1261. “สมเด็จโต” ขายหน้าเอาผ้ารอด!!

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พฺรหฺมรํสี หรือนามที่นิยมเรียก “สมเด็จโต” “หลวงปู่โต” หรือ “สมเด็จวัดระฆัง” เป็นพระภิกษุมหานิกาย เป็นพระมหาเถระรูปสำคัญที่ได้รับความนิยมนับถืออย่างมากในประเทศไทย ท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต นับเป็นพระเกจิเถราจารย์ผู้มีปฏิปทาจริยาวัตรน่าเลื่อมใส เป็นที่เคารพนับถือทั่วไปมาตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชน และนอกจากจริยาวัตรด้านความสมถะอันโดดเด่นของท่านแล้ว ท่านยังทรงคุณทางด้านวิชชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล “พระสมเด็จ” ที่ท่านได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา

ด้วยจริยาวัตรอารมณ์ขันและเป็นกันเองของท่าน ก็มีเรื่องเล่าถึงอารมณ์ขันของสมเด็จโตว่า ในหน้าน้ำหลากปีหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชดำริให้บรรดาพระอารามหลวงต่างๆ ตกแต่งเรือให้สวยงามนำเข้าประกวดกัน เลียนแบบครั้งกรุงศรีอยุธยา ครั้นถึงวันประกวด ท่านเสด็จประทับอยู่ที่ตำหนักแพที่ท่าราชวรดิษฐ์ มีเรือตกแต่งสวยงามผ่านมาหลายลำ แต่แล้วมีเรือของวัดหนึ่ง เป็นเรือสำปั้นเก่าๆ ไม่ได้ตกแต่ง มีเณรพายอยู่ ๒ องค์ แถมตรงกลางลำเรือผูกลิงไว้ตัวหนึ่ง มีป้ายปักไว้ชัดเจนตรงกลางลำเรือว่า

“ขายหน้าเอาผ้ารอด”

เมื่อรัชกาลที่ ๔ ทรงทราบว่าเป็นเรือของวัดระฆัง พระองค์ทรงนิ่งอึ้งแล้วตรัสว่า

“เขาไม่เล่นกับเรา” หลังจากปีนั้นมาก็ไม่มีการตกแต่งเรือประกวดจากพระอารามหลวงต่างๆ อีกเลย

ต่อมาก็มีผู้สงสัยไต่ถามสมเด็จโตกันมากว่า เคยได้ยินแต่ “ขายผ้าเอาหน้ารอด” ไฉนท่านจึงใช้ “ขายหน้าเอาผ้ารอด” ท่านอธิบายว่า ปกติภิกษุตามวัดล้วนแต่ไม่มีทรัพย์สิน มีเพียงจีวรและบาตรเท่านั้น จะเอาเงินที่ไหนไปตกแต่งเรือ ถ้าจะเอากันจริงก็ต้องขายผ้า (ไตร) เอาเงินมาแต่งเรือ เข้าทำนองขายผ้าเอาหน้ารอด แต่ทว่า วัดระฆังยอมขายหน้าเอาผ้ารอดไว้ก่อนดีกว่า เพราะผ้าไตรเป็นของสำคัญสำหรับภิกษุทุกรูป ด้วยปฏิปทาจริยาวัตรและคุณวิเศษอัศจรรย์ของท่าน ทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยเคารพนับถือว่าท่านเป็นอมตะเถราจารย์รูปหนึ่งของเมืองไทย และมีผู้นับถือจำนวนมากในปัจจุบัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจ อภินิหาร ตำนาน พระเกจิฯ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: