1592.เห็นกายทิพย์ของพระอาจารย์

เห็นกายทิพย์ของพระอาจารย์
ในบรรดาศิษย์รุ่นใหญ่ของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตมหาเถระ หลวงปู่(หลวงปู่ชอบ ฐานสโม) ดูเหมือนจะมีประสบการณ์คล้ายกับบูรพาจารย์ของท่านมากที่สุด โดยเฉพาะด้านการรู้เห็น ติดต่อกับสิ่งลึกลับ ที่อยู่ต่างภพต่างภูมิ มาขอความอนุเคราะห์จากท่าน… ขอสร้างบุญ สร้างกุศล ทำบุญกับท่าน ขอฟังธรรมให้ท่านเทศน์โปรด

ความอันนี้ ดูจะเป็นที่สังเกตและทราบตั้งแต่เมื่อท่านเป็นพระผู้น้อย เข้าไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นใหม่ ๆ

เวลาที่ท่านภาวนา…ทุกคืน ได้เห็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่ง เป็นเหตุการณ์ปรากฏซ้ำคล้ายกันแทบทุกคืน วันหนึ่งอดใจไม่ได้ ก็คลานเข้าไปกราบเรียนถามข้อสงสัย

กล่าวคือ ท่านภาวนาเห็นพระอาจารย์มั่นถือไม้เท้าไปเคาะดูตามกุฏิลูกศิษย์หลังโน้นหลังนี้ทุกคืน ท่านพระอาจารย์มั่น ดู ๆ แล้วก็กลับ ไม่ทราบว่าพ่อแม่ครูอาจารย์ไปด้วยเหตุผลกลใด

ท่านพระอาจารย์มั่น ฟังแล้วแล้วก็นิ่ง มองพระน้อยองค์นี้ แทนที่จะตอบคำถาม ท่านกลับปรารภออกมาดัง ๆ ต่อหน้าพระเณรทุกองค์ว่า

“เออ..ให้ทุกองค์ภาวนาให้ได้เหมือนท่านชอบซิ !”

ได้ความว่า ระยะนี้ทุกคืน ท่านพระอาจารย์มั่นต้องการจะตรวจดูว่า พระเณรได้มีการทำความเพียรภาวนากันอย่างเต็มที่ สมกับที่เป็นพระธุดงค์ กรรมฐาน ศิษย์ของท่านหรือไม่… หรือจะมีใครง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจภาวนา แอบเป็นจระเข้ ยึดถือหมอนเป็นหลัก หรือว่ามีจิตส่งออก คิดไปในทางไม่ถูก ไม่ควรบ้าง…

ท่านจึงคอยไปตรวจดู…เคาะกุฏิดู…!

และความจริงท่านก็มิได้ออกเดินไปดูจริง ๆ… ท่านเพียงแต่ส่งจิตออกไปดูเท่านั้น…!

แต่พระน้อยองค์นี้ ก็สามารถมองเห็นกายทิพย์ของท่านได้…!

นับแต่นั้น ท่านพระอาจารย์มั่นก็ให้ความเมตตาท่านมากขึ้น ไม่ว่าจะแนะอุบาย ข้อปฏิบัติเช่นไร ท่านก็พยายามทำตามอย่างไม่ลดละ เช่น ควรจะไปอยู่ป่านั้น ถ้ำนั้น ภูเขาลูกนั้น ตำบลนั้น ข่าวว่าลำบากยากแค้นกันดารอย่างไร ท่านจะไม่ลังเลสงสัยเลย ท่านจะตรงไปอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจทำความเพียรในป่านั้น ถ้ำนั้น ภูเขาลูกนั้น ตำบลนั้น อย่างไม่หวั่นกลัวหรือหวาดเกรงภัยใด ๆ และเมื่อไปแล้วแระสบผลอย่างไร มีอุบายพาดำเนินข้อขัดข้องไปได้เช่นไร ก็จะกลับมาเรียนชี้แจง ขอสอบทานความคิดเห็น หรือยังมีปัญหาใดค้างคาอยู่ ก็จะมาเรียนขอให้ท่านอนุเคราะห์ให้ความสว่างแก่ศิษย์

ครูบาอาจารย์ในสมัยก่อนนั้น ท่านดูแลขัดเกลานิสัยศิษย์อย่างเอาใจใส่ ทั้งจริตนิสัยภายนอก ทั้งจิตภายในที่จะต้องกล่อมเกลาให้สำรวมระวัง ดูแลทุกข์สุข….

เป็นทั้ง พ่อ

เป็นทั้ง แม่

เป็นทั้ง ครูบา

เป็นทั้ง อาจารย์

ของศิษย์จริง ๆ ท่านจึงใช้คำแทนชื่อ เรียกว่า “พ่อแม่ครูบาอาจารย์” หรือเรียก “พ่อแม่ครูจารย์” สั้น ๆ

ท่านเคารพเชื่อฟังท่านพระอาจารย์มั่นมาก และท่านพระอาจารย์มั่น ก็คงจะเฝ้าสังเกตความก้าวหน้าในการบำเพ็ญภาวนา ของศิษย์ผู้นี้อยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งท่านจึงออกปากพยากรณ์…

“ไปไกลลิบเลย พระน้อยองค์นี้”

ในประวัติบางแห่ง กล่าวว่า เมื่อหลวงปู่พบท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ในพรรษานั้น ก็ได้จำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น หากเรื่องนี้ หลวงปู่ปฏิเสธว่า ท่านไม่เคยจำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่นเลย แต่ออกพรรษาแล้ว เมื่อมีโอกาสครั้งใด ท่านก็จะกลับมากราบครูบาอาจารย์ของท่านเสมอ โดยเฉพาะเมื่อต้องการอุบายธรรม ที่จะส่งเสริมการปฏิบัติให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป

อันที่จริง บางครั้ง บางเวลา ที่ท่านไปอยู่โดดเดี่ยวในกลางป่าดงพงลึก หรือในถ้ำอันลี้ลับ บนยอดเขาสูง หากการภาวนาเกิดติดขัดอย่างไร ท่านพระอาจารย์มั่นก็จะไปปรากฏร่างในนิมิตภาวนา แสดงบอกอุบายวิธีแก้ไข อาจจะเป็นโดยย่อ เพียงให้ท่านได้อุบายใช้สติปัญญาของตน คิดแยกแยะให้กว้างขวาง แตกฉานออกไป …หรืออาจจะเป็นธรรมโดยละเอียด ที่ควรแจกแจงให้พิสดารออกไป จนแจ่มแจ้งก็ได้ โดยที่หลวงปู่มีนิสัยในทาง “ออกรู้” สิ่งต่าง ๆ ดีอยู่แล้ว จึงสามารถมีทางรับรู้ธรรมจากครูบาอาจารย์ทางได้เป็นอย่างดี

แต่ถึงท่านจะมีโอกาส “รับฟัง” ธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่นได้ในทางนิมิตภาวนา ง่ายกว่าศิษย์คนอื่น ท่านก็ยังปรารถนาจะหาโอกาสกลับมากราบองค์จริงอยู่บ่อย ๆ

คืนหนึ่ง ท่านไปทำความเพียรอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ไกลจากวัดที่ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่นัก

ท่านเล่าว่า

คืนวันนั้น จิตสงบภาวนาได้ดีมาก แต่ใจหนึ่งก็สงสารสังขาร คิดจะให้ได้พักผ่อนสักหน่อย เพราะท่านใช้เวลาภาวนาติดต่อกันมาหลายคืนแล้ว พอตกลงใจคิดเอนหลังลงจะนอน ก็ได้ยินเสียงดังลั่นเหมือนเสียงฟ้าผ่า เสียงนั้นดังสนั่นมากจนท่านประหลาดใจ คิดว่าพรุ่งนี้จะหาโอกาสไปกราบเรียนถามท่านอาจารย์

พอไปถึงวัดท่านพระอาจารย์มั่น เห็นเสื่อปูรอไว้แล้ว พร้อมทั้งมีขวดน้ำแก้วน้ำตั้งรอรับเสร็จสรรพ ท่านก็ก้มลงกราบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง ยังไม่ทันจะเปิดปากเลย ท่านพระอาจารย์มั่นก็กล่าวออกมาดัง ๆ ว่า

“อ้ายคนเราน่ะนะ ถ้าจะภาวนาให้ดีแล้ว พอนึกง่วงนอน จะนอนแล้ว จะเกิดเสียงดังยังกับฟ้าผ่า !”

ท่านได้ฟังก็เลยไม่ถามอะไรสักคำ กราบลาแล้วก็กลับไป…!

ref: http://www.dharma-gateway.com/…/lp-chob/lp-chob-hist-12.html

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: