1400.หลวงปู่เข็ม แห่งวัดบ้านม่วง ราชบุรี พระเถระผู้เปี่ยมด้วยเมตตา ชาวกะเหรี่ยงชาวมอญ นับถือท่านมาก ถึงขนาดให้ท่านเอาเท้าลูบศีรษะเพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต

หลวงปู่เข็ม แห่งวัดบ้านม่วง ราชบุรี
ชาวบ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี นิยมเรียก พระครูไชยคีรีศรีสวัสดิ์ ว่า “หลวงปู่เข็ม” หรือ “พระอุปัชฌาย์เข็ม” ท่านมีอายุอยู่ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 7 ท่านเกิดเมื่อวันอังคาร เดือน 5 ปี พ.ศ.2398 ได้บวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 13 ขวบ กระทั่งถึงมรณภาพ เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2476 เมื่อมีอายุได้ 87 ปี เล่ากันว่าบิดามารดาของท่านมาตั้งหลักฐานอยู่ในเมืองไทยแต่ราวรัชกาลที่ 1 หลวงปู่เข็ม เป็นพระเถระที่เชี่ยวชาญในทางวิปัสสนา หาภิกษุเสมอเหมือนได้ยาก ในบริเวณสองฟากลุ่มน้ำแม่กลองตั้งแต่ วัดบ้านโป่ง วัดอุทุมพร วัดตาผา วัดมะขาม เรื่อยไปจนถึงวัดม่วง

หลวงปู่เข็มมีบทบาทสำคัญที่ทำให้วัดม่วงเจริญรุ่งเรืองและเป็นที่รู้จัก ทั้งในหมู่คนมอญ ไทย แขก ลาว และกะเหรี่ยง เนื่องจากท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์พิเศษ สามารถบวชคนข้ามจังหวัดได้ ในสมัยก่อนพระอุปัชฌาย์มีน้อย ผู้คนในเขตภาคตะวันตกจึงพากันมาขอบวชกับหลวงปู่เข็มมากมาย ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ มีคนมอญไปมาหาสู่กับวัดม่วงเสมอ ทั้งที่เป็นญาติก็มี เป็นพระสงฆ์ก็มี และที่มาเพราะกิตติศัพท์ของหลวงปู่เข็มก็มาก แม้พวกกะเหรี่ยงก็ลงมาบวชที่วัดม่วงมากมาย

การเดินทางในสมัยนั้นใช้เดินเท้าเป็นหลัก เล่ากันว่าพวกกะเหรี่ยงเคารพนับถือท่านมากถึงกับมอบให้เท้าท่านถูกศีรษะ เพราะถือเป็นมงคลสูงสุดในชีวิต หลวงปู่เข็มมีเก้าอี้หวายประจำตัวมีคานห้ามสำหรับใช้ในการเดินทางไกล และมีเรือเก๋งที่ได้รับพระราชทานด้วย
การบวชสมัยก่อนมักจะบวชเป็นกลุ่มครั้งละหลายๆ องค์ เพราะต้องเดินทางไปไกลแต่ละท้องที่ ในหมู่คนมอญ หากถือผีเดียวกันต้องบวชพร้อมกัน ญาติพี่น้องของผู้บวชต้องเอาพลูจีบไปจองสาวๆ ที่จะมาเข้าขบวนแห่นาค ซึ่งจะต้องเลือกสาวพรหมจารี แต่งโจงกระเบน ห่มผ้าสไบ หรือใส่เสื้อคอกระเช้าแล้วห่มสไบทับอีกที
หลวงปู่เข็ม ได้ทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์อยู่นาน จนประมาณปี พ.ศ.2440 จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูไชยคีรีศรีสวัสดิ์” วัดม่วงคงจะเจริญสูงสุดในสมัยนี้ เนื่องจากท่านได้สร้างความเจริญให้กับวัดมากมาย เช่น สร้างโบสถ์ กำแพง ศาลา โรงเรียน ทำให้บ้านม่วงเป็นศูนย์กลางการเรียนการศึกษาธรรมในสมัยนั้น มีอาจารย์บาลีมอญหลายรูป และมีการจารหนังสือกันมาก ทั้งพระอภิธรรม ชาดก นิทานต่างๆ พวกหนังสือบาลีมอญจะจารเพื่อให้พระเรียน ส่วนพวกนิทานชาดกจะใช้อ่านกันทั่วไป

อาจารย์อุ่น แห่งวัดม่วง เล่าว่า โบสถ์หลังปัจจุบันมีประวัติเล่าถึงการก่อสร้างไว้ในใบลานเก่าประมาณปี พ.ศ.2464 เข้าใจว่าหลวงปู่เข็มเป็นคนสร้าง นอกจากนี้มีการสร้างเหรียญ 2 ชนิดขึ้นให้บูชา เป็นเนื้อเงินและเนื้อทองแดง ด้านหน้าของเหรียญเป็นรูปหลวงปู่เข็ม มีอักษรขอมล้อมรอบ ส่วนด้านหลังเป็นรูปยันต์อักษรขอม มีอักษรไทยเขียนว่า ให้ไว้เป็นที่ระลีก หลวงปู่เข็มได้รับการเชื่อถือว่า ใครที่สุกกับหลวงปู่ให้ท่านเป่ากระหม่อมให้ จะทำให้มีชีวิตก้าวหน้ารุ่งเรื่องดี จึงมีพระสงฆ์มาขอสึกกับหลวงปู่มาก

หลวงปู่เป็นพระที่มีเมตตาสูงมาก มีพรหมวิหาร 4 ใครมานิมนต์ไปไหนไม่เคยขัดศรัทธา จนลุกไม่ไหวก็ขึ้นคานห้ามแคร่ไป ความเลื่อมใสศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อท่านมีสูงมาก ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ” พระพุทธเจ้าหลวงเคยเสด็จที่วัดม่วง และยังพระราชทานแพรจีวรดอกพิเศษถวายท่านด้วย”

นอกจากนี้ หลวงปู่ยังมีกิตติศัพท์ในการเป็นหมอยารักษาโรคอีกด้วย โดยนำสมุนไพรที่ขึ้นในวัดมาทำเป็นยาลูกกลอน แจกชาวบ้านที่เดือดร้อนมาให้ท่านรักษา หลวงปู่เข็มเป็นผู้ที่เคร่งครัดพระธรรมวินัยมาก ท่านจะสวดมนต์แทบทุกบทจนถึงพระปาฏิโมกข์ แต่จะสวดไปทางมอญ ท่านลงอุโบสถไม่เคยขาด ถ้าในพรรษาหลวงปู่จะกำหนดฉันเอกาอาหารคาวหวานสำรวมในบาตรหมด ความเมตาท่านมีสูง ทำให้ในวัดเต็มไปด้วยสัตว์เลี้ยงต่างๆ โดยเฉพาะหมาแมว ที่แม้เวลาฉันท่านยังต้องเอามือป่ายแมวที่มารุมห้อมล้อมที่บาตร ชาวบ้านจะสังเกตว่าท่านอยู่วัดหรือไม่ โดยดูจากบรรดาสุนัขที่ท่านเลี้ยงไว้มากมาย หากไม่เห็นสุนัขแสดงว่าท่านไม่อยู่ แต่ถ้าท่านไม่ไปไหนจะเห็นสัตว์ต่างๆ อยู่เต็มวัด ทั้ง หมู ไก่ เป็ด นกยูง ห่าน

อาจารย์อุ่น เล่าว่า “หมามันคงรู้ตัวดีว่า หากหลวงปู่ไม่อยู่มันคงถูกขว้างตี เพราะทั้งพระองค์อื่นๆ และชาวบ้านล้วนรำคาญ แต่ไม่กล้าไล่เวลาหลวงปู่อยู่” ในงานพิธีศพของท่าน มีลิเก ปี่พาทย์ มากมายเป็นประวัติการถึง 36 คณะ ผู้คนต่างมาร่วมงานไว้อาลัยแน่นขนัด พอเสร็จพิธีเผา บรรดาเถ้าถ่านอัฐิต่างถูกแย่งเอาไปบูชาจนหมดสิ้น

ความเลื่อมใสศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อหลวงปู่ กลายเป็นตำนานที่เล่าสืบทอดกันต่อๆ มาในหมู่ชาวบ้านม่วงอย่างไม่ขาดสาย เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับความเมตตา ความสันโดษ ความขลัง และวิชาความรู้ที่ท่านสั่งสมเป็นมรดกตกทอดให้แก่วัดม่วง เป็นเรื่องที่เล่าขานไม่จบไม่หมด รูปหล่อเท่าตัวจริงของท่านบนศาลาการเปรียญที่วัดม่วง ที่ลงรักปิดทอง มีคำจารึกว่า สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2450 ยังเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านทุกคน ซึ่งเป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจนถึงความสำคัญของท่านในจิตใจของชาวบ้าน หลวงปู่เข็มจึงเป็นพระสงฆ์ที่เป็นแบบอย่างของพระที่อุทิศตนเพื่อชาวบ้านและคงเป็นสัญลักษณ์ของวัดม่วงไปอีกนานเท่านาน

ตอนงานศพหลวงพ่อนั้น ชาวบ้านเตรียมงานกันถึงปีกว่า ทำกันเป็นเมรุสูงใหญ่ ซึ่งในสมัยก่อนนั้น บริเวณที่จะก่อสร้างเมรุมีต้นยางนาขึ้นเป็นดง ต้องตัดต้นยางออก ลักษณะสัดส่วนของเมรุนั้น พอๆ กับเมรุอย่างที่สนามหลวง แต่ไม่สวยวิจิตรพิสดารเท่า เวลาเผาก็เผาเสร็จกันในวันนั้น ตอนนั้นโรงเรียนที่ลูกหลานชาวบ้านม่วงเรียนกันนั้น เป็นเงินทองที่เหลือจากชาวบ้านมาทำบุญกันในคราวนั้น อาคารหลังเดิมของโรงเรียนพังไปแล้ว ที่เห็นอยู่นี้เป็นอาคารหลังใหม่”

บรรดาลูกศิษย์ลูกหาตกลงกันว่า ถ้ามีลูกศิษย์ลูกหาเป็นเจ้าภาพสวดก็สามารถไว้ต่อไปได้เรื่อย เมื่อต้องตั้งสวดนานอย่างนี้ เป็นผลให้มีเวลาเตรียมงานเมรุ งานฉลองศพหลวงพ่อมากขึ้น แต่ละบ้านแต่ละวัดก็แบ่งหน้าที่จัดการกันไปตามถนัด บ้านนี้วัดนั้นรับผิดชอบโรงครัว โรงทาน ใครจะมากินกาแฟน้ำร้อนมีคนจัดการหมด อย่างเช่น วัดคงคาฯ ช่วยแกงมัสมั่น วัดตาลทำแกงส้ม วัดใหญ่นครชุมน์ทำขนมหม้อแกง วัดเขาช่องพรานรับทำสังขยา เป็นต้น งานหลวงพ่อเข็มเดิมกะว่าสามวัน ก็ยืดออกไปถึง 11 วัน”

งานศพหลวงปู่เข็ม ที่วัดม่วง พ.ศ.2476

รายชื่อพระอาจารย์ต่างๆ เรียงจากขวาไปซ้าย (นั่ง)
พระครมูล (วัดหนองปลาหมอ)
พระครูหลวงปู่ศร (วัดบัวงาม)
พระอาจารย์เปีย (วัดบ้านหม้อ)
พระครูหลวงปู่กล่อม (วัดขนอน)
หลวงปู่เหี้ยน (วัดม่วง)
อาจารย์จู (วัดท่าผา)
แถวยืนเรียงจากขวาไปซ้าย
พระใหม่
พระอาจารย์ดวง
อาจารย์โต๊ะ (วัดท่าผา)
เจ้าคณะอำเภอเก่าอาจารย์ผัน
อาจารย์โวะ
อาจารย์นาค (วัดตาล)
กำนันจิ๋ว
พระใหม่
กำนันเติม กรดเครือ

ขอบคุณที่มาข้อมูล คุณ ป้อม รอยพุทธศิลป์ : เว็บราชบุรีศึกษา / เรื่องเล่าชาวสยาม /บทความนี้เผยเเพร่เพื่อการศึกษาอนุรักษ์เชิงประวัติศาสตร์

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: