1226. เกจิดังต้นตำรับ หนุมานชาญสมร “หลวงปู่เกลี้ยง วัดเนินสุทธาวาส”

หลวงปู่เกลี้ยง มนุญฺโญ หรือพระครูพิศิษฐชโลปการ เจ้าอาวาสวัดเนินสุทธาวาส ชลบุรี

ท่านเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังของฝากฝั่งบูรพา หลวงปู่เกลี้ยงแม้จะไม่ทันหลวงพ่อโต วัดเนิน ผู้สร้างพระปิดตาอันลือลั่น แต่โยมพ่อของหลวงปู่เกลี้ยงท่านได้ลาสิกขาเป็นฆราวาส นุ่งขาวห่มขาวเป็นอุบาสกถือศีลอยู่ที่วัดเนินเป็นประจำตลอด และโยมพ่อของหลวงปู่นี่เองที่เป็นผู้สอนวิชาอาคมต่างๆ ที่โยมพ่อได้ร่ำเรียนมาจากหลวงพ่อโต ถ่ายทอดวิชาทั้งหมดให้กับหลวงปู่เกลี้ยง

ท่านเจริญภาวนาคาถาอาคมต่างๆของหลวงพ่อโตขึ้นและขลัง จะเห็นได้จากถาวรวัตถุและเสนาสนะภายในวัด มีความเจริญขึ้นเป็นลำดับ ด้วยบารมีของหลวงปู่ แม้แต่การขออนุญาตจัดสร้างวัตถุมงคลโดยมีหลวงปู่รับรองให้แล้ว ก็จะหมดอย่างรวดเร็วไม่นานนัก เพราะด้วยวัตถุมงคลหลวงปู่เกลี้ยงมีประสบการณ์มากมายนั่นเอง มีผู้คนจากหลายที่หลายจังหวัดไกลๆมาขอความอนุเคราะห์ความเมตตาจากหลวงปู่อย่างไม่ขาดสาย จึงนับได้ว่าหลวงปู่เกลี้ยงท่านสืบสายพุทธาคมมาจากหลวงพ่อโต วัดเนิน โดยแท้จริงดังคำคนเมืองชลกล่าวถวายหลวงปู่ว่า

“หลวงพ่อเกลี้ยง เกลี้ยงทุกข์ เกลี้ยงโศก เกลี้ยงโรค เกลี้ยงภัย เกลี้ยงหนี้ มีเงินใช้”

หลวงปู่เกลี้ยง

การสร้างวัตถุมงคล

หลวงปู่เกลี้ยง เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชน มีลูกศิษย์ลูกหาให้การสนับสนุนถวายความสะดวกให้กับหลวงปู่ด้วยดีตลอดมา ด้วยท่านมีความเมตตาอย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อยุคแรกๆนั้น จะมีผู้คนมากมายมาขอวัตถุมงคลจากหลวงปู่ ด้วยความเมตตาไม่แบ่งชั้น วรรณะ หลวงปู่ต้องออกทุนทรัพย์เองในการจัดสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเหรียญ พระผง หรือหนุมาน ท่านไม่เคยตั้งกฎเกณฑ์ในการรับพระรับวัตถุมงคลนั้นๆเลย

เมื่อยุคแรกๆ ลูกศิษย์ไปขอความเมตตาจากหลวงปู่ ทำบุญเท่าไหร่ก็ได้ ใส่ตู้บริจาค (ซึ่งหลวงปู่ไม่รับเงิน) ก็จะได้รับวัตถุมงคลจากมือหลวงปู่ถ้วนทุกคน ครอบครัวหนึ่งไปกันกี่คนก็จะได้รับทุกคน มาสมัยนี้บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลายเห็นความลำบากของหลวงปู่ จึงร่วมกันออกทุนในการจัดสร้าง โดยหลวงปู่ท่านจะปลุกเสกให้ด้วยตนเอง ๗วันบ้าง ,๑เดือนบ้าง ,๑ไตรมาส (๓ดือน) บ้าง

ตามแต่หลวงปู่จะเห็นสมควร บางครั้งถ้าท่านได้รับนิมนต์ให้เข้าพิธีนั่งปรกปลุกเสกในที่ต่างๆ ท่านก็จะนำเอาวัตถุมงคลเหล่านั้นเข้าร่วมพิธีปลุกเสกด้วยทุกครั้ง วัตถุมงคลที่ท่านสร้างนั้น จะสร้างจำนวนน้อยไม่มากนักและจะสร้างไม่ซ้ำกัน หมดแล้วก็สร้างแบบใหม่ต่อไป จึงมีมากรุ่น แต่!!! ไม่มากจำนวน

วัตถุมงคลของหลวงปู่นั้น แบ่งออกเป็น ๓ยุค คือ ยุคแรกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๒- ๒๕๑๑ , ยุคกลางตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒ – ๒๕๓๑ , ยุคปัจจุบันตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๒ – ๒๕๔๘ วัตถุมงคลในยุคแรกและยุคกลางนั้นได้หมดไปนานแล้ว ปัจจุบันจะมีให้ดูให้เห็นได้ศึกษากันในพิพิธภัณฑ์ (ที่เก็บรักษาของวัดเท่านั้น)

ส่วนวัตถุมงคลที่แจกอยู่ในปัจจุบันเป็นของที่ท่านสร้างหลายแบบตามแต่ท่านจะแจกที่มีอยู่ในขณะนั้น ท่านจะไม่แจกของหลายๆอย่างในบุคคลคนเดียวกัน และในเวลาเดียวกัน วัตถุมงคลบางอย่างก็แจกให้เฉพาะบุคคลเป็นการเฉพาะ เช่น หนุมานพิมพ์ต่างๆกัน จะแจกเฉพาะ ทหาร ตำรวจ ที่ออกศึกสงคราม จะไม่แจกชาวบ้านพลเรือนทั่วไป

และวัตถุมงคลบางอย่างท่านก็ไม่ให้เด็กเอาไปแขวนหรือติดตัว เช่น เหรียญที่มีหนุมาน รูปหล่อหนุมานเนื้อตะกั่ว เหรียญปั๊มตะกั่วด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ ด้านหลังเป็นหนุมานออกนำทัพผจญศึก เหล่านี้ท่านจะห้ามเป็นคำขาดไว้ ผู้ที่เป็นพลเรือนประชาชนทั่วไป หลวงปู่มักจะแจกเหรียญรูปเหมือนของท่าน เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ,เหรียญเล็กๆ พระพุทธใบมะขาม บ้าง พระผงพิมพ์ต่างๆ

อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะจะมีเมตตามหานิยม เป็นหลัก ฯลฯ​

นอกจากหลวงปู่เกลี้ยง จะจัดสร้างวัตถุมงคลต่างๆเพื่อมอบให้เป็นที่ระลึกในการถวายปัจจัยสร้างเสนาสนะภายใน วัดเนินสุทธาวาส แล้ว ท่านยังนำไปแจกที่วัดวังแจง แก่งหางแมง จ.จันทบุรี (ซึ่งเป็นวัดสาขาของท่านเอง) ทุกครั้งที่เดินทางไปตรวจเยี่ยมด้วย บางรุ่นสร้างเป็นที่ระลึกเฉพาะ อย่างเช่น รุ่นที่ระลึกฝังลูกนิมิต วัดวังแจง กฐิน และผ้าป่า ต่างก็เป็นที่หวงแหนของชาวบ้านมาก

มีอยู่เหตุการณ์หนึ่ง เป็นที่ฮือฮากันมาก เนื่องจากมีชาวสวนยาง โดนยิง กลิ้งอยู่หลายตลบ เพราะแรงกระสุนปืน และถนนเป็นทางลาดชัน แต่คนกลับเห็นเป็นลิงกลิ้ง!! ในคอมีหนุมานหลวงปู่เกลี้ยงองค์เดียวเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่วัตถุมงคลที่ออกวัดวังแจง หายากเพราะลูกศิษย์และชาวบ้านแถบนั้นเก็บกันหมด อย่างเหรียญทอดกฐิน วัดวังแจง ปี ๕๔ ตอนมีพิธีภายในวัดวังแจง หลวงปู่เกลี้ยง แจกฟรี!! ตอนนี้เหรียญราคาสูงเป็นพันบาท เพียงแค่ปีเดียว

หลวงปู่เกลี้ยง มนุญฺโญ หรือ พระครูพิศิษฐชโลปการ เจ้าอาวาสวัดเนินสุทธาวาส อ.เมือง จ.ชลบุรี พักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลชลบุรีด้วยโรคชรามาเป็นเวลาหลายเดือนจนกระทั่ง เมื่อเวลา ๒๐.๔๐ น วันที่ ๒กรกฎาคม ๒๕๖๐ ได้มรณภาพอย่างสงบโดยโรคชราภาพ

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ และที่มาเนื้อหามา ณ ที่นี้ข้อมูล

palungjit.org

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: