาเป็น อำเภอลานกระบือ ในปีพ.ศ. 2501) ศิษย์หลวงพ่อเงินบางคลาน รุ่นพี่ ซึ่งมีชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นยิ่งนักในย่านนั้น

หลวงพ่อขำเมื่อวัยหนุ่มเที่ยวศึกษาเรียนไปหลายวัด ในแถบพิจิตร และอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดวังตะขบ อ.สามง่าม จ.พิจิตร โดยมี หลวงพ่อเงิน วัดตะขบ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วก็ได้ศึกษาหาความรู้ใส่ตัวอย่างไม่ลดละหลายจังหวัดทางภาคกลาง วิชาความรู้ที่เรียนในสมัยนั้นก็มีหมอแผนโบราณ ไสยศาสตร์ ฯลฯ แล้วก็ธุดงค์ไปหลายแห่งจึงกลับมาสร้างวัดปลักไม้ดำขึ้นในราวปีพ.ศ.2396 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาราวปี พ.ศ.2426 ท่านถึงแก่มรณภาพวันที่ 8 สิงหาคม 2482 ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 10 ปีเถาะ สิริอายุ 74 ปี

แต่อดีตคนบางระกำจะไปมาหาสู่และค้าขายที่ลานกระบือหรือเรียกกันติดปากมาแต่โบราณว่า “ลานควาย” เป็นนิจ เนื่องจาก เป็นเขตติดต่อกัน หลวงพ่อขำ เป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อมาก สุวัณณโชโต (เมธาวี) วัดบางแก้ว อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ศิษย์พุท ธาคม พระครูเทพสิทธิเทพาธิบดี หลวงพ่อทัพ วัดทอง กรุงเทพฯ หลวงพ่อขำ จะมาบอกบุญชาวบางระกำ มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร ข้าวปลาอาหาร มากกว่าลานกระบือที่อยู่ไกลแม่น้ำมาแต่อดีต

เท่ากับว่าหลวงพ่อมากก็ เป็นอาจารย์ของหลวงพ่อทรัพย์ พรหมปัญญา วัดปลักแรต ด้วย

หลวงพ่อมาก สุวัณณโชโต สกุลเดิม เมธาวี เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 4 ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.2403 ที่บ้านกลางคลอง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรคนสุดท้อง ของนายกุล-นางท้วม เมธาวี ในบรรดาพี่น้อง 4 คนภายหลังจึงอพยพมาอยู่ที่บ้านบางแก้ว บางระกำ

อายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ได้อุปสมบท เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2424 เวลา 14.16 น. (ตามหนังสือสุทธิ) ณ พัทธสีมา วัดนิมิตธรรมาราม (บ้านกร่าง) ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก มี พระอุปัชฌาย์ฤทธิ์ วัดท่าตะเคียน จอมทอง พิษณุโลก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เอี่ยม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์จุ้ย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “สุวัณณโชโต” แปลว่า “ผู้รุ่งเรืองดุจทอง”

หลวงพ่อมากได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่อยุธยา และไปเรียนบาลีที่สำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ และย้ายไปศึกษายังสำนัก หลวงพ่อทัพ อินทโชติ หรือพระครูเทพสิทธิเทพาธิบดี วัดทอง (วัดสุวรรณาราม) ธนบุรี (เกิดพ.ศ.2390 มรณภาพ พ.ศ.2455)

ศึกษาอาคมและจิตศาสตร์จนเชี่ยวชาญ แล้วจึงย้ายจำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์ร่ม วัดเจ้าเจ็ด อ.เสนา อยุธยา ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุง แล้วจึงย้ายกลับมาอยู่ที่วัดบางแก้ว พิษณุโลก ซึ่งสร้างขึ้นในราวปีพ.ศ.2413 โดยนายบาง นางแก้ว ซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานเป็นครอบครัวแรก จึงได้สร้างวัดขึ้น

ขณะนั้นกุฏิสงฆ์สร้างด้วยไม้ไผ่ มี “หลวงพ่อเล็ก” หรือ “หรุ่น ติสสโร” เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นศิษย์สำนักเดียวกันแต่อาวุโสน้อยกว่าหลวงพ่อมาก จำพรรษาอยู่ด้วยกันหลายปี ต่อมาหลวงพ่อเล็กได้ย้ายไปอยู่ที่วัดบางระกำ หรือวัดสุนทรประดิษฐ์ ในปัจจุบัน ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูพุทธิสุนทร เจ้าคณะแขวงชุมแสงสงคราม หรือเจ้าคณะอำเภอบางระกำ ในปัจจุบัน

หลวงพ่อมากจึงได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมา ท่านได้สร้างเสนาสนะ อาทิ กุฏิ ศาลาการเปรียญ อุโบสถ ประดิษฐานหลวงพ่อเกตุ-หลวงพ่อแก้ว พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่วัดบางแก้ว และตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรมจนมีชื่อมีลูกศิษย์มากมาย

ท่านแตกฉานในพระไตรปิฎก มีศีลาจารวัตรงดงามตั้งมั่นในสัมมาปฏิบัติ และปฏิปทาคล้ายคลึงกับพระอาจารย์ของท่าน คือหลวงพ่อทัพ ถือเป็นพระธรรมกถึก (พระนักเทศน์) ที่มีชื่อเสียงเป็นเอกในภาคเหนือ มีสมณโวหาร เทศนาได้ทำนองไพเราะ ตลอดจนมีความเชี่ยวชาญในวิปัสสนากรรมฐานและคาถาอาคม อักขระเลขยันต์ มีลายมือจารงดงามด้วยสมาธิจิตสูง

วัตถุมงคล หลวงพ่อทรัพย์ พรหมปัญญา มีพุทธคุณสูงส่ง และประสบการณ์สูงยิ่ง จึงทำให้เป็นที่หวงแหนเป็นยิ่งนัก ด้วยบุญญาฤทธิ์ จิตตานุภาพที่หลวงพ่อทรัพย์ได้ศึกษาเล่าเรียนมาและตั้งมั่นอยู่ในสัมมาปฏิบัติ มีศีลาจารวัตรอันงดงามได้บำเพ็ญเพียรทางจิตมาตลอดเวลาในสมณเพศ

จนวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2509 หลวงพ่อทรัพย์ ได้อาพาธอย่างกะทันหัน โดยไม่ทราบสาเหตุ จนกระทั่งคืนวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2509 ได้มีเสียงค่างบ่างชะนีในป่าวัดปลักแรตได้พากันร้องโหยหวนเซ็งแซ่ตลอดทั้งคืน จนกระทั่งรุ่งอรุณ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2509 หลวงพ่อทรัพย์ได้ละสังขารด้วยอาการสงบ สิริอายุ 88 ปี 67 พรรษา

จัดพิธีฌาปนกิจสังขารหลวงพ่อ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2510 เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติเกิดขึ้นประจวบเหมาะขณะพิธีปลงศพ ในเดือน 5 หน้าแล้ง แสงแดดเจิดจ้า อากาศร้อนระอุ บังเกิดละอองฝนโปรยปรายตกลงมาเฉพาะในบริเวณเขตสังฆมณฑลวัดปลักแรต ยังให้บังเกิดความร่มเย็นไปทั่ว แต่นอกเขตวัดกลับไม่มีฝนแต่ประการใด เป็นที่อัศจรรย์ใจแก่ประชาชนที่มาร่วมพิธีเป็นยิ่งนัก

อ้างอิง:นสพ.คอลัมน์ : มุมพระเก่า โดย : อภิญญา

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: