1258. ตำนานพระเถราจารย์เมืองประจวบฯ “หลวงพ่อเปี่ยม วัดเกาะหลัก”

ประวัติ หลวงพ่อเปี่ยม จันทโชโต วัดเกาะหลัก

วัดเกาะหลัก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาราวปีพ.ศ.๒๓๐๐ มีฐานะแรกเป็นสำนักสงฆ์ตั้งแต่สมัยอยุธยา พัฒนาเป็นวัดเกาะหลักและยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เมื่อปีพ.ศ๒๕๑๕

จาก คำบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า เจ้าอาวาสที่ชื่อ “หลวงพ่อโสธร” ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกมีวาจาสิทธิ์ ผู้ใกล้ชิดและผู้ที่ผ่านไปมาต่างเคารพนับถือ ด้วยบารมีของเจ้าอาวาสทุกรูปทำให้วัดเกาะหลักมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง แต่รายละเอียดเกี่ยวกับความเจริญของวัดค้นหาหลักฐานไม่ได้ จนถึงสมัยพระครูสุทธาจารคุณ หรือหลวงพ่ออ่ำ จึงพอมีหลักฐานอยู่บ้าง

วัดเกาะหลัก เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป ด้วยความเคารพนับถือหลวงพ่อเปี่ยม (เปี่ยม จันทโชโต) หรือนามสมณศักดิ์ว่า “พระครูสุเมธีวรคุณ นิบุณศิริเขตต์ ชลประเวส สังฆวาหะ” ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งท่านมีความแม่นยำในการพยากรณ์ดวงชะตา และมีความเชี่ยวชาญในการบรรจุดวงชะตาทางโหราศาสตร์ลงในพระประจำวันของบุคคล เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของเจ้าของดวงชะตา

ถึงขั้นเชื่อกันว่า การทำพิธีทางโหราศาสตร์ หากทำที่อื่นจะขลังน้อยกว่าทำที่โบสถ์วัดเกาะหลัก เพราะท่านได้สร้างเทวรูปประจำดาวนพเคราะห์ไว้ที่ลวดลายระหว่างเสาพระอุโบสถ โดยรอบและครบถ้วน การทำพิธีจึงเท่ากับอยู่ท่ามกลางทวยเทพประจำดาวเคราะห์ตามตำรับโดยแท้

ทั้งนี้ ผู้คนที่นับถือหลวงพ่อเปี่ยม มิใช่เพราะความเป็นโหราจารย์เท่านั้น ท่านยังให้ความอนุเคราะห์รักษาโรคด้วยสมุนไพร การอบรมคุณธรรม ความรู้ด้านช่างต่างๆ อีกด้วย รวมไปถึงความเชื่อมั่นในพุทธคุณความขลังของพระเครื่องทุกชนิด โดยเฉพาะเหรียญรุ่นแรกที่มีราคาค่านิยมในวงการนักสะสมถึง “หลักแสน” ที่สำคัญ ท่านเป็นสุดยอดเกจิอาจารย์ที่ได้รับการ นิมนต์เข้าพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่องใหญ่ๆ เช่น ร่วมปลุกเสกเหรียญพระแก้วมรกต ในคราวฉลองกรุงเทพฯ ครบ ๑๕๐ ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ และเป็น ๑ ใน ๑๐๘ เกจิที่ร่วมปลุกเสก “พระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน ปี ๒๔๘๕” ซึ่งพระเครื่องทั้ง๒ รุ่นนี้เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง และมีราคาค่านิยมสูงขึ้นทุกขณะ

หลวงพ่อเปี่ยม เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเกาะหลัก ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ

ท่านเกิดที่บ้านนาห้วย ต.เมืองเก่า อ.ปราณบุรี เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน๗ ขึ้น๘ ค่ำ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๔๒๖ เวลา ๑ ทุ่ม ๑๙นาที เป็นบุตรคนสุดท้องของนายแก้ว นางหนูลัภธ์ นามสกุล ถาวรนันท์ มีพี่ชายร่วมบิดาคนหนึ่งชื่อนายถนอม และมีน้องสาวต่างมารดาอีกคนหนึ่งชื่อ ละมุน เป็นภรรยาขุนสอนสุขกิจ หรือนายแพทย์ ส.อันตริกานนท์

ครอบครัว ประกอบอาชีพทำไร่ เมื่ออายุ ๓ขวบ บิดาได้ออกจากบ้านไปค้าขายต่างจังหวัด แล้วไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่อื่นไม่กลับบ้าน ท่านกับพี่ชายและมารดาได้ช่วยกันทำไร่ด้วยความเหนื่อยยาก อายุ ๕ ขวบ มารดานำไปฝากเรียนหนังสือไทยและขอมกับเจ้าอาวาสวัดนาห้วย เรียนจนอ่านออกเขียนได้เล็กน้อย พออายุ๙ ขวบ ทางบ้านประสบอุบัติเหตุไฟไหม้บ้าน มารดาจึงกลับไปอยู่บ้านเดิม ที่บ้านสระแจง อ.หนองจอก จ.เพชรบุรี ท่านได้ไปอยู่กับมารดา ส่วนพี่ชายคงอยู่ที่วัดนาห้วย เรียนหนังสือต่อไปตามเดิม

อายุ ๑๑ขวบ ได้เรียนวิชาหมอน้ำมนต์กับหมอเขียว ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงในทางรดน้ำมนต์ และไล่ผี จนสามารถรดน้ำมนต์คนไข้แทนหมอเขียวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังได้เรียนวิชาการต่างๆ หลายแขนงจากอาจารย์ต่างๆ ที่มีชื่อเสียง เช่น วิชาปลูกสร้างบ้าน ช่างเขียน ช่างปั้น ช่างหยวก และวิชาอ่านเขียนหนังสือ พยายามฝึกฝนอยู่เสมอจนมีความรู้ ความสามารถดีขึ้นเป็นลำดับ

กระทั่ง อายุครบบวช “นายเปี่ยม ถาวรนันท์” จึงอุปสมบทที่วัดลาด อ.เมือง จ.เพชรบุรี พ.ศ.๒๔๔๖ โดยมี พระครูสุวรรณมุนี วัดพระทรง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดบุญ วัดชีว์ประเสริฐ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า “จันทโชโต”

หลังบวชแล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดลาด ๕ ปี ระหว่างจำพรรษาได้ศึกษาภาษาบาลี บำเพ็ญสมณกิจ ด้วยความเคร่งครัด และได้ออกไปจำพรรษาที่วัด นาห้วย ซึ่งขณะนั้นมีพระครูสุทธาจารคุณ (อ่ำ) เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นกำลังสำคัญในการดูแลสร้างโบสถ์วัดนาห้วย จนสำเร็จ

ปี พ.ศ. ๒๔๕๘พระครูสุทธาจารคุณ (อ่ำ) ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะหลักและเจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ท่านได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์ ให้ไปเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนาห้วย และได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส ในปีพ.ศ.๒๔๕๙ระหว่างที่อยู่วัดนาห้วยได้ไปศึกษาวิชาโหราศาสตร์ จากพระสุวรรณมุนี (ชิต) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ จ.เพชรบุรี และเริ่มมี ชื่อเสียงทางโหราศาสตร์ตั้งแต่นั้นมา

หลวงพ่อเปี่ยม ปกครองพระภิกษุสามเณรภายในวัดด้วยคุณธรรม บูรณะและปฏิสังขรณ์วัดปรับปรุงแก้ไขวางผังการสร้างเสนาสนะให้เป็นระเบียบ เรียบร้อยด้วยความสามารถ จนปีพ.ศ.๒๔๖๒ได้รับตราตั้ง เป็นพระครูชั้นประทวน ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอปราณบุรี และอำเภอเมือง ประจวบคีรีขันธ์ ปีพ.ศ.๒๔๖๓ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสามัญที่ “พระครูธรรมโสภิต” ปีพ.ศ.๒๔๖๕ เป็นพระอุปัชฌาย์ ปีพ.ศ.๒๔๖๗เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูสุเมธีวรคุณ เจ้าคณะรอง (รองเจ้าคณะจังหวัด) เมื่อพระครูสุทธาจารคุณ (อ่ำ) มรณภาพ คณะสงฆ์ได้ย้ายท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะหลัก

ปีพ.ศ. ๒๔๗๓และต่อมาปีพ.ศ. ๒๔๗๔ ได้รับตำแหน่งให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปีพ.ศ.๒๔๘๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูเมธีวรคุณ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปีพ.ศ.๒๔๘๔ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระเมธีวรคุณ บุณคีรีเขตต์ ชลประเวศสังฆปาโมกข์” ในตำแหน่งเดิม

การเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะหลัก และเจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ของหลวงพ่อ ทำให้หลวงพ่อมีโอกาสแสดงออก ซึ่งอัจฉริยภาพอย่างเต็มที่ ท่านได้นำความรู้ความสามารถมาใช้ประโยชน์ในงานต่างๆ มากมาย งานสำคัญที่ท่านได้ทำคือการสร้างพระอุโบสถอันวิจิตรงดงามตระการตา การเปิดโรงเรียน นักธรรมและบาลี การสร้างบ่อน้ำ และถังน้ำประปาสำหรับวัด และการปกครองคณะสงฆ์ด้วยคุณธรรม งานทะนุบำรุงและการ ก่อสร้างสังฆาราม หลวงพ่อเปี่ยมทำไว้มาก มิใช่ทำที่วัดเกาะหลักอย่างเดียว แต่ได้ทำในสถานที่อื่นอีกด้วย

กล่าว สำหรับวัตถุมงคลที่ท่านสร้างไว้มีหลายชนิด เช่น เหรียญรูปเหมือน, พระรอด ปี ๒๔๘๐, รูปเหมือนปั๊ม, ล็อกเกต เป็นต้น ที่ได้รับความนิยมได้แก่

เหรียญรุ่นแรก ปี ๒๔๘๐ ด้านหน้ารูปเหมือนหน้าตรงครึ่งองค์ ระบุสมณศักดิ์ จังหวัด และปี พ.ศ. ด้านหลังเป็นยันต์

เหรียญ รุ่น ๒ ปี ๒๔๘๔ เป็นเหรียญกลม ด้านหน้ารูปเหมือนหน้าตรงครึ่งองค์ ด้านบนเป็นอักขระ ด้านล่างระบุสมณศักดิ์ มีเนื้อเงิน และทองแดง

เหรียญ รุ่น ๓ ปี ๒๔๘๙ เป็นเหรียญเสมา รูปเหมือนหน้าตรงครึ่งองค์ ด้านบนระบุสมณศักดิ์ ด้านล่าง ชื่อจังหวัด และพ.ศ.ด้านหลังอักขระ มีทั้งเนื้อเงิน และทองแดง

เหรียญรุ่น ๔ ปี ๒๔๙๐ เป็นเหรียญรุ่นสุดท้ายที่ ทันท่าน เป็นเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์

หลวงพ่อเปี่ยม มรณภาพเมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๒ สิริรวมอายุได้ ๖๖ ปี ด้วยโรคลำไส้พิการ หลังจากนั้นได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดเกาะหลัก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ โดยทุกๆ ปี ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ จะมีงานปิดทองรูปหล่อของท่านและ อดีต เจ้าอาวาสทุกองค์ของวัด

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้
http://www.itti-patihan.com/

เพจ ศิษย์มีครู

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: