1331. เสด็จเตี่ยขอเรียนวิชา “หลวงพ่อกลั่น” ทรงเห็นท่านแกะปลาปักเป้าที่หน้าแข้งโยนน้ำอย่างหน้าตาเฉย

หลวงพ่อกลั่น ธัมมโชติ วัดพระญาติ จ.อยุธยา

เมื่อเรือพระประเทียบลอยลำอยู่ใกล้ศาลาท่าน้ำวัดพระญาติ กรมหลวงชุมพรฯ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุรูปหนึ่ง กำลังสรงน้ำอยู่หน้าวัด เมื่อขึ้นมายืนบนไม้กระดาน มีปลาปักเป้าติดอยู่ที่หน้าแข้งของท่านหลายตัว ท่านก็ก้มตัวลงปลดปลาปักเป้าออกจากหน้าแข้ง โยนกลับลงน้ำ ปากก็บ่นรำคาญ

ปลาปักเป้ามีฟันที่แหลมคม เมื่อกัดลงบริเวณใด เนื้อบริเวณนั้นก็อาจจะหลุดติดมาด้วย เป็นที่หวาดกลัวของคนที่ลงเล่นน้ำ แต่หลวงปู่กลั่นท่านคงกระพัน ฟันอันแหลมคมของปลาปักเป้าจึงทำอะไรท่านไม่ได้ กรมหลวงชุมพรฯ เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวโดยตลอด คิดอยู่ในใจว่า การเสด็จมาวัดครั้งนี้ ไม่ผิดหวังแน่ จึงเสด็จขึ้นจากเรือ ไปกราบนมัสการหลวงปู่กลั่นที่กุฏิและขอเรียนวิชา การพบกันในครั้งนั้น หลวงพ่อกลั่นได้แนะนำให้กรมหลวงชุมพรฯ หาโอกาสไปกราบหลวงปู่ศุขที่วัดมะขามเฒ่า เมืองชัยนาท อีกด้วย

เสด็จเตี่ย

หลวงพ่อกลั่น ได้ฉายาว่า ธมฺมโชติ ซึ่งหมายความว่า เป็นผู้สร้างในทางธรรมหรือเจริญรุ่งเรืองในธรรม พระคณาจารย์ดังผู้ทรงคุณในอดีต มีลูกศิษย์ลูกหามาก ตลอดจนบุคคลทั่วไปให้ความเคารพศรัทธา ความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ พระเวทย์พุทธาคมขลัง ได้รับการกล่าวขานเป็นตำนานมาถึงปัจจุบัน แม้ท่านจะมรณภาพไปนานแล้วก็ตาม เห็นได้จากวัตถุมงคลต่างๆที่ท่านได้ปลุกเสกไว้ ล้วนเป็นที่แสวงหามีราคาแพง เฉพาะอย่างยิ่งเหรียญรุ่นแรก ปี ๒๔๖๙ จัดเป็นเหรียญหลักยอดนิยมของวงการนานมาแล้ว

ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๐ ตรงกับปีมะแม ณ ตำบลอรัญญิก อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน เป็นบุตรของ นายอินและนางชั้น เป็นบุตรคนโตในจำนวนทั้งหมด ๓ คน ในวัยเด็กชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก ทำให้ท่านเป็นคนมี่บุคลิคเข้มแข็งเด็ดเดียว

ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๗อายุ ๒๗ ปี ได้บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดประดู่ทรงธรรม มีพระญาณไตรโลก(สะอาด) เจ้าคณะใหญ่อยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูกุศลธรรมธาดา วัดขุนญวน และพระอธิการชื่น วัดพระญาติ เป็นพระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์ตามลำดับ พำนักจำพรรษาที่วัดประดู่ทรงธรรม ศึกษาพระธรรมวินัย และเล่าเรียนสรรพวิทยาการหลายแขนง วัดประดู่ทรงธรรม เป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่โบราณ และครั้งอดีตเป็นสำนักตักศิลาสำคัญแห่งหนึ่ง ต่อมายังเป็นวัดที่เก็บรวบรวมตำรับตำรา สรรพวิทยาการต่างๆเอาไว้มากมาย เห็นได้จากประวัติพระคณาจารย์ดังในพื้นที่ภาคกลางล้วนมีประวัติกล่าวอ้างถึง ได้ศึกษาวิชาจากตำราของวัดประดู่ทรงธรรมที่ตกทอดมา

หลวงพ่อกลั่น

กล่าวได้ว่าวัดแห่งนี้เป็นตักศิลาแห่งวิชาการแขนงต่างๆอย่างแท้จริง ท่านได้ศึกษาจากตำรับตำราต่างๆเหล่านั้น ทั้งได้รับคำแนะนำสั่งสอนเพิ่มเติมจากครูบาอาจารย์ จนเชี่ยวชาญในสรรพศาสตร์ สามารถดูแลรักษาตนได้ เริ่มออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นการฝึกจิตเจริญภาวนา ป่าเขาลำเนาไพรในยุคนั้นเต็มไปด้วยภยันตรายต่างๆนานา ทั้งโรคร้าย สัตว์ร้าย ผู้รอดปลอดภัยกลับมาถือว่าไม่ธรรมดา

คราหนึ่งหลังจากท่านกลับจากธุดงค์ ผ่านมาถึงบริเวณวัดพระญาติเป็นเวลาพลบค่ำ พิจารณาเห็นว่าเป็นสถานที่สงบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมจึงได้ปักกลด รุ่งเช้าศรัทธาชาวบ้านมาทำบุญตักบาตร เห็นท่านเป็นผู้มีวัตรปฏิบัติงดงาม เกิดความเลื่อมใสศรัทธา พร้อมใจกันอาราธนานิมนต์ให้ท่านพำนักจำพรรษายังพระอารามแห่งนี้ เรื่อยมากระทั่งมรณภาพ

หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ครองตนด้วยความสมถะ ชอบสันโดด มีเมตตาต่อเหล่าสรรพสัตว์ และญาติโยมพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนทั่วไป ท่านได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ รวมสิริอายุ ๘๗ ปี ๖๐ พรรษา

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้

SRaN WiKi คาถาครูพักลักจำ

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: