1260. ยอดพระคงกระพันแห่งเมืองคอน”พ่อท่านแก่น วัดทุ่งหล่อ” เหนียวสมคำเล่าลือ

“พ่อท่านแก่น วัดทุ่งหล่อ” นครศรีธรรมราช ศิษย์เอกพ่อท่านซัง

ให้หวยแม่นฉมัง-ปลุกเสกเหรียญขลังจนกระโดด

พระเกจิอาจารย์ดังขมังเวทเบอร์หนึ่งแห่ง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ต้องยกให้ พระครูอรรถธรรมรส หรือ”พ่อท่านซัง” อดีตเจ้าอาวาสวัดวัวหลุง เจ้าของเหรียญเบญจภาคีที่แพงที่สุดของเมืองคอน แม้เหรียญรูปเหมือนของท่านทุกรุ่นจะเป็น”เหรียญตาย” คือสร้างหลังจากท่านมรณภาพแล้วก็ตาม แต่มีราคาค่านิยมในการเช่าหาสะสมสูง แถมมีประสบการณ์ให้กล่าวขานไม่รู้จบ

พ่อท่านซังเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้เข้มขลังทางวิทยาคม จนเป็นที่นับถือศรัทธาของชาวบ้านทางภาคใต้ ตลอดเข้าไปถึงประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ตะกรุดโทนกับเชือกคาดเอวของท่านมีประสบการณ์ทางคงกระพัน และมหาอุดโชกโชน ท่านสร้างลูกศิษย์สืบทอดวิชาอาคมไว้หลายองค์ อาทิ พ่อท่านเมือง วัดปากบางท่าพญา,พ่อท่านสังข์ วัดดอนตรอ, พ่อท่านเดช วัดควนเกย, พ่อท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง ฯลฯ

“พ่อท่านแก่น ธัมมสาโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งหล่อ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช คือหนึ่งในศิษย์พุทธาคมสายตรงของพ่อท่านซัง ท่านได้รับการยกย่องเป็นพระเกจิอาจารย์ทางคงกระพัน พระเครื่องของท่านได้ฉายาว่า”ยอดพระคงกระพันแห่งเมืองคอน” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่แค่เมืองคอนเท่านั้น ปัจจุบันเล่นหาเป็นสากลและมีประสบการณ์ขลังไปทั่วประเทศ

เชื่อกันว่าท่านสำเร็จอภิญญาสามารถแสดงปาฏิหาริย์ลงสรงน้ำในกาน้ำ ประกาศิตแปรธาตุน้ำเป็นธาตุดินถึงขั้นเดินบนผิวน้ำได้ นอกจากนี้ ยังหยุดฟ้าห้ามฝน หยุดกระสุน หยุดรถไฟ และกระทำสิ่งที่เหนือความคาดหมายได้หลายอย่าง คนเมืองคอนต่างเคารพศรัทธาท่านเสมอมา แม้ว่าท่านจะมรณภาพไปกว่า ๓๐ ปีแล้ว

พ่อท่านแก่นเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๕ เม.ย. ๒๔๔๙ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีจอ เป็นบุตรชายคนเดียวของนายทับ และนางเนี่ยว นามสกุล “ทองชุม” สมัยเด็กแก่นและซุกซนมากพ่อแม่จึงเรียกว่า “แก่น” ครั้นเจริญวัยก็แก่นสมชื่อ คือมีจิตใจกว้างขวาง กล้าหาญ ด้วยความที่เกิดวันแข็งคือ เสาร์ ๕ เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จึงออกจะมีความขลังอยู่ในตัวเอง ชอบด้านอิทธิฤทธิ์ มีสมัครพรรคพวกมาก กระทำสิ่งใดเด็ดเดี่ยว และสนใจวิชาไสยศาสตร์ตั้งแต่วัยหนุ่ม โดยได้ไปศึกษาวิชาอาคมกับพ่อท่านซัง วัดวัวหลุง

เมื่อศึกษาอาคมก็ทดลองทำได้เป็นผลเป็นที่อัศจรรย์ใจและพอใจแก่พ่อท่านซังเป็นอย่างมาก เพราะท่านเรียนไสยศาสตร์ได้ผลมากกว่าคนอื่นเนื่องจากมีจิตใจเด็ดเดี่ยวกล้าหาญนั่นเอง จึงมีสมัครพรรคพวกมาก ไปไหนมาไหนคุ้มครองเพื่อนได้ เรื่องเลือดออกให้เห็นเป็นลืมไปได้

กระทั่งอายุ ๒๑ ปี โยมทั้งสองเล็งเห็นว่าปล่อยช้านานลูกชายอาจจะไปในทางผิด จึงให้อุปสมบทที่วัดวัวหลุง โดยมีพระครูอรรถธรรมรส ( พ่อท่านซัง) เป็นอุปัชฌาย์ ได้ฉายา “ธมมสาโร” จากนั้นได้บวชเรียนอยู่กับพ่อท่านซัง และศึกษาวิชาจนแตกฉานถึงกับไม่ยอมสึก แต่บิดามารดาขอร้องให้ออกมาช่วยทำไร่ ทำนา ท่านจึงยอมสึกออกมา แต่ก็ยังคิดถึงเพศสมณะอยู่มิขาด ได้แต่ท่องมนต์บ่นคาถาทบทวนเป็นประจำ และช่วยรักษาชาวบ้านเรื่องแขนหัก กระดูกแตกหักอยู่เรื่อยมา โดยวิธีเอาน้ำมันทาแล้วเป่าด้วยคาถาเท่านั้นก็เห็นผลทันตา

หลังจากช่วยงานบ้านได้อยู่ประมาณ ๑๐ ปี เห็นว่าพอจะคลายความเดือดร้อนของชาวบ้านได้แล้ว ท่านจึงกลับไปอุปสมบทอีกครั้ง ขณะมีอายุได้ ๓๑ ปี โดยมีพระครูชลาการสุมน (พ่อท่านเดช วัดควนเกย ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งพ่อท่านเดชก็เป็นลูกศิษย์พ่อท่านซัง พ่อท่านทัศน์ วัดหนองแคเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาเดิมคือ “ธมมสาโร”

หลังอุปสมบทครั้งที่ ๒ แล้ว พ่อท่านแก่นก็เร่งทบทวน วิปัสสนาสมาธิ ฝึกฝนวิชาการต่างๆที่ได้ร่ำเรียนมาจากอาจารย์องค์สำคัญๆ คือ พ่อท่านซัง พ่อท่านเดช พ่อท่านทัศน์ พ่อท่านเกลี้ยง ซึ่งเกจิอาจารย์ทั้ง๒ องค์นี้เป็นพี่น้องกันอยู่วัดหนองแค คนร่อนพิบูลย์สมัยก่อนนับถือกันมาก หลวงพ่อทั้งสองนี้เก่งทางวิปัสสนาและคาถาอาคมได้ถ่ายทอดให้พ่อท่านแก่นจนหมดสิ้น เพราะรักมาก โดยพ่อท่านแก่นไปฝากตัวศึกษาตั้งแต่สมัยก่อนบวช เมื่อบวชแล้วก็ไปฝึกวิปัสสนาสมาธิอยู่ด้วยจนกล้าแกร่ง นับว่าเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อทั้งสองที่ท่านรักมาก เพราะสอนวิชาใดให้พ่อท่านแก่นก็ทำได้เห็นผลทันตา

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงพ่อท่านเกลี้ยง พ่อท่านทัศน์ คนเมืองนครส่วนใหญ่จะรู้จัก เพราะชื่อเสียงดังพอๆกับ “หลวงพ่อซัง วัดวัวหลุง” เพียงแต่ไม่ค่อยมีการนำเสนอเรื่องราวของท่านทั้งสอง ที่สำคัญ เหรียญหลวงพ่อเกลี้ยงและหลวงพ่อทัศน์ นับเป็นเหรียญยอดนิยมและดังมาก แถมหายากยิ่งในเมืองนคร

เมื่อทบทวนวิชาต่างๆแล้ว พ่อท่านแก่นก็ไปจำวัดที่วัดทุ่งหล่อ เพราะเห็นว่าสงบวังเวงดี ควรแก่การเจริญวิปัสสนาสมาธิ ซึ่งสมัยนั้นการเดินทางไปมาลำบากมาก แต่ด้วยบุญบารมี อิทธิฤทธิ์ อภินิหาร จริยาวัตรงดงาม ทำให้ผู้คนดั้นด้นไปหาท่านอย่างไม่ย้อท้อ โดยท่านได้ทำการพัฒนาวัดพร้อมไปกับพัฒนาจิตใจของผู้คนละแวกนั้นไปด้วย

วัดทุ่งหล่อมีเนื้อที่ ๒๑ ไร่ เป็นเนินโคก ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๗ ต.ควนชุม อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เดิมนั้นเป็นวัดร้าง ซึ่งพระอาจารย์สังข์ วัดสระเรียง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ได้ธุดงค์มาปักกลดบำเพ็ญภาวนาในบริเวณนี้ ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาโดยช่วยกันโค่นต้นไม้ถางป่าสร้างกุฏิให้ เมื่อพระอาจารย์สังข์มรณภาพลง ชาวบ้านจึงนิมนต์ “พระอาจารย์แก่น” หรือพ่อท่านแก่น มาเป็นเจ้าอาวาส ขณะอายุได้ ๔๔ ปี ๑๕ พรรษ โดยได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ ๑๗ เม.ย. ๒๕๐๐

เรื่องที่สร้างความฮือฮาให้ชาวบ้านอย่างมากคือ พ่อท่านแก่นท่านให้หวยแม่นมาก ไม่ว่าบอกเลขไหนก็เข้าตรงๆทุกงวด จนกระทั่งเจ้ามือบุกมาหาถึงวัดเพื่อขอร้องให้ท่านเลิกให้หวย ปรากฏว่าท่านเผลอปากไปว่า “เออ กูไม่ขอยุ่งอีก และจะหยุดพูดเล่นเพียงเท่านี้” และหลังจากนั้นก็ไม่เคยให้หวยแก่ผู้ใดอีกเลย

พระเครื่อง และวัตถุมงคลพ่อท่านแก่นนั้น ท่านสร้างขึ้นเพื่อแจกแก่ผู้ที่ไปขอเฉพาะบุคคล เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ ท่านจะเขียนด้วยมือทุกครั้งไปและปลุกเสกมอบให้ โดยไม่เรียกร้องสิ่งใดทั้งสิ้น และไม่ยอมรับของตอบแทนทุกอย่าง โดยกล่าวว่าท่านให้ด้วยเมตตามิใช่ค้าขาย ดังนั้น ของทุกชิ้นที่ท่านสร้างขึ้นจึงแจกอย่างเดียว และหมดไปอย่างรวดเร็ว เมื่อพระเครื่องของท่านไปสร้างประสบการณ์จึงเป็นที่ต้องการของนักสะสมทำให้กลายเป็นของมีราคาในการเช่าหาสืบมาจนถึงปัจจุบัน

สายคาดเอว เป็นเครื่องรางของขลังที่นิยมกันมากอย่างหนึ่งในท้องถิ่น เพราะท่านทำเองกับมือทุกเส้น โดยเอาผ้ามาลงอักขระเลขยันต์ด้วยมือท่านเองจนครบสูตรแล้วจึงถักม้วนเป็นเส้นเล็กๆ ใช้สำหรับคาดเอว ใช้ได้ผลทางคงกระพันเป็นเยี่ยม

พระเครื่อง วัตถุมงคล”พ่อท่านแก่น วัดทุ่งหล่อ” อ.ร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่โด่งดังได้แก่

๑.เหรียญพ่อท่านแก่น รุ่นแรก ปี ๒๕๑๖

๒.เหรียญพ่อท่านแก่น รุ่นสอง ปี๒๕๑๘

๓.เหรียญพ่อท่านแก่น รุ่นสรงน้ำ สร้าง ปี ๒๕๒๐ จำนวน ๕,๐๐๐ เหรียญ (ท่านอาบน้ำปีละ ๑ ครั้ง)

๔.เหรียญไตรมาส พ่อท่านแก่น วัดทุ่งหล่อ ปี๒๕๒๑

๕.พระปิดตาพ่อท่านแก่น ท่านจะสร้างพระเครื่องตามตำราดั้งเดิม คือ ลงอักขระเลขยันต์ ในโลหะตามมงคลสูตร แล้วเทหล่อเองทีละ ๑องค์ ด้วยเนื้อเงินยวงและเนื้อสัมฤทธิ์ และขนาดจะไม่เท่ากัน เพราะเททีละองค์นั้นเอง แต่พอแยกพระปิดตาได้ ๓ ขนาด คือ ใหญ่ กลาง เล็ก ซึ่งจะหล่อตามกำลังวัน ตามฤกษ์วันละไม่เท่ากัน พระปิดตาของ พ่อท่านแก่น สร้างตั้งแต่ปี๒๔กว่าจนถึงปี๒๕๑กว่า ซึ่งหล่อมาก่อนปี ๒๕๐๐ พอได้ตามที่ท่านต้องการจึงออกแจก

๖. เหรียญรุ่นไตรมาส พ่อท่านแก่นเป็นเหรียญที่สร้างเป็นพิเศษ กรรมวิธีเป็นไปตามขั้นตอนของพ่อท่านแก่น และทำให้อย่างดีที่สุดเพราะมอบให้ผู้ที่ร่วมบูรณะวัดทุ่งหล่อ และปลุกเสกตลอดพรรษาก่อนจะนำแจก

๗.สายคาดเอวพ่อท่านแก่น วัดทุ่งหล่อ สายคาดเอวตะกรุด ๑ ดอก ตะกรุด๓ ๕ ๗ เชือกคาดเอวตะกรุด๙ ดอก และที่เป็นตะกรุดโทนพ่อท่านแก่นก็มีเป็นที่นิยมมากในท้องถิ่น เพราะท่านทำเองกับมือทุกเส้น ด้านคงกระพันเป็นเยี่ยม
๘.ผ้ายันต์ที่พ่อท่านแก่นสร้างขึ้น เช่นผ้ายันต์นางกวัก

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้

ฉัตรสยาม

http://www.tumsrivichai.com/

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: