1272. หมอประจำพระองค์พระพุทธเจ้า “หมอชีวกโกมารภัจจ์” บูชา ภาวนาคาถาเป็นประจำ โรคภัย จะไม่มากล้ำกราย

คาถาบูชา พ่อหมอชีวกโกมารภัจจ์

โอม นะโม ชีวะโก สิระสา อะหัง การุณิโก
สัพพะ สัตตานัง โอสะถะ ทิพพะ มันตัง
ปะภาโส สุริยะจันทัง โกมาระภัจโจ
ปะกาเสสิ วันทามิ บันฑิโต สุเมธะโส
อะโรคา สุมะนา โหมิฯ
นะอะ นะวะโรคา พะยาธิ วินาสสันติฯ

พระคาถานี้ ให้บูชาเป็นประจำ ความป่วยไข้หรือ โรคภัย จะไม่มากล้ำกราย แต่ต้องอยู่ในศีลธรรม พ่อหมอ ชีวกโกมารภัจจ์ เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ฉะนั้น พึงตั้งจิตสวดบูชาโดยความเคารพโดยเฉพาะ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับศพ หรือ คนป่วย ควรจะสวดเป็นประจำ วิญญาณร้ายจะไม่ตามติดมากรังควาญ

หมอ ชีวกโกมารภัจจ์ (อ่านว่า ชี-วะ-กะ-โก-มา-ระ-พัด) บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เรื่องราวชีวิตของท่านมีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกและคัมภีร์อรรถกถา

ตลอดชีวิตของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้บำเพ็ญแต่คุณงามความดี ช่วยเหลือผู้เจ็บไข้โดยไม่เลือกฐานะ จนได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นเอตทัคคะ ผู้เลิศกว่าอุบาสกทั้งปวงในทาง “เป็นที่รักของปวงชน”

หมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นบุตรของนางสาลวดี นครโสเภณีประจำเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ในสมัยนั้นตำแหน่งนี้มีเกียรติยศต่างจากในสมัยนี้ นางสาลวดีตั้งครรภ์โดยบังเอิญ เมื่อคลอดบุตรชายออกมาจึงสั่งให้สาวใช้นำไปทิ้ง แต่อภัยราชกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูไปพบเข้า จึงนำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

ชื่อ ชีวก ตั้งขึ้นตามคำกราบทูลตอบคำถามของพระองค์ที่ตรัสถามว่า เด็กยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า มหาดเล็กกราบทูลว่า ยังมีชีวิตอยู่ (ชีวโก) ส่วนคำว่า โกมารภัจจ์ แปลว่า กุมารที่ได้รับการเลี้ยงดู หรือ กุมารในราชสำนัก หมายถึง บุตรบุญธรรม นั่นเอง ฉะนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ จึงหมายถึง บุตรบุญธรรมที่ยังมีชีวิตอยู่ นั่นเอง

เมื่อเติบโตขึ้นชีวกถูกพวกเด็ก ๆ ในวังล้อเลียนว่า เจ้าลูกไม่มีพ่อ ด้วยความมานะ จึงหนีพระบิดาไปเรียนศิลปวิทยาที่เมืองตักสิลา เพื่อเอาชนะคำดูหมิ่น วิชาที่เลือกเรียนคือวิชาแพทย์ แต่เนื่องจากไม่มีค่าเล่าเรียน จึงอาสารับใช้พระอาจารย์ เมื่อเรียนอยู่ถึง ๗ ปี จึงลาอาจารย์กลับบ้าน ระหว่างทางอาจารย์ให้ไปหาต้นไม้ที่ทำยาไม่ได้ ให้เก็บตัวอย่างมาให้ดู ปรากฏว่ากลับมามือเปล่า เพราะต้นไม้ทุกต้นใช้ทำยาได้ อาจารย์บอกว่าเขาได้เรียนจบแล้ว จึงอนุญาตให้กลับได้

หลังจากกลับเมืองมาแล้ว ได้รักษาพระเจ้าพิมพิสารให้หายขาดจากภคันทลาพาธ (โรคริดสีดวงทวาร) และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมอหลวง และได้รับพระราชทานสวนมะม่วง แต่ต่อมาหมอชีวกก็ได้ถวายสวนนี้ให้พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย และได้ถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระองค์อีกด้วย ด้วยความที่เป็นคนบำเพ็ญแต่สิ่งที่ดีงาม ช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย ไม่เลือกฐานะ จึงได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะ ในด้าน เป็นที่รักของปวงชน

ในวงการแพทย์แผนโบราณในปัจจุบันนี้ ถือว่าหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็น บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ เป็นที่เคารพของประชาชนทั่วไป

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพและเจ้าของบทความ ที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้

http://www.larnbuddhism.com/

https://th.wikisource.org/

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: