1311. เหรียญพระแก้วมรกต ปี 2475 นับวันหายาก! พระเกจิดังทั่วประเทศพร้อมใจกันปลุกเสก

การสร้างเหรียญพระแก้วมรกต ที่รวบรวมพระเถระอันลื่อนามในอดีต
เหรียญพระแก้วมรกต ปี พ.ศ.2475 ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี สุดยอดเหรียญดี พิธีใหญ่

เหรียญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต ปี พ.ศ.2475 นับเป็นเหรียญดีพิธีใหญ่ ที่มีอายุเก่าแก่พอสมควร เมื่อนับอายุจนถึงปัจจุบัน ประมาณเกือบ 85 ปีแล้วถึงแม้ประวัติการสร้างและพิธีพุทธาภิเษกของเหรียญนี้ยังมิได้บันทึกไว้ชัดเจนนักหากเปรียบเทียบกับการสร้างเหรียญและวัตถุมงคลในพิธีอื่น ๆ ในยุคสมัยเดียวกัน

แต่หากดูจากอายุการสร้างของเหรียญนี้ และ ราคาเล่นหาสะสมแล้ว นับว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเหรียญที่จัดสร้างเพื่อเป็นระลึก ในมงคลวโรกาส ต่าง ๆ หรือเหรียญพระพุทธพระเกจิคณาจารย์ทั้งหลาย หากมีอายุการสร้างขนาดนี้ มักจะมีราคาเล่นหาตั้งแต่หลักหมื่นเป็นต้นไปจนหลักแสนหรือทะลุเกินตัวเลข 7 หลักไปแล้วแทบทั้งสิ้น

แต่สำหรับเหรียญนี้ มีหลายระดับราคาให้เลือกเช่าหาตามกำลังของแต่ละบุคคล หากเป็นนักสะสมทั่วไป ชอบของดีราคาพอสมน้ำสมเนื้อ พอเล่นหากันได้ตามอัตภาพ ก็มีเหรียญ”บล็อกใน” ให้สะสม หากเลือกสภาพแค่พอสวย ก็อยู่แค่หลักพัน ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณของเหรียญมีมากมายพอหมุนเวียนให้พบเห็นได้ไม่ยากนัก แต่หากอยู่ในกลุ่มนักเล่นนักสะสมประเภท “มือใหญ่ กระเป๋าหนัก รักพระแชมป์ หรือ ต้องหนึ่งเดียวองค์นี้เท่านั้น” ก็มีเหรียญ “บล็อกนอก”หรือเหรียญเนื้อโลหะสูงค่าอย่างทองคำ หรือ เงินให้เลือกเช่าหาสะสมตามความพอใจด้วยเช่นกัน

เหรียญพระแก้วมรกต ปี พ.ศ.2475 เป็นเหรียญที่แจกให้กับผู้ร่วมสมทบทุนในการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อคราวฉลองพระนครครบ 150 ปี ใน ปี พ.ศ.2470 โดยตามใบแจ้งความของสำนักผู้อำนวยการวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ระบุไว้ว่าเหรียญที่ระลึกชุดนี้ ได้สร้างก่อนการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกันกับข้อมูลที่คุณประชุม กาญจนวัฒน์ บันทึกไว้ในหนังสือ “ภาพพระเครื่องสี” ว่าเป็นเหรียญแห่งชาติที่ทางราชการได้จัดสร้างขึ้นโดยสั่งปั๊มจากต่างประเทศจำนวนหนึ่ง

โดยมีการจัดพิธีพุทธาภิเษกด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นที่ระลึกในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล ในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณการจัดสร้างว่าต้องก่อนปีพุทธศักราช 2468 อันเป็นปีสวรรคต อย่างแน่นอน และมีการจัดสร้างเพิ่มเติมขึ้นจากเดิมอีกครั้งเป็นจำนวนมาก ใน ปี พ.ศ.2473 โดยให้ หลายบริษัทช่วยผลิต เพื่อให้ทันตามความต้องการ สำหรับตอบแทนให้กับผู้ร่วมบริจาคเงินสมทบทุนบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ.2475

ในการจัดสร้างครั้งต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นประธานกรรมและมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ให้เสร็จสมบูรณ์สง่างามสมกับเป็นพระอารามหลวงในพระบรมมหาราชวัง และเพื่อให้ทันกับพิธีสมโภชพระนคร ซึ่งจะมีอายุครบ 150 ปี ใน พ.ศ.2475

โดยตั้งงบประมาณ ที่จะต้องใช้ในการปฏิสังขรณ์ไว้สูงถึง 600,000 บาท ซึ่งพระองค์เองทรงมีพระราชศรัทธา อุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 200,000 บาท เป็นทุนเริ่มต้น คณะรัฐบาลในสมัยนั้นสนองตามพระราชดำริอนุมัติเงินแผ่นดินสมทบทุนร่วมอีก 200,000 บาท สำหรับส่วนที่ยังขาดอยู่ทรงพระราชทานวโรกาส ที่จะให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร และไพร่ฟ้าประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสที่จะบำเพ็ญกุศลร่วมกัน ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดพนักงานเรี่ยไร ดำเนินการโฆษณาประกาศบอกบุญ ปรากฏตามข้อความเชิญชวนในใบปลิว ที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจพิมพ์ถวาย เมื่อปี พ.ศ.2473 ว่า

“…..โดยให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดพนักงานรับเรี่ยไร โดยมีใบเสร็จ และ เหรียญพระแก้วตอบแทน เป็นที่ระลึก ตามชั้นและจำนวนเงินที่บริจาค ดังต่อไปนี้

1. ผู้บริจาค ตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป พระราชทานเหรียญพระแก้วทองคำ
2. ผู้บริจาค ตั้งแต่ 20 บาท ขึ้นไป พระราชทานเหรียญพระแก้วเงิน
3. ผู้บริจาค ตั้งแต่ 5 บาท ขึ้นไปพระราชทานเหรียญพระแก้วทองขาว (นิเกิล)
4. ผู้บริจาค ตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป พระราชทานเหรียญพระแก้วทองแดง

อย่างไรก็ตาม ตามประกาศ ระเบียบการรับเงินเรี่ยไรในการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ของหอรัษฏากรพิพัฒน์ วันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2473 ยังได้กล่าวไว้ว่า ผู้บริจาค ตั้งแต่ 5 บาทขึ้นไป กรรมการจะได้รวบรวมรายนามประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา เป็นคราวๆ ไป………….ฯ”

พุทธลักษณะ
เหรียญพระแก้วมรกตที่ระลึกกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี เป็นเหรียญกลมขอบเรียบ ด้านหน้า ปรากฏรูปองค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรทรงเครื่องวสันตฤดู แบบนูนต่ำ ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีผ้าทิพย์ ภายในซุ้ม ลักษณะเดียวกับซุ้มของพระพุทธชินราช และ พุ่มดอกไม้อยู่บนพื้นเหรียญโดยรอบ เชื่อกันว่าองค์ ผู้กำหนดรูปแบบของเหรียญนี้ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งหากพิจารณาด้วยเหตุผล นับว่ามีความเป็นไปได้ เพราะผู้ที่ออกแบบจะต้องมีความรู้ในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง

ด้านหลังของเหรียญ ปรากฏเป็นยันต์รูปกงจักร มีอักษรจารึก “อัฏฐังคิกมรรค” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “มรรค 8” อักขระขอมที่ปรากฏในยันต์ อ่านได้ความว่า “ทิ สํ วา กํ อา วา ส สํ” อันเป็นคำย่อขององค์ประกอบของหนทางหลุดพ้นจากทุกข์ทั้ง8 ได้แก่ ทิ คือ สัมมาทิฐิ สํ คือ สัมมาสังกัปโป วา คือ สัมมาวาจา กํ คือ สัมมากัมมันโต อา คือ สัมมา อาชิโว วา คือสัมมา วายาโม ส คือ สัมมา สติ สํ คือ สัมมาสมาธิ

การประกอบพิธีพุทธาภิเษก นับว่ายิ่งใหญ่อลังการมาก เพราะเป็นการรวมพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังผู้ทรงพุทธาคมในยุคนั้นมากมายเข้าร่วมอธิษฐานจิต

มีอาทิ พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิตร กรุงเทพฯ, สมเด็จพระวันรัต (แพ ติสสเทโว) วัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ, พระโพธิวงศาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม กรุงเทพฯ, สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม) วัดโพธิ์ กรุงเทพฯ, เจ้าคุณอุบาลี สิริจันโท วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ, หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่ กรุงเทพฯ, หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก กรุงเทพฯ, หลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง กรุงเทพฯ, หลวงพ่อพร วัดดอนเมือง กรุงเทพฯ

หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ, หลวงพ่อสนธิ์ วัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ, หลวงพ่อแฉ่ง วัดพิกุลเงิน จ.นนทบุรี, หลวงพ่อชม วัดพุทไธสวรรค์ จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อฉาย วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา,หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อลา วัดแก่งคอย จ.สระบุรี, หลวงพ่อกรัก วัดอัมพวัน จ.ลพบุรี, หลวงพ่อเผือก วัดกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ, หลวงพ่อคง วัดซำป่าง่าม จ.ฉะเชิงเทรา, หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา จ.ปราจีนบุรี, หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ จ.ชลบุรี

หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม, หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม จ.สุมทรสงคราม, หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม จ.สุมทรสงคราม, หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ จ.สุมทรสงคราม, หลวงพ่อจันทร์ วัดบ้านยาง จ.ราชบุรี, หลวงพ่อลา วัดโพธิ์ศรี จ.สิงห์บุรี, หลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลย์ จ.สุพรรณบุรี, หลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี, หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ จ.นครสวรรค์, หลวงพ่อทอง วัดเขากบ จ.นครสวรรค์

หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ จ.กาญจนบุรี, หลวงพ่อคง วัดใหม่บำเพ็ญบุญ จ.ชัยนาท, หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง จ.พิจิตร และ หลวงพ่อเปี่ยม วัดเกาะหลัก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้นด้วยบารมีแห่ง “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” และ “พระเกจิคณาจารย์” ที่ร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสก ร่วมทั้ง “เจตนาการจัดสร้าง” คงจะไม่ต้องบอกกล่าวกันถึงความต้องการและการแสวงหามาไว้ครอบครองของผู้คนในแวดวงและบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย

ที่มา ตาล ไทยธรณี

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: