1332. เต็มเปี่ยมด้วยบารมี..อิทธิฤทธิ์ บุญฤทธิ์ ย้อนตำนาน “คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม”

ประวัติแม่ชีบุญเรือน โตงบุญเติม
ฆราวาสผู้เปี่ยมด้วยธรรม

คุณแม่บุญเรือน กลิ่นผกา เกิดเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๔ปีมะเมียขึ้น ๑๕ ค่ำเวลา ๑๑.๒๐ น. หรือตรงกับวันที่ ๔มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ท่านได้กำเนิดในครอบครัว ที่มีฐานะค่อนข้างยากจน มีนายยิ้ม กลิ่นผกา เป็นบิดา และมี นางสวน กลิ่นผกา เป็นมารดา สถานที่เกิดอยู่ที่คลองสามวา อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร

ขณะเป็นวัยรุ่น ท่านได้รู้จักกับคุณลุงของท่าน คือหลวงตาพริ้ง ซึ่งเป็นพระภิกษุ อยู่ที่วัดบางปะกอก ด้วยความคุ้นเคยกับหลวงตาพริ้ง ผู้เป็นลุงนั่นเอง ท่านได้เริ่มนำอาหารไปถวายอยู่บ่อย ๆ ทำให้ท่านได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้จักธรรมะ และ คุณธรรมในการดำเนินชีวิต ตามแนวคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้เริ่มเลื่อมใสศรัทธา และมีใจรัก ในงานบุญงานกุศลมากขึ้นอันน่าจะถือได้ว่า นี่เป็นปฐมเหตุสำคัญที่ทำให้ท่านบำเพ็ญกรณียกิจเป็นนักบุญในพระพุทธศาสนาในเวลาต่อมา หลวงตาพริ้ง จึงเป็นพระภิกษุที่คุณแม่บุญเรือนมีความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก และวัดบางปะกอกนี้ก็น่าจะเป็นวัดที่ทำให้ท่านเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จนนำไปสู่การบำเพ็ญภาวนาในเวลาต่อมา

ชีวิตสมรสและบุตรธิดา
เมื่อมีอายุพอสมควร ก็ได้ทำการสมรสกับ ส.ต.ท.จ้อย โตงบุญเติม ซึ่งขณะนั้นเป็นตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลสัมพันธวงศ์ ได้อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาที่ดีตลอดมา แต่ก็ไม่มิบุตรธิดาด้วยกัน และเนื่องจากไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน ทำให้คุณแม่ บุญเรือน โตงบุญเติมได้รับอุปการะเด็กหญิงชายอื่นบ้าง แต่มีผู้ที่ท่านรับอุปการะแต่มีอายุได้ ๖เดือนจนเติบใหญ่เป็นเวลายาวนานคนหนึ่งในฐานะบุตรบุญธรรมคือ นางอุไร คำวิเทียน จนกระทั่ง นางอุไร มีอายุ ได้๑๙ ปีจึงได้สมรสกับ ร.ต.ท.เต็ม คำวิเทียน นางอุไร กับ ร.ต.อ.เต็ม อยู่กินกันมาจนมีบุตรสาวคนหนึ่งชื่อว่า นิดา คำวิเทียน นับว่าเป็นหลานยายที่คุณแม่บุญเรือนให้ความเมตตาเป็นอย่างยิ่ง

ชีวิตสมรสระหว่างคุณแม่บุญเรือน และ ส.ต.ท.จ้อย โตงบุญเติม อยู่กินกันมา จนกระทั่งในปี ๒๔๗๙ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้๔๒ ปี ส.ต.ท.จ้อย ได้ถึงแก่กรรมลง เนื่องจากได้เข้าไปช่วยดับเพลิง เมื่อครั้งเพลิงไหม้ใหญ่ตลาดน้อย อำเภอบางรัก ต่อจากนั้นมา คุณแม่บุญเรือนก็ได้ครองความเป็นโสด บำเพ็ญงานบุญ และได้ใช้นามสกุล โตงบุญเติม ของสามีตลอดมา และได้อุปการะเลี้ยงดูนางอุไร คำวิเทียน จนกระทั่งอายุ ๑๙ ปี และได้สมรสกับ ร.ต.ท.เต็ม คำวิเทียน ซึ่งขณะนั้นเป็นตำรวจประจำอยู่ที่โรงพักกลาง ดังนั้นจึงมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ที่คุณแม่บุญเรือน ได้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านพักของทางราชการ ที่โรงพักกลาง

ขณะที่ยังใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ ส.ต.ท.จ้อย ด้วยความเลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้ไปฟังพระสวดมนต์ ฟังธรรมที่วัดสัมพันธวงศ์อยู่บ่อย ๆ ทั้งได้ฝึกหัดทำวิปัสสนากัมมัฐานที่วัดนี้ด้วย ต่อมา ส.ต.ท.จ้อย ผู้เป็นสามี ได้ลาอุปสมบท ที่วัดสัมพันธวงศ์ เป็นเวลา ๑พรรษา ทำให้คุณแม่บุญเรือน ได้มีความใกล้ชิดและผูกพันในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เมื่อสามีสึกออกมาแล้ว คุณแม่บุญเรือน ก็ได้ลาสามีบวชเป็นชีและอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัด สัมพันธวงศ์ ได้พากเพียรพยายามฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้อยู่ปฏิบัติที่ศาลาวัดสัมพันธวงศ์ จนทำให้เกิดความเข้าใจ และ ปลอดโปร่งในธรรมะ รักความสงบประกอบการกุศลต่าง ๆ ช่วยปักหมอนสำหรับธรรมาสน์พระสวดปาฏิโมกข์เป็นต้น

ผลสำเร็จของงานบุญ
ในระหว่างที่บวชเป็นชีนี่เอง ด้วยความตั้งใจจริง ในการบำเพ็ญเพียร หัดวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำใจให้สงบระงับ ฝึกใจให้แข็งแกร่งแก่กล้า มองเห็นธรรมอันวิเศษของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังผลให้เป็นที่ทราบในหมู่ผู้ร่วมวิปัสสนาด้วยกัน ว่าคุณแม่บุญเรือนได้สำเร็จแล้วอย่างแท้จริง คือสำเร็จใน จตุตถฌาน หรือ ฌาน๔

ฌานทั้ง ๔ นี่แหละที่เชื่อกันว่า แม่ชีบุญเรือน โตงบุญเติม ได้บำเพ็ญเพียรฝึกปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ และด้วยเหตุที่ปรากฏต่อมาว่า แม่ชีบุญเรือน มีความเชี่ยวชาญในวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนสามารถจะเข้าวิปัสสนาเมื่อใดก็ได้ และไม่จำเป็นต้องยึดสิ่งมีรูปเป็นอารมณ์ ทั้งอาจเข้าวิปัสสนาโดยลืมตาก็ได้โดยเร็วพลันด้วยเหตุนี้ ทางด้านอรูปฌาน ก็เชื่อว่าท่านสันทัดและบรรลุโดยลักษณะเดียวกัน

ด้วยความสำเร็จใน จตุตถานนั่นเอง เป็นเหตุให้แม่ชีบุญเรือน เป็นนักเสียสละชั้นยอด มีอารมณ์วางเฉย เป็น อุเบกขา สละความโลภ ความอยากได้ในทรัพย์สินต่าง ๆ อย่างสิ้นเชิง ดังนั้นคนที่รู้จักแม่ชีบุญเรือนมาก่อนก็ดี หรือเพิ่งจะมารู้จักก็ดี จะทราบคติธรรมข้อหนึ่งว่า “ คนที่จะไปหาท่าน จงไปหาด้วยการเป็นผู้รับ ส่วนท่านเป็นผู้ให้ เป็นผู้เสียสละ เป็นผู้บริการ” ท่านไม่ต้องการสิ่งใดของใคร แม้แต่ดอกไม้ ธูปเทียน ทรัพย์สินเงินทองใด ๆ ทั้งสิ้น

บรรลุอภิญญา ๖

นอกเหนือจากการสำเร็จใน ฌาน ทั้ง๔ แล้ว แม่ชีบุญเรือน ได้เพียรพยายามฝึกจิต และสมาธิอย่างแรงกล้า ทั้งได้ประกอบการบุญอันเป็นอานิสงศ์แห่งชีวิตอย่างสูงส่ง จนกล่าวว่าท่านสำเร็จรอบรู้ใน อภิญญา ๖ กล่าวคือ

๑. อิทธิวิธี คือแสดงฤทธิ์ได้ ปรากฏว่าแม่ชีบุญเรือนได้กระทำมาแล้วหลายวิธี เช่น อธิษฐานต้นมะม่วง ต้นเล็ก ๆ ให้ออกดอกได้ภายในคืนเดียว ย่นหนทางยาวให้สั้น เดินตากกลางฝนไม่เปียก เรียกฝนให้ตกได้ ขอให้ฝนหยุดตกได้ เป็นต้น

๒. ทิพโสต หรือที่เรียกว่าหูทิพ แม่ชีบุญเรือน สามารถบอกเล่าเรื่องราวที่คนอยู่ไกล ๆ พูดกัน ให้คนใกล้ชิดท่านฟังได้อย่างถูกต้อง

๓. เจโตปริยญาณ อันได้แก่การกำหนดจิตให้แก่ผู้อื่น ในเวลาที่แม่ชีบุญเรือน สนทนากับใคร ไม่ว่าใครจะคิดหรือจะพูดอะไรกับแม่ชี ท่านก็สามารถทราบได้ด้วย ฌานวิเศษของท่าน

๔. บุพเพนิวาสานุสสติ ได้แก่การระลึกชาติได้ เรื่องนี้แม่ชีบุญเรือนได้เคยเล่าเรื่องราว ชาติภพก่อน ๆ ของท่าน ให้ลูก ๆ และคณะศิษย์ ได้ฟัง รวม ๓ ชาติ หากจะว่าไปแล้วเรื่องระลึกชาติ เป็นเรื่องที่พิสูจน์ยาก แต่เห็นว่า แม่ชีบุญเรือนเป็นผู้ยึดมั่นในศีล ๕ ละปฏิบัติธรรม เป็นอาจินต์ ก็ทำให้เชื่ออย่างมั่นคงว่าสิ่งที่ท่านพูดนั้นเป็นความจริง

๕. ทิพจักษุ หรือตาทิพย์ การมองเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พึงประสงค์ แม้ว่าวิ่งนั้นจะอยู่ห่างใกล ต่างบ้านต่างเมืองก็ตาม แต่เรื่องตาทิพย์นี้ แม่ชีบุญเรือน ได้บอกเล่าให้ลูก ๆ ละคณะศิษย์ฟังว่าแม้นว่าท่านจะได้ไว้ แต่ท่านก็คืนให้ไป มิได้นำมาใช้ ทั้งนี้เพราะหากใช้ตาทิพย์แล้ว จะมองเห็นสิ่งปฏิกูลมากมาย ท่านจึงงดเว้นเสีย โดยถือว่าคืนให้ทางธรรม จะมีการนำมาใช้บ้างในยามจำเป็นเท่านั้น

๖. อาสวักขยญาณ คือ ทำให้พ้นจาก ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทำให้ตนพ้นจากสิ่งอันไม่เป็นมงคลทั้งปวง ผู้พ้นจากอาสวะ ย่อมหมายถึงปราศจาก รัก โลภ โกรธ หลง แม่ชีบุญเรือนได้สำเร็จในข้อนี้ จะเห็นได้จากผู้ที่เดินทางมาหาท่านไม่ว่าจะใกล้หรือไกล จะยากดีมีหรือจน ก็จะได้รับความปรานีเสมอเท่าเทียมกัน

ช่วงท้ายของชีวิต
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ท่านเริ่มปฏิญาณไม่รับรักษาโรคด้วยวิธีการนวดให้แก่ผู้ชาย เว้นไว้แต่ธรรมจะบันดาล การรักษาโรคในระยะนี้จะเป็นการรักษาโดยอธิษฐานเพียงอย่างเดียว ส่วนการสั่งสอนและอบรมธรรมะยังคงปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันก่อนที่ท่านวายชนม์๑ วัน

ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๖ท่านเริ่มมีอาการป่วยบ้าง หายบ้าง แต่ก็ยังคงบำเพ็ญการบุญอย่างต่อเนื่อง

การวางสังขารทิ้งร่างวายชนม์

นับแต่เดือน มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗เป็นต้นมา คุณแม่มีอาการป่วยเป็นโรคไต หัวใจอ่อน โลหิตจาง และความดันโลหิตสูง ติดต่อกันมาเป็นลำดับ อาการมีแต่ทรงกับทรุด ท่านไม่ยอมรับการรักษาจากแพทย์ แม้ว่านายแพทย์ปรีดา ล้วนปรีดา กับ แพทย์หญิงวัฒนา ดวงจันทร์ ซึ่งเป็นศิษย์ใกล้ชิดได้อ้อนวอนขอให้รับการรักษาจากแพทย์ โดยวีฉีดยา ให้น้ำเกลือ และกลูโคส และให้รับประทานยาแผนปัจจุบันบ้างเป็นครั้งคราว ท่านก็ไม่ยอม จะพาไปโรงพยาบาลท่านก็ไม่ไป ท่านต้องนอนป่วยลุกนั่งไม่ได้เป็นเวลา ๙ เดือน

บรรดาศิษย์ได้พากันอ้อนวอนว่า “ คุณแม่ได้อธิษฐานธรรมด้วยสัจวาจา รักษาโรคร้ายของลูก ๆ หลาน ๆ และคนอื่นให้หายได้ ทำไมเล่าคุณแม่จึงไม่อธิษฐานเพื่อตนเองบ้าง”

ท่านตอบว่า “ ถ้าแม่อธิษฐานเพื่อตนเอง ก็เท่ากับว่าแม่ยากมีชีวิตอยู่ อยากมีความสุข อยากพบสิ่งใหม่ ๆ บนพื้นพิภพล้วนเป็นกิเลส แม่ทำเช่นนั้นไม่ได้”

บรรดาบุคคลในคณะสามัคคีวิสุทธิ์ เมื่อได้ยินคำพูดของท่านแล้ว เต็มไปด้วยความเศร้าใจ สะเทือนใจอย่างคาดไม่ถึง นี่ละคือผู้สิ้นอาสวะกิเลศ ผู้บรรลุ อาขยญาณโดยแท้ สมแล้วที่ท่านเป็นนักบุญ เป็นผู้นำในงานบุญของชาวคณะ สามัคคีวิสุทธิ์ที่ท่านก่อตั้งขึ้นมา

เมื่อวันที่ ๓-๔-๕กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ท่านมีอาการอ่อนเพลียมาก เหนื่อยในเวลาพูด เบื่ออาหาร มีเสมหะเหนียว ๆ ในลำคอ รับประทานอาหารได้เพียง ๒-๓คำเท่านั้น

ในวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๗คุณแม่ก็ยังคงทักทายทุกคนอย่างแจ่มใส การสวดมนต์ก็ยังคงปฏิบัติกันเป็นปกติ ไม่เคยมีใครรู้สึกสงสัย และเอะใจเลย ก่อนหน้านี้ประมาณ ๑ สัปดาห์คุณแม่ได้สั่งให้หยุดนาฬิกาเรือนใหญ่ไว้ในเวลา ๑๑ นาฬิกาเศษทั้งสองเรือน โดยท่านให้เหตุผลว่า “หนวกหู”

แล้ววันสำคัญที่ชาวคณะสามัคคีสุทธิ ได้ประสบความเศร้าโศกรันทดใจ อย่างใหญ่หลวงก็มาถึง เพราะในเวลา ๑๑.๒๐ นาฬิกา ของวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๗คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม ได้วางสังขารทิ้งร่างจากไปอย่างไม่มีวันกลับ

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ เจ้าของบทความ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้

ที่มา อนุสรณ์ คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม หน้า ๑๐๕-๑๓๒ หจก.เกษมการพิมพ์ พระนคร

http://kumarntalk.net/webboard-id10494.html

http://www.bp.or.th/

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: