1345. ศึกอาคมสะท้านแผ่นดินเมื่อ “ตากัน สัตหีบ” แอบสะกดหยุดเรือรบ “เสด็จเตี่ย” ทรงปล่อยฝูงผึ้งและควายธนู จนยอมสงบศึก กลายมาเป็นพระสหายต่างวัย.

อ่าวนาวิกโยธิน เป็นอ่าวเปิดสู่อ่าวไทยทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทิศเหนือติดกับทิวเขาหาดสูงทิศตะวันออกเป็นที่ราบเรียกว่า”ทุ่งไก่เตี้ย” กับ ” หนองไก่เตี้ย ” ซึ่งมีน้ำตลอดปี ทิศใต้ติดกับทิวเขาปู่เจ้า (เขาคลองสัตหีบ) ชายหาดบริเวณก้นอ่าว เป็นหาดทรายสะอาดค่อยๆลาดลง ก้นอ่าวมีเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่ง ชื่อเกาะไก่เตี้ย (เดิมชื่อเกาะหลักไก่) นอกจากจะชื่ออ่าวนาวิกโยธินแล้วยังถูกเรียกชื่ออื่นอีก เช่น อ่าวเตยงามบ้าง อ่าวทุ่งไก่เตี้ยบ้าง อ่าวตากันบ้าง…

ประมาณรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่๖ สัตหีบเป็นเพียงหมู่บ้านชายทะเล ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา หาของป่า และประมง การคมนาคมจะใช้ทางน้ำโดยเรือเมล์ หรือ เรือใบ ส่วนทางบกมีแต่ทางเกวียน ถนนไปชลบุรียังไม่มี ภูมิประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกทึบ การเดินทางระหว่างเมืองจึงใช้เรือเป็นหลัก

ในหมู่บ้านสัตหีบ มีผู้ที่นับถือมากอยู่คนหนึ่ง เป็นหญิงสูงอายุ ชาวบ้านเรียกว่า ยายแจง เป็นผู้มีฐานะดี มีที่ดิน ไร่ และนามาก ตั้งบ้าน หลังใหญ่อยู่บริเวณสัตหีบเก่า ถ้าขึ้นจากเรือที่ท่าสัตหีบจะมองเห็นได้ชัด ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินจะมาหาคุณยายแจง ขอที่ดินทำมาหากิน ซึ่งจะอนุญาตให้อยู่ทำกินตลอดชีวิตจนชั่วลูกชั่วหลาน แต่มีข้อแม้ว่าถ้าเลิกทำกินให้ส่งคืนที่ดินแก่คุณยายแจง ห้ามนำที่ดินไปขาย

ที่ดินของคุณยายมีหลายแห่ง เช่นที่ดินตลาดสัตหีบ ผืนนาบริเวณหนองตะเคียน และโรงเรียนสิงห์สมุทร รวมถึงบริเวณเขาแหลมเทียน อันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือสัตหีบในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อ “เสด็จเตี่ย” ได้ฝึกภาคทะเลกับกองเรือและจอดเรือพักที่อ่าวสัตหีบ ทรงเห็นว่าอ่าวสัตหีบเหมาะเป็นที่ตั้งหน่วยเรือ เพราะมีเกาะใหญ่น้อยหลายเกาะ ช่วยกำบังคลื่นลมในฤดูมรสุม

เมื่อขึ้นบกก็ได้ไปพบกับคุณยายแจง หลังจากพบปะสนทนา ถูกอัธยาศัยกันดี เสด็จเตี่ยได้บอกถึงพระประสงค์ใช้บริเวณเขาแหลมเทียนเป็นที่ตั้งหน่วยทหารเรือ ซึ่งคุณยายแจงยินดีที่จะถวายให้ ตามที่เสด็จเตี่ยมีพระประสงค์ เนื่องจากเห็นการณ์ไกลว่าเมื่อมีทหารเรือตั้งอยู่ที่สัตหีบอยู่แล้ว ลูกหลานชาวสัตหีบเมื่อถูกเกณฑ์เป็นทหารเรือ จะได้ ไม่ต้องไปอยู่ไกลบ้าน

หลวงพ่ออี๋

ในขณะนั้นพื้นที่สัตหีบยังคงสภาพป่าเป็นส่วนใหญ่ มีสัตว์ป่าชุกชุม ทั้งชนิดไม่ดุร้าย เช่น ไก่ป่า เก้ง กวาง และสัตว์ ดุร้าย เช่น เสือ และหมี ชาวบ้านจึงอาศัยอยู่ไม่ห่างไกลหมู่บ้านสัตหีบมากนักคงมีเพียงครอบครัวเดียวที่อยู่ไกลข้ามเขาแหลมเทียน อยู่ลึก ถึงอ่าวทุ่งไก่เตี้ย ได้แก่ ครอบครัวของ นายกัน สุขรุ่ง (ลุงกัน ตากัน หรือปู่กัน)

ที่สัตหีบ จอมอาคมอย่าง “นายกัน สัตหีบ” มีส่วนสำคัญในการสำรวจพื้นที่สร้างฐานทัพเรือ และ หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ ซึ่งมีฐานะเป็นศิษย์ผู้น้องของนายกันอีกแรงหนึ่ง

พระเกจิอาจารย์ที่ใกล้ชิดเสด็จเตี่ยมากองค์หนึ่งก็คือ หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ เพราะท่านเสด็จมาประทับ เสวย บรรทม ที่วัดสัตหีบหลายเวลา เพื่อตรวจดูสถานที่ตั้งกองทัพเรือ

ในพระประวัติหลายแห่ง ไม่ค่อยพบเรื่องราวความผูกพันทางไสยเวทระหว่างเสด็จเตี่ยกับหลวงพ่ออี๋ ทั้ง ๆ ที่หลวงพ่อใกล้ชิดกับพระองค์มากกว่าพระเกจิอาจารย์รูปอื่น นายกัน ก็ได้รับการยกย่องว่า เป็นจอมอาคม หลวงพ่ออี๋ ก็เป็นเกจิจอมอาคม ทั้งพระองค์ก็สนพระทัยอาคม มีการฝึก และแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดอาคมต่อกัน ตามแบบคนเล่นของในยุคนั้น

กล่าวถึงนายกัน สลัดทะเลโหด สักหน่อย นายกันผู้นี้โด่งดังจนถึงกับตั้งเป็นชื่ออ่าวบริเวณสัตหีบว่า “อ่าวตากัน” อายุแก่กว่าหลวงพ่ออี๋ เคยบวชเรียน แต่ร้อนวิชา ลาสิกขา ปลูกกระต๊อบอยู่บนหน้าผาแห่งหนึ่ง (อ่าวตากัน) ร้อนวิชา จนสร้างความเดือดร้อนแก่นักเดินเรือทั่วไป

นายกัน หรือ ตากัน จะใช้วิชาอาคม “สะกดเรือ” ใหญ่ทุกลำที่แล่นเข้ามาในรัศมีด้วยพลังจิต ไม่ให้เรือแล่นต่อไป เครื่องหยุดเดิน แล้วตากันจะใช้ลูกศิษย์ นำเรือเทียบขอค่าผ่านทาง ผู้ใดไม่ให้ ก็จะแสดงปาฏิหาริย์ไม่ให้เรือแล่นต่อไป ถ้าผู้ใดให้ ก็จะทำให้เครื่องติด เดินทางไปได้อย่างอัศจรรย์ ชาวเรือหวาดกลัวกันมาก และแล้วตากันก็สำแดงเดชผิดที่ เพราะไปสะกดเอาเรือกองทัพเรือเข้า เรื่องจึงถึงเสด็จเตี่ย เกิดเป็น “ศึกอาคม ระหว่าง เสด็จเตี่ย กับ ตากัน”

เสด็จเตี่ย

เรื่องราวความกำแหง โหด ป่าเถื่อน ของตากัน เข้าถึงพระกรรณเสด็จเตี่ย ทรงกริ้วอย่างมาก ถึงกับเสด็จมาด้วยพระองค์เอง การปะทะกันด้วยอาคมจึงเกิดขึ้น วันนั้น ตากันนั่งอยู่ในกระท่อม พลันปรากฏมีฝูงผึ้งใหญ่ บินเข้าจะต่อยตีตากัน แต่ตากันก็เอาผ้าขาวม้าโบกพัด จนผึ้งตกลงมา กลายเป็นใบไม้ ตากันก็รู้ทันทีว่า เจอคนดีเข้าแล้ว

ตากันปล่อยเสืออาคมเข้าใส่ เสด็จเตี่ยปล่อยควายธนูออกมา ต่างสู้กันฝุ่นตลบไม่แพ้ชนะ ผลสุดท้าย ตากันโยนผ้าขาวม้าสงบศึก เป็นพันธมิตร และกลายเป็นพระสหายต่างวัยกัน

ครั้งหนึ่งตากันเคยคุยโอ้อวดว่า ตนเคยลงไปเดินในทะเลเป็นครึ่งค่อนวัน เสด็จเตี่ยโปรดคนจริง จึงมีรับสั่งให้มัดตากันไว้ในกระสอบแล้วถ่วงในทะเลเป็นเวลา ๑ วัน เมื่อครบก็ดึงตากันขึ้นมาปรากฏว่าตากันนั่งอยู่ในท่าสมาธิ หัวเราะร่า แถมยังไม่เปียกเลยสักนิด เสด็จในกรมจึงตั้งชื่อให้อ่าวแห่งนั้นว่า “อ่าวตากัน” หรือ “อ่าวดงตาล” ในปัจจุบัน

ภายหลังเมื่อเสด็จต้องการสำรวจพื้นที่ สร้างกองทัพ ตากันได้มีส่วนร่วมรับใช้พระองค์ และย้ายมาอยู่บริเวณหลังตลาดสัตหีบ นี่คือที่มาของความผูกพันระหว่างเสด็จเตี่ย หลวงพ่ออี๋ และตากัน จอมอาคม

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ เจ้าของบทความ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้

http://www.dharma-gateway.com/

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: