1422.ประวัติหลวงปู่คำมี วัดถ้ำคูหาสวรรค์ ในสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม ทหารทุกคนที่ไปสงครามคราวนั้นและมีวัตถุมงคลของหลวงปู่ติดตัวไปด้วยสามารถกลับมาโดยปลอดภัยทุกคน

ประวัติหลวงปู่คำมี วัดถ้ำคูหาสวรรค์
หลวงปู่คำมี เกิดเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๖ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง เวลาเที่ยงตรง ในสหราชอาณาจักรลาว เดิมชื่อคำมี พระวิเศษ มารดาชื่อนางน้อย พระวิเศษ มีพี่น้องร่วมสายโลหิต ๙ คน หลวงปู่คำมีเป็นบุตรชายคนที่ ๕
ลักษณะพิเศษของหลวงปู่คำมีที่แปลกไปจากบุคคลธรรมดาโดยทั่วไปก็คือ ฝ่ามือทั้งสองข้างลวดลายของเส้นมือมีลักษณะปรากฏเป็นยอดปราสาททั้งสองข้าง ฝ่าเท้าทั้งสองข้างกลางฝ่าเท้ามีลักษณะปรากฏเป็นยอดปราสาททั้งสองข้าง ฝ่าเท้าทั้งสองข้างกลางฝ่าเท้ามีลักษณะลวดลายคล้ายดอกพิกุลที่กลางฝ่าเท้าทั้งสองข้าง
เมื่อสมัยที่ท่านยังเยาว์วัยมีอุปนิสัยฝักใฝ่ในทางธรรม เพื่อให้ได้ศึกษาและเจริญก้าวหน้าในทางธรรมยิ่งๆขึ้น หลวงปู่จึงได้ขออนุญาตบรรพชาเป็นสามเณรจากโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน ยังความปิติยินดีแก่โยมทั้งสองท่านเป็นอันมาก โยมบิดาท่านจึงพาหลวงปู่เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์บรรพชาเป็นสามเณรกับพระครูพล ที่วัดชุมพรพิสัย แขวงสุวรรณเขต เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยมีพระครูพลเป็นพระอุปัชฌาย์ ขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๑๔ ปี
ในระหว่างที่หลวงปู่คำมีศึกษาปฏิบัติธรรมและวิชาต่างๆกับพระครูพลอยู่ที่วัดชุมพรพิสัยนั้น สิ่งที่ท่านให้ความสนใจเป็นพิเศษคืออักขระ คาถา ยันต์ต่างๆ และมีความเจริญก้าวหน้าในการร่ำเรียนอย่างรวดเร็ว เมื่อท่านศึกษาปฏิบัติจนแก่กล้าแล้ว ท่านจึงขออนุญาตพระครูพลออกธุดงค์เพื่อแสวงหาสถานที่สัปปายะเหมาะแก่การเจริญธรรม เป็นเวลา ๒ ปีที่ท่านได้ศึกษาวิชาต่างๆอยู่กับพระครูพล และในเวลาเดียวกันนั้นเองท่านก็ได้ยินกิติศัพท์คำร่ำลือเกี่ยวกับถึงคุณวิเศษและบารมีอันมหัศจรรย์ของสมเด็จลุน แห่งนครจำปาศักดิ์ ทำให้หลวงปู่มีความปรารถนาอยากไปร่ำเรียนวิชาต่างๆจากสมเด็จลุนเป็นกำลัง
เมื่อท่านได้ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับพระครูพลจนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านจึงขออนุญาตกับโยมทั้งสองของท่านและพระครูพล ท่านทั้งหลายเห็นความปรารถนาตั้งใจดีของหลวงปู่แล้วถึงแม้จะประหลาดใจกับสามเณรน้อยแต่ก็ไม่ได้ขัดศรัทธา หลวงปู่คำมีจึงกราบลาโยมทั้งสองและพระครูพลเพื่อธุดงค์แสวงหาครูบาอาจารย์ที่จะศึกษาต่อไป จุดมุ่งหมายคือ นครจำปาศักดิ์ ที่พำนักของสมเด็จลุน

พบสมเด็จลุนแห่งนครจำปาศักดิ์
เมื่อท่านจากถิ่นฐานบ้านเกิดมาแล้ว การธุดงค์ในป่าประเทศลาวเมื่อร้อยกว่าปีก่อนเพียงลำพังคนเดียวนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อีกทั้งกระแสข่าวการพำนักของสมเด็จลุนนั้นก็ไม่ได้มีความแน่นอน วันนั้นได้ทราบว่าท่านจะไปโปรดญาติโยมที่เมืองอื่นในประเทศลาว วันนี้ได้รับทราบว่าท่านจะไปฝั่งไทย ยังความสับสนต่อท่านเป็นอันมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ท่านอดทนบุกป่าฝ่าดงต่อไปก็คือ ท่านต้องไปเรียนวิชากับสมเด็จลุนให้ได้
หลวงปู่เล่าให้ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดฟังว่าการติดตามหาสมเด็จลุนในสมัยนั้นยากมาก ข่าวคราวของสมเด็จฯนั้นมากมายไปด้วยบารมีอิทธิปาฏิหาริย์ บางข่าวลือว่ากันว่าท่านเดินข้ามลำน้ำโขงมาได้อย่างสบาย บางข่าวว่าท่านถูกทหารฝรั่งเศสจับกุมโทษฐานระดมผู้คนเพื่อทำการต่อต้าน แต่สุดท้ายก็ทำอะไรท่านไม่ได้ เนื่องจากศรัทธาของญาติโยมที่หลั่งไหล มากราบไหว้ชื่นชมบารมีของสมเด็จนั้นมากมายเหลือเกิน อันเกิดจากบารมีธรรมของท่านล้วนๆ หาได้มีการปลุกระดม โฆษณาแต่อย่างใดไม่ สุดท้ายแม้แต่เหล่าบรรดาทหารฝรั่งเศสเองก็ให้ความเคารพนับถือสยบต่อท่าน
สุดท้ายหลวงปู่ทราบข่าวว่าสมเด็จลุนท่านเสด็จมาโปรดญาติโยมที่นครจำปาศักดิ์ คราวนี้ท่านตั้งใจว่าจะเป็นตายอย่างไรท่านต้องไปกราบสมเด็จลุนให้จงได้
หลวงปู่คำมีท่านเล่าว่าท่านยังแปลกใจตัวเองว่าท่านดั้นด้นมาถึงสมเด็จลุนได้อย่างไร ส่วนสมเด็จลุนนั้นมองสามเณรน้อยที่บุกป่าฝ่าดงมาหมอบกราบอยู่ต่อหน้าท่านด้วยความชื่นชม
คำถามแรกที่ท่านถามสามเณรน้อย “สามเณรน้อย มาหาข้าด้วยเรื่องอันใดและมาจากไหน”
หลวงปู่ก็เล่าให้ฟังว่า “ท่านมาจากแขวงสุวรรณเขต ทราบว่าท่านเก่ง อยากจะมาเรียนวิชาจากท่าน”
สมเด็จลุนท่านยิ่งหัวเราะชอบใจ ในความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวของหลวงปู่ที่สามารถมาหาท่านจากแขวงสุวรรณเขตโดยลำพัง “รู้ได้อย่างไร ว่าข้าเก่งและข้าดีอย่างไร”
สามเณรน้อยตอบไปว่า “ข้าน้อยไม่ทราบว่าสมเด็จเก่งอย่างไร แต่ข้าน้อยมีความตั้งใจอยากมากราบสมเด็จให้ได้และขอเป็นศิษย์ของสมเด็จ”
คำตอบของสามเณรน้อยเป็นที่ชอบใจของสมเด็จลุนเป็นอย่างยิ่งจึงรับตัวไว้เป็นศิษย์ สามเณรคำมีอยู่รับใช้และศึกษาวิชาต่างๆจากสมเด็จลุนอย่างเคร่งครัด เมื่อท่านเห็นว่าสามเณรคำมีได้ร่ำเรียนวิชาต่างๆจากท่านจนหมดสิ้นแล้ว ท่านจึงให้สามเณรคำมีกลับไปเผยแพร่ธรรมและโปรดโยมบิดามารดาของท่านที่สุวรรณเขต โดยท่านฝากสามเณรคำมีไปกับกองคาราวานชาวไทยใหญ่ หลวงปู่จึงได้กราบลาสมเด็จลุนมาด้วยความอาลัย

ศึกษาวิชากับหลวงปู่ศรีทัต
เมื่อหลวงปู่กลับมากราบพระครูพล อาจารย์องค์แรกของท่านและโปรดญาติโยมที่วัดชุมพรพิสัยได้ระยะหนึ่ง ท่านได้เกิดความตั้งใจที่จะเดินทางไปไหว้พระธาตุพนมที่ฝั่งไทย จึงลาพระครูพลเพื่อเดินทางมาทางฝั่งไทย พอข้ามฝั่งโขงเหยียบถึงแผ่นดินไทย เกิดได้ทราบข่าวบารมีความเก่งกล้าของพระครูศรีทัต แห่งอำเภอท่าอุเทน เมื่อนมัสการพระธาตุพนมเสร็จท่านจึงยังไม่กลับไปสุวรรณเขต แต่มุ่งหน้าสู่อำเภอท่าอุเทนเพื่อไปกราบนมัสการพระครูศรีทัตและขอฝากตัวเป็นศิษย์ เมื่อพระครูศรีทัตทราบความเป็นมาของหลวงปู่คำมีจึงรับสามเณรคำมีไว้เป็นศิษย์ หลวงปู่คำมีเล่าว่าได้อยู่รับใช้และศึกษาธรรมจากหลวงปู่ศรีทัต ที่เมืองไทยถึงสามพรรษา หลวงปู่ศรีทัตนั้นมีความเข้มงวดมากตั้งแต่เรื่องพระธรรมวินัย จนไปถึงการศึกษาวิชาต่างๆท่านมีความเคร่งครัดมาก จนเมื่อหลวงปู่คำมีอายุครบบวชท่านจึงลาหลวงพ่อศรีทัตกลับไปยังฝั่งลาวเพื่อทำการอุปสมบท

พบพระอาจารย์ใหญ่แห่งกองทัพธรรม

ท่านได้กลับมายังแขวงสุวรรณเขตและได้ทำการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีพระครูพลเป็นพระอุปัชฌาย์ ที่วัดชุมพรพิสัย ท่านได้จำพรรษาโปรดโยมบิดามารดาที่วัดชุมพรพิสัยอยู่ ๒ พรรษา ด้วยความต้องการแสวงหาวิมุตติธรรมของท่านเป็นที่ตั้ง ท่านจึงลาโยมบิดามารดาของท่านอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ท่านไม่มีโอกาสได้กลับมาพบโยมของท่านอีกเลย ท่านกราบลาพระครูพลและโยมบิดามารดาของท่านแล้วออกธุดงค์มายังฝั่งไทยอีกครั้ง ธุดงค์ไปหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสานของไทยหลายพรรษา จนกระทั่งเข้าสู่เมืองโคราช ท่านก็ได้ยินชื่อเสียงความเป็นนักปฏิบัติที่เคร่งครัดของ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโร วัดป่าสาลวัน พระอาจารย์ใหญ่แห่งสายกองทัพธรรม ท่านจึงเดินทางไปกราบขอฝากตัวเป็นศิษย์ รับแนวทางปฏิบัติจากท่านหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่คำมีเล่าว่าหลวงปู่เสาร์มีความเชี่ยวชาญแก่กล้าทางด้านกสิณเป็นอันมาก โดยเน้นให้ความสำคัญทางด้านกสิณ ๔ อันเป็นปฐมของธาตุทั้งมวลในโลก คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งหลวงปู่คำมีได้ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติในการตั้งธาตุปลุกเสกวัตถุมงคลในกาลต่อมา
เมื่อท่านได้ศึกษาปฏิธรรมกับหลวงปู่เสาร์จนเป็นที่พอใจแล้วจึงได้กราบลาหลวงปู่เสาร์เพื่อธุดงค์ต่อไป ท่านได้เดินธุดงค์มาถึงอำเภอพระพุทธบาท สระบุรีไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาท และได้เดินธุดงค์มายังบ้านโปร่งสว่าง ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่บ้านโปร่งสว่างและได้สร้างวัดและพระอุโบสถจนสำเร็จ จากนั้นท่านได้มาจำพรรษาที่บ้านประดู่ ได้มาสร้างวัดและพระอุโบสถ ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดประดู่ ๑๖ พรรษา ในระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดประดู่ ท่านยังได้ทำการสร้างวัดและพัฒนาวัดต่างๆจนเจริญเป็นอย่างมาก เป็นที่ศรัทธาของญาติโยมในละแวกนั้น อันได้แก่ วัดหนองแก, วัดหนองจิกและวัดตาลเสี้ยน
หลวงปู่คำมีท่านได้เล่าให้ฟังว่า เรื่องทั้งหลายมันชักจะวุ่นวายไม่มีเวลาแสวงหาความสงบและปฏิบัติธรรม ท่านจึงจากญาติโยมทั้งหลายออกธุดงค์ต่อไปโดยมิได้ร่ำลา มุ่งมาทางจังหวัดลพบุรี ท่านได้เดินธุดงค์มาพบถ้ำเอาราวัณ ท่านเห็นว่าเป็นสถานที่สัปปายะเหมาะแก่การหลบหลีกจากความวุ่นวายทั้งหลาย ท่านจึงอาศัยเป็นที่พำนักในการเจริญธรรม
แต่เพียงไม่นาน ญาติโยมก็ทราบข่าวจึงออกติดตามมาให้ท่านไปกลับไปที่วัดเพื่อเจริญศรัทธาให้แก่พวกเขาต่อไป พร้อมทั้งจะไปขอตำแหน่งพระครูให้ท่าน ท่านจึงแสดงให้ญาติโยมทั้งหลายทราบว่า การที่ท่านหนีออกมาก็เพราะลาภ ยศ และสักการะทั้งหลาย ท่านว่าเป็นความมัวเมา ความวุ่นวาย ท่านขอจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำเอราวัณต่อไป ญาติโยมทั้งหลายจึงต้องกลับไปด้วยความผิดหวัง

ต่อมาชาวบ้านดงจำปาได้มานิมนต์หลวงปู่ให้ไปโปรดญาติโยมและช่วยสร้างวัดที่นั่น หลวงปู่ได้ไปช่วยสร้างวัดและพระอุโบสถจนเป็นที่สำเร็จ หลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดดงจำปาระยะหนึ่ง (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดใหม่จำปาทอง) ท่านจึงกลับไปพำนักที่ถ้ำเอราวัณอีกครั้ง ท่านอยู่จำพรรษาที่ถ้ำเอราวัณ ๓ พรรษา ในช่วงนั้นได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นบุกขึ้นประเทศไทย ท่านย้ายจากถ้ำเอราวัณมาจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำคูหาสวรรค์ ต่อมาไม่นานสงครามก่อตัวขึ้นเป็นสงครามอินโดจีน ท่านได้ทำเครื่องรางแจกทหารหาญที่ไปรบ ทหารทุกคนที่ได้รับเครื่องรางของขลังจากท่านไปและนำติดตัวไปสงครามคราวนั้น ปรากฏว่าปลอดภัยกันทั่วหน้า ไม่มีใครได้รับอันตรายใดๆเลย
อีกทั้งในสงครามในสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม ก็ปรากฏเฉกเช่นเดียวกัน ทหารทุกคนที่ไปสงครามคราวนั้นและมีวัตถุมงคลของหลวงปู่ติดตัวไปด้วยสามารถกลับมาโดยปลอดภัยทุกคน จ่าบัติผู้บันทึกเรื่องราวยืนยันโดยหนักแน่น ปัจจุบันจ่าบัติอายุ ๖๐ กว่าปี แขวนวัตถุมงคลของหลวงปู่ติดตัวตลอดและให้ความเชื่อมั่นมากกล่าวถึงหลวงปู่คำมีด้วยเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง
ขอบคุณที่มา
http://forum.uamulet.com/view_topic.aspx?bid=2&qid=881

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: