1563.ประวัติหลวงพ่อเชิญ วัดโคกทอง

หลวงพ่อเชิญ วัดโคกทอง อยุธยา

หลวงพ่อเชิญ เกิดในตระกูล กุฎีสุข ที่หมู่บ้านดงตาล ตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีมะแม ตรงกับวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2450 มีโยมบิดาชื่อ นายเคลือบ โยมมารดาชื่อ นางโล่ โดยที่หลวงพ่อเชิญเป็นบุตรของพี่น้องทั้งหมด 3 คน น้องสองคนเป็นฝาแฝดหญิงทั้งคู่ ชื่อ นางเจียม และ นางจอม

เมื่อหลวงพ่ออายุได้ 5 ขวบ โยมมารดาก็ถึงแก่กรรม จึงต้องอยู่ในความเลียงดูของโยมบิดาแต่ผู้เดียว ยามใดที่โยมบิดาไปทำไร่ไถนา ท่านต้องรับภาระเลี้ยงดูน้องสาวฝาแฝดแทนถึง 2 คน นับเป็นความยากลำบากมากทีเดียว เพราะขณะนั้นท่านเองเพิ่งจะมีอายุ 5-6 ขวบเท่านั้น

เมื่อท่านอายุได้ 8 ขวบ โยมบิดาพาไปฝาก หลวงพ่อขาบ วัดฤาชัย ที่ตำบลกุฎี ในอำเภอผักไห่ อันเป็นถิ่นกำเนิดของโยมบิดา เพื่อให้เล่าเรียนหนังสือ โดยที่หลวงพ่อเชิญเล่าเรียนหนังสืออยู่กับหลวงพ่อขาบ 2 ปี จนสามารถอ่านออกเขียนได้พอสมควร

หลวงพ่อขาบขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลกุฎี เห็นว่าหลวงพ่อเชิญเป็นเด็กดี ขยันหมั่นเพียร เฉลียวฉลาดและว่านอนสอนง่าย จึงนำไปฝาก พระครูบวรสังฆกิจ หรือ หลวงพ่อเพิ่ม วัดโคกทอง ซึ่งเป็นเจ้าคณะอำเภอเสนา

หลวงพ่อเพิ่มองค์นี้เป็นพระอาจารย์ที่มีความรู้ด้านปริยัติธรรมสูงส่ง เชี่ยวชาญทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เพียงพร้อมด้วยศีลาจารวัตรเคร่งครัดพระธรรมวินัย นอกจากนี้ยังเชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนโบราณ และเรืองวิทยาคมขลัง เนื่องจากเป็นศิษย์หลวงปู่กลั่น วัดพระญาติ และ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า อีกด้วย

ดังนั้นหลวงพ่อเพิ่มจึงมีชื่อเสียงด้านแก้คุณแก้การกระทำทางไสยศาสตร์และรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ชื่อเสียงของหลวงพ่อเพิ่มสมัยนั้นจึงโด่งดังไม่ต่างกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ซึ่งเป็นสหธรรมิกที่มีอายุแก่กว่าหลวงพ่อเพิ่ม 5 ปี

ในสมัยนั้นหลวงพ่อปานท่านมาพำนักที่วัดโคกทองเสมอ เมื่อปี พ.ศ.2467 หลวงพ่อเพิ่มสร้างศาลาการเปรียญ หลวงพ่อปานยังมาช่วยยกเสาเอกให้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่หลวงพ่อเพิ่มไม่เคยสร้างพระเครื่องไว้เลย ชนรุ่นหลังจึงไม่มีใครรู้จักท่าน

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หลวงพ่อเพิ่มทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์เพียงอย่างเดียวคือ แผ่นอิฐลงอาคมที่ก้นบ่อน้ำมน 2 แผ่น อีกแผ่นหนึ่งเป็นของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ซึ่งกล่าวกันว่าน้ำมนต์ในบ่อนั้นศักดิ์สิทธิ์มาก หลวงพ่อเชิญท่านนำมารดให้กับลูกศิษย์ลูกหาอยู่เสมอ

บรรพชาและอุปสมบท หลวงพ่อเชิญมาอยู่วัดโคกทองคอยรับใช้หลวงพ่อเพิ่มอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติหน้าที่การงานอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความวิริยะอุตสาหะและเชื่อฟังคำสั่งสอนของหลวงพ่อเพิ่มเป็นอย่างดี

หลวงพ่อเชิญบรรพยาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 16 ปี ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2466 หลวงพ่อเพิ่มเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออายุครบบวชจึงอุปสมบทต่อโดยมิได้ลาสิกขา ณ พัทธสีมาวัดโคกทอง ในวันที่ 1 มิถุนายน 2470 โดยมีพระอาจารย์องค์แรกคือ หลวงพ่อขาบ วัดฤาไชย เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเพิ่ม วัดโคกทอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดแจ่ม วัดโคกทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาเป็นภาษาบาลีจากพระอุปัชฌาย์ว่า ปุญญสิริ

การศึกษาและพระปริยัติธรรม หลวงพ่อเชิญอุปสมบทอุปสมบทแล้วอยู่ช่วยหลวงพ่อเพิ่มบูรณะวัดโคกทองเรื่อยมา พร้อมกันนั้นได้ศึกษาพระปริยัติธรรมโดยสอบได้นักธรรมตรีตั้งแต่เมื่อยังเป็นสามเณรในปี พ.ศ.2469 แล้วสอบได้นักธรรมโทในปีแรกที่อุปสมบท และอีก 8 พรรษาต่อมาจึงสอบได้นักธรรมเอก

สาเหตุที่หลวงพ่อเชิญสอบได้นักธรรมเอกช้า เนื่องจากไม่มีเวลาอ่านหนังสือ เพราะเอาเวลาส่วนใหญ่ช่วยงานหลวงพ่อเพิ่มในการบูรณะพัฒนาวัดด้วยความอุตสาหะ ในปี พ.ศ.2474 จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นฐานานุกรมที่ พระสมุห์เชิญ

ปี พ.ศ.2478 สอบได้นักธรรมเอก พร้อมกับได้รับการแ่ต่งตั้งเป็น พระปลัด ในปี พ.ศ.2480 ท่านจึงต้องทำหน้าที่ทุกอย่างแทนหลวงพ่อเพิ่ม ปฏิบัติภารกิจในตำแหน่งเลขานุการเจ้าคณะอำเภอเสนา ไม่ว่าจะเป็นการต้อนรับแขก ดูแลพระภิกษุสามเณรภายในวัด และเป็นผู้จัดสถานที่ให้กับคนเจ็บที่มารักษาตัว

แม้แต่ศาสนกิจนอกวัดเกี่ยวกับราชการคณะสงฆ์ เทศนาตามกิจนิมนต์ หรือการเข้าประชุมตามพระเถระกำหนด และออกตรวจตราตามบริเวณวัดและสอบนักธรรมสนามหลวง ภารกิจเหล่านี้ตกอยู่กับท่านเพียงองค์เดียวเท่านั้น นับเป็นภารกิจที่หนักมาก แต่หลวงพ่อเชิญก็สามารถปฏิบัติด้วยความเรียบร้อยเสมอมาจวบจนหลวงพ่อเพิ่มถึงแก่กาลมรณภาพในปี พ.ศ.2491

พ.ศ.2491 รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโคกทอง
พ.ศ.2492 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโคกทอง
พ.ศ.2505 เป็นเจ้าคณะตำบลกุฎี และเป็นพระกรรมวาจาจารย์
พ.ศ.2509 เป็นพระอุปัชฌาย์จารย์
พ.ศ.2511 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ราชทินนามที่ พระครูวิชัยประสิทธิคุณ
พ.ศ.2517 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท
พ.ศ.2522 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก
พ.ศ.2524 สำนักนายกรัฐมนตรี ถวายพัดชั้นพิเศษในฐานะที่เป็นผู้อุปการะโรงเรียนวัดโคกทอง (บวรวิทยา)
พ.ศ.2532 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ประทานพัดพัฒนาที่มีผลงานดีเด่นแก่หลวงพ่อเิชิญ

การศึกษาพระเวทวิทยาคม หลวงพ่อเชิญเป็นพระอาจารย์ที่มีมากครูมากอาจารย์ เพราะท่านมีใจรักทางด้านพระเวทวิทยาคมมากกว่าการศึกษาด้านพระปริยัติธรรม เมื่อได้รับการปูพื้นฐาน โดยที่ หลวงพ่อเพิ่ม เป็นพระอาจารย์องค์แรกที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ต่างๆ ให้ อาทิ

การศึกษาอักษรสมัยทั้งภาษาไทยและภาษาขอม การท่องบ่นมนต์คาถา การลงอักขระเลขยันต์ แพทย์แผนโบราณ ยาแก้กันกระทำคุณไสย์ นั่งเจริญสมาธิภาวนาพระกรรมฐาน ตลอดทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน มาตั้งแต่หลวงพ่อเชิญมีอายุเพียง 10 ขวบ

ในคราวที่บวชเณรแล้วได้ติดตามหลวงพ่อเพิ่มไปซื้อซุงที่ชัยนาท ได้ไปกราบนมัสการ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อเพิ่ม หลวงพ่อเชิญจึงโชคดีได้วิชาบางประการมาจากพระปรมาจารย์อันยิ่งใหญ่ที่มีชื่อเสียงเกรียงไกรอย่างหลวงปู่ศุข

เมื่ออุปสมบทในพรรษาแรกก็ไปขึ้นพระกรรมฐานกับ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก แล้วเดินทางไป ๆ มา ๆ ร่ำเรียนวิชากับหลวงพ่อจงมากมายเป็นระยะเวลาหลายปี

หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค สหายทางธรรมของหลวงพ่อเพิ่ม ชอบมาพำนักที่วัดโคกทอง หลวงพ่อเชิญก็ฝากตัวเป็นศิษย์คอยปรนนิบัติรับใช้แล้วติดตามพายเรือไปส่งและพักเรียนวิชาที่วัดบางนมโคเป็นประจำ

ในปี พ.ศ.2473 หลวงพ่อเพิ่มพาท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์อีกรูปหนึ่งของท่านคือ หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ ซึ่งขณะนั้นหลวงพ่อกลั่นชราภาพมากแล้ว

ในปี พ.ศ.2482 หลวงพ่อเชิญเกิดอาพาธด้วยโรคตาอักเสบจึงเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อพักรักษาตัวอยู่กับ หลวงปู่กล้าย วัดหงษ์รัตนาราม บางกอกใหญ่ เลยได้รับการแนะนำวิชาการต่าง ๆ จากหลวงปู่กล้ายอีกรูปหนึ่ง

ขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เวลานั้นวัสดุก่อสร้างขาดแคลน การบูรณะวัดก็หยุดชะงักลง หลวงพ่อเชิญจึงถือโอกาสเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณว่าด้วยสาขาเวชกรรมกับ ครูนพ ที่โรงเรียนประทีป ตลาดพลู เป็นเวลา 2 ปีด้วยกัน

นอกจากนั้นยังมีพระอาจารย์เรืองวิชาที่มีชื่อเสียงในอยุธยาที่หลวงพ่อเชิญเคยไปขอศึกษาวิชามาก็มี หลวงปู่ยิ้ม วัดเจ้าเจ็ดใน หลวงพ่อแจ่ม วัดบัวหัก และหลวงพ่อแพ วัดกลางคลอง ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นพระอาจารย์ยุคเก่าที่เรืองวิชาทั้งสิ้น
http://www.sitamulet.com/…/357_%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%…

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: