1380.หลวงพ่อซวง อภโย (พระวินัยธร) วัดชีปะขาว

หลวงพ่อซวง อภโย (พระวินัยธร) วัดชีปะขาว
หลวงพ่อซวง มีนามเดิมว่า ซวง นามสกุล พานิช เกิดประมาณปี 2441 บิดาชื่อเฮง มารดาชื่ออ่ำ เป็นชาว ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี อยู่เหนือวัดชีปะขาวไปเล็กน้อย อุปสมบท ณ วัดโบสถ์(อัมพวา) ต.ไชยภูมิ อ.ไชโย จ.อ่างทอง ประมาณปี 2465 ในการอุปสมบทครั้งนั้นเป็นการอุปสมบทหมู่ โดยมีพระอาจารย์เมิน วัดจุฬามุณี ต.องครักษ์ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเฟื่อง วัดสกุณาราม (วัดนก) ต.ไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง เป็นกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่ออ่อน วัดทองกลาง ต.องครักษ์ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า อภโย แปลว่า ผู้ไม่มีภัย หลังจากอุปสมบทแล้วได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดชีปะขาวจนกระทั่งท่านมรณภาพ ท่านมรณภาพวันที่ 18 กรกฎาคม 2510 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 8 ด้วยโรควัณโรค ที่โรงพยาบาลจังหวัดสิงห์บุรี สิริรวมอายุได้ 69 ปี 45 พรรษา

หลวงพ่อซวง ได้รับการถ่ายทอดการฝึกกรรมฐานเบื้องต้นจากพระอาจารย์คำ วัดสิงห์ ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี นอกจากเรียนกรรมฐานเบื้องต้นแล้วหลวงพ่อซวงยังได้เรียนการทำธงพระฉิมและการสักยันต์บุตร-ลบอีกด้วยหลังจากนั้นได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์คำให้ไปเรียนวิชาอาคมเพิ่มเติมจากหลวงพ่อแป้น วัดเสาธงใหม่ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากพระอาจารย์คำ วัดสิงห์ได้เคยมาเรียนวิชาบุตร-ลบและวิชาแพทย์แผนโบราณตลอดจนคาถาอาคมกับหลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้องและได้รู้จักกับหลวงพ่อแป้น หลังจากที่หลวงพ่อซวงได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแป้นแล้ว ก็ได้เรียนวิชาอาคมต่างๆจากหลวงพ่อแป้น จนหมดสิ้น หลังจากนั้นหลวงพ่อซวงก็ได้รับคำแนะนำจากหลวงพ่อแป้นให้ไปเรียนวิปัสสนาและวิชาอาคมเพิ่มเติมกับหลวงพ่อฤทธิ์ วัดบ้านสวนหรือวัดน้อย ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.สุโขทัย โดยท่านใช้เวลาในช่วงเข้าพรรษาไปหาหลวงพ่อฤทธิ์ โดยไปจำพรรษายังวัดน้อยจนกระทั่งออกพรรษาจึงกลับวัด ในครั้งแรกนั้นท่านไปกับหลวงพ่อแป้นและลูกศิษย์ หลังจากนั้นท่านก็ยังคงไปหาหลวงพ่อฤทธิ์เกือบทุกปีโดยไปกับทิดจันหรือพระที่บวชในพรรษา จนกระทั่งหลวงพ่อฤทธิ์มรณภาพท่านจึงหยุดไป

นอกจากเรียนวิปัสสนากรรมฐานจากหลวงพ่อฤทธิ์แล้วหลวงพ่อซวงยังได้เรียนวิชาทำแหวนชิน หรือแหวนหูมุ้งและการทำยาเปรี้ยวอีกด้วย แม้แต่พระสมเด็จข้างอะอุของท่านก็ได้นำเคล็ดวิชาของหลวงพ่อฤทธิ์มาใช้ด้วย โดยอะและอุนี้เป็นการลงวิชาอย่างหนึ่ง อีกนัยหนึ่งมีผู้กล่าวว่าคำว่า อะ บนพระสมเด็จนั้นแทนตัวท่านซึ่งมีนามว่า อภโย ส่วนคำว่า อุ นั้นแทนตัวอาจารย์ท่านคือ อุตตโม นั่นเอง(หลวงพ่อแป้น อุตตโม)

พระเครื่องที่ท่านสร้างมีประสบการณ์ทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเมตตา แคล้วคลาดและ คงกระพัน โดยท่านจะเสกวัตถุมงคลส่วนใหญ่ภายในกุฏิของท่าน หลังจากที่ท่านทำวัตรสวดมนต์เช้าและเย็นเป็นประจำทุกวันมิได้ขาด ยกเว้นกรณีที่มีฤกษ์พิเศษเช่น เสาร์ห้า หรือทำพิธีปลุกเสกพระจำนวนมากท่านมักจะปลุกเสกในโบสถ์มหาอุตม์เป็นปฐมฤกษ์ก่อนแล้วจึงนำวัตถุมงคลทั้งหมดกลับไปเสกที่กุฏิอีกครั้ง โดยท่านจะนำพระทั้งหมดใส่บาตรบ้าง กล่องกระดาษบ้างปลุกเสกทุกวันจนท่านมั่นใจดีแล้วท่านจึงนำไปแจกให้แก่ญาติโยมที่มากราบหรือร่วมทำบุญสร้างโบสถ์กับท่าน

วัตถุมงคลต่างๆของหลวงพ่อซวงนั้น ไม่มีการจดบันทึกจำนวนการจัดสร้างหรือปี พ.ศ.ที่จัดสร้างไว้ให้เป็นที่ชัดเจน แต่พอจะแบ่งประเภทได้ดังนี้
วัตถุมงคลหลังปี 2500 ทราบปีการจัดสร้างที่ชัดเจนเนื่องจากการกรรมการวัดเป็นผู้สั่งทำในวาระต่างๆแต่ก็ไม่ทราบจำนวนการสร้างที่แน่ชัด เช่น เหรียญเสมามีพ.ศ.และไม่มีพ.ศ. รูปหล่อขนาดห้อยคอ เหรียญพระครูวร เป็นต้น
วัตถุมงคลก่อนปี 2500 นั้นส่วนใหญ่ทำกันเองภายในวัด โดยทำเก็บรวบรวมไว้พอได้จำนวนมากพอควรจึงนำไปให้หลวงพ่อท่านปลุกเสกดั้งนั้นจึงรู้แค่ช่วงเวลาในการสร้างเท่านั้นแต่ไม่รู้ปีที่สร้างที่ชัดเจน เช่น พระเนื้อผงลองพิมพ์ พระชุดเนื้อผงก้างปลา สมเด็จและนางกวักหล่อ(จ้างหล่อ) พระปรอท

วัตถุมงคลที่ท่านสั่งให้ทำเอาไว้แจกหลังปี 2500 ไม่ทราบปีที่สร้างและจำนวนที่ชัดเจน เช่น เหรียญห้าสิบสตางค์หูเชื่อม แหวน ตะกรุดมหาอุด ตะกรุดสาริกา
วัตถุมงคลที่ท่านทำไปเรื่อยๆตั้งแต่ท่านเริ่มมีชื่อเสียงจนกระทั่งท่านจะมรณภาพก็ เช่น ผ้ายันต์สิงห์คู่ ผ้ายันต์พระฉิม พระลีลา รูปถ่ายอัดกระจก เป็นต้น
วัตถุมงคลที่มีลูกศิษย์หรือผู้ที่นับถือท่านนำมาถวายเหล่านี้ไม่ทราบทั้งปีและจำนวนที่แน่ชัด เช่น รูปหล่อขนาดบูชา นางกวักขนาดบูชา สมเด็จคะแนนหล่อ เป็นต้น

วัตถุมงคลที่ท่านปลุกเสกให้วัดอื่น เช่น สมเด็จเกษไชโยรุ่นสร้างเขื่อน สมเด็จกำแพงแก้ว พระผงวัดพรหมบุรี เหรียญฌาปนกิจหลวงพ่อจง เป็นต้น
วัตถุมงคลที่ท่านทำให้ลูกศิษย์ใกล้ชิดสร้างน้อยมากและไม่ทราบวาระและจำนวนที่ชัดเจน ล็อกเก็ต ผ้ายันต์เขียนมือ ตะกรุด นางกวักไม้แกะ สีผึ้ง รูปถ่ายอัดกระจกแบบพิเศษ เป็นต้น

หลวงพ่อซวงเป็นพระที่ทรงอภิญญารู้อนาคตล่วงหน้าและมากด้วยเมตตาแม้กระทั่งอีกาท่านยังเลี้ยงเชื่อง โดยอีกาตัวนี้มีชื่อว่า แขก สมัยท่านยังมีชีวิตอยู่เมื่อท่านฉันข้าวบนศาลา จะมีอีกามากินข้าวและอาหารจากมือท่านประจำและท่านยังสามารถเรียกมันได้อีกด้วย ญาติโยมแถบวัดชีปะขาวในยุคนั้นต่างก็รู้เห็นเรื่องนี้กันทุกคน ในสมัยก่อนนั้นการเดินทางเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก แต่ท่านก็รับกิจนิมนต์ของลูกศิษย์และผู้ที่ศรัทธาท่านทุกคน ไม่ว่าจะงานอะไร ใกล้หรือไกลท่านก็ไปโดยไม่ปริปากบ่น โดยเฉพาะการเดินทางไปปลุกเสกพระในแต่ละวัดนั้นเป็นเรื่องที่ลำบากมาก ทำให้บางวัดที่ออกวัตถุมงคลแล้วต้องการให้ท่านปลุกเสกเกรงใจท่านจนต้องยกของมาให้ท่านเสกที่วัดเลยก็มี ท่านเป็นพระที่สมถะอยู่และฉันอาหารอย่างง่ายๆโดยวันใดที่ท่านไม่มีกิจนิมนต์ไปฉันเพลที่ไหน ท่านก็จะให้ลูกศิษย์เก็บต้นตดหมูตดหมา(ตระพังโหม)มาลวกจิ้มกับน้ำพริกกินเป็นประจำ ท่านยังไม่ยึดติดในลาภยศ ในปี2505 พระอาจารย์ทรัพย์ วัดสังฆราชาวาสได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชสิงหวรมุนีและเป็นเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี ท่านตั้งใจจะให้หลวงพ่อเป็นพระฐานาในตำแหน่งของพระอาจารย์ทรัพย์ที่พระวินัยธร โดยท่านปฏิเสธแม้แต่ตำแหน่งพระครูและพระอุปัชฌาย์ที่พระราชสิงหวรมุนี(ทรัพย์) วัดสังฆราชาวาส จะมอบให้ท่าน ท่านยังไม่รับ แต่เนื่องจากหลวงพ่อทรัพย์เลื่อมใสในวัตรปฏิบัติของท่านจึงขอร้องให้ท่านรับตำแหน่ง พระวินัยธร เป็นพระฐานาของท่าน ซึ่งหลวงพ่อซวงท่านก็ต้องจำใจรับด้วยความเกรงใจ

ในปั้นปลายชีวิตท่านเริ่มป่วยด้วยโรควัณโรค มีอาการไอและอาเจียนเป็นเลือดแต่ท่านก็ไม่ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแต่อย่างใด แต่ท่านอาศัยยาแผนโบราณที่ได้ร่ำเรียนมารักษาประคองอาการไปเท่านั้นและยังคงต้อนรับญาติโยมเป็นปกติ แต่เหมือนกับว่าท่านจะรู้วาระว่าท่านคงจะอยู่ต่อไปได้อีกไม่นาน ต้นปี2510 ท่านจึงสั่งกำชับให้ลูกศิษย์เร่งทำยันต์สิงห์คู่เป็นจำนวนมากซึ่งผิดปกติที่เคยทำกันคือทำไปเรื่อยๆพอใกล้หมดก็ทำออกมาใหม่ไม่รีบเร่ง แต่ก็ไม่ได้มีลูกศิษย์คนใดเอะใจ จึงไม่ได้รีบเร่งทำผ้ายันต์ตามที่ท่านสั่งไว้ มาจนกระทั่งเดือนปลายเดือนมิถุนายนในปี 2510 ท่านมีอาการทรุดหนักและกินอะไรไม่ค่อยได้ จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดสิงห์บุรี จนกระทั่งวันที่ 18 กรกฎาคม 2510 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 8 ใกล้เวลาหกโมงเย็นท่านมรณภาพก็ด้วยอาการสงบที่โรงพยาบาลจังหวัดสิงห์บุรี สิริรวมอายุได้ 69 ปี 45 พรรษา สร้างความเสียใจและอาลัยต่อลูกศิษย์เป็นอันมากเพราะไม่คิดว่าท่านจะจากไปเร็วเช่นนี้

หมายเหตุ ภายหลังพระอาจารย์คำได้ลาสิกขาบทไปมีครอบครัวโดยใช้นามสกุล ช่างประดับ และยังใช้วิชาความรู้ด้านแพทย์แผนโบราณ ตลอดจนสักยันต์บุตร-ลบให้แก่ผู้คนที่เชื่อถือท่านอีกด้วย
ขอบคุณที่มา
http://www.konrakmeed.com/web…/upload/lofiversion/index.php…

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: