1346. ย้อนรอยตำนาน ‘เสือปืนแตก!’ หลวงปู่แย้ม ปิยวณฺโณ วัดตะเคียน

หลวงปู่แย้มเป็นศิษย์สาย “ลุ่มแม่น้ำท่าจีน” ซึ่งเป็นศูนย์รวมเวทย์วิทยาคมชั้นสูง ฉบับแท้ดั้งเดิมแต่โบราณ ท่านมี วิชามากมายแต่ที่เป็นเอกอุของท่าน คือ ยันต์มหาเบา มหาอุดปืนแตก ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายรุ่นด้วยกัน วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมมากขอให้ท่านสร้างคือ ตะกรุดคอหมา เสือปืนแตก ตะกรุดโทน เหรียญรุ่นแรกสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ ปัจจุบันเป็นที่นิยมกัน เนื่องจากมีประสบการณ์ทางด้านมหาอุดและแคล้วคลาด

สำหรับที่มาของตำนาน “ตะกรุดผูกคอหมา” หรือ “ตะกรุดคอหมา” นั้น หลวงปู่แย้มท่านเป็นผู้ที่มีเมตตาต่อสรรพสัตว์ เมื่อก่อนท่านได้เลี้ยงหมาไว้หลายตัว หมาของท่านส่วนใหญ่จะดุ บางครั้งหมาก็ไปทำความเดือดร้อนให้ชาวบ้านไกล้ๆ วัด ชาวบ้านที่ไม่ชอบก็ทำร้ายไล่ตี ปาก้อนหิน บ่อยๆ รุนแรงจนถึงขั้นยิงด้วยปืน ใช้มีดดาบไล่ฟัน ทำให้หมาได้รับบาดเจ็บเป็นอย่างมาก ครั้นจะห้ามไม่ให้ทำร้ายหมาก็คงไม่เป็นผลอะไร เพื่อไม่ให้เป็นเวรซึ่งกัน ดังนั้นแล้วจึงทำเครื่องรางของขลังให้ไว้ติดตัวหมา ทีคนยังทำให้ได้ ทำไมหมาจะทำให้ไม่ได้ โดยตะกรุดของหมาจะแตกต่างจากของคน ลงยันต์เหมือนกันแต่ลงแตกต่าง

หลวงปู่แย้มได้ผูกตะกรุดไว้ที่คอหมาทุกตัว แต่แล้ววันหนึ่งหมาก็เจอดีจนได้ ชาวบ้านที่ไม่ชอบหมาก็นำปืนมาลองยิงหมาดู ปรากฏว่าปืนแตก ! เป็นเหตุให้เกิดความฮือฮาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว คนที่ต้องการตะกรุดแบบเร็วๆ ก็แย่งเอาที่คอหมา คนที่มีศีลธรรมดีหน่อยก็ไปบอกกล่าวขอกับหลวงปู่เอง กิตติศัพท์ของหลวงปู่ก็กระฉ่อนแต่นั้นมา จนชาวบ้านเรียกขานว่า “ปู่แย้ม ตะกรุดคอหมา”

หลังจากนั้นมาตะกรุดโทนที่ท่านสร้างไม่ว่าจะเป็นดอกเล็กดอกใหญ่เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อทองแดง หรือเนื้อตะกั่ว ก็ถูกเรียกชื่อว่าตะกรุดคอหมาหมดทุกดอก ตะกรุดคอหมาของท่านจะมีจุดเด่นอยู่ที่ผู้นำไปใช้จะมีประสบการณ์ทางด้านมหาอุด อยู่ยงคงกระพัน แต่จริงแล้วท่านก็ลงเมตตามหานิยมด้วย โดยเฉพาะตะกรุดที่ท่านทำแจกให้ลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นสตรี แต่ส่วนใหญ่ลูกศิษย์ลูกหาของท่านจะนำไปใช้ทางมหาอุดเป็นหลัก

เหตุการสร้างตะกรุดคอหมา หลวงปู่แย้มท่านก็จารตะกรุดให้ลูกศิษย์ลูกหาตลอดมา ใครไปหาท่านส่วนใหญ่ก็เพื่ออยากได้ตะกรุดของท่านไปบูชา จนถึงในวัยชราของท่าน ท่านก็จารตะกรุดของท่านโดยท่านไม่ยอมให้ใครจารยันต์ หรือเขียนยันต์แทนท่านเลย เพราะท่านเชื่อมั่นว่าตะกรุดที่ท่านทำกับมือจะมีพลานุภาพสูงสุด อีกทั้งท่านเป็นห่วงลูกศิษย์ของท่านไม่อยากให้ถูกใครรังแก

ต่อมาก็มีผู้แฝงตัวมาเป็นลูกศิษย์จารตะกรุดปลอมและหลอกขายว่าเป็นตะกรุดคอหมา พอท่านทราบ ท่านก็สั่งระงับไม่สร้างตะกรุดคอหมาอีกเลย ด้วยเพราะท่านเป็นห่วงลูกศิษย์ที่นับถือเชื่อมั่นในตะกรุดของท่านจะมีอันตราย ตะกรุดของท่านไม่มีเอกลักษณ์อันใดที่จะชี้ว่าเป็นของแท้ที่ท่านจารเอง เอกลักษณ์ภายนอกเช่นแผ่นโลหะ เชือกถักลงสีแดงของแท้และของปลอมก็เหมือนกันทุกอย่าง ส่วนใหญ่ที่รู้เพราะหลังจากนั้นบางคนมาให้ท่านเสกซ้ำ พอท่านจับตะกรุดดูแล้วท่านก็บอกว่าไม่ใช่ตะกรุดของท่าน ตะกรุดไม่มีพลัง เลยลองผ่าดูผลปรากฏยันต์ที่เขียนไม่ใช่ลายมือของท่าน ท่านจึงไม่ทำตะกรุดคอหมาออกให้บูชาอีกเลย

สมภารผู้พัฒนาวัดตะเคียน

หลวงปู่แย้มบวชเป็นพระสงฆ์ที่วัดหลักสองบำรุงราษฎร์ ตามที่โยมพ่อและตัวของท่านเองได้ตั้งศรัทธาเอาไว้ มีท่านพระครูคณาสุนทรนุรักษ์เจ้าคณะอำเภอบ้านแพ้ว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเหลือ เจ้าคณะตำบลหลักสอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ชื่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “ปิยวณฺโณ”

วัดหลักสองบำรุงราษฎร์ ส่วนใหญ่พระสงฆ์สมัยนั้นจะเก่งในเรื่องโยธา ไม่ว่าจะเป็นช่างไม้ ช่างปูน พระภิกษุแย้มเองเคยเป็นเด็กวัด ก็ทำให้เป็นงานช่างหลายอย่างทั้งเป็นช่างพิมพ์กระเบื้องในโรงงานของวัด วันหนึ่งต้องพิมพ์กลางแดดให้ได้ถึง ๕๓๐ แผ่นทีเดียว เพื่อให้ทันเวลาที่จะนำไปสร้างกุฏิสงฆ์หลังใหม่ที่วัดได้สร้างขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า กระเบื้องทุกแผ่นที่วัดหลักสองใช้สร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ โรงเรียน เป็นฝีมือของท่านทั้งสิ้น นอกจากงานด้านช่างแล้ว ยังได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ เพื่อสงเคราะห์ชาวบ้าน เพราะท่านมีเมตตาไม่อยากให้ชาวบ้านเดือดร้อนมากนัก

จนกระทั่งบวชได้ ๑๑ พรรษา โยมลุงเคลิ้มได้นิมนต์ให้มาอยู่จำพรรษาที่วัดตะเคียน จ.นนทบุรี โยมลุงเคลิ้มเป็นพี่ชายของโยมแม่ ออกเรือนมาอยู่แถววัดตะเคียน เขาจะบวชลูกชาย ก็ไปนิมนต์มาเป็นพระคู่สวดให้ แต่ต่อมาโยมลุงก็เกิดนิมนต์ให้มาอยู่จำพรรษาที่วัดตะเคียนสักพรรษาหนึ่งเพื่อจะได้อยู่เป็นเพื่อนพระลูกชายของแก ดูแล้วก็น่าเห็นใจ

เนื่องจากที่วัดตะเคียนนี้มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เพียงไม่กี่องค์ มีหลวงพ่อแดง เจ้าอาวาส แต่ผ่านไปเพียงไม่ถึงเดือน หลวงพ่อแดงก็มรณภาพ เลยมาจำพรรษาที่วัดตะเคียน และไม่นานนักเจ้าคณะผู้ปกครองก็ให้รับภาระทำหน้าที่รักษาการเป็นสมภาร และต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่นั้นมาจวบจนปัจจุบัน หลวงปู่แย้ม เป็นเจ้าอาวาสวัดตะเคียนมากว่า ๖๐ ปี จากวัดที่เกือบร้างที่ไม่น่าอยู่ ได้พัฒนาให้กลับกลายเป็นวัดที่สวยงาม ตลอดเวลาที่ผ่านมาท่านได้พัฒนาวัดมิได้หยุดหย่อน แม้จะเคยเป็นวัดที่อยู่ห่างไกลความเจริญดั่งในปัจจุบัน

ยันต์มหาเบามหาอุด

เอกลักษณ์ของวัตถุมงคลของหลวงปู่แย้มทุกชนิด คือ ท่านลงยันต์มหาเบาเป็นยันต์ครู ซึ่งท่านเรียนมาจากหลวงพ่อสายวัดหนองสองห้อง ผู้สืบวิทยาคมสายหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าอีกรูปหนึ่ง โดยท่านจะจารตะกรุดทุกวันพฤหัสบดี เสร็จแล้วท่านก็จะม้วนตะกรุดพร้อมคาถากำกับทุกดอก แล้วประจุเสกจนของขึ้นมีพลังท่านบอกว่าต้องอย่างนี้สิถึงจะใช้ได้ เอาไปลองได้เลย ปืนก็ปืน มีดก็มีด รับรองไม่ได้กินเนื้อกินเลือดเราแน่

เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อแย้มสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ จำนวนการสร้างทั้งหมด ๓,๐๐๐ เหรียญ สุดยอดของหายาก รวมทั้งเสือปืนแตกรุ่นแรกสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๔๐เพื่อหาปัจจัยสร้างวัด ในครั้งนั้นมีคนเล่าให้ฟังถึงความขลังของวัตถุมงคลของหลวงปู่ จึงอยากลองของ ได้มาขอยืมจากลูกศิษย์ที่อยู่ใกล้วัดเพื่อนำไปลอง ปรากฏว่ายิงนัดแรกไม่ออก นัดที่สองไม่ออก ยิงอีกครั้งเป็นครั้งที่สาม ปืนแตกใส่มือได้รับบาดเจ็บ เป็นแผลเป็นมาจนทุกวันนี้ ส่วนรุ่น ๒ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๐ และรุ่นล่าสุดสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๖

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เสือปืนแตกหลวงปู่แย้มได้รับความนิยมทุกรุ่น คือ แต่ละรุ่นได้นิมนต์พระเกจิชื่อดังมาร่วมพิธีพุทธาภิเษกจำนวนมาก นอกจากนี้แล้วสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ คือ การตั้งราคาให้เช่าบูชา เนื้อทองเหลืองของทุกๆ รุ่น จะตั้งราคาระหว่าง ๑๐๐-๑๕๐ บาทเท่านั้น จนกว่าจะหมดจากวัดแม้ว่าภายนอกราคาจะขึ้นก็ตาม

การสร้างเสือปืนแตกทุกรุ่นของวัดตะเคียนอยู่ภายใต้การดำเนินงานของพระครูสมุห์สงบ กิตติญาโณ หรือหลวงพี่สงบ รักษาการเจ้าอาวาสวัดตะเคียน จุดประสงค์หนึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ ปัจจัยที่ได้จากการให้เช่าบูชาพัฒนาตลาดน้ำของวัดจนกลายเป็นวัดท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของจังหวัดนนทบุรีไปแล้ว

ขอขอบข้อมูลดีๆจาก : คมชัดลึก (เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู)

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: