1335. ถึงกับเป็นลมล้มพับไปทันที!! เมื่อ หลวงปู่มั่น สั่งห้าม “หลวงปู่หลุย” บิณฑบาตในเส้นทางที่ท่านเดิน

หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร พระเถระสายหลวงปู่มั่น สายธรรมยุติ เป็นพระอริยสงฆ์ผู้มีศีลวัตรปฏิบัติอันงดงาม ท่านรักษาศีลครบ ๕ ข้อ และปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และในช่วงทุกวันอาทิตย์ท่านก็จะให้ศีล ๕ หรือ ศีล ๘ และท่านมีเมตตาต่อผู้ครองเรือน รักษาศีล ๕ ย่อมสำเร็จโสดาบันได้ สำหรับศีล ๘ ย่อมช่วยให้สามารถสำเร็จถึง อนาคามีได้ หลวงพ่อท่านเป็นผู้มีความเมตตาต่อทุกชนชั้นวรรณะ และ มีเมตตาต่อผู้คน จนประชาชนชาวไทยต่างเลื่อมใสท่านเป็นจำนวนมาก และ ต่างรู้จักพระเกจิอาจารย์สายอีสานรูปนี้

(หลวงปู่มั่น)

มีเรื่องเล่าเมื่อครั้งท่านได้ไปจำพรรษอยู่กับพระอาจารย์มั่น วันหนึ่งหลวงปู่มั่นปรารภกับพระในวัดซึ่งก็ได้ยินกันหมดทั้งวัดว่า

“ท่านหลุย ท่านไม่สมควรที่จะอยู่ที่นี่ ให้ไปหาที่อยู่ที่อื่น”

หลวงปู่หลุยก็แปลกใจว่า ทำไมหลวงปู่มั่นจึงห้ามไม่ให้อยู่ เราก็ไม่ได้ทำอะไรผิดนี่นา หลวงปู่หลุยก็เข้าไปกราบเรียนขออนุญาตหลวงปู่มั่นอีกว่า

“ขอได้โปรดเมตตาให้เกล้าอยู่รับใช้พ่อแม่ครูบาอาจารย์ต่อไปด้วยเถิด ถ้าได้กระทำอะไรผิดพลาดก็กราบเท้าขอขมาลาโทษด้วย”

เมื่อหลวงปู่หลุยมาบอกเช่นนั้น หลวงปู่มั่นท่านก็เมตตาให้อยู่ต่อ แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าจะอยู่ที่นี่อีกต่อไป ก็ห้ามไปบิณฑบาตสายที่ผมเดิน คือ หลวงปู่มั่นได้สั่งห้าม ไม่ให้หลทวงปู่หลุยเดินตามท่านไปบิณฑบาตด้วยนั่นเอง หลวงปู่หลุยก็เชื่อฟัง และได้ปฏิบัติตามคำสั่งของหลวงปู่มั่นด้วยดีตลอดมา

จนเวลาผ่านไปนานพอสมควร วันหนึ่งหลวงปู่มั่นเดินทางไปวิเวกต่างสถานที่ ก่อนที่จะออกเดินทางหลวงปู่มั่นก็กำชับพระเณรในวัดอีกครั้งหนึ่งว่า

“คอยระวังท่านหลุยด้วย อย่าปล่อยให้ไปบิณฑบาตสายนี้อย่างเด็ดขาดนะ”

ด้วยความกังขาต่อคำสั่งของหลวงปู่มั่นที่สั่งห้ามไม่ให้ไปบิณฑบาตสายดังกล่าวนั้นฝังอยู่ในใจของหลวงปู่หลุยมาเป็นเวลานานนั่นเอง เมื่อหลวงปู่มั่นไม่อยู่ หลวงปู่หลุย จึงคิดว่าเป็นเพราะเหตุไรหลวงปู่มั่นจึงมาห้ามเราอย่างนี้ วันนี้เป็นอย่างไรก็เป็นกัน จะต้องเดินไปบิณฑบาตสายต้องห้ามนี้ให้ได้ ว่าแล้วเช้าวันรุ่งขึ้นหลวงปู่หลุย ก็เดินไปบิณฑบาตสายที่หลวงปู่มั่นสั่งห้ามนั่นเอง ถึงแม้ว่าพระเณรจะช่วยกันทัดทานห้ามอย่างไรหลวงปู่หลุยก็ไม่ฟังเสียงใคร เพราะอายุพรรษามากกว่ารูปอื่นนั่นเอง พระเณรรูปอื่น ๆ มีแต่พรรษาต่ำกว่าก็เกรงใจไม่สามารถที่ห้ามเอาไว้ได้ จึงได้ปล่อยให้หลวงปู่หลุยเดินไปบิณฑบาตสายต้องห้ามนั้นอย่างไม่สามารถที่จะทัดทานได้

เดินไปจนสุดหมู่บ้านหลวงปู่หลุยก็นึกในใจว่า

” หลวงปู่มั่นมาห้ามเราด้วยเรื่องอันใดไม่มีเหตุไม่มีผล ก็แค่เดินบิณฑบาตธรรมดาๆ นี่ไม่เห็นจะมีอะไร? ”

ขณะที่เดินบิณฑบาตขากลับวัดในระหว่างทางได้มีหญิงสาวนางหนึ่งลงมาใส่บาตรตามปกติที่เคยทำประจำทุกวัน ขณะที่หญิงสาวเอื้อมมือจะใส่บาตร หลวงปู่หลุยก็กำลังเปิดบาตร ฉับพลันสายตาของหลวงปู่หลุยกับสายตาของหญิงสาวนางนั้นก็ประสานกันพอดี ไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุการณ์จะร้ายแรงและเป็นได้ถึงขนาดนี้

หญิงสาวนางนั้นถึงกับเป็นลมล้มลง ช็อกหมดสติกระติบข้าวหลุดหล่นจากมือกลิ้งไปกับพื้นดินทันที ฝ่ายหลวงปู่หลุยซึ่งบำเพ็ญตบะบารมีมาถึงขนาดนั้นแล้วก็ถึงกับเข่าอ่อนเป็นลมล้มพับไปเหมือนกัน บาตรที่สะพายอยู่บนบ่าถึงกับหลุดร่วง พระเณรที่เดินตามมาด้วยต้องรีบช่วยกันเข้าประคองสองปีกซ้ายขวา รูปหนึ่งก็เข้ามาช่วยรับบาตร เสร็จแล้วก็พากันหิ้วปีกหลวงปู่หลุยกลับวัดทันที หลวงปู่มั่นท่านรู้อยู่แล้วว่า คู่วาสนาของหลวงปู่หลุยมาเกิดอยู่ที่นี่ ถ้าได้พบกันแล้วจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น หลวงปู่มั่นจึงห้ามไม่ให้หลวงปู่หลุยอยู่ที่นั่น แต่เมื่อหลวงปู่หลุยดื้อที่จะอยู่ก็ห้ามไม่ให้ไปบิณฑบาตด้วย แต่แล้วก็หนีกรรมไม่พ้นอยู่ดี

หลวงปู่หลุย จันทสาโร ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายคำฝอย วรบุตร ลูกชายเจ้าเมืองแก่นท้าว แขวงไชยบุรี ประเทศลาว และนางกวย (สุวรรณภา) วรบุตร ในช่วงวัยเด็กท่านศึกษาจบระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ และได้ทำงานเป็นเสมียน กับพี่เขยที่เป็นสมุห์บัญชีสรรพากร อ.เชียงคาน และเมื่อปี ๒๔๖๔ ได้ย้ายไปทำงานที่อำเภอแซงบาดาล (ธวัชบุรี) และที่ห้องอัยการภาค จ.ร้อยเอ็ด

ด้วยการอุปถัมภ์ของอัยการภาคร้อยเอ็ด ท่านได้นับถือศาสนาคริสต์ อยู่ ๕ ปี จนลุงของท่าน เรียกท่านว่า เซนต์หลุยส์ หรือ หลุย ท่านจึงถูกเรียกชื่อว่า หลุย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และต่อมาท่านได้กลับใจเปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาพุทธแทน และได้อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นพระมหานิกาย ณ อ.แซงบาดาล จ.ร้อยเอ็ด ในช่วงพรรษาที่ ๑ ท่านได้พยายามศึกษาพระธรรมวินัย ทั้งปริยัติธรรมและปฏิบัติ ครั้นถึงคราวออกพรรษา ท่านได้ลาพระอุปัชฌาย์ไปเข้าร่วมการคัดเลือกเกณฑ์ทหารที่จังหวัดเลย และได้เดินทางไปนมัสการพระธาตุพนม ที่จังหวัดนครพนม

เล่าโดย: หลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: